ผมลองนับดูเรื่อง คาวบอยกับปืนคู่ใจ ที่เขียนติดต่อกันมาใน กันส์ เวิล์ด ไทยแลนด์ ครั้งนี้เป็นตอนที่ 13 พอดีครับ จึงคิดเล่นๆสนุกๆว่า ตัวเอกของเรื่องในครั้งนี้ น่าจะเป็นคาวบอยประเภทตกอับ
ถึงแม้จะเป็นที่รู้จัก แต่ก็กลับไม่ค่อยได้รับการยกย่องในวีรกรรมหรือผลงานนัก หรือเป็นพวกบุญมีแต่กรรมบัง อะไรทำนองนี้เสียหน่อย
เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศจากตอนที่ผ่านๆมา ซึ่งมักออกไปทางบู๊ล้างผลาญ มาเป็นเวทนาน่าเห็นอกเห็นใจบ้าง
แต่คงไม่ถึงกับเป็นเรื่องโศกนาฏกรรมน้ำตาท่วมจอหรอกนะครับ
(ปกติก็ไม่ค่อยถนัดนัก)
เชื่อว่าคอคาวบอยหลายท่านคงจะรู้จัก หรืออย่างน้อยเคยได้ยินชื่อ แพ็ท การ์เร็ตต์ กันมาบ้าง อีกหลายท่านคงทราบดีด้วยว่า คนนี้ไงที่ปราบ บิลลี่ เดอะ คิด ไอ้หนุ่มจอมพยศผู้สร้างความปั่นป่วนให้กับทางการลงได้
เชื่อว่าคอคาวบอยหลายท่านคงจะรู้จัก หรืออย่างน้อยเคยได้ยินชื่อ แพ็ท การ์เร็ตต์ กันมาบ้าง อีกหลายท่านคงทราบดีด้วยว่า คนนี้ไงที่ปราบ บิลลี่ เดอะ คิด ไอ้หนุ่มจอมพยศผู้สร้างความปั่นป่วนให้กับทางการลงได้
แต่แล้วแทนที่ตัวเองจะมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นยอดมือปราบ มีคนนับหน้าถือตาว่าฝีมือเฉียบขาด สามารถจับตายอาชญากรคนสำคัญ สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นอัศวิน หรือจารึกชื่อไว้ในหอเกียรติคุณ ฯลฯ ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ การณ์กลับกลายเป็นตรงกันข้าม
คือ บิลลี่ เดอะ คิด กลับมีชื่อเสียงโด่งดังกว่า มีผู้สนใจเห็นอกเห็นใจกับชะตากรรมมากกว่า จนบางครั้งดูจะกลายเป็นพระเอกไปแทน ทั้งๆที่ทางการถือว่าเป็นผู้ร้าย (และภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดหลายต่อหลายเรื่อง ก็สร้างให้ บิลลี่ เดอะ คิด เป็นพระเอกจริงๆครับ)
บิลลี่ เดอะ คิด |
ส่วน แพ็ท การ์เร็ตต์ กลับไม่ค่อยมีใครยกย่องนับถือสักเท่าไหร่ แถมถูกประณามหยามเหยียดเสียยิ่งกว่าผู้ร้าย ทั้งๆที่เป็นเจ้าหน้าที่บ้านเมืองผู้ถือได้ว่ามีความรับผิดชอบสูง ปฏิบัติตามหน้าที่อย่างเคร่งครัดเอาจริงเอาจังแท้ๆ
เชื่อกันว่า การที่ แพ็ท การ์เร็ตต์ ตัดสินใจยึดอาชีพมือปราบ เพื่อจะมาตามจับ บิลลี่ เดอะ คิด ก็เพราะอยากจะสร้างชื่อเสียงเกียรติประวัติให้กับตัวเองแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้มีวาระซ่อนเร้นอะไรอย่างอื่น
เกิดมาเป็นคนใต้อย่างเต็มตัว ที่รัฐอลาบาม่าในปี ค.ศ. 1850 และเติบโตในรัฐหลุยส์เซียน่า แพ็ททริค ฟลอยด์ จาร์วิส การ์เร็ตต์ (Patrick Floyd Jarvis Garret) ถูกเลี้ยงดูมากับวัฒนธรรมสุภาพบุรุษชาวใต้ ที่สอนให้เชื่อมั่นในความกล้าหาญ ความซื่อสัตย์ และความมุ่งมั่นที่จะรักษาเกียรติยศศักดิ์ศรีเหนือสิ่งอื่นใด
(เปรียบเทียบคงคล้ายๆเนื้อร้องเพลงมาร์ชพิทักษ์สันติราษฏร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่อนคลาสสิคว่า ถึงตัวจะตายก็ช่างมัน มิเคยคำนึงถึงชีวัน ที่บรรดาขี้เมาชอบนำไปดัดแปลงร้องเป็นอย่างอื่นนั่นแหละครับ)
ภาพถ่ายของ แพ็ท การ์เร็ตต์ ที่เก็บรักษาไว้ ในพิพิธภัณฑ์แห่งรัฐนิวเม็กซิโก |
แพ็ทพลาดโอกาส ที่จะพิสูจน์คุณสมบัติดังกล่าวในสงครามกลางเมือง ระหว่างฝ่ายใต้กับฝ่ายเหนือ ช่วงปี ค.ศ. 1861 ถึง 1864 เนื่องจากอายุน้อยเกินไป
หลังสงคราม เศรษฐกิจตกต่ำข้าวยากหมากแพง อีกทั้งพ่อแม่มีอันเสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1866 แพ็ทจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องกินก่อนเรื่องเกียรติ
ไม่ได้หมายความว่า โกงกินเพื่อให้อยู่รอด อย่างที่พวกเจ้าหน้าที่ประเภทตามน้ำชอบอ้างกันหรอกนะครับ แต่หมายถึงตั้งหน้าตั้งตาทำงานหาเงิน รับงานหนักเบาทุกประเภท โดยไม่เกี่ยงว่าจะต้องเป็นงานที่มีหน้ามีตาหรือไม่ ขอเพียงให้มีกินมีใช้พอยาไส้ไปได้ก่อนก็แล้วกัน
