ด๊อดจ์ ซิตี้ เมืองที่คาวบอยไม่เคยลืม


ครั้งก่อน ผมได้พาท่านผู้อ่านร่วมรำลึกเหตุการณ์ครบรอบ 120 ปี ของการดวลที่ โอเค คระราล (หรือที่ควรจะเรียกว่า การดวลใกล้ๆ โอเค คระราล นั่นแหละครับ) บริเวณใจกลางเมืองทูมบ์สโตน ไปกับภาคพิเศษของคาวบอยกับปืนคู่ใจ ใน กันส์ เวิลด์ ไทยแลนด์ สามฉบับรวดปิดท้ายปี ค.ศ. 2001

ท่านผู้อ่านหลายท่าน โดยเฉพาะท่านที่เป็นเจ้าประจำ คงจะรู้สึกว่า เมืองทูมบ์สโตนออกจะได้รับการเอ่ยถึงบ่อยมาก ไม่ว่าในหนังหรือในหนังสือต่างก็ชอบมีเรื่องราววนเวียนอยู่แถวๆเมืองนี้ ดูเหมือนจะดังเกินหน้าเกินตาเมืองคาวบอยดังๆอื่นๆไปหน่อย

คงจะต้องยอมรับครับว่าจริง เนื่องจากทูมบ์สโตนเป็นเมืองที่คาวบอยดังๆหลายคนมาร่วมกันสร้างวีรกรรม (หรือมองต่างมุมว่าก่อกรรมทำเข็ญ) ไว้ค่อนข้างจะมากจนโด่งดังกว่าเมืองอื่นๆ ขนาดร้อยยี่สิบปีผ่านไป ผู้คนรุ่นหลังก็ยังรู้จักและกล่าวขวัญถึงกันมากมาย เผลอๆจะมีชื่อเสียงมากกว่ามรดกโลกตั้งหลายแห่งเสียอีกละมัง

พอดีผมมานึกขึ้นได้ว่า ขึ้นศักราช ค.ศ. 2002 ใหม่ๆหมาดๆนี้ เกิดตรงเข้าพอดีกับครบรอบ 130 ปีของการก่อตั้งเมือง ด๊อดจ์ ซิตี้ อันเป็นเมืองสำคัญในประวัติศาสตร์คาวบอยตะวันตกอีกเมืองหนึ่ง มีชื่อเสียงไม่ด้อยไปกว่าเมืองทูมบ์สโตน สามารถถือเป็นเมืองพี่เมืองน้องร่วมสมัยกันได้

หนังคาวบอยหลายๆเรื่องชอบนำเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองนี้ไปสร้างเป็นหนัง หรืออย่างน้อยตัวเอกในหนังต้องมาจากเมืองนี้ หรือเคยผ่านการใช้ชีวิตที่นี่มาแล้ว จึงจะได้รับการยอมรับนับถือว่าเก่งแท้แน่จริง

ท่านใดเป็นแฟนหนังคาวบอยเรื่อง เจ็ดสิงห์แดนเสือ หรือ The Magnificant Seven ฉบับดั้งเดิมแรกสุดเมื่อราวสี่สิบปีก่อน คงจำได้นะครับ ช่วงฉากเปิดตัวพระเอกกับพระรอง คือ คริส (แสดงโดย ยูล บรินเน่อร์) และ วิน (แสดงโดย สตีฟ แม็คควีน) ผู้ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ขันอาสาช่วยกันขับรถม้าบรรทุกโลงศพอินเดียนแดง ฝ่าดงนักเลงเหยียดผิวที่คอยลอบยิงจากเรือนแถวสองข้างถนน ออกไปยังสุสานนอกเมืองจนสำเร็จ แถมจัดการกับพวกมือปืนที่ยืนดักรอเอาเรื่องอยู่ตรงหน้าสุสานอีกสามสี่คนเสียจนเดี้ยงไปตามๆกันนั้น

ก่อนออกรถ ทั้งคู่ต่างถามไถ่กันว่ามาจากไหน

คนหนึ่งตอบว่า ด๊อดจ์ อีกคนหนึ่งตอบว่า ทูมบ์สโตน

เท่านี้ก็แฮ็ปปี้เป็นที่พออกพอใจกันทั้งสองฝ่าย ราวกับว่าจบจากสถาบันเก่าแก่มีชื่อเสียง ผลิตแต่บัณฑิตมีคุณภาพ ไม่แพ้จุฬากับธรรมศาสตร์ อะไรแบบนั้น

ภาพยนตร์เรื่อง เจ็ดสิงห์แดนเสือ
ฉบับดั้งเดิมตอนแรกสุด
 นำแสดงโดย ยูล บรินเนอร์
ต่อมามีภาคหลัง สร้างตามออกมาอีกหลายภาค
เปลี่ยนดารานำแสดงเป็นคนอื่นหลายคน
ล่าสุดเมื่อสองสามปีก่อน มีการนำกลับมาสร้างใหม่
เป็นหนังทีวี แต่บ้านเรายังไม่มีมาฉายให้ดูครับ 

ด๊อดจ์ ซิตี้ หากเทียบกับทูมบ์สโตนแล้ว ถือว่ามีประวัติศาสตร์ความเป็นมาย้อนหลังไปยาวไกลกว่ากันมาก เนื่องจากตั้งอยู่บนเส้นทางสายที่เรียกกันว่า ซานตาเฟ่ เทรล (Santa Fe Trail) อันเป็นเส้นทางรุ่นแรกๆที่ใช้ในการ ”พิชิตตะวันตก” ของชาวอเมริกัน ก่อนผู้คนจะแห่กันอพยพจากภาคตะวันออก ไปตั้งรกรากและแสวงหาอนาคตใหม่ที่ดีกว่าในดินแดนตะวันตก

รัฐแคนซัสในสหรัฐอเมริกา ที่ตั้งของเมือง ด๊อดจ์ ซิตี้ 

เส้นทางสายนี้ถูกบุกเบิกมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1821 เริ่มต้นจากเมืองแฟรงคลิน (Franklin) ในรัฐมิสซูรี่ ผ่ากลางเข้าไปในเขตแคนซัส เลียบแม่น้ำอาร์คันซอส์ตัดเข้าบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของเขตโคโลราโด แล้วแยกลงใต้ทะลุเข้าเขตนิวเม็กซิโก ไปจนถึงเมืองซานตาเฟ่ ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในเขตแดนของประเทศเม็กซิโก ที่เพิ่งจะเป็นจากอิสระจากการปกครองของสเปน รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 900 ไมล์ (1400 ก.ม.)

เทียบกับบ้านเราคงราวๆจากกรุงเทพฯไปมาเลเซียนั่นแหละครับ

ซานตาเฟ่ เทรล เป็นเส้นทางคมนาคมทางบก
สายหลักที่สำคัญสายหนึ่งในยุคพิชิตตะวันตก
ตั้งต้นจากเมืองแฟรงคลิน ในรัฐมิสซูรี่
ไปสิ้นสุดลงที่เมืองซานตาเฟ่ ใน นิว เม็กซิโก 

จะถือว่า ซานตาเฟ่ เทรล เป็นทางหลวงแผ่นดินสายแรกของยุคคาวบอยตะวันตกก็พอได้นะครับ เพียงแต่ต้องช่วยกันหลับตานึกภาพนิด ว่าไม่ใช่ทางประเภทสี่เลนแปดเลน ลาดยางหรือเทคอนกรีต อย่างที่เราคุ้นเคยกันเช่นเดี๋ยวนี้

บันทึกของนักเดินทางสมัยนั้น บอกไว้เพียงสั้นๆว่า ไม่ได้เป็นแม้แต่ถนน ส่วนใหญ่เป็นแค่ทางเกวียนแคบๆลัดเลาะไปตามทุ่งหญ้าและหุบเขา ช่วงไหนเป็นทุ่งโล่งอาจจะกว้างขึ้นหน่อย

การเดินทางด้วยเกวียนและรถม้าอย่างเร่งรีบที่สุดโดยผู้ชำนาญเส้นทาง ดินฟ้าอากาศอำนวย ไม่มีอุบัติเหตุ หรือถูกอินเดียนแดงเจ้าถิ่นโจมตีเอาระหว่างทางเสียก่อน ต้องใช้เวลาถึง 48 วัน

ถึงกระนั้น ซานตาเฟ เทรล ก็เป็นเส้นทางบุกเบิกทางการค้าที่คึกคัก มีพ่อค้าวาณิชนำขบวนสินค้าไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกันอย่างสม่ำเสมอ

ภาพพิมพ์แสดงลักษณะของขบวนคาราวานรถสินค้า
บนเส้นทาง ซานตาเฟ่ เทรล จากหนังสือบันทึก
การเดินทางของ พ่อค้าคนหนึ่ง ชื่อ โจเชีย เกร๊ก
 ผู้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1831-1840
เดินทางอยู่บนเส้นทางนี้ 

