ว่าด้วยเรื่องเพลงคันทรี่


ท่ามกลางกระแสเพลงลูกกรุงและเพลงป๊อปยุคใหม่ ที่ทยอยกันแปรสภาพจากเสียงดนตรีเป็นเสียงหนวกหู เพลงคันทรี่ยังคงรักษาความเป็นดนตรีที่แท้จริงไว้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ขอเชิญพบกับศิลปินและบทเพลงคันทรี่ร่วมสมัย ที่กำลังเตรียมเลื่อนชั้นขึ้นทำเนียบคลาสสิค

ทีแรก ผมกะว่าจะบรรยายประวัติความเป็นมาของเพลงคันทรี่ และเพลงคาวบอยลูกทุ่งตะวันตกทั้งหลาย เป็นการโหมโรงเสียก่อน แต่หลังจากได้ลองท่องเว็บดู ก็พบว่า มีท่านผู้รู้เขียนไว้แล้วอย่างละเอียดลออ ให้ทุกท่านสามารถติดตามได้จากหลายแหล่งแล้ว

จึงขออนุญาตไม่ฉายซ้ำละนะครับ เอาแค่เสริมเพิ่มเติมเล็กๆน้อย จากประสบการณ์และความเห็นส่วนตัวเป็นหลักก็แล้วกัน
 
"The Sources of Country Music"
หรือ "แหล่งที่มาของเพลงคันทรี่"
จิตรกรรมฝาผนัง ฝีมือ โธมัส ฮาร์ท เบ็นตั้น

เริ่มจากที่เรียกกันว่า เพลงคาวบอย เพลงโฟล์ค เพลงโห่(โยเดล) เพลงเว้สเทิร์นสะวิง เพลงบลูกร๊าส เพลงฮ้องกี้ท้องค์ เพลงร็อคอะบิลลี่ เพลงคันทรี่ร็อค ฯลฯ นั้น แตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไรบ้าง

อันนี้คงต้องตอบรวมๆครับว่า โดยจิตวิญญาณและที่มานั้นเหมือนกัน เพราะเกิดจากศิลปินผู้ที่มีความรักและผูกพัน กับการใช้ชีวิตแบบลูกทุ่ง รักธรรมชาติและสายลมแสงแดดทั้งสิ้น (แถมให้อีกนิดด้วยว่า รักความยุติธรรมและเกลียดการดูถูกเหยียดหยาม ก็คงไม่ผิดกติกาอันใด)

อาจมีเรื่องราว หรือแนวทางเฉพาะตัวบ้าง ก็เป็นธรรมดาของวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่หลากหลาย กับสภาพแวดล้อมไปจนถึงลมฟ้าอากาศ ที่ไม่เหมือนกัน

แต่หัวใจสำคัญของทุกๆเพลง ที่ยังคงอยู่มาทุกยุคทุกสมัย ไม่เคยเปลี่ยนแปลงก็คือ ความเรียบง่ายในท่วงทำนอง จังหวะ และการใช้ภาษาแบบจริงใจและตรงไปตรงมาในเนื้อร้อง ไม่ว่าจะเป็นในอารมณ์ใดๆ (เรียกได้เหมือนกันว่า ถึงอากาศจะเปลี่ยนแปลงบ่อย แต่ก็ไม่เคยเปลี่ยนใจนะ)
 
"The Origins of Country Music" หรือ "แหล่งกำเนิด
ของเพลงคันทรี่" เป็นผังแสดงต้นกำเนิดของเพลงคันทรี่
ให้เห็นเส้นทางของดนตรีชนิดต่างๆ ที่นำไปสู่ความเป็น
ดนตรีคันทรี่ หรือไม่ก็พัวพันกัน หลักๆได้แก่ เพลงพื้นบ้าน
ของชนเผ่าดั้งเดิมต่างๆในอเมริกา เพลงพื้นบ้านของชาว
อังกฤษ(ที่นำติดตัวไปด้วยเมื่ออพยพไปอยู่อมริกา) และ
ของชาวอเมริกันรุ่นแรกๆ
ซึ่งบางส่วนผันตัวออกไปเป็น
เพลงคาวบอย นอกจากนี้แล้ว เพลงบลูส์เพลงแจ๊ส และ
เพลงป๊อปร่วมสมัย ก็มีอิทธิพลต่อเพลงคันทรี่ด้วยเช่นกัน