ด้วยเหตุนี้ แพ็ทจึงโยกย้ายไปอยู่รัฐเท็กซัส รับงานเป็นหัวหน้าโคบาลควบคุมการต้อนฝูงวัว ตระเวณไปขายยังหัวเมืองต่างๆ
ในช่วงนี้ แพ็ทมีโอกาสได้สัมผัสเรียนรู้วิถีชีวิตและการเอาตัวรอดอยู่ในแดนเถื่อน ที่หลายครั้งความซื่อสัตย์หรือเกียรติไม่ได้สำคัญหรือมีความหมายอะไรนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบาร์เหล้าและวงไพ่
และความยุติธรรม ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินของผู้พิพากษาที่มีชื่อว่า โค้ลท์ แต่เพียงอย่างเดียว
คดีแรก ที่ผู้พิพากษาโค้ลท์ตัดสินเข้าข้างแพ็ท เป็นคดีวิวาทระหว่างแพ็ทกับคาวบอยต้อนฝูงฬ่อคนหนึ่งชื่อว่า บริสโค (Briscoe)
การทะเลาะเริ่มขึ้น จากการพูดจากันประเภทฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด ทำให้บริสโคเข้าใจแพ็ทผิด หาว่าเป็นการดูถูกดูแคลนกัน แพ็ทก็พยายามจะอธิบายและขอโทษแต่โดยดี
ส่วนบริสโค นอกจากไม่ยอมเข้าใจแล้ว ยังคว้าขวานขึ้นมาจะจามใส่หัวแพ็ทอีก
ทำให้แพ็ทไม่มีทางเลือก ต้องชักปืนโค้ลท์ขึ้นยิงตอบ ถูกบริสโคคนต้อนฬ่อ ผู้ไม่เพียงดื้อเสียยิ่งกว่าลา แต่ยังทื่อเสียยิ่งกว่าสันขวานของตัวเอง หงายท้องกลับไปสิ้นใจในเพียงไม่กี่นาที
โดยมีแพ็ทถือปืน ยืนน้ำตาซึมดูอยู่ (ตามที่กล่าวนำไว้ในตอนต้นแล้วไงครับว่าหนนี้เปลี่ยนจากแนวบู๊มาเป็นแนวโศกเวทนา)
แพ็ทเปลี่ยนอาชีพจากโคบาล ไปเป็นพรานล่าควายไบซันอยู่พักหนึ่ง ในแถบตะวันตกเฉียงเหนือของเท็กซัส หรือที่นิยมเรียกกันว่า ด้ามกะทะของเท็กซัส (Texas Panhandle – ที่มาของคำนี้ รวมทั้งบรรยากาศของการล่าควายควายไบซันในแถบนี้ผมได้เคยเล่ารายละเอียดไปแล้วในคาวบอยกับปืนคู่ใจ ตอน แบ๊ท ม้าสเตอร์สัน คาวบอยมาดลูกกรุง นะครับ)
จนกระทั่งเก็บเงินได้มากพอ ชักจะเริ่มเบื่อชีวิตกลางแจ้งแล้ว จึงมุ่งตะวันตกต่อไปถึงเมือง ฟอร์ท ซัมเน่อร์ (Fort Sumner) ในเขตปกครองนิวเม็กซิโก (ขณะนั้นยังไม่ได้ถูกยกฐานะขึ้นเป็นมลรัฐ) เมื่อต้นปี ค.ศ. 1878 ลงทุนเปิดบาร์เล็กๆขึ้นบริการลูกค้ารายย่อย
ที่นี่เอง แพ็ทได้เริ่มรู้จักมักคุ้น กับ บิลลี่ เดอะ คิด ในฐานะลูกค้าและขาไพ่ประจำ และเริ่มกินเที่ยวด้วยกันอย่างสนิทสนม
บิลลี่ในขณะนั้น เป็นบุคคลที่ทางการนิวเม็กซิโกจับตาดูอยู่อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นตัวการสำคัญในการเปิดศึกล้างแค้นล่าสังหารผู้ที่ร่วมข่มขู่และทำร้ายเจ้านายของตน ผู้เป็นนักธุรกิจท้องถิ่นคนสำคัญคนหนึ่งถึงตาย จนในที่สุดขยายผลออกไป เป็นการต่อสู้เพื่อจะล้างบางกันระหว่างนักเลงปืนของทั้งสองฝ่าย
ศัตรูของบิลลี่ เป็นกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น ที่ต้องการผูกขาดธุรกิจและรักษาอำนาจของตน ด้วยการเลี้ยงดูเจ้าหน้าที่และนักการเมืองผู้เห็นแก่ได้จำนวนหนึ่งเอาไว้เป็นพวก กับมือปืนอีกฝูงหนึ่งเอาไว้ใช้คุกคามคู่แข่ง
ส่วนบิลลี่เอง ก็มีกลุ่มเพื่อนมือปืนหลายคน ที่เคยเป็นลูกน้องเจ้านายคนเดียวกัน ต่างต้องการที่จะช่วยล้างแค้นให้กับเจ้านายผู้ล่วงลับอยู่เหมือนกัน
ศึกล้างแค้นนี้ เกิดขึ้นในเขตมณฑลลินคอล์น (Lincoln County) อันมีเมืองลินคอล์นเป็นเมืองเอก หนังสือพิมพ์พากันขนานนามว่า สงครามมณฑลลินคอล์น (Lincoln County War)
เมือง ฟอร์ท ซัมเน่อร์ อยู่ห่างจากเมืองลินคอล์นขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 160 กิโลเมตร อดีตเคยเป็นค่ายทหารมาก่อน เมื่อทหารถอนกำลังออกหมดแล้ว ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่มีสายเลือดแม็กซิกันก็เข้ามาทำไร่ไถนาแทน
บิลลี่มามีแฟนเป็นลูกสาวชาวบ้าน และทำตัวเป็นเหมือนลูกเหมือนหลานของคนที่นี่ สามารถไปมาแวะพักผ่อนหรือหลบซ่อนภัยอันตรายได้อย่างปลอดภัยไร้กังวล
สงครามบานปลายออกไปมากขึ้น จนกลายเป็นเรื่องการเมืองระดับชาติ เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1878 หลังจากบิลลี่กับพรรคพวกยิงตำรวจ 2 คน ที่ตนเชื่อว่าเป็นผู้ลงมือมือสังหารอดีตเจ้านายของตน