สินค้ายอดนิยมจากฝั่งตะวันออกในยุคนั้นคือเครื่องมือช่าง  มีดและช้อนซ่อม หมวก เสื้อผ้า และอาหารแห้ง ข้างสินค้าจากฟากตะวันตกจะเป็นพวกเงิน ขนสัตว์ และฬ่อเป็นหลัก

เมื่อเริ่มมีภัยอันตรายจากการโจมตีของอินเดียนแดง รัฐบาลอเมริกันจึงต้องส่งกำลังทหารมาช่วยดูแลความปลอดภัยให้กับผู้คนของตัว มีการจัดตั้งป้อมมานน์ (Fort Mann) ขึ้นบน ซานตาเฟ่ เทรล เมื่อปี ค.ศ.1847 ในบริเวณเป็นตอนใต้ของรัฐแคนซัส

นายทหารที่ได้รับมอบหมายให้มาบัญชาการป้อมมานน์ มีชื่อว่า พันเอกกิลปิน (Colonel Gilpin) ทำหน้าที่ได้พักหนึ่งเมื่อเริ่มรู้ภูมิประเทศและสถานการณ์ดี ก็ทำเรื่องเสนอหน่วยเหนือ และได้รับอนุมัติให้สร้างป้อมขนาดย่อมอีกจำนวนมาก วางเรียงรายไปตามเส้นทางเป็นระยะๆ เพื่อใช้เป็นที่ทำการไปรษณีย์ และเริ่มปักเสาส่งโทรเลขไปพร้อมกัน

แต่การพัฒนาเชิงวัตถุนี้ กลับกลายเป็นการยั่วยุฝ่ายอินเดียนแดงให้โหมโจมตีหนักยิ่งกว่าเก่า (เข้าทำนองมึงสร้างกูเผา อะไรแบบนั้น) บุกเข้าทำลายทั้งค่ายทั้งเสาเสียเกลี้ยง จนบริการไปรษณีย์และโทรเลขต้องยกเลิกไป เส้นทางคมนาคมถูกตัดขาดลงอย่างสิ้นเชิงในปี ค.ศ.1864

ภาพเขียนสีน้ำมันฝีมือ ชาร์ลส ชเรโวเก็ล
ชื่อว่า “ฝ่าทะลุแนว” (Breaking Through the Line)
จำลองเหตุการณ์ต่อสู้กัน
ระหว่างทหารอเมริกันกับนักรบอินเดียนแดง 

เมื่อเป็นแบบนี้ ทางรัฐบาลเลยต้องส่งนายทหารระดับสูง พร้อมด้วยกำลังเพิ่มเติมมาแก้ไขสถานการณ์

กรมทหารม้าแคนซัสที่ 11 และ 16 ภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลตรี กรีนวิลล์ ด๊อดจ์ (Major General Greeneville Dodge) เคลื่อนเข้าประจำพื้นที่เมื่อต้นปี ค.ศ.1865 ตรงกับฤดูหนาว เป็นเวลางดทำศึกของพวกอินเดียนแดงพอดี

นายพลด๊อดจ์ ถือโอกาสใช้เวลาในช่วงอากาศหนาวเหน็บ แถมด้วยพายุหิมะเป็นระยะๆ แต่ปลอดจากการโจมตีจากอินเดียนแดงนี้ สั่งการให้ทหารทุกนายกัดฟันสู้กับอากาศอันแสนทารุณ เร่งรัดซ่อมแซมป้อมค่ายและสายโทรเลขที่ถูกทำลายไปทั้งหมดขึ้นมาใหม่ 

เปิดเส้นทาง ซานตาเฟ่ เทรล ขึ้นอีกครั้ง และสร้างป้อมค่ายหลักขึ้นใหม่แทนป้อมมานน์เดิม เสร็จสิ้นลงในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน

อีกครั้งครับ โปรดช่วยกันหลับตานึกภาพป้อมค่ายใหม่นี้หน่อยนึง ว่าไม่ได้เป็นป้อมปราการชนิดก่ออิฐถือปูนแข็งแรง มีปืนใหญ่ตั้งตระหง่าน อย่างกับป้อมพระสุเมรุหรือป้อมพระกาฬ 

หรือเป็นป้อมค่ายใช้ไม้ซุงทำเป็นกำแพงแน่นหนา อย่างที่เห็นในหนังบางระจัน หรือหนังทหารม้ารบกับอินเดียนแดง ที่เคยดูกันเมื่อตอนเด็กๆแต่ประการใดหรอกนะครับ

ตรงกันข้ามมีหลักฐานบรรยายลักษณะของป้อมใหม่ไว้ว่า

“...ป้อมค่ายถูกสร้างขึ้นด้วยการขุดสนามเพลาะจำนวน 70 หลุม แต่ละหลุมมีขนาด 10X12 ฟุต ลึก 7 ฟุต เรียงรายไปตามแนวตลิ่งฝั่งเหนือของแม่น้ำอาร์คันซอส์ ทหารชุดแรกที่ถูกส่งเข้าประจำการส่วนใหญ่เป็นเชลยศึกฝ่ายใต้ ผู้สมัครใจขอรบกับอินเดียนแดงมากกว่าที่จะต้องเหี่ยวเฉาหรือตายในคุกของฝ่ายเหนือ ทหารเหล่านี้ไม่มีท่อนซุงหรือวัสดุอื่นใด ต้องใช้หญ้าและดินเหนียวทำหลังคา เจาะรูให้อากาศและแสงแดดลอดผ่านได้ ภายในหลุมถมดินปูหญ้าเป็นที่นอนขนาด 2-4 คน สภาพสุขอนามัยโดยทั่วไปแย่มาก ทหารพากันป่วยด้วยโรคปอดบวม บิด และท้องร่วง มิหนำซ้ำถึงฤดูใบไม้ผลิพอฝนตกลงมา น้ำก็ท่วมหลุมหมด ใช้การอะไรไม่ได้...”

เล่ากันต่อไปอีกว่า พลตรีด๊อดจ์เป็นนายทหารผู้มีเกียรติและความรับผิดชอบสูง เมื่อเห็นว่าตนเองได้นำพาเหล่าทหารหาญมาทุกข์ทรมาน ตกระกำลำบากยากเข็ญกันสุดๆ ทั้งๆที่ไม่ทันได้รบกับใคร ก็ตกลงยอมให้พวกทหารได้ระบายความเครียดและคับแค้นใจ 

ด้วยการขนานนามป้อมใหม่ตามชื่อของตนว่า ป้อมด๊อดจ์ (Fort Dodge) เอาไว้เป็นอนุสรณ์แห่งความหดหู่ รวมทั้งความน่าอดสูและล้มเหลวของท่านผู้นำ

ทางราชการก็ยอมตาม ปล่อยให้ใช้ชื่อนี้อย่างเป็นทางการมาจนถึงปัจจุบัน

ต้องถือว่า ท่านนายพลด๊อดจ์ไม่ได้มีเพียงเกียรติและความรับผิดชอบสูงเท่านั้นนะครับ ยังมีกลยุทธยอดเยี่ยมและสายตายาวไกลอีกด้วย 

ยอมให้ลูกน้องแค่ไม่กี่ร้อยคนระบายอารมณ์เสียหน่อย แล้วยุให้ตั้งชื่อป้อมตามชื่อตัว อ้างว่าจะได้เอาไว้ด่า

พอร้อยกว่าปีให้หลังกลับกลายเป็นว่า มีคนอีกเป็นล้านรู้จักชื่อตัว ในฐานะผู้มีชื่อเสียงเคียงคู่กับอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ของชาติไปแทน แถมกลายเป็นชื่อเมืองด้วยอีก

น้อยคนนักจะสนใจบากบั่นกลับไปค้นดูประวัติดั้งเดิม ให้รู้แจ้งเห็นจริงว่า อ้าว! ที่แท้เขาตั้งชื่อให้เป็นที่ระลึกแห่งความอัปยศต่างหาก นึกว่าตั้งไว้ให้เป็นเกียรติยศแก่วงศ์ตระกูลเสียอีก

นี่ทำให้นึกถึงบรรดาท่านผู้มีอำนาจทั้งหลายในบ้านเมืองเรานะครับ ถ้ามีวิสัยทัศน์กันทุกคนจริงๆ ป่านนี้คงจะรีบแย่งกันทำเป็นแอ่นอกแสดงความรับผิดชอบ พร้อมขอให้เปลี่ยนชื่อโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางยกระดับ เขื่อน สนามบิน ฯลฯ ที่มีแต่ข่าวอัปยศปูดขึ้นมา ให้เป็นชื่อตัวเองกันไปหมดแล้ว อ้างว่าเอาไว้ให้ชาวบ้านรุมด่าได้เต็มที่ถนัดๆ