ความแตกต่างมาเกิดขึ้นอย่างจริงๆจังๆ ก็เมื่อเพลงเหล่านี้เริ่มกลายเป็นสินค้า และการตลาดกำหนดให้ต้องมีการแยกประเภทให้ชัดเจน เพื่อการบริหารจัดการให้ได้ผลกำไรเท่านั้นเอง

การแยกประเภทดังกล่าว ยังแตกต่างไปตามกาลเวลาอีกด้วยครับ จริงๆแล้วในยุคคาวบอยพิชิตตะวันตกนั้น คำว่าเพลงคันทรี่ยังไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ
 
เพิ่งมาระยะหลังๆ ที่เมื่อบทเพลงของผู้ใช้ชีวิตแบบเอ๊าท์ดอร์ทั้งหลาย ชักจะถูกแยกประเภทออกเป็นหลายอย่างมากเกินไป (ตามที่ท่านผู้รู้บรรยายไว้ในเว็บดังกล่าว) ก็เลยถูกนำมารวมกลุ่มไว้ ภายใต้ชื่อว่า คันทรี่แอนด์เว้สเทิร์น (Country and Western) จนในที่สุดก็เหลือแค่ คันทรี่ เฉยๆ ดังเช่นทุกวันนี้

ตรงนี้มีตัวอย่างด้วยครับ คือ เมื่อปี ค.ศ.1958 อันเป็นปีแรก ที่มีการจัดพิธีมอบรางวัลแกรมมี่ หรือรางวัลตุ๊กตาทองสาขาการดนตรี ให้กับเพลงยอดเยี่ยมประเภทต่างๆ ในการนี้ ปรากฏว่า วง เดอะ คิงสตั้น ทริโอ ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมประเภท"คันทรี่และเว้สเทิร์น" จากเพลง Tom Dooley (หลายท่านคงยังจำได้นะครับ – Hang down your head Tom…Dooley…, Hang down your head and cry…)

แต่พอในปีถัดมา ค.ศ.1959 วง เดอะ คิงสตั้น ทริโอ เดียวกัน กลับได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ประเภท"โฟล์ค" จากผลงานดนตรีในอัลบั้มชุด At Large ที่ยังคงรูปแบบเช่นเดียวกันกับปีที่แล้ว

ส่วนรางวัลยอดเยี่ยม ประเภท"คันทรี่และเว้สเทิร์น" กลายเป็นเพลง Battle of New Orleans ขับร้องโดย จอห์นนี่ ฮอร์ตั้น อันมีท่วงทำนองจังหวะออกไปทางเพลงมาร์ช และเนื้อร้องที่บรรยายถึงการรบในสงคราม (หรือเพราะถือเป็นเรื่องเอ๊าท์ดอร์เหมือนกัน?)

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เหล่านี้ได้ทำให้เพลงคันทรี่ ได้รับการเผยแพร่ออกไปในวงกว้างขึ้น เกิดความคึกคักในวงการมากขึ้น มีศิลปินเก่งๆ เกิดขึ้นใหม่เป็นที่รู้จักกันมากมาย  และยังเป็นแรงดึงดูด ให้ศิลปินเพลงในประเภทอื่นๆ หันมาแต่งเพลงร้องเพลงในแนวคันทรี่ กันมากขึ้นด้วย

ตัวอย่างเช่น เรย์ ชาร์ลส์ ศิลปินนักเปียโนตาบอด ราชาเพลงบลูส์และแจ๊สของยุค 60’s ยังหันมาออกเพลงแนวคันทรี่ อย่าง I Can’t Stop Loving You และ You Don’t Know me จนฮิตติดอันดับ