คนหนึ่งตายคาที่เกิดเหตุ ส่วนอีกคนรอดไปได้อย่างหวุดหวิด
และอีกเพียง 3 เดือนต่อมา บิลลี่ก็สามารถแหกวงล้อมของฝ่ายตรงข้าม ผู้ได้รับการสนับสนุนจากตำรวจ และทหารม้าทั้งกองพันที่ถูกเกณฑ์มาพร้อมอาวุธหนัก หนีการจับกุมออกไปจากเมืองลินคอล์น ท่ามกลางการระดมยิงปิดล้อมด้วยทั้งปืนกลและปืนใหญ่ ได้อย่างเหลือเชื่ออีก
รัฐบาลท้องถิ่นของนิวเม็กซิโก ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองซานตาเฟ่ ถูกรัฐบาลกลางจากวอชิงตันกดดันอย่างหนัก ให้ยุติเรื่องนี้โดยเร็ว ก่อนที่ฝ่ายค้านจะยกเป็นเหตุอภิปรายได้ว่า รัฐบาลไม่มีความสามารถดูแลความสงบเรียบร้อยให้กับประชาชนได้ เดี๋ยวจะเสียคะแนนไป
หลังจากผู้ว่าการเขตปกครองนิวเม็กซิโกคนเดิมถูกปลดออก ในข้อหาไม่สามารถสนองนโยบายได้อย่างฉับไวแล้ว ทางส่วนกลางก็แต่งตั้งพวกของตัว มาเป็นผู้ว่าฯคนใหม่ตามธรรมเนียม
ผู้ว่าฯคนใหม่ รีบสนองนโยบายคิดใหม่ทำใหม่ แบบปากไวใจเร็ว ด้วยการเชิญบิลลี่มาเจรจากันเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1879
ยื่นข้อเสนอว่า หากให้ความร่วมมือกับทางการ ยอมมอบตัวแต่โดยดี และยอมให้การที่เป็นประโยชน์ต่อศาลแล้ว ก็จะดำเนินการประกาศนิรโทษกรรมให้
พอบิลลี่หลงเชื่อยอมตกลง กลับถูกศาลพิพากษาตัดสินประหารชีวิต โดนคุมขังไว้รอทำพิธีแขวนคอ
ฝ่ายผู้ว่าฯ ก็ไม่ได้พยายามที่จะทำอะไรเพื่อรักษาคำพูดของตน บิลลี่จึงใช้ความสามารถพิเศษ แหกคุกหนีกลับออกไปลอยนวลเหมือนเดิม (ดีกว่า)
ผู้ว่าฯ ประกาศรางวัลนำจับบิลลี่เป็นเงิน 500 เหรียญ แต่ไม่มีใครสามารถจับตัวบิลลี่มาส่งได้ เพราะทั้งตำรวจทั้งนักเลงที่ว่าแน่ๆกันนัก ก็ถูกบิลลี่จัดการไปเสียเกือบเกลี้ยงแล้ว
ที่ยังมีชีวิตเหลืออยู่ ต่างก็ชักจะขยาดๆ ยิ่งเคยเห็นบิลลี่แสดงอภินิหาร ฝ่าวงล้อมของทหารที่มีทั้งปืนกลปืนใหญ่ไปได้อย่างต่อหน้าต่อหน้าต่อตากันมาแล้ว ก็ยิ่งหมดอารมณ์หนักเข้าไปอีก
ส่วนชาวบ้านโดยทั่วไป ที่ไม่ได้อยู่ในเมืองลินคอล์น และไม่เคยได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจ หรือต้องเสียผลประโยชน์อะไรไปจากการกระทำของบิลลี่ ต่างกลับไม่เห็นว่าบิลลี่เป็นโจรผู้ร้ายตรงไหน
ดีเสียอีกช่วยกำจัดพวกนักเลงอันธพาลกับเจ้าหน้าที่ประเภทฉ้อราษฎร์บังหลวงให้
นอกจากจะเมินเงินรางวัลนำจับแล้ว ยังคอยช่วยเหลือ ให้ข้าวให้น้ำและที่พักพิงแก่บิลลี่เสียด้วย
เวลาผ่านไป จนถึงหน้าร้อนของปี ค.ศ. 1880 แพ็ท การ์เร็ตต์ ตอบตกลงคำเชิญชวนจากทางการนิวเม็กซิโก ให้เข้ารับตำแหน่งเชอร์ริฟแห่งมณฑลลินคอล์น
ด้วยความเข้าใจชัดแจ้งว่า ภารกิจแรกของการเข้ารับตำแหน่งนี้ คือการตามล่าตัว บิลลี่ เดอะ คิด กลับมาส่งให้ทางการโดยเร่งด่วน
เหตุผลของทางการ ที่อยากได้ตัวแพ็ทมาทำหน้าที่นี้ คงเข้าใจได้ไม่ยาก เนื่องจากแพ็ทเป็นผู้หนึ่งในบรรดาผู้คนจำนวนไม่มากนักที่รู้จักมักคุ้น และอ่านนิสัยใจคอของบิลลี่ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์ เคยเป็นทั้งโคบาลและพรานล่าควายมาอย่างช่ำชองแล้ว แถมตั้งรกรากอยู่ที่เมือง ฟอร์ท ซัมเน่อร์ อันถือได้ว่าเป็นรังของบิลลี่มานาน จนรู้จักทั้งผู้คนและสถานที่ทุกแห่ง
ถือว่าเป็นการใช้คนให้ถูกกับงาน (หรือ Put the right man on the right job อย่างที่ชอบอ้างกันอยู่ทุกวันนี้)
ส่วนเหตุผลของแพ็ทที่ตัดสินใจตอบรับ แท้จริงจะเป็นอย่างไร เจ้าตัวไม่ได้ให้สัมภาษณ์ไว้
ฝ่ายหนึ่งวิเคราะห์ว่า เป็นเพราะมันเต็มไปด้วยความทะเยอทะยานกับกิเลส ยอมทำทุกอย่างแม้แต่ขายเพื่อน เพื่อแลกกับเงินและกล่อง
ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งวิเคราะห์ว่า เป็นเพราะเขายึดมั่นในอุดมการณ์ ซื่อสัตย์ต่อกฎหมายบ้านเมืองเหนือสิ่งอื่นใดต่างหากเล่า เพื่อนทำผิดกฎหมายก็ต้องว่ากันตามผิดไม่มียกเว้น
แปลกนะครับ ไม่ยักมีฝ่ายไหนวิเคราะห์บ้างว่า เอ.. หรือเป็นเพราะมีไอ้โม่งสั่งมา..
ถึงฤดูหนาว เดือนธันวาคม ค.ศ. 1880 แพ็ทก็สามารถจับตัวบิลลี่มาส่งให้ทางการได้ หลังจากฟอร์มทีมไล่ล่าออกวางกับดัก และติดตามบิลลี่กับพรรคพวกไปจนมุมอยู่ในบ้านร้างหลังหนึ่ง ท่ามกลางหิมะและความหนาวเย็น ตรงบริเวณที่เรียกว่าน้ำพุเน่า (Stinking Springs เข้าใจว่าคือน้ำพุร้อนที่มีกำมะถันไม่ก็ฟอสฟอรัสปนอยู่ด้วยนั่นเองครับ) อยู่ไม่ไกลจากเมือง ฟอร์ท ซัมเน่อร์ มากนัก
งานนี้ แพ็ทสังหารคู่หูของบิลลี่ไป 2 ศพ จัดการปิดทางหนีทั้งหมด ก่อนล้อมไว้ให้อดอาหารจนหมดแรง เสร็จแล้วลงมือหุงหาอาหาร ให้กลิ่นโชยเข้าจมูกไปเรื่อย
จนบิลลี่ไม่รู้ว่าทนเหม็นกลิ่นน้ำพุเน่า หรือทนความหิว หรือทั้ง 2 อย่างไม่ไหว ต้องยอมมอบตัวแต่โดยดี
บิลลี่ถูกกระบวนการยุติธรรม พิพากษาในวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1881 ให้ประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ ที่จะจัดขึ้นในเดือนถัดไป และถูกส่งตัวมาไว้ในห้องขังของที่ทำการศาลเมืองลินคอล์น เพื่อรอทำพิธี
แต่บิลลี่ใช้ความสามารถพิเศษเช่นที่ผ่านมา แหกห้องขังหลบหนีออกไปได้อย่างปาฏิหารย์อีก เมื่อวันที่ 28 เมษายน และฆ่าผู้คุมตายไป 2 คน
ภาระตกเป็นของเชอร์ริฟ แพ็ท การ์เร็ตต์ อีกครั้งที่จะต้องไปตามเอาตัวบิลลี่กลับมา
แพ็ทเปลี่ยนแผนการจับตัว จากวิธีใช้ชุดไล่ล่าเต็มรูปแบบ มาเป็นสไตล์กองโจรใต้ดิน ที่มีเพียงตัวเองกับผู้ช่วย ซึ่งไม่เคยเห็นหน้าค่าตาบิลลี่มาก่อนแต่ไว้ใจได้อีก 2 คน คอยสืบข่าวจากชาวบ้าน เพื่อติดตามร่องรอย
แต่กลับไม่ค่อยได้เบาะแสอะไรมากนัก
และในขณะที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่า บิลลี่น่าจะเผ่นออกนอกนิวเม็กซิโกไปแล้ว แพ็ทกลับเห็นตรงกันข้าม นำผู้ช่วยเข้าไปซุ่มตัวรอเงียบๆอย่างอดทนอยู่ที่เมือง ฟอร์ท ซัมเน่อร์ ด้วยความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า บิลลี่ไม่มีทางไปไหนไกล สุดท้ายจะต้องหวนกลับมาตายรัง
บิลลี่กลับมาตายรังจริงๆเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1881 อย่างไม่คาดคิดว่าแพ็ทจะมาดักรออยู่ โดยไม่มีใครบอกตน
คืนวันนั้น บิลลี่แวะพักที่บ้านหลังหนึ่งในเมือง และเกิดหิวขึ้นมากลางดึก
เจ้าของบ้านบอกบิลลี่ว่า มีเนื้อเพิ่งแล่มาใหม่ๆ เก็บอยู่ที่บ้านของ พี้ท แม็กซเวลล์ (Pete Maxwell) หากบิลลี่ไปขอแบ่งเนื้อมาได้ก็จะช่วยทำกับข้าวให้กิน
บิลลี่จึงคว้ามีดแล่เนื้อเล่มนึง เดินถือไปที่บ้านดังกล่าว
พี้ท แม็กซเวลล์ นั้น เป็นผู้อาวุโส มีฐานะเป็นคล้ายๆผู้ใหญ่บ้าน รู้จักมักคุ้นกับบิลลี่ดี และบิลลี่เองก็เคยตามจีบน้องสาวของพี้ทอยู่พักหนึ่ง
ทั้งหมดนี้ จะมีการวางแผนเตรียมการเป็นอย่างดีไว้ก่อนล่วงหน้าหรือเปล่า ไม่มีผู้ใดยอมเปิดเผย
แต่เมื่อบิลลี่ไปถึงบ้านของพี้ท ก็สะดุดขาลูกน้องคนหนึ่งของแพ็ท ที่นอนเฝ้าประตูบ้านของพี้ทอยู่ที่ระเบียง โดยไม่รู้ว่าเป็นใคร
หลังจากขอโทษขอโพยไม่เป็นไรกันแล้ว บิลลี่ก็ถือวิสาสะ เดินเข้าบ้านไปหาพี้ทถึงในห้องนอน ท่ามกลางความมืด
โดยไม่รู้ว่ามีคนอื่นนั่งรออยู่ในนั้นด้วย
พอมองเห็นเงาดำตะคุ่มๆ นั่งอยู่ตรงข้างเตียงนอนของพี้ท และนึกขึ้นได้อีกว่า เมื่อกี้มีใครก็ไม่รู้มานอนขวางอยู่ที่ระเบียงบ้านอีกคน บิลลี่ก็ถอยกลับออกไปช้าๆอย่างไม่วางใจ
พลางพูดว่า “ใครกันน่ะ”
แพ็ทเขียนเล่าเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ในวันหลังว่า “เขาต้องจำผมได้แน่ๆ เพราะเขาย่องถอยหลังกลับออกไปอย่างกับแมว ผมรีบชักปืนขึ้นยิงทันที”
แพ็ทยิงเข้าใส่บิลลี่ 2 นัด เข้ากลางหน้าอกทั้งคู่ หงายท้องตึงล้มลงตายเกือบจะทันที ในห้องนอนของพี้ทนั่นเอง
ชาวบ้านใกล้เคียง ต่างตกใจเสียงปืน พากันเข้ามาดูเหตุการณ์
เทียนไขถูกจุดให้สว่างขึ้น ทุกคนมองเห็นบิลลี่นอนตาย โดยยังถือมีดอยู่ในมือซ้าย และถือปืนพกอยู่ในมือขวา
บิลลี่จะพกปืนมาด้วยจริงหรือไม่ และหากพกมาจริง จะเป็นฝ่ายชักปืนก่อนหรือไม่ ยังมีผู้ถกเถียงกันและหาข้อพิสูจน์มาหักล้างกันอยู่จนทุกวันนี้