อีกร้อยปีข้างหน้าไม่มีใครอยู่จำเรื่องราวได้ แต่ลูกหลานเอาไปคุยอวดชาวบ้านสบายว่า เห็นชื่อทางด่วน เขื่อน สนามบิน ฯลฯ นี่ไหม ผลงานปู่ย่าตายยายฉันเองทั้งนั้นเลยละ

ย่างเข้าหน้าร้อนของปี ค.ศ. 1866 เสบียงกรังและอุปกรณ์ รวมทั้งวัสดุก่อสร้างที่จำเป็นทั้งหลายจึงได้ถูกส่งมาถึง และในเวลาสองปีต่อมา ป้อมด๊อดจ์ก็ถูกก่อสร้างขึ้นใหม่อย่างเต็มรูปแบบ

นายทหารช่างผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างมีชื่อว่า นายร้อยโท จ๊อร์จ เฮสเซลเบอร์เก้อร์ (Lieutenant George Hesselberger) เป็นผู้อุทิศตนใช้ฝีมือและหยาดเหงื่ออย่างเต็มที่ หวังฝากผลงานไว้กับแผ่นดิน

ป้อมด๊อดจ์ที่เคยเละเทะไปด้วยฝีมือการบังคับบัญชาของทหารระดับนายพล กลับกลายสภาพมาเป็นค่ายทหารขนาดใหญ่ทันสมัย ประกอบด้วยโรงนอนทหารมีครัวและห้องอาหารในตัว 

มีกองพลาธิการ กองบัญชาการ กองรักษาการบ้านนายทหาร โรงพยาบาล โรงตีเหล็กสำหรับทำเกือกม้าและซ่อมรถ ร้านค้า มีแม้กระทั่งโบสถ์และสุสาน

อาคารสำคัญต่างๆ ถูกก่อสร้างเป็นตึกอย่างถาวรด้วยหินปูนพร้อมตกแต่งสวยงาม ทุกอาคารล้อมตัวกันเป็นวงกลม หันหน้าเข้าหาสนามอันกว้างใหญ่ใช้เป็นลานฝึกทหารและเดินพาเหรด

การก่อสร้างเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีปัญหาขาดแคลนแรงงานบ้าง ส่งของไม่ทันบ้าง ถูกอินเดียนแดงบุกโจมตีบ้าง ไม่รวมเรื่องหยุมหยิมต่างๆอีกมากมาย

แต่นายร้อยโทเฮสเซลเบอร์เก้อร์ ในฐานะผู้ควบคุมการก่อสร้าง ก็มุมานะจนสำเร็จ

ที่แปลกก็คือ นอกจากนายร้อยโทเฮสเซลเบอร์เก้อร์จะไม่ได้รับรางวัล หรือเลื่อนยศเพื่อตอบแทนความดีความชอบแล้ว 

ยังถูกหน่วยเหนือตำหนิว่า มัวแต่หมกมุ่นสร้างตึกอยู่ จนไม่สามารถปราบปรามอินเดียนแดงให้ราบคาบได้

จากนั้นหน่วยเหนือก็ส่งจเรทหาร เดินทางมาสอบสวนข้อเท็จจริง แล้วดันแจ็คพ็อท ถูกพวกอินเดียนแดงโจมตีระหว่างทางเข้าอีก แต่โชคดีไม่มีใครบาดเจ็บหรือเสียหายอะไรมาก

พอมาเห็นหน้าตาของป้อมด๊อดจ์ยุคปรับปรุงใหม่ ท่านจเรฯก็ทำรายงานส่งกลับไปว่า “...อาคารต่างๆถูกสร้างขึ้นและตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจง งามสง่าจนเห็นได้ว่าตั้งใจจะออกแบบให้เป็นเมืองหลวงของประเทศ...”

และแล้ว นายร้อยโทเฮสเซลเบอร์เก้อร์ก็โดนจับขึ้นศาลทหาร ถูกตัดสินว่ามีความผิดแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น

ส่วนผู้บังคับบัญชาทุกๆระดับของตน ไม่ว่านายพันนายพล หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ กลับไม่มีใครโดนด้วยสักคน

ชื่อของนายร้อยโทเฮสเซลเบอร์เก้อร์ ที่ปรากฏอยู่บนแผ่นหินจารึกชื่อผู้อุทิศตนในการก่อสร้างป้อม ก็มีคนนำหนังควายมาคลุมปิดไว้ ไม่ให้ใครเห็นในวันทำพิธีสถาปนาป้อม

เรื่องของป้อมด๊อดจ์ยังไม่หมดนะครับ มีเกร็ดเล่าต่ออีกว่า ถึงจะก่อสร้างป้อมปราการขึ้นได้สวยงามมั่นคง ชีวิตทั่วไปในป้อมกลับยังคงยากลำบาก โรคภัยไข้เจ็บยังชุกชุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคบิดและท้องร่วง

แต่ถึงกระนั้น ทุกคนก็ยอมให้แบ่งพื้นที่ของโรงนอนส่วนหนึ่ง ที่เคยสงวนไว้สำหรับตั้งเตียงผู้ป่วย เอามาดัดแปลงเป็นห้องตีบิลเลียดแทน

บันทึกของนายทหารอนุศาสนาจารย์มีข้อความเขียนไว้ว่า

“...ผู้คนต่างพากันละเลยศีลธรรมและประเพณีอันดีงาม วันอาทิตย์แทบจะไม่มีใครสนใจเข้าโบสถ์ หลายครั้งต้องจัดพิธีสวดมนต์กันข้างๆโต๊ะบิลเลียด... ร้านค้าในป้อมเปิดต้อนรับชาวบ้านจากชุมชนข้างเคียงและนักเดินทางทุกคน อนุญาตให้เข้ามาซื้อเหล้ากินได้ตอนหัวค่ำทุกคืน ตั้งแต่หกโมงครึ่งจนถึงสามทุ่ม โดยมีกติกาว่า จะขายให้คนละไม่เกินสามเป๊ก แต่การนับดูจะไม่แม่นยำนัก เพราะมีผู้ถูกจับข้อหาเมาสุราอาละวาดมากมายเต็มห้องขังไปหมด...”

ใช่ครับ เมือง ด๊อดจ์ ซิตี้ ถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลานี้เอง เป็นธรรมดาว่า เมื่อใดมีค่ายทหารมาปักหลักเป็นเรื่องเป็นราว เมื่อนั้นผู้คนจะเริ่มทยอยเข้ามาตั้งถิ่นฐาน

ถ้าตามทฤษฎีคงอธิบายว่า ประชาชนสามารถตั้งบ้านเรือน ทำมาหากินประกอบอาชีพอย่างสะดวก ไม่ต้องกังวลว่าจะมีอันตราย เพราะมีกำลังทหารเป็นผู้คอยดูแลป้องกันอันตรายจากบรรดาข้าศึกปัจจนึกทั้งหลายให้

แต่สำหรับป้อมด๊อดจ์อันมีประวัติเรื่องราวแสนจะเกรียงไกร สามารถเอาไปทำหนังตลกแบบเสียดสีสบายๆนี่ คงใช้ทฤษฎีนี้สนับสนุนไม่ได้ (ท่านผู้อ่านที่เกิดทันเหมือนผม มีใครจำหนังตลกทางทีวีช่องสี่ขาวดำ เป็นเรื่องทหารม้ากับอินเดียนแดงได้ไหมครับ ผมจำชื่อเรื่องภาษาไทยไม่ได้ จำได้แต่ภาษาอังกฤษว่า F Troop ตัวละครก็จำชื่อไม่ค่อยได้ จำได้แต่ว่ามีผู้กองคนนึง จ่าคนนึง กับตัวตลกที่เป็นหมอผีของอินเดียนแดงชื่อแมวบ้าเท่านั้น ท่านใดความจำดีขอเชิญเขียนมารื้อฟื้นความหลังกันหน่อยนะครับ)

ผมว่าพวกคาวบอยยุคบุกเบิกสมัยนั้น คงไม่มีใครสนใจ หรือคาดหวังว่าทหารประจำป้อมด๊อดจ์จะมาช่วยรับประกันความปลอดภัยอะไรให้ตัวซักเท่าไรหรอกครับ ทุกคนต่างเคยเดินทางไปๆมาๆกันอยู่แถวนี้จนชินมาตั้งนานแล้วทั้งนั้น ก่อนหน้าพวกทหารจะเข้ามาสำรวจภูมิประเทศเสียอีก

ที่ตัดสินใจลงหลักปักฐานตามป้อมทหาร คงเพราะเห็นว่า อยู่ดีๆเงินหลวงก้อนเบ้อเริ่ม ก็ลอยมาให้เก็บเกี่ยวเองถึงที่สบายๆแล้ว เรื่องอะไรจะต้องไปเร่ร่อนขุดทอง หรือค้าขายที่อื่นให้เหนื่อยอีกต่างหาก