กับอีกรายหนึ่งคือ คอนเวย์ ทวิตตี้ ผู้โด่งดังในวงการร็อคแอนโรลล์อยู่ก่อน ก็ตัดสินใจผันตัวเอง มาเป็นศิลปินคันทรี่อย่างถาวร มีเพลงฮิตอย่างเพลง Hello Darling และอีกหลายๆเพลง ดังมาถึงบ้านเราเหมือนกัน

ในทางกลับกัน ก็มีศิลปินบางคน ที่แจ้งเกิดในวงการเพลงคันทรี่ อย่าง โอลิเวีย นิวตัน จอห์น สาวสวยนัยน์ตาโตสายเลือดเว้ลช์ ผู้โด่งดังมาถึงบ้านเราในยุค 70’s กับเพลงฮิตหลายเพลงเช่น Let Me Be There และ If You Love Me Let Me Know

พอประสบความสำเร็จ ก็หันไปมุ่งมั่นเอาดีทางเพลงป๊อปแทน หลังจากนั้นไม่นาน ก็ได้เป็นนางเอกหนังวัยรุ่น ทั้งๆที่ตอนนั้นก็อายุไม่น้อยแล้ว

และมีอีกหลายคน ที่ตั้งต้นจากคันทรี่ แต่มีเพลงฮิตข้ามไปติดอันดับป๊อปด้วย เลยถือโอกาสแอบไปร้องเพลงป๊อปบ้าง เป็นครั้งเป็นคราว แต่ไม่ถึงกับตีจากวงการคันทรี่ไปเสียทีเดียว

อย่างเช่น เค็นนี่ รอเจ้อร์ส ไงครับ มีเพลงฮิตติดอันดับทั้งสองประเภทหลายเพลงในยุค 70’s  เช่น Ruby Don’t Take Your Gun To Town, Coward Of The Country และ The Gambler  ขานี้ ภายหลังยังมีเวลาไปลงทุนเปิดร้านไก่ทอดแข่งกับเคเอ็ฟซีอีกด้วย

ต้องถือว่า ตั้งแต่ยุค 60’s เป็นต้นมา คือยุคแห่งความสำเร็จอย่างล้นหลามของวงการเพลงคันทรี่ในเชิงพาณิชย์ แต่ก็เป็นช่วงที่จิตวิญญาณดั้งเดิมของเพลงคันทรี่ ดังที่ผมได้กล่าวถึงไปแล้ว ถูกละลายลงไปมาก

เพลงคันทรี่เริ่มมีความเป็นลูกกรุงมากขึ้น ดนตรีเริ่มซับซ้อนขึ้น ทั้งท่วงทำนองและจังหวะ เนื้อร้องก็เริ่มมีการเล่นสำบัดสำนวนมากขึ้น เห็นได้ชัดว่า พยายามเอาใจผู้บริโภคชาวกรุง ผู้ค่อนข้างจะกระเป๋าหนักกว่าชาวทุ่ง
 
อาละบาม่า วงคันทรี่ร็อค ที่มีเพลงฮิตติดอันดับ 1
ตั้งแต่ยุค 70's มาจนถึง 90's รวมแล้ว 41 เพลง
 เป็นขวัญใจชาวบ้านทุกระดับ ด้วยเนื้อเพลง
ที่สะท้อนวิถีชีวิตของชาวบ้านร้านตลาดทั่วๆไป
และโดดเด่นด้วยการใช้ภาษาแบบติดดินแต่กินใจ