ถึงแม้ทุกคนจะยอมรับว่า เจ้าหน้าที่มีสิทธิทุกประการที่จะป้องกันตัว หากเห็นว่าคนร้ายมีประวัติโหดเหี้ยม และมีอาวุธร้ายแรง แถมยังหนีโทษประหารออกมา
แต่ ณ เวลานั้นดูจะไม่มีใครยอมเชื่อ และยอมรับว่าแพ็ททำการสมควรแก่เหตุนัก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อทำกับเพื่อนเก่าของตน
ยังไม่นับข้อสงสัย ที่ยังคาใจทุกคนอีกว่า มีการจับปืนยัดใส่มือศพกันด้วยหรือเปล่า
ข่าวการจับตาย บิลลี่ เดอะ คิด ทำให้ แพ็ท การ์เรตต์ มีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นทันที
แต่นอกจากคำสดุดียกย่องจากทางการ จากหนังสือพิมพ์ และของที่ระลึกจากชาวบ้านเพียงส่วนหนึ่งในเมืองลินคอล์นร่วมกันมอบให้เป็นรางวัลแล้ว
ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่เหลือทั้งในและนอกเขตนิวเม็กซิโก กลับด่าทอกันไปทั่วว่า แพ็ทเป็นผู้ทรยศเพื่อน ฉวยโอกาสลอบยิงบิลลี่ตายทีเผลอ
โดยไม่กล้าเผชิญหน้า หรือเปิดโอกาสให้ต่อสู้ได้อย่างเท่าเทียมกันแบบลูกผู้ชาย
แพ็ทหาทางแก้ไขภาพพจน์ของตนต่อสาธารณชนในภายหลัง ด้วยการพิมพ์หนังสือเรื่อง “ชีวิตจริงของ บิลลี่ เดอะ คิด” (The Authentic Life of Billy the Kid) บรรยายเรื่องราวชีวิตและพฤติกรรมทั้งด้านบวกและด้านลบของบิลลี่
แล้วเน้นขอความเห็นใจจากประชาชน ที่จำเป็นต้องตัดสินใจจัดการขั้นเด็ดขาดกับบิลลี่เพื่อนเก่า เนื่องจากหากปล่อยไว้จะกลายเป็นภัยต่อสังคม (พยายามตีลูกบกพร่องโดยสุจริตกับเขาบ้าง อะไรแบบนั้น)
แต่นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว หนังสือเล่มนี้กลับยิ่งตอกย้ำความรู้สึกไม่พอใจของชาวบ้านให้หนักแน่นเข้าไปอีก ส่งผลให้ บิลลี่ เดอะ คิด กลายเป็นตำนานวีรชนชาวบ้าน
ส่วน แพ็ท การ์เร็ตต์ กลายเป็นนักฆ่าผู้ชั่วร้ายใจดำ
ภาพถ่ายของ แพ็ท การ์เร็ตต์ เมื่อปี ค.ศ. 1881 ปีเดียวกับที่สังหาร บิลลี่ เดอะ คิด |
หลังการตายของบิลลี่ แพ็ทยังคงอยู่ในตำแหน่งเชอร์ริฟต่อไปจนครบเทอมในปี ค.ศ. 1882 และจะต้องลงเลือกตั้งให้ชนะ หากต้องการอยู่ในตำแหน่งต่อไป
ความที่ตระหนักดีว่า ชื่อเสียงของตนในหมู่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ดีนัก บวกกับความเครียดและกลัดกลุ้ม จากการทำดีแต่ไม่ได้ดีของตน ก็เลยตัดสินใจกลับไปอยู่บ้านไร่ ใช้ชีวิตเงียบๆแบบโลว์โพรไฟล์ ไม่ต้องเจอหน้าเจอตาผู้คน
สองปีถัดจากนั้น แพ็ทได้รับการติดต่อทาบทามจากผู้ว่าการรัฐเท็กซัส ให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของกองกำลังตำรวจแห่งมลรัฐเท็กซัส อันมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันดีในนามว่า เท็กซัส เรนเจ้อร์ส์ (Texas Rangers)
และได้รับแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากผู้ว่าฯ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 1884 ให้ประจำหน่วยตระเวณชายแดน ในเขตด้ามกะทะของเท็กซัส ซึ่งยังมีโจรผู้ร้ายก่อคดีปล้นฆ่าแล้วหลบหนีไปมาระหว่างเท็กซัสกับนิวเม็กซิโกอยู่มากมาย
ผู้ว่าฯของเท็กซัส คงจะทราบรายละเอียด และประทับใจฝีมือของแพ็ท จากคดี บิลลี่ เดอะ คิด
เพราะหากมองเฉพาะผลงานล้วนๆ ไม่เอาความรู้สึกหรือกระแสสังคมมาตัดสินแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า แพ็ทเป็นนายตำรวจที่มีความสามารถในเชิงสืบสวนและปราบปรามเป็นอย่างยิ่งคนหนึ่ง
น่าจะนำตัวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ดีกว่าปล่อยให้นั่งตบยุงอยู่กับบ้านเฉยๆ
แต่แล้วกลายเป็นว่า แพ็ทรับทำหน้าที่เป็น เท็กซัส เรนเจ้อร์ อยู่ได้ไม่กี่อาทิตย์ ก็ลาออกกลับมาอยู่บ้านที่นิวเม็กซิโกอีก โดยไม่มีเหตุผลของการลาออกของแพ็ทบันทึกไว้ให้ทราบ
มีเพียงข้อสังเกตเล็กน้อย แต่เป็นปริศนาใหญ่ข้อหนึ่ง
นั่นคือ ในเอกสารแต่งตั้งแพ็ทเข้าประจำการ ลงนามอนุมัติโดยผู้ว่าฯนั้น ชั้นยศที่แต่งตั้งให้เขียนไว้ว่า เป็นนายพันตำรวจตรี แต่ด้วยเหตุผลกลใดไม่ปรากฏ มีการขีดฆ่าออกในภายหลัง แล้วเขียนแก้ไขเสียใหม่ให้เหลือแค่ นายร้อยตำรวจโท
หนนี้ แพ็ทตัดสินใจปักหลักทำไร่ อยู่ใกล้ๆเมืองร้อสเวลล์ (Roswell – ใช่ครับ คือเมืองเดียวกันกับที่มีข่าวลือว่า เกิดอุบัติเหตุมนุษย์ต่างดาวขับจานผีมาหล่นลงบนโลกแถวๆนอกเมืองเมื่อปี ค.ศ. 1958 แล้วทางทหารแอบนำศพไปผ่าชันสูตร เก็บซ่อนทั้งจานบินทั้งศพไว้เป็นความลับทางทหารนั่นแหละครับ) และลงทุนทำโครงการพัฒนาพื้นที่ชลประทานขนาดใหญ่ 1,800 เอเคอร์ (ราว 720 ไร่)
จากเดิมที่เป็นทะเลทรายแห้งแล้ง กะแสดงฝีมือพลิกแผ่นดิน ให้กลายเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์
แต่ด้วยปัญหาไม่สามารถระดมทั้งทุนและแรงงานได้พอเพียง โครงการจึงเป็นอันต้องตกที่นั่งเอ็นพีแอ็ล ล้มพับไปในที่สุด
ถึงปี ค.ศ. 1890 มีการก่อตั้งมณฑลใหม่ แยกตัวออกมาจากมณฑลลินคอล์น มีชื่อว่ามณฑลชาเว็ซ (Chavez) โดยมีเมืองรอสเวลล์เป็นเมืองเอก แพ็ทเห็นเป็นโอกาส จึงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นเชอร์ริฟ
แต่จะเป็นเพราะว่า ผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่ลืมผลงานเรื่อง บิลลี่ เดอะ คิด หรือไม่เห็นผลงานเรื่องโครงการชลประทานที่เคยคุยไว้ หรือทั้งสองอย่างก็ไม่แน่
แพ็ทจึงต้องสอบตกอกหัก รับประทานทั้งบ๊วยทั้งแห้ว ตามด้วยระกำไปเต็มๆอีกคำรบหนึ่ง
แพ็ทข้ามกลับไปเท็กซัสอีกครั้ง หันไปทำฟาร์มเลี้ยงม้าแข่ง อยู่ทางตอนใต้ที่เมืองอุวาลเด (Uvalde)
ช่วงนี้เริ่มประสบความสำเร็จ เมื่อม้าแข่งของตัวลงแข่งได้รางวัลหลายสนาม
และยังได้รู้จักมักคุ้นกับนักการเมืองหนุ่มคนสำคัญของเท็กซัส คือ จอห์น แนนซ์ การ์เน่อร์ (John Nance Garner) ผู้ต่อมาภายหลังได้เป็นถึงรองประธานาธิบดีคนที่ 32 ของสหรัฐฯ ในช่วงที่อเมริกากำลังจะเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง
พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1896 เกิดคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญขึ้นอีกครั้ง ในนิวเม็กซิโก
ผู้ตายชื่อ อัลเบิร์ต เจนนิ่งส์ เฟาน์เท่น (Albert Jennings Fountain) เป็นทนายความผู้มีชื่อเสียง และเป็นสมาชิกคนสำคัญของพรรครีพับลิกันประจำท้องถิ่น
ทนายเฟาน์เท่น ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมพร้อมกับลูกชายอายุเพียง 8 ขวบ บนเส้นทางสายเปลี่ยวกลางทะเลทราย ช่วงระหว่างภูเขาออร์แกน (Organ Mountains) กับทุ่งใหญ่ทรายขาว (Great White Sands Dune Field – ความจริงไม่ใช่ทราย เป็นยิบซั่มบริสุทธิ์ แต่มองเห็นเป็นเหมือนทะเลทรายสีขาวล้วนอย่างกับทุ่งหิมะ กว้างใหญ่จริงๆครับ ปัจจุบันขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติที่สำคัญอันหนึ่งของสหรัฐอเมริกา)
หน้าตาของทุ่งใหญ่ทรายขาวในปัจจุบัน |
คดีนี้ ถูกโยงให้เป็นเรื่องความขัดแย้งของนักการเมืองท้องถิ่น และนำไปสู่การยกพวกเข้าห้ำหั่นกัน ระหว่างมือปืนและหัวคะแนนของแต่ละฝ่าย
เพราะผู้ตาย มีเรื่องขัดแย้งอยู่กับ อัลเบิร์ต ฟอลล์ (Albert Fall) ผู้มีอาชีพเป็นทนายความเหมือนกัน และเป็นสมาชิกคนสำคัญคนหนึ่งของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม อันได้แก่พรรคเดโมแครต
ว่ากันว่า ความขัดแย้งเกิดจากการที่เฟาน์เท่นได้หลักฐานมาว่า เจ้าพ่อปศุสัตว์ผู้มีอิทธิพลคนหนึ่งซึ่งเป็นหัวคะแนนของฟอลล์ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังแก๊งลักขโมยวัว และพยายามที่จะขุดคุ้ยเรื่องราวนำไปขยายผล แต่ฟอลล์พยายามปกป้องขัดขวาง
จึงมีความเป็นได้ว่า ทั้งฟอลล์และหัวคะแนน อาจอยู่เบื้องหลังการตายของเฟาน์เท่น แต่การสืบสวนของตำรวจท้องที่ก็ไม่ได้หลักฐานอะไรเป็นประโยชน์สักอย่าง
อีกครั้งหนึ่ง ที่ทางการนิวเม็กซิโกคิดอะไรไม่ออกต้องบอก แพ็ท การ์เร็ตต์ หลังจากผู้ว่าฯคนใหม่ ชื่อ วิลเลียม ที. ธอร์นตั้น (William T. Thornton) นึกขึ้นมาได้ว่า แพ็ทเคยทำคดี บิลลี่ เดอะ คิด ที่ทางการถือว่ายากแสนสาหัสสำเร็จมาแล้ว ก็รีบติดต่อขอใช้บริการในคดีใหม่นี้อีกหน
หนนี้แต่งตั้งแพ็ท ให้เป็นเชอร์ริฟแห่งมณฑล โดนา อาน่า (Dona Ana) อยู่ที่เมือง ลาส ครูเสซ (Las Cruces) อันเป็นเมืองเอก และอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุที่สุด