ราษฎรลำดับหนึ่ง (หรือจะเรียกว่าผู้ก่อตั้งก็คงไม่ผิดกติกาอันใด) มีชื่อว่า เฮนรี่ แอล. ซิตเล่อร์ (Henry L. Sitler) ปลูกบ้านทำด้วยดินเหนียวขึ้นข้างๆ ซานตาเฟ่ เทรล บนเนินห่างจากป้อมด๊อดจ์ไปทางตะวันตก 5 ไมล์ (8 ..) และบุกเบิกทำไร่ปศุสัตว์ขึ้นพร้อมกันเมื่อปี ค.ศ. 1871

เวลาผ่านไปไม่กี่เดือน ไร่ของเฮนรี่กลายเป็นที่หยุดพักพิงของนักเดินทาง พ่อค้าวาณิช และพรานล่าควายที่เริ่มทยอยเข้ามาในพื้นที่เพื่อล่าควายไบซัน (Bison) อันมีอยู่มากมายในท้องทุ่งแถบนี้ไปแล่เนื้อถลกหนังขาย

เวลาผ่านไป จากบ้านหนึ่งหลังกับหนึ่งคอกวัว เริ่มขยายตัวขึ้นเป็นชุมชน ประกอบด้วยร้านโชว์ห่วย (General Store) 1 ร้าน โรงเต้นรำ 3 โรง และซาลูนอีก 6 หลัง

พอขึ้นปี ค.ศ.1872 ก็ยกระดับขึ้นเป็นเมือง ตั้งชื่อเมืองว่า ด๊อดจ์ ซิตี้ ตามชื่อป้อมด๊อดจ์ที่อยู่ใกล้ๆ

จากนั้นจึงมีเศรษฐีคนแรกของเมืองเกิดขึ้นบ้าง มีชื่อว่านาย จ๊อร์จ เอ็ม. ฮูเว่อร์ (George M. Hoover) ผู้ร่ำรวยจากการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส แล้วเปลี่ยนโอกาสให้เป็นสตังค์อีกทีนึง

นั่นคือ หลังจากผู้บัญชาการป้อมด๊อดจ์ ออกคำสั่งยกเลิกการขายเหล้าที่เคยเปิดให้คนทั่วไปเข้ามาซื้อดื่มได้ในร้านค้าของป้อม เพื่อกำจัดปัญหาขี้เมาอาละวาดในเขตทหาร ก็เกิดเป็นวิกฤตขึ้นสำหรับเหล่าขี้เมา ไม่สามารถหาเหล้ากินได้เหมือนเดิม พากันเดือดร้อนไปทั่ว ทำท่าจะลงแดงตายก็มาก

นายฮูเว่อร์เห็นเป็นโอกาส รีบเปิดร้านเหล้าใหม่ในเขตเมือง ด๊อดจ์ ซิตี้ ขึ้นมาแทน

ขี้เมาทั้งหลายที่เดิมเคยเป็นลูกค้าของป้อมด๊อดจ์เลยได้เฮ แห่กันมาอุดหนุนร้านเปิดใหม่ของนายฮูเว่อร์กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ทำให้นายฮูเว่อร์กลายเป็นเศรษฐีแบบข้ามคืน

ส่วนปัญหาขี้เมาอาละวาด ที่ตามมาด้วยจนกลายเป็นวิกฤตใหม่ของเมืองนั้น นายฮูเว่อร์ไม่สนใจ ขอปล่อยให้คนอื่นรับวิกฤตใหม่ไปหาทางเปลี่ยนเป็นโอกาสกันเอาเองบ้าง เดี๋ยวจะหาว่าตัวเองผูกขาดเสียหมด

เมือง ด๊อดจ์ ซิตี้ ขยายตัวต่อไปอย่างรวดเร็ว มีทางรถไฟสาย อัทชิสัน โทปีก้า และ ซานตาเฟ่ (Atchison, Topeka and Santa Fe Railroad – ชื่อยาวจังนะครับ ฟังดูล้อกันกับทางด่วนสาย บางนา-บางปะกง-ชลบุรี ดีแฮะ) ตัดเข้ามาถึงเมื่อเดือนกันยายนในปีนั้น

ตามมาด้วยอาคารใหม่ๆและเต๊นท์ ผุดขึ้นบนฝั่งใต้ของทางรถไฟอีกมากมาย มีผู้ประกอบกิจการร้านอาหาร ร้านตัดผม ร้านช่างเหล็ก

เกิดถนนสายแรกของเมืองชื่อว่า ถนนหน้าหรือ Front Street ซึ่งภายหลังกลายเป็นสถานที่ประกอบฉากเหตุการณ์สำคัญๆของเมืองอีกมากมาย

จังหวะนี้ เป็นเวลาที่อาชีพล่าควายไบซัน อันมีอยู่มากมายมหาศาลในทุ่งกว้างแถบนั้น บูมขึ้นมาพอดี ผู้คนจากทั่วสารทิศต่างหันมาทำอาชีพล่าควาย เพื่อถลกหนังไปขายในราคาผืนละ 3 ดอลล่าร์ 50 เซ็นต์

พวกพรานล่าควายไม่เพียงใช้เมืองเป็นที่อาศัยพักพิงอย่างเดียว ยังวางหนังควายที่แล่มาได้ก่อนจะนำไปขายต่อ กองเรียงรายไว้บนถนนหน้าเต็มไปหมด ส่งกลิ่นเหม็นหึ่งไปทั้งเมือง ทั้งกลิ่นหนังควายและกลิ่นคนล่าควาย 

ศพควายไบซันที่ถูกล่า กองพะเนินเทินทึก
ก่อนถูกแล่เนื้อเถือหนังไปขายต่อ 

กล่าวกันว่า ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1872 ถึง 1874 มีพรานล่าควายเข้ามาทำมาหากินไม่น้อยกว่า 2,000 คน มีหนังควายส่งออกจาก ด๊อดจ์ ซิตี้ ถึง 850,000 ผืน เนื้อควายอีก 500,000 ตัน แถมด้วยลิ้นควายอีก 50 ตู้รถสินค้า

ชาวนาชาวไร่พลอยได้รับประโยชน์ต่อเนื่อง ด้วยการนำกระดูกที่ทิ้งแล้วไปขายต่อในราคาตันละ 8 ดอลล่าร์ เศรษฐกิจชักจะเฟื่องฟู

จากนั้นก็มีผู้มาเยือนหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอีกกลุ่มหนึ่ง ได้แก่พวกคาวบอย หมายถึงพวกโคบาลที่มีอาชีพต้อนวัวเป็นหลักจริงๆครับ บรรดาเจ้าของไร่ปศุสัตว์ทั้งหลายในเท็กซัส เมื่อทราบข่าวว่าทางรถไฟตัดมาถึงเมือง ด๊อดจ์ ซิตี้ ก็พากันต้อนฝูงวัวมาขึ้นรถไฟที่นี่เป็นการใหญ่ สร้างความคึกคักเงินทองเดินสะพัดยิ่งขึ้นอีก

ถึงปี ค.ศ.1875 ควายไบซันลดจำนวนลงมาก เกือบสูญพันธ์ไปจากท้องทุ่งหลังจากถูกล่าจนเกลี้ยง นักล่าควายค่อยๆหายหน้าหายตาไป เหลือแต่พวกคาวบอยครองเมืองอยู่เพียงพวกเดียว

ช่วงนี้และครับที่ความสนุกสนานทั้งหลายได้เริ่มขึ้น

ก่อนจะเล่าต่อไป ต้องขออนุญาตปูพื้นนิดนึงครับว่า ถึงแม้สงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกาจะสิ้นสุดลงไปแล้วตั้งหลายปี แต่ความเกลียดชังของฝ่ายผู้แพ้คือฝ่ายใต้ ที่มีต่อผู้ชนะคือฝ่ายเหนือหรือพวกแยงกี้ กลับไม่เคยเสื่อมคลาย (Yankee – คำนี้จริงๆแล้ว ไม่ได้หมายถึงมะกันทุกคนอย่างที่ใช้กันทั่วไปหรอกครับ จะหมายถึงเฉพาะมะกันผู้มีพื้นเพมาจากฝั่งเหนือ หรือให้เฉพาะเจาะจงจริงๆ คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเท่านั้น)

ทุกวันนี้ หากท่านได้คุ้นเคยวิสาสะกับพวกมะกันรุ่นอาวุโสผู้มีพื้นเพมาจากทางใต้ (อีกแหละครับที่จริงคือตะวันออกเฉียงใต้) ชวนคุยเรื่องประวัติศาสตร์ในวงเหล้าเสียหน่อย รับรองครับว่าจะต้องมีหลุดปากคำว่า แดมน์ แยงกี้ (Damned Yankee – ไอ้พวกแยงกี้อัปรีย์จัญไร) หรือฉันเกลียดไอ้พวกแยงกี้ (I hate Yankee) ออกมาให้ได้ยินเวลาพูดถึงคนทางเหนือแน่