 ประกอบกับแนวดนตรีที่แสดงความเป็นลูกทุ่งแท้
แต่ทันสมัย
 
ดิ อีเกิ้ลส์ เป็นอีกวงหนึ่งที่เคยถูกจัดประเภทให้เป็นคันทรี่
สมัยที่ออกเพลงฮิตรุ่นแรกๆ เมื่อกลางยุค 70's
จากนั้นก็หลุดออกนอกวงการหายไป จนกลับมาอีกครั้ง
เมื่ออัลบั้มรวมเพลงฮิตจากอดีต ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม
จากสมาคมดนตรีคันทรี่ในอเมริกา เมื่อปี ค.ศ.1994
ในบ้านเรายังมีแฟนเหนียวแน่นจนทุกวันนี้
 พิสูจน์ได้จากจำนวนผู้เข้าชมการแสดงสด
ในกรุงเทพฯ เมื่อเดือน ต.ค. 2547
 

เป็นแบบนี้มา จนกระทั่งถึงปลายยุค 80’s ก็มีความพยายาม ที่จะทำให้เพลงคันทรี่แตกต่างจากเพลงป๊อปอีกครั้ง โดยศิลปินยุคใหม่ๆ ผู้มีแรงบันดาลใจ (ทั้งในเชิงศิลปะและเชิงพาณิชย์) อยากสร้างสรรค์ผลงานให้แตกต่าง

อาศัยกระแสสังคม ที่เริ่มหันมาส่งเสริมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับวิถีการดำรงชีวิตในเมืองใหญ่ ที่เริ่มแออัดต้องแกงแย่งกันมากขึ้น คนเมืองเริ่มโหยหาสังคมและสิ่งแวดล้อมแบบชนบทกันใหญ่

เราจึงได้เห็นศิลปินคันทรี่รุ่นหลังๆ หันมาทำดนตรีที่มีกลิ่นอายของชนบทมากขึ้น ด้วยเครื่องดนตรีที่เป็นสัญญลักษณ์ของเพลงคันทรี่ดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นซอไวโอลิน กีตาร์โปร่งและกีตาร์เหล็ก แบนโจ ฯลฯ เนื้อร้องที่แสดงความผูกพันต่อบ้านเกิดและผู้คนรอบข้าง ความภูมิใจกับการใช้ชีวิตแบบติดดิน อะไรทำนองนี้

และเพื่อให้ครบทั้งสาระและรูปแบบ การแต่งตัวของนักร้องก็เริ่มหันกลับไปนุ่งยีนส์ ใส่รองเท้าบู๊ตและหมวกคาวบอยกันมากขึ้น เสียงร้องก็จะโชว์สำเนียงความเป็นชาวชนบท อย่างมั่นใจและจงใจ
 
ก๊าร์ธ บรู้คส์ ซูเปอร์สตาร์ของวงการเพลงคันทรี่ในยุค 90's
 ผู้ทำลายสถิติของนักร้องเพลงคันทรี่อื่นๆทุกคน
ไม่ว่าจำนวนผู้ฟังทั่วโลก รางวัลที่ได้รับ และยอดขายอัลบั้ม
เป็นผู้สร้างปรากฏการณ์คันทรี่ฟีเวอร์ และปลุกกระแส
ให้ดนตรีคันทรี่กลับสู่ความเป็นตัวตนที่แท้จริงอีกครั้ง
หลังจากถูกครอบงำด้วยดนตรีป๊อปและร็อค

อยู่หลายทศวรรษ

ศิลปินรุ่นดังกล่าวก็มี แรนดี้ ทราวิส เจ้าของเพลงดังอย่างเช่น Forever And Ever, Amen และ No Place Like Home อีกคนก็ได้แก่ จ๊อร์จ สเตรท กับเพลงฮิต เช่น One Night At A Time และ Write This Down เคยได้ยินจากวิทยุในบ้านเราบ่อยๆเหมือนกัน

สองคนนี้ ว่างๆยังแอบไปเล่นหนังสไตล์คาวบอย หรือไม่ก็ลูกทุ่งตะวันตกด้วยครับ และล่าสุดขณะที่ผมเขียนอยู่นี้ จ๊อร์จ สเตรท เพิ่งจะออกเพลงใหม่มาฮิตติดอันดับ อีก1 เพลงชื่อว่า She Let Herself Go