แพ็ทรับทำคดีนี้อย่างยากลำบาก เพราะนอกจากไม่ได้รับความร่วมมือจากกลุ่มอิทธิพล ผู้เกรงจะสูญเสียผลประโยชน์หากมีการเปิดโปงแล้ว ยังต้องคอยระมัดระวังตัว ไม่ให้ต้องถูกวางกับดักและลอบยิง จากมือปืนของพวกนี้อีกด้วย
แต่ในที่สุด แพ็ทก็สามารถรวบรวมหลักฐานมัดตัว จับหัวคะแนนของ อัลเบิร์ต ฟอลล์ กับมือปืนคนสนิท เป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ได้สำเร็จ
เมื่อถึงชั้นศาล อัลเบิร์ต ฟอลล์ เข้ามาเป็นทนายแก้ต่างให้ทั้งสองคนนี้ด้วยตัวเอง และในวันพิพากษาตัดสินคดี คณะลูกขุนก็มีมติเห็นว่า จำเลยทั้งสองไม่มีความผิด ถูกศาลตัดสินพ้นข้อหาไป ท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องของพรรคพวกของตนที่แห่กันมาฟังคำตัดสินจนแน่นศาล
คดีฆาตกรรมเฟาน์เท่นกับลูกชายดังกล่าว ถือเป็นคดีสำคัญในประวัติศาสตร์อีกคดีหนึ่งที่ยังคงเป็นปริศนา ไม่สามารถหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้จนทุกวันนี้
แพ็ทเสียความรู้สึกไปกับคดีนี้ค่อนข้างมาก แต่ชาวบ้านท่าทางคงจะเริ่มเห็นใจขึ้นมาบ้าง
ช่วยกันเลือกแพ็ทให้อยู่ในตำแหน่งเชอร์ริฟต่อไปอีกถึง 2 วาระ
ย่างเข้าทศวรรษใหม่ เส้นวาสนาก็เริ่มปรากฏชัดขึ้นบนฝ่ามือของแพ็ท หรือจะเรียกว่า สวรรค์มีตาลงมาโปรดเสียทีก็คงได้นะครับ
เพราะเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1901 ประธานาธิบดี ธีโอดอร์ รู้สเวลท์ ผู้สนใจความเป็นไปและเหตุการณ์ต่างๆในดินแดนตะวันตกเป็นพิเศษ ออกคำสั่งแต่งตั้ง แพ็ท การ์เร็ตต์ ซึ่งขณะนั้นอายุย่างเข้า 52 ปี ให้ดำรงตำแหน่ง Collector of Customs (เปรียบเทียบกับบ้านเราปัจจุบันก็เสมือนนายด่านศุลกากร แต่สำหรับยุคนั้นเหตุการณ์นั้น ต้องถือว่าสำคัญเท่าๆอธิบดีกรมศุลกากรเลยละครับ) ของรัฐบาลสหรัฐฯประจำเมือง เอล พาโซ่ (El Paso) อันเป็นเมืองชายแดนที่สำคัญของสหรัฐฯในรัฐเท็กซัสอยู่ติดกับประเทศเม็กซิโก
นำมาซึ่งความภาคภูมิใจของเจ้าตัว (และรายได้ที่ดี) เป็นอย่างยิ่ง
ภาพถ่ายของ แพ็ท การ์เร็ตต์ เมื่อปี ค.ศ.1903 ระหว่างดำรงตำแหน่ง นายด่านศุลกากร ที่เมือง เอล พาโซ่ |
แต่ถึงแม้ผลงานจะเข้าตาประธานาธิบดี มีโอกาสก้าวไกลเป็นใหญ่เป็นโตยิ่งขึ้น แพ็ทกลับดวงตกกลับลงมาที่เดิมอีกครั้ง หลังจากไปคบหาสมาคมกับเพื่อนใหม่คนหนึ่ง ผู้มีประวัติและความประพฤติไม่เป็นที่ยอมรับในวงการเมืองระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านประธานาธิบดีเอง
เพื่อนใหม่ผู้นี้ มีชื่อว่า ทอม เพาเว่อรส์ (Tom Powers) ประกอบอาชีพเป็นเจ้าของซาลูนชื่อ เกาะโคนี่ (Coney island) อันเป็นชื่อที่ลอกมาจากสวนสนุกชื่อดังของเมืองนิวยอร์ค
แพ็ทถูกคอสนิทสนมกับเพื่อนคนนี้มาก ถึงขนาดยกปืนกระบอกที่ใช้สังหาร บิลลี่ เดอะ คิด ให้เป็นที่ระลึก
ทั้งๆที่ทอมมีชื่อเสียงไม่ค่อยดีนัก
ตามประวัติกล่าวว่า ทอมหนีคดีอุกฉกรรจ์ ข้อหาทำร้ายร่างกายพ่อบังเกิดเกล้าของตนเอง จากบ้านเกิดที่วิสคอนซิน มาชุบตัวใหม่ หากินเป็นนักธุรกิจเจ้าของบ่อนอยู่ที่นี่
นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ที่มีอุปนิสัยอารมณ์ร้าย และขี้เบ่ง ชอบใช้อำนาจบาตรใหญ่ ไม่ชอบให้ใครมาขัดคอ
เรียกได้ว่า เป็นเสียยิ่งกว่า ยี้ กร่าง กร้าว และไดโนเสาร์มารวมกัน ไม่คู่ควรที่จะมาคบหาสมาคมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ซื่อสัตย์สุจริตเอาจริงเอาจังต่อหน้าที่เลยสักนิดเดียว
เพื่อนฝูงอื่นๆ และผู้หวังดีหลายคน พยายามกระซิบบอก ให้แพ็ทอยู่ห่างๆทอมไว้ เพื่อไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ชอบความเข้มงวดกวดขันในการทำหน้าที่เก็บภาษีของแพ็ท นำมาใช้หาเรื่องใส่ร้ายป้ายสี ดิสเครดิตตัวเองในวันหลังได้
แต่แพ็ทกลับไม่สนใจ
ยิ่งกว่านั้น แพ็ทก็เร่งจัดการเลื่อยขาเก้าอี้ และทุบหม้อข้าวตัวเองต่อไป โดยไม่ต้องให้ฝ่ายตรงข้ามออกแรง
เริ่มด้วยการพาทอมไปเป็นแขกกิติมศักดิ์ ในพิธีสวนสนามและงานเลี้ยงคืนสู่เหย้า ของเหล่าอดีตทหารม้าผ่านศึก อันมีประธานาธิบดีรู้สเวลท์ ผู้เป็นอดีตผู้บังคับหน่วย รับเชิญให้เกียรติมาเป็นประธาน
แค่นั้นไม่พอ ยังทำให้ท่านประธานาธิบดีรู้สึกอึดอัด ด้วยการเป็นเจ้ากี้เจ้าการจัดให้ทอมได้ร่วมถ่ายรูปอย่างใกล้ชิดในพิธีต้อนรับ และนั่งร่วมโต๊ะอาหารกับท่านประธานาธิบดีอีกด้วย
แทนที่จะหยุดแค่นี้ แพ็ทกลับทำให้ทำให้ตัวเองพบจุดจบในชีวิตราชการอย่างถาวร ด้วยการชวนทอมเดินทางไปกับตน ขอเข้าพบประธานาธิบดีรู้สเวลท์ ถึงทำเนียบที่กรุงวอชิงตัน
เพื่อให้พิจารณาแต่งตั้งตนอยู่ในตำแหน่งนายด่านศุลกากรประจำ เอล พาโซ่ ต่อไป หลังจากครบวาระ 4 ปีแรก (กะว่าหากอยู่ต่อได้อีกวาระก็จะเกษียณตอนอายุครบ 60 ปีพอดี สามารถสะสมเงินรายได้ไว้ใช้สบายๆหลังเกษียณ)
หนนี้ ท่านประธานาธิบดีไม่อยากจะเปลืองตัวอีกต่อไป และต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า เป็นท่านผู้นำยุคปฏิรูปแล้ว ก็ควรจะทำตนให้ประชาชนวางใจ ไม่ไปใกล้ชิดแปดเปื้อน หรือคอยเอาอกเอาใจพวกยี้พวกกร่างฯทั้งหลายเพียงเพื่อจะรักษาฐานเสียงของตนเอง ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม
จึงแจ้งให้ทราบว่า จะไม่มีการแต่งตั้งแพ็ทให้ดำรงตำแหน่งนี้อีก
ด้วยความงุนงงแทบไม่เชื่อกับข่าวที่ได้รับ แพ็ทไม่เข้าใจว่า ทำไมประธานาธิบดีถึงจะตัดเชือกทิ้งตัวง่ายๆ ทั้งๆที่ตนมีผลงานดีมาโดยตลอด
แต่ไม่ยอมรู้ตัว ยังคบกับทอมต่อไป และพยายามหาเส้นสายทางอื่นวิ่งเต้นติดต่อขอให้ประธานาธิบดีพิจารณาทบทวนอีกครั้ง
แต่พยายามเท่าไรๆ ก็ไม่สำเร็จ
ผลสุดท้ายกลับปักใจโทษว่า ที่เป็นอย่างนี้ เพราะผู้คนยังไม่ยอมลืมเรื่อง บิลลี่ เดอะ คิด แน่ๆเลย
แพ็ทคงจะรู้สึกว่าตนได้มาถึงจุดตกต่ำที่สุดในชีวิต จนไม่อยากจะอยู่มองหน้าใครอีกต่อไปแล้ว จึงย้ายออกจากเมือง เอล พาโซ่ กลับไปอยู่ที่มณฑล โดนา อาน่า นอกเมือง ลาส ครูเสซ ในนิวเม็กซิโก เมื่อปี ค.ศ. 1906
ใช้ชีวิตทำไร่ไถนา ห่างไกลจากผู้คน และแบ่งที่ทางอันกว้างใหญ่ที่เคยซื้อสะสมไว้ ให้ผู้อื่นเช่าทำกิน เป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย
ถึงปี ค.ศ. 1907 ที่ดินเริ่มมีราคาดี แพ็ทก็วางแผนจะขายบางแปลงออกเสีย เพื่อทำกำไรบ้าง
ที่ดินแปลงที่แพ็ทต้องการขายนั้น ติดสัญญาอยู่กับผู้เช่ารายหนึ่ง ชื่อว่า เวย์น บราเซล (Wayne Brazel) อาศัยพื้นที่เช่านี้ประกอบอาชีพเลี้ยงแกะ
แพ็ทพยายามเจรจาขอเลิกสัญญา แต่เวย์นตั้งเงื่อนไขว่า จะต้องรับซื้อแกะของตนทั้งหมดไปด้วยจึงจะยอม เกิดเป็นเรื่องขัดแย้งกันขึ้น
วันที่ 29 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1908 แพ็ทขับรถม้าเทียมเกวียน พาผู้สนใจซื้อที่คนหนึ่งชื่อ คาร์ล อดัมสัน (Carl Adamson) มาดูที่ทางโดยรอบ
เสร็จแล้วนั่งรถต่อไปด้วยกัน มุ่งหน้ายังเมือง ลาส ครูเสซ
ระหว่างทางก็พบเวย์นขี่ม้าสวนมา
แพ็ทจอดรถทักทายเวย์น ทั้งคู่เริ่มพูดจาถกเถียงกันสั้นๆ โดยมีคาร์ลนั่งฟังอยู่ ก่อนที่แพ็ทจะขอเวลานอก ลงจากรถเดินไปยิงกระต่ายระบายความทุกข์ข้างถนน ให้สบายตัวเสียหน่อย เสร็จแล้วจะได้กลับมาเถียงกันต่อให้เต็มที่
และไม่น่าเชื่อว่า นั่นจะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขเล็กๆน้อยๆครั้งสุดท้าย ในชีวิตอันเต็มไปด้วยความผิดหวังและช้ำใจของแพ็ท
เพราะยังไม่ทันจะเสร็จดี ก็มีเสียงปืนดังขึ้นจากข้างหลัง เพียงนัดเดียว
จากนั้น แพ็ทก็หมดความรู้สึก ล้มคว่ำหน้าลงไปในคูข้างถนนนั้น โดยยังไม่ทันทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับตน และไม่มีโอกาสที่จะฟื้นรู้สึกตัวขึ้นมารับรู้อะไรอีกต่อไป
เวย์นผูกม้าของตนเข้ากับเกวียน แล้วโดดขึ้นนั่งคู่กับคาร์ล ขับไปยังเมือง ลาส ครูเสซ ทิ้งศพแพ็ทไว้ข้างหลัง
ถึงในเมืองแล้ว ทั้งสองไปแจ้งความกับตำรวจ โดยเวย์นยอมรับสารภาพว่า ตัวเป็นผู้สังหารแพ็ท
แต่เป็นการป้องกันตัวเอง เนื่องจากแพ็ทคว้าปืนลูกซองออกมาจะยิงตัวก่อน มีคาร์ลให้การเป็นพยานยืนยันว่าเป็นความจริง
ตำรวจออกไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบว่า มