HOW THE WEST WAS WON (ค.ศ. 1962)


 
สุดยอดการนำเสนอตำนานพิชิตตะวันตก
 
นำแสดงโดย:
เจมส์ สจ๊วต, เกรเกอรี่ เป๊ค, จอห์น เวย์น, เฮนรี่ ฟอนด้า, ริชาร์ด วิดมาร์ค, จ๊อร์จ เป๊ปปาร์ด, ฯลฯ อีกมากมาย
กำกับการแสดงโดย:
แฮรี่ แฮธเวย์, จอห์น ฟอร์ด, จ๊อร์จ มาร์แชล

นี่คือตำนานการพิชิตตะวันตกฉบับสมบูรณ์ที่สุด ที่เคยมีการนำมาสร้างเป็นหนังจอใหญ่ครับ
 
เป็นการบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางและการลงหลักปักฐาน อันยาวนานติดต่อถึง 3 ชั่วอายุคน ของชาวบ้านธรรมดาๆครอบครัวหนึ่ง ที่ตั้งใจจะไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในดินแดนตะวันตก ต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆนานัปการ ที่เกิดจากทั้งจากธรรมชาติและผู้คนด้วยกันเอง ก่อนที่ดินแดนตะวันตกจะพัฒนาขึ้นเป็นบ้านเมืองศิวิไลซ์ ให้ลูกหลานรุ่นต่อๆมาได้ได้อยู่อาศัยด้วยความสะดวกสบายสไตล์อเมริกันอย่างทุกวันนี้
 
รูปแบบการนำเสนอ ทำคล้ายๆกับการเล่านิทานครับ มีการแบ่งออกเป็นตอนย่อยๆ 5 เรื่อง แต่ละเรื่องกล่าวถึงการผจญภัย และเหตุการณ์สำคัญต่างๆในประวัติศาสตร์ ที่สมาชิกแต่ละคนของครอบครัวนี้ ตั้งแต่รุ่นตายายจนถึงรุ่นหลาน ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง
 
เริ่มตั้งแต่ 1.หลากหลายสายน้ำสู่ตะวันตก  2.รอนแรมบนบกกับกองเกวียน  3.แวะเวียนสู่สงครามกลางเมือง  4.ฟูเฟื่องสร้างทางรถไฟ และ  5.ปราบปรามจัญไรในแดนเถื่อน
 
ดังนั้น จึงต้องใช้ดารานำหลายคนเป็นตัวแสดงในแต่ละยุคสมัยของเหตุการณ์ตามท้องเรื่อง บางคนโผล่มาให้เห็นรวมกันแล้วไม่กี่นาที (อย่าง จอห์น เวย์น เป็นต้น) จัดเป็นหนังที่ใช้ดาราดังเปลืองที่สุดเรื่องหนึ่งเลยครับ
 
 
แม้แต่ผู้กำกับก็ต้องใช้ถึง 3 คน บางคนก็กำกับเพียงตอนเดียว (อย่าง จอห์น ฟอร์ด เป็นต้น) นัยว่าเป็นแผนทุ่มทุนโฆษณาราคาคุยของผู้สร้างเหมือนกัน
 
มีอะไรน่าดูอยู่ในหนังเรื่องนี้หลายอย่างครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยากเห็นเรื่องราวทั้งหมดของการพิชิตตะวันตก จะได้เห็นภาพและบรรยากาศที่น่าจะใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด เท่าที่ผู้กำกับคุณภาพระดับนี้จะสามารถสร้างขึ้นมาให้ชมกัน
 
แต่ไม่ต้องกังวลนะครับว่าหนังจะดูเป็นวิชาการจนเกินไป เพราะมีฉากแอ๊คชั่นตื่นเต้นให้ดูมากมาย ใช่ครับตรงนี้ต้องมีการโม้อยู่บ้าง แต่เพื่อของความสนุกแล้ว ก็ไม่ถือว่าน่าเกลียดหรือรับไม่ได้
 
ตรงกันข้าม หากท่านได้มีโอกาสดูเบื้องหลังการถ่ายทำ (มีอยู่ในหนังแผ่นบางชุด) จะรู้สึกทึ่งและนับถือในความพยายามและตั้งใจจริงของทีมผู้สร้างด้วยซ้ำไป
 
ฉากเด็ดแนะนำ ก็มีฉากต่อสู้กับโจรสลัดแม่น้ำ แล้วก็ฉากล่องแก่ง ฉากอินเดียนแดงไล่ล่าขบวนกองเกวียน (อันนี้พลาดไม่ได้เป็นอันขาด) ฉากอินเดียนแดงต้อนฝูงควายไบซันเข้าลุยเหยียบแค้มป์ก่อสร้างทางรถไฟ แล้วก็ฉากปล้นขบวนรถไฟในตอนสุดท้าย (อันนี้ก็พลาดไม่ได้อีกเหมือนกัน)
 
ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ เทคนิคการถ่ายทำแบบจอกว้าง ที่เรียกว่า ซิเนรามา ถ่ายทำด้วยการใช้ฟิล์ม 3 ม้วน กับกล้อง 3 ตัววางเรียงกัน เพื่อนำภาพจากฟิล์ม 3 ม้วนนั้น มาฉายด้วยเครื่องฉาย 3 ตัว ลงบนจอโค้งเว้าขนาดยักษ์ ให้ผู้ชมในโรงหนังได้เห็นภาพกว้างโอบล้อมตัวเข้ามาทั้ง 2 ข้าง
 
เมื่อใช้ประกอบกับระบบเสียงรอบตัว 7 ทิศทางแล้ว  ผู้ชมจะรู้สึกเหมือนเข้าไปอยู่ร่วมในทุกเหตุการณ์ตลอดเรื่อง
 
นับเป็นเทคโนโลยี่ที่ฮือฮามากในยุคนั้น ถึงแม้จะอายุไม่ยืนนัก เนื่องจากไม่สามารถแก้ปัญหามองเห็นเส้นรอยต่อบางๆบนจอ 2 เส้น ที่เกิดจากการฉายภาพ 3 ภาพเรียงต่อกันได้ (หากท่านดูจากดีวีดีฉบับวายด์สครีน จะมองเห็นเส้นที่ว่านี้ได้ชัดเจน)
 
พูดถึงเพลงประกอบ ก็ต้องบอกว่าไม่มีผิดหวังครับสำหรับหนังฟอร์มระดับนี้ ไม่ว่าเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ หรือเพลงพื้นเมืองดั้งเดิมที่นำมาเรียบเรียงใหม่ ต่างจัดได้ว่าอยู่ในระดับเอ+ และลงตัวกับบรรยากาศของหนังทุกเพลง
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพลงไตเติ้ล จากฝีมือการประพันธ์ของ อัลเฟรด นิวแมน กระหึ่มและยิ่งใหญ่สมตำนานพิชิตตะวันตก ติดอันดับคลาสสิคมาจนถึงทุกวันนี้
 
HOW THE WEST WAS WON ได้รับตุ๊กตาทองถึง 3 รางวัลยอดเยี่ยม ได้แก่ เนื้อเรื่องกับบทภาพยนตร์ การให้เสียง และการตัดต่อภาพ
 
ยังไม่นับที่เข้าชิงรอบสุดท้ายแต่พลาดไปอีก 5 รางวัล นั่นคือ เครื่องแต่งกาย ดนตรีประกอบ การกำกับศิลป์ การถ่ายภาพสี และภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
 
ขนาดนี้แล้ว คงต้องบอกว่าไม่ดูไม่ได้ละนะครับ
 
มาร์แชลต่อศักดิ์
ตุลาคม 2549