จากยุค 90’s มาจนถึงปัจจุบัน ก็มีศิลปินคันทรี่รุ่นใหม่เข้ามาในวงการอีกมากมาย หลายๆคนนำลูกเล่นเฉพาะตัว หรือจากพื้นฐานดนตรีที่ตนเองได้เคยฝึกฝนมาจากแนวอื่น มาสร้างสีสันและความแปลกใหม่เพื่มขึ้น โดยยังคงรักษาจิตวิญญาณของความเป็นคันทรี่ไว้ไม่ให้สูญหายไปไหน

อย่างเช่น ก๊าร์ธ บรู๊คส์โทบี้ คื้ธริคกี้ แวน เชลตัน, วิ้นซ์ กิลล์  และอื่นๆอีกหลายคน นอกจากนี้ยังมีนักร้องสาวเสียงดีอีกมากมาย อย่าง เฟธ ฮิลล์, แอลิสัน เคร้าส์, ชันย่า ทเวน, ทริชา เยียร์วู้ด และวง เดอะ ดิ๊กซี่ ชิคส์ เป็นต้น
 
สามสาวแห่งวง ดิ๊กซี่ ชิคส์ จากเท็กซัส เห็นใบหน้างามๆ
อย่างนี้ แหละครับ เคยกล่าวประณามหยามเหยียด
ประธานาธิบดี จ๊อร์จ ดับเบิ้ลยู.บุช ระหว่างเล่นคอนเสิร์ต
ต่อหน้าผู้ชมนับหมื่นฟังมาแล้ว เล่นเอาสถานีวิทยุ
ในอเมริกา ไม่กล้าเปิดเพลงออกอากาศอยู่พักใหญ่
นับได้ว่าเป็นสาวห้าวคาวเกิร์ลของแท้

ตัวจริง 101 เปอร์เซ็นต์

ผมเองคงต้องออกตัวครับว่า มาถึงวันนี้ชักจะออกห่างวงการไปมาก ไม่ค่อยได้ติดตามใกล้ชิดเหมือนอย่างแต่ก่อน นานๆถึงจะได้ลองฟังเพลงใหม่ๆเสียที

แต่เมื่อไรก็ตาม ที่ได้ยินเพลงคันทรี่รุ่นใหม่ๆ ถึงจะยังไม่คุ้นหู แต่ก็มีความรู้สึกเหมือนพบเพื่อนเก่า ที่แม้จะห่างเหินไปบ้าง แต่ก็ยังพูดจาภาษาเดียวกัน ชวนนึกถึงอะไรดีๆในวันเก่าๆที่ เคยสนุกสนานมาด้วยกันได้

ในบทความตอนต่อๆจากนี้ไป ก็จะเป็นการแนะนำศิลปินและเพลงอื่นๆ ที่ผมเห็นว่ามีผลงานน่าฟัง หรือมีความเป็นมาที่น่าสนใจ และหาดูหาฟังได้ไม่ยากนักในบ้านเรานะครับ

คงต้องถือเป็นข้อดีของเทคโนโลยีอย่างหนึ่ง ที่ทุกวันนี้เราสามารถฟังเสียงดีๆและดูภาพการแสดงชัดๆได้ทีเดียว จากแผ่นและเครื่องเล่นสมัยใหม่โดยไม่ยากและไม่แพงนัก ทำให้ได้อรรถรสมากกว่าฟังแต่เสียงอย่างเดียว หรือต้องรอจนกว่าจะมีการแสดงสด

หวังว่าคงจะถูกใจคอเพลงคันทรี่ด้วยกันไม่มากก็น้อยนะครับ และหากท่านใดมี หรือไปพบเห็นอะไรดีๆมา ขอเชิญบอกเชิญแนะนำกันได้เต็มที่ครับ

มาร์แชลต่อศักดิ์
ธันวาคม 2549