เพราะฉะนั้น เมื่อพวกคาวบอยจากเท็กซัส อันเป็นรัฐที่ประกาศตัวเป็นฝ่ายใต้เมื่อครั้งสงคราม ส่วนใหญ่เป็นทหารผ่านศึกฝ่ายหนึ่ง กับพวกทหารจากป้อมด๊อดจ์ อันเป็นทหารชุดสีน้ำเงินของฝ่ายเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง 

ต่างฝ่ายต่างเลือดรักสถาบันเข้มข้นยังกับนักเรียนอาชีวะ เกิดโคจรมาพบกัน เดินสวนกันไปสวนกันมาในเมือง ชนกันมั่ง มองหน้ากันมั่ง ติดผู้หญิงคนเดียวกันมั่ง นั่งกินเหล้าร้านเดียวกันมั่ง 

คงพอเดาออกนะครับว่าอะไรจะเกิดขึ้นตามมา

แถมไม่ใช่คนเท่านั้นที่ชอบหาเรื่อง วัวของพวกคาวบอยเองก็ใช่ย่อย ชอบที่จะหลุดเข้าไปในเขตทหาร ไล่ขวิดลูกเมียของทหารบ้าง หรือไม่ก็ขวิดเสื้อผ้าที่เขาซักตากไว้บ้างจนขาดเลอะเทอะหมด นำไปสู่เรื่องทะเลาะกันไม่หยุดหย่อน

นอกจากพวกคาวบอย ก็ยังมีพวกคนงานรถไฟ นักพเนจร และอดีตนักล่าควายที่ยังไม่มีที่ไปบ้างเป็นน้ำจิ้มอีก 

ขาดอยู่พวกเดียวที่ยังไม่มี คือตำรวจ

ส่วนฝ่ายทหารนั้น ได้รับมอบหมายให้ป้องกันพวกอินเดียนแดงอย่างเดียว ไม่ได้รับมอบอำนาจให้มาทำหน้าที่ดูแลบังคับใช้กฎหมาย หรือมีอำนาจใดๆเหนือกิจการพลเรือน ออกนอกค่ายมาแล้วไม่มีอภิสิทธิ์ใดๆเหนือชาวบ้าน

ทุกคนจึงเท่าเทียมกันหมด สามารถพกปืนและยิงปืนได้ตามอัธยาศัย นานเข้าก็ต้องช่วยกันหาที่ทางเอาไว้ฝังศพที่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน เกิดเป็นสุสานบู๊ทฮิลล์ (Boot Hill) ขึ้น

ชื่อบู๊ทฮิลล์นี่ก็อีกนั่นแหละครับ ไม่ใช่ชื่อทางการ สุสานก็ไม่ได้มีพิธีเปิดเป็นเรื่องเป็นราวแต่อย่างใด พอฝังศพไว้ในบริเวณเดียวกันแยะๆ ตามสภาพที่ตายโดยยังมีรองเท้าบู๊ทสวมติดตัวอยู่ ผู้คนก็เริ่มเรียกตามกันปากต่อปากว่า เขาบู๊ทหรือบู๊ทฮิลล์ (ถ้าแปลเป็นไทยว่า ภูเกือกหรือดอยเกือก จะฟังดูเท่ห์กว่ามากเลยนะครับ) จนกลายเป็นชื่อทางการไปเอง

สถานที่ตั้งของบู๊ทฮิลล์ก็ไม่ใช่ที่ไหน อยู่ข้างๆถนนหน้าอีกเหมือนกัน ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์อันเชิดหน้าชูตาแห่งหนึ่งของเมือง ด๊อดจ์ ซิตี้

ย่างเข้าปี ค.ศ.1876 ถึงเริ่มมีการจัดระเบียบสังคมให้เป็นเรื่องเป็นราวเสียที มีการเลือกตั้งเทศมนตรีชื่อ เจมส์ เอ็ช. เคลลีย์ (James H. Kelly) กับกลุ่มนักธุรกิจอีกจำนวนหนึ่งเข้ามาบริหาร ภายใต้ชื่อกลุ่มการเมือง (หรือจะเรียกว่าพรรคการเมืองก็พอไหวครับ) ที่เรียกกันว่า แก๊งเมืองด๊อดจ์ (Dodge City Gang) 

หรือบางทีเรียกสั้นๆว่า เดอะแก๊ง

เมือง ด๊อดจ์ ซิตี้ เมื่อประมาณปี ค.ศ.1876 

มีการจัดหาผู้รักษากฏหมายมือดีเข้ามาทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย หลายคนกลายเป็นคนดังมีชื่อเสียงเป็นที่จดจำมาจนทุกวันนี้ เช่น บิล ทิลจ์แมน (Bill Tilghman) ชาร์ลี บาสเส็ท (Charlie Basset) พี่น้องตระกูลม้าสเตอร์สัน (Masterson) ได้แก่ แบ๊ท (Bat) ตามด้วยเอ๊ด (Ed) พี่ชาย กับจิม (Jim) น้องชาย

และแน่นอนครับ สุดท้ายย่อมไม่ใช่ใครอื่น นอกจากมือปืนผู้คงกระพันมหาอมตะนิรันดร์การอย่าง วายแอ็ท เอิ๊ร์ป (Wyatt Earp)

แบ๊ท ม้าสเตอร์สัน (ซ้าย)
และ
วายแอ็ท เอิ๊ร์ป (ขวา)
ถ่ายรูปร่วมกัน เมื่อครั้งยังทำหน้าที่
ผู้รักษากฎหมาย อยู่ที่ ด๊อดจ์ ซิตี้
ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1876-1878 

ตราประจำตำแหน่งมาร์แชล
แห่งเมือง ด๊อดจ์ ซิตี้ 

แต่คณะผู้ปกครองดูแลบ้านเมือง ก็ไม่ได้มีความตั้งใจจะจัดระเบียบเพื่อพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวด๊อดจ์ที่เลือกตัวเข้ามาจริงๆจังๆเสียเท่าไร เพราะต่างก็มาจากกลุ่มเจ้าของร้านค้า ซาลูน และบ่อนทั้งนั้น

วัตถุประสงค์หลักคือ อย่าให้ใครมามีเรื่องกันยิงกัน หรือมาทำลายข้าวของในร้านของตัวเสียหายเป็นพอ ส่วนจะไปก่อเรื่องเดือดร้อนกับคนอื่นที่อื่นก็ตามใจ

อีกมุมหนึ่งของ ด๊อดจ์ ซิตี้ ในยุคเดียวกัน 

เห็นได้ชัดจากการกำหนดเขตห้ามพกอาวุธ ซึ่งขีดเส้นตายไว้แต่เพียงจากทางรถไฟ ที่พาดรางไปตามแนวกลางของถนนหน้า มาทางฝั่งเหนือเท่านั้น

เหตุผลคือ เพราะฝั่งเหนือเป็นแหล่งธุรกิจและร้านค้าที่นักการเมืองพวกนี้เป็นเจ้าของ ส่วนถนนซีกฝั่งใต้ของทางรถไฟไม่มีอะไรนอกจากคุก และบ้านเรือนร้านค้าย่อยของชาวบ้านทั่วไปไม่กี่หลัง ไม่ถือว่ามีความสลักสำคัญเพียงพอที่จะต้องดูแล

ศรษฐกิจของเมือง (จะให้ถูกต้องหมายถึงธุรกิจอบายมุข ที่เจ้าของนั่งเป็นผู้บริหารบ้านเมืองอยู่ด้วย) เฟื่องฟูใหญ่ จากประชากรทั้งหมดเพียง 1,200 คน (ครับ พันกว่าคนเท่านั้น) มีบาร์ บ่อน โรงเต้นรำ และสถานบันเทิงต่างๆ เปิดกิจการอยู่ถึง 19 แห่ง เงินทองไหลมาเทมาไม่หยุด

นี่ก็ ด๊อดจ์ ซิตี้ ครับ เชื่อว่าเป็นภาพที่ระลึก
จากการเปิดกิจการโรงแรมแห่งหนึ่ง 

คนจรและคนต่างถิ่นพากันแห่เข้ามาทำมาหากิน มีตั้งแต่พ่อค้าเร่ นักพนัน ไปจนถึงหญิงบริการ ซาลูนหลายแห่งแข่งกันดึงดูดลูกค้าคาวบอยด้วยการเปลี่ยนชื่อร้าน ให้ฟังดูเป็นเท็กซัสว่า อลาโม (Alamo) บ้าง ดาวเดี่ยว (Lone Star) บ้าง

ทุกร้านมีวิสกี้ บรั่นดี เบียร์ เหล้าผสมรุ่นล่าสุดทุกรุ่นไว้คอยบริการ ขนาดน้ำแข็งยังมีเลยครับ บางแห่งมีไข่ปลาคาร์เวียร์อยู่ในรายการอาหารด้วย

การพนันนั้นมีให้เล่นตั้งแต่แทงลูกเต๋าทีละ 5 เซ็นต์ ไปจนถึงโป๊กเก้อร์มือละพัน

ส่วนดนตรีนั้นไม่เคยน้อยหน้ากว่าเมืองใหญ่ๆ ลูกค้าสามารถหาฟังได้ตั้งแต่เดี่ยวเปียโนมีนักร้อง ไปจนถึงวงดุริยางค์ 5 ชิ้น หรือถ้าไม่ใช่คอลูกกรุงก็มีลูกทุ่งวงใหญ่ให้เลือกฟัง

บรรยากาศภายในบาร์แห่งหนึ่งของเมือง ด๊อดจ์ ซิตี้

ในขณะเดียว กันการทะเลาะวิวาทจากการพนัน แย่งผู้หญิง และเมาสุราก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ฝ่ายปกครองแก้ไขปัญหาด้วยการจ้างมือปืนฝีมือดีมาทำหน้าที่ดูแลความสงบเพิ่มเติมอีกหลายคน เป็นผลให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นมากกว่ารายรับ

พอถึงปี 1878 ต้องออกเทศบัญญัติห้ามเล่นการพนันและค้าประเวณี ไม่ได้หวังว่าจะแก้ปัญหาตรงต้นตอหรือรากหญ้าแต่อย่างใดหรอกครับ ต้องการแค่จะจับผู้ฝ่าฝืนเพื่อเอาค่าปรับมาเพิ่มรายได้ แก้ปัญหางบประมาณขาดดุลเท่านั้น เนื่องจากกฎหมายมีแต่โทษปรับไม่มีโทษจำ ไม่มีการสั่งปิด ถูกจับเสียค่าปรับเสร็จก็ออกมาเล่นมาค้ากันต่อไปเป็นปกติเหมือนเดิม

สักพักพองบประมาณร่อยหรอ ค่อยลุยจับกันอีกแล้วปล่อยไปอีก ทำอย่างงี้ไปเรื่อยๆ ไม่เห็นมีใครประท้วงหรือร้องเรียนอะไร นักเที่ยวก็ยังตรึมเหมือนเดิม

ถึงปี ค.ศ. 1879 เมือง ด๊อดจ์ ซิตี้ เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว หนังสือพิมพ์ตามเมืองใหญ่ๆในอเมริกาต่างเขียนถึงเมือง ด๊อดจ์ ซิตี้ ว่าเป็น เมืองที่เต็มไปด้วยการค้าประเวณีและซ่องโสเภณี (เห็นไหมครับมีเมืองอื่นรับตำแหน่งนี้ไปก่อนตั้งเป็นร้อยปีแล้ว) และ บาร์ บ่อน และสถานเริงรมย์ เปิดกันอย่างอิสระและเสรี มีเจ้าของเป็นคนใหญ่โตอยู่ในบ้านเมือง (อันนี้ก็ใกล้เข้าไปทุกที) รวมทั้งเป็น เมืองแห่งซ่องโจรและหัวขโมย คอยจ้องตบทรัพย์คนแปลกหน้าที่ไม่ระมัดระวังตัว (เอาตามอีกซักอย่างให้ครบเลยไหมครับ)

ร้อนถึงประชาชนผู้รักความสงบและศีลธรรมอันดีทั้งหลาย ที่เบื่อหน่ายสภาพเหลวแหลกของสังคมและสิ่งแวดล้อม ต้องออกมาเคลื่อนไหวกันบ้าง

ประชาชนเหล่านี้ต่างต้องการให้เมือง ด๊อดจ์ ซิตี้ มีชื่อเสียงในทางดี มีแต่ผู้รักในสัมมาอาชีพเข้ามาทำมาหากิน จึงหันไปสนับสนุนกลุ่มการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่ชื่อว่า กลุ่มปฏิรูป (Reformers) ผู้ประกาศนโยบายว่า จะเอาชื่อเมือง ด๊อดจ์ ซิตี้ ออกจากพจนานุกรม ไม่ใช่ครับ ออกจากการวิพากษ์วิจารณ์ของหนังสือพิมพ์ว่าเป็นเมืองหลวงแห่งการค้าประเวณีให้ได้

เมื่อถึงการเลือกตั้งครั้งใหม่ พรรคปฏิรูปจึงได้รับคะแนนล้นหลามจากประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง พรรคเดอะแก๊งต้องหลุดจากอำนาจไป

นายกเทศมนตรีคนใหม่จากพรรคปฏิรูปมีนามว่า อลองโซ บี. เว็บสเต้อร์ เข้าดำรงตำแหน่งในปี ค.ศ.1881 โดยยังคงมีกิจการซาลูนถึง 2 แห่งในเมืองเป็นของตัวด้วย

ไม่นานหลังจากเข้ารับตำแหน่ง นายกฯเว็บสเต้อร์ก็ปลด จิม ม้าสเตอร์สัน ออกจากตำแหน่งซิตี้ มาร์แชล (City Marshal) ของเมือง ด๊อดจ์ ซิตี้ แล้วแต่งตั้ง เฟร้ด ซิงเกอร์ (Fred Singer) บาร์เทนเดอร์คนหนึ่งในซาลูนของตัวขึ้นมาเป็นซิตี้มาร์แชลแทน

จิม ม้าสเตอร์สัน เป็นน้องชายของแบ๊ท ซึ่งเป็นนักการเมืองพรรคเดอะแก๊ง ผู้เพิ่งแพ้เลือกตั้งให้กับผู้สมัครจากพรรคปฏิรูปไปหมาดๆ และต้องพ้นจากตำแหน่งเชอริฟแห่งมณฑลฟอร์ด (Ford County Sheriff)

หลังพ้นตำแหน่ง แบ๊ทตัดสินใจย้ายออกจากเมือง ด๊อดจ์ ซิตี้ ไปหากินเป็นหุ้นส่วนอยู่กับ วายแอ็ท เอิ๊ร์ป ที่เมืองทูมบ์สโตน

ส่วนจิม หลังจากถูกฝ่ายตรงข้ามปลดออกจากตำแหน่งได้ไม่นาน ก็เกิดไปมีเรื่องทะเลาะกับหุ้นส่วนของตนที่เปิดโรงเต้นรำมาด้วยกัน ถึงขั้นก่อเหตุวิวาทกัน และถูกคู่กรณีแจ้งจับข้อหาทำร้ายร่างกาย

แบ๊ทพี่ชายของจิมทราบข่าว เกรงว่าน้องชายจะไม่ได้รับความเป็นธรรม และอาจถูกกลั่นแกล้ง เนื่องจากหุ้นส่วนคนดังกล่าวเป็นคนของพรรคปฏิรูป จึงเดินทางกลับมายัง เมือง ด๊อดจ์ ซิตี้ เพื่อช่วยน้องชาย

จะช่วยอย่างไรไม่ทราบ เกิดยิงกันขึ้นระหว่างจิมและแบ๊ทฝ่ายหนึ่ง กับคู่อริอีกฝ่ายหนึ่ง ที่กลางถนนหน้า

แบ๊ทอยู่ทางฝั่งเหนือของถนน ยิงข้ามทางรถไฟไปทางฝั่งใต้ซึ่งมีเพียงคุกและบ้านเรือนไม่กี่หลังตั้งอยู่ ฝ่ายตรงข้ามนั้นมีหลายคน ยิงจากฝั่งคุกข้ามมาทางฝั่งเหนือ ซึ่งเรียงรายไปด้วยร้านค้าและบาร์บ่อน พลาดเป้าถูกกระจกแตกเสียหายไปหลายร้าน

โค้ลท์ ซิงเกิ้ล แอ๊คชั่น อาร์มี่
ขนาด .45 รุ่นมาตรฐานสำหรับ
ประจำการในกองทัพบกสหรัฐฯ
 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1873
ลำกล้องยาว 7 นิ้ว 

 โค้ลท์ ซิงเกิ้ล แอ๊คชั่น อาร์มี่
รุ่นผลิตขายให้พลเรือนทั่วไป
สามารถเลือกความยาวลำกล้อง
ได้หลายขนาด ที่เห็นนี้คือ 4 ¾ นิ้ว
ต่อมาบริษัทโค้ลท์ผลิตรุ่นใช้กระสุน
ขนาด .44-40 ของวินเชสเต้อร์
เพิ่มเติมขึ้นอีกรุ่นหนึ่งให้เลือกซื้อได้ด้วย 

ยิงกันอยู่หลายนาที ไม่มีเจ้าหน้าที่มาห้ามปราม จนกระทั่งคนของพรรคปฏิรูปพลาดท่า ถูกแบ๊ทยิงบาดเจ็บไปหนึ่ง

เว็บสเต้อร์ในฐานะนายกเทศมนตรี กับซิงเกอร์ในฐานะมาร์แชล ถึงได้คว้าปืนลูกซองวิ่งออกมาจับแบ๊ทกับจิม และสั่งเนรเทศออกจากเมืองไปเสีย 

โดยไม่ลืมเปรียบเทียบปรับข้อหารบกวนความสงบ และบังคับชดใช้ค่าเสียหายให้กับร้านค้า (ของพวกตัว) ที่ถูกลูกหลง (จากพวกของตัวนั่นแหละ) เสียก่อน

หลังจากนั้นก็ออกประกาศติดไว้ทั่วเมือง เป็นการปรามฝ่ายตรงข้ามว่า ทางการจะจัดการขั้นเด็ดขาดกับบรรดาโจร หัวขโมย นักต้มตุ๋น และผู้ที่พบว่าไม่มีอาชีพ หรือที่มาของรายได้เป็นหลักแหล่ง (ไม่แน่ใจว่าหมายถึงพวกนักวิชาการอิสระ หรือนักเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยหรือเปล่านะครับ) ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป

นานวันเข้า กาลเวลาก็เริ่มพิสูจน์ว่า นายกคนใหม่ (หมายถึงนายกเทศมนตรีเว็บสเต้อร์นะครับ โปรดอย่าเผลอคิดเป็นอย่างอื่น) ไม่ได้สนใจจะแก้ไขปัญหาในระดับรากหญ้า หรือเอาจริงเอาจังกับนโยบายที่เคยหาเสียงไว้แต่อย่างใด

คอยแต่หาทางกำจัดพรรคการเมืองคู่แข่ง และผู้ไม่เห็นด้วยกับตน ไม่ให้มีปากมีเสียง เพื่อให้ธุรกิจของตนและพวกพ้องเจริญก้าวหน้า มีกำไรดีกว่าของคนอื่นเท่านั้น

นอกจากนี้ ผู้คนทั้งเมืองยังทราบกันดีอีกว่า เงินภาษีที่นำใปใช้เป็นค่าจ้างบรรดาผู้รักษากฎหมาย มาคอยดูแลความสงบเรียบร้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนของนายกฯอยู่ก่อน เก็บมาได้แต่เพียงจากกิจการที่ไม่ได้เป็นของนายกฯ หรือพรรคพวกเท่านั้น

แต่จะหวังพึ่งฝ่ายค้าน ก็ไม่มีน้ำยาอะไรเสียแล้ว

เหตุการณ์ผ่านไปจนถึงปี ค.ศ.1883 มีการเลือกตั้งใหม่ นายกเทศมนตรีเว็บสเต้อร์ทำเป็นแสดงสปิริตทางการเมือง ไม่ลงเลือกตั้งสมัยสอง 

แต่ส่ง ลอว์เร้นซ์ อี. ดีเก้อร์ (Lawrence E. Deger) ผู้เป็นเด็กในคาถา (หรือตัวแทน ร่างทรง หรือจะเรียกให้ทันสมัยยิ่งขึ้นไปอีกว่านอมินีก็คงพอไหวนะครับ) ลงแทน และได้รับเลือกตั้งแบบสบายๆตามความคาดหมาย

พรรคปฏิรูปจึงสามารถยึดอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ได้ตามเดิม (คงกะอยู่นาน 12 ปี หรืออะไรทำนองนี้เหมือนกัน)

และคงจะครองอำนาจอยู่ได้นานสมใจนึก หากไม่มีคาวบอยตัวเล็กๆผู้มีนามว่า ลุค ช้อร์ท (Luke Short) เพื่อนสนิทของ แบ๊ท มาสเตอร์สัน เข้ามาทำมาหากินหวังร่ำรวยอยู่ในเมือง ด๊อดจ์ ซิตี้ กับเขาด้วย

ลุค ช้อร์ท เข้ามาเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งของลองแบร๊นช์ซาลูน (Long Branch Saloon – ผมเคยตั้งชื่อภาษาไทยไว้ก่อนหน้านี้ว่า บาร์ก้านยาว ครับ) ร่วมกับ วิลเลียม เอ็ช แฮริส (William H. Harris) นักการเมืองและนายทุนคนสำคัญของพรรคเดอะแก๊ง

บาร์ก้านยาวมีอาหารดี ดนตรีเพราะ บริการยอดเยี่ยม กิจการรุ่งเรือง มีสัดส่วนการตลาดหรือมาร์เก็ตแชร์ สูงกว่าบาร์อื่นๆทุกบาร์รวมกัน

ข้อสำคัญคือ ดันแย่งลูกค้าจากบาร์ของนักการเมืองฝ่ายปฏิรูปมาเสียเกือบหมด สร้างความไม่พอใจให้กับอดีตนายกฯเว็บสเต้อร์เป็นอย่างยิ่ง

ประกอบข้อเท็จจริงที่ว่า ลุค ช้อร์ท เป็นเพื่อนสนิทของ แบ๊ท ม้าสเตอร์สัน นักการเมืองฝ่ายเดอะแก๊ง ผู้เพิ่งจะห้ำหั่นกับพวกลูกสมุนของพรรคปฏิรูปถึงขั้นยิงกันเลือดตกยางออก ก็ไม่ทำให้ผู้นำและสมาชิกพรรคปฏิรูปเกิดความประทับใจขึ้นแต่อย่างใด

จึงเกิดการกลั่นแกล้งบาร์ก้านยาวขึ้นทุกรูปแบบ ลุค ช้อร์ท ผู้ซึ่งถึงจะตัวเล็ก แต่กลายเป็นกระดูกชิ้นใหญ่ คอยตอบโต้กลุ่มผู้มีอำนาจอย่างไม่ลดละ จนต้องลงเอยด้วยการยิงกันอีก

สุดท้าย เว็บสเต้อร์สั่งเกณฑ์ม็อบมาคุมตัวคาวบอยตัวเล็กคนเดียวนี้ขึ้นรถไฟ เนรเทศออกนอกเมืองไป และยังต้องจัดเวรยามคอยผลัดกันเฝ้าสถานีไว้ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่โผล่กลับมาอีก

ผมขออนุญาตไม่เล่ารายละเอียดตรงนี้นะครับ เนื่องจากเคยบรรยายไว้สองครั้งสองคราแล้วในคาวบอยกับปืนคู่ใจตอน แบ๊ท มาสเตอร์สัน คาวบอยมาดลูกกรุง (กันส์ เวิลด์ ฉบับที่ 45) และ ลุค ช้อร์ท คาวบอยจิ๋วแต่เจ็บ (กันส์ เวิลด์ ฉบับที่ 48)

ลุค ช้อร์ท 

โดยสรุป ท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนของคาวบอยกับปืนคู่ใจมาตลอด คงนึกออกว่า ลุค ช้อร์ท กลับมาอีกครั้งจนได้ แต่แทนที่จะมาคนเดียว ดันขนพรรคพวกเพื่อนฝูงมาด้วยหลายคน ทุกคนล้วนเป็นมือปืนระดับพญายมเรียกพี่ ไม่ว่าจะเป็น แบ๊ท ม้าสเตอร์สัน หรือ วายแอ็ท เอิ๊ร์ป ผู้เพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจล้างบางฝ่ายตรงข้ามที่เมืองทูมบ์สโตนไปไม่นาน และ ชาร์ลี บาสเส็ท อดีตมือปราบฝีมือดีอีกคนหนึ่งของเมือง

ชาร์ลี บาสเส็ท 

ทั้งหมดวางแผนนำกองกำลังอันมี วายแอ็ท เอิ๊ร์ป เป็นหัวหอก เล็ดรอดบุกเข้ายึดเมือง ด๊อดจ์ ซิตี้ เอาไว้ได้แบบสายฟ้าแลบ โค่นล้มอำนาจของพรรคปฏิรูปลง แบบไม่มีการเสียเลือดเนื้อแต่อย่างใด

หนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวการกลับมาของ ลุค ช้อร์ท บรรยายรายละเอียดของข่าวไว้อย่างน่าสนใจดังนี้ครับ

“...ลุค ชอร์ท ลงมาจากรถไฟเป็นคนแรก คาดปืนหกนัดไว้ที่สะโพกข้างละกระบอก มือถือปืนลูกซองแฝด เดินไปตามถนนมุ่งหน้าสู่บาร์ก้านยาวอย่างระมัดระวัง สายตาสอดส่ายดูหัวมุมตึกทุกแห่ง แบ๊ท ม้าสเตอร์สัน มาถึงในวันรุ่งขึ้น พร้อมด้วยอาวุธครบมือในลักษณะเดียวกัน และแล้ว ชาร์ลี บาสเส็ท ก็ปรากฏตัวขึ้นบ้าง หนีบปืนวินเชสเตอร์ไรเฟิลแบบยิงซ้ำไว้ข้างตัวกระบอกนึงเดินมากลางถนน ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา รถไฟทุกเที่ยวได้พาผู้คนหน้าใหม่ๆเข้ามาในเมืองอีกไม่ต่ำกว่า 40 หรือ 50 คน ทุกคนเข้าควบคุมสถานการณ์อยู่ที่บาร์ก้านยาว ส่วนกองกำลังฝ่ายต่อต้านดูจะอ่อนกำลังลง ไม่มีท่าทีว่าจะเกิดการปะทะกันขึ้นแต่อย่างใด...”

ปืนวินเชสเตอร์แบบยิงซ้ำ (Winchester Repeating Rifle)
ตามศัพท์ที่ใช้กันในยุคนั้น กระบอกที่ ชาร์ลี บาสเส็ท
 เดินหนีบเข้ามาในเมือง คือปืนวินเชสเตอร์คานเหวี่ยง
ที่บ้านเรารู้จักกันดีนั่นเองครับ คาดว่าน่าจะเป็นแบบ
เดียวกันกับกระบอกล่างสุดตามภาพนี้ ซึ่งเป็นรุ่นปี
 ค.ศ. 1873 (แต่ลำกล้องคงไม่ยาวขนาดนี้) ส่วนอีกสอง
กระบอกที่เห็นในภาพ กระบอกบนสุดบนคือรุ่นปี
ค.ศ. 1866 ถัดลงมากระบอกกลางเป็นรุ่นปี ค.ศ. 1892 

เว็บสเต้อร์ในฐานะผู้นำพรรค ถูกลูกพรรคทอดทิ้งให้โดดเดี่ยวเดียวดาย ต้องตัดสินใจยื่นข้อเสนอขอสงบศึก ยอมให้ ลุค ช้อร์ท กลับเข้ามาทำมาหากินในเมืองได้เช่นเดิม

กับยอมให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการรักษาความสงบเรียบร้อย (Peace Commission) ประกอบด้วยตัวแทนจากทั้งสองพรรคเท่าๆกัน และยอมสละอำนาจของตน ให้คณะกรรมการชุดนี้เป็นผู้ใช้อำนาจจับกุมแทน

ปีถัดมา เทศบาลเมือง ด๊อดจ์ ซิตี้ ตกเป็นจำเลย ต้องชดใช้ค่าเสียหายที่ปฏิบัติกับ ลุค ช้อร์ท อย่างไม่เป็นธรรม เสียค่าโง่ให้ ลุค ช้อร์ท (น่าจะใช้ชื่อย่อแบบไทยๆว่า ลุค ช. นะครับ) ไป 15,000 เหรียญ คิดเป็นค่าเงินปัจจุบันคงไม่ถึง 6 พันล้านบาท แต่ก็ต้องนับว่าเป็นเงินจำนวนมหาศาลในเวลานั้น

ต่อมา กิจการรถไฟเจริญก้าวหน้าขึ้นมาก มีเส้นทางตัดไปถึงเมืองอื่นๆอีกหลายเมือง หมดความจำเป็นที่พวกคาวบอยจากเท็กซัสจะต้องต้อนฝูงวัวมาขึ้นรถไฟที่เมือง ด๊อดจ์ ซิตี้

 รูปปั้นวัวเขายาวชื่อ เอล แคปิตัน
ตั้งอยู่บริเวณใจกลางเมือง ด๊อดจ์ ซิตี้
วัวพันธุ์เขายาว (Long Horn) คือวัวที่บรรดา
คาวบอยจากเท็กซัส พากันต้อนมาส่งขึ้นรถไฟ
ที่ ด๊อดจ์ ซิตี้ ในระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1875 – 1885
อย่างต่อเนื่อง นับจำนวนทั้งหมดได้มากกว่า
5 ล้านตัว นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง
ถึงขีดสูงสุดมาสู่ ด๊อดจ์ ซิตี้ ในช่วงเวลานั้น

พอถึงปี ค.ศ.1886 ก็ไม่มีใครต้อนวัวมาที่นี่อีก เงินทองไม่ไหลมาเทมาเหมือนเก่า ถึงจุดสิ้นสุดของความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจที่ยาวนานต่อเนื่องกันมาร่วม 14 ปี เหลือเพียงความทรงจำในอดีตอันรุ่งโรจน์ กับเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับการแสวงโชค การผจญภัย และการต่อสู้ในยุคคาวบอยพิชิตตะวันตก

ให้คนรุ่นหลังนำไปใช้ทำมาหากินด้วยการสร้างภาพยนตร์ เปิดสถานที่ท่องเที่ยว เขียนนวนิยาย ผลิตสารคดี (รวมทั้งเขียนเรื่องคาวบอยกับปืนคู่ใจนี้ด้วยครับ)

ป้ายยินดีต้อนรับสู่ ด๊อดจ์ ซิตี้ในปัจจุบัน 

ปัจจุบัน เมือง ด๊อดจ์ ซิตี้ มีประชากรประมาณ 2 หมื่นกว่าคน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ มีอุตสาหกรรมขนาดย่อมผลิตเหล็ก เครื่องจักรกล เครื่องเรือน และอาหารสำเร็จรูปอยู่บ้างประปราย กับวิทยาลัยระดับท้องถิ่นอีก 1 แห่ง

ส่วนป้อมด๊อดจ์นั้น ถูกปิดไปตั้งแต่ปี ค.ศ.1882 หลังจากภัยคุกคามจากพวกอินเดียนแดงยุติลง

ธงประจำป้อมถูกลดลงจากยอดเสาเป็นครั้งสุดท้าย และกองทหารเดินสวนสนามทำพิธีอำลาป้อมเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมในปีเดียวกัน

ปัจจุบัน ป้อมด๊อดจ์ถูกปรับปรุงกลายเป็นบ้านพักทหารผ่านศึกของรัฐแคนซัส ทิ้งประวัติอันลือลั่นในอีกสไตล์หนึ่งไว้คู่กับ ด๊อดจ์ ซิตี้ เมืองที่คาวบอยไม่เคยลืม

มีเกร็ดแถมท้ายอีกนิดครับว่า ทั้งๆที่เห็นกันชัดๆขนาดนี้แล้วว่า ด๊อดจ์ ซิตี้ มีความเหมาะสมทุกด้านที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ขึ้นเป็นบ้านพี่เมืองน้องกับทูมบ์สโตนอย่างเป็นทางการ จะได้ร่วมมือกันอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งกันและกันให้คึกคักมากยิ่งขึ้นอีก

แต่ผู้บริหารเมือง ด๊อดจ์ ซิตี้ในปัจจุบัน กลับไปตกลงสถาปนาความเป็นบ้านพี่เมืองน้อง กับเมืองชื่อสต๊อคพอร์ท (Stockport) ซึ่งเป็นเพียงเมืองบริวารเมืองหนึ่งของเมืองแมนเชสเตอร์ (Manchester) ในประเทศอังกฤษแทน

สาเหตุเพียงแค่พวกอังกฤษมาอ้างว่า บรรพบุรุษและลูกหลานรุ่นแรกๆของตระกูลด๊อดจ์ ต่างเป็นชาวอังกฤษ อาศัยอยู่ที่เมืองสต๊อคพอร์ทมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1437 จากนั้นลูกหลานรุ่นหลังๆส่วนหนึ่งได้อพยพไปอยู่อเมริกา และก่อตั้งเมือง ด๊อดจ์ ซิตี้ กับบริษัทผลิตรถยนต์ยี่ห้อด๊อดจ์ขึ้น

 พวกอังกฤษอ้างว่า บรรพบุรุษต้นตระกูลด๊อดจ์
เคยอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้
ในเมืองสต๊อคพอร์ท ประเทศอังกฤษ 

 บนตัวบ้านมีป้ายติดไว้บรรยายข้อความว่า
ฟาร์ม ฮาลลิเดย์ ฮิลล์ สร้างขึ้นเมื่อต้นศตวรรษที่สิบห้า
ราล์ฟ ด๊อดจ์ อาศัยอยู่ที่นี่เมื่อปี ค.ศ. 1437
เป็นบ้านของครอบครัวด๊อดจ์มาจนถึงปี  ค.ศ. 1841
สมาชิกครอบครัวจำนวนหนึ่งอพยพไปอยู่อเมริกา
ในปี ค.ศ.1638 และก่อตั้งเมือง ด๊อดจ์ ซิตี้ กับ
บริษัทด๊อดจ์มอเตอร์ขึ้น (ข้างล่างเป็นเครื่องหมาย
และลงชื่อเทศบาลนครสต๊อคพอร์ท) 

เท็จจริงอย่างไรไม่แน่ชัด แต่ดูไม่เห็นจะเกี่ยวกับเรื่องที่ผมค้นคว้าหามาเล่าสู่กันฟังนี่เลยนะครับ

ฤาว่า ประชาชนชาวด๊อดจ์รุ่นใหม่ จะหันมาเห่อฟุตบอลแมนยูกันหมด มากกว่าจะภาคภูมิใจในความโรแมนติค ของชีวิตและตำนานเกี่ยวกับคาวบอยและการพิชิตตะวันตก อันเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์อันแสนยิ่งใหญ่ของชาติตนเองเสียแล้ว?

มาร์แชลต่อศักดิ์
มกราคม 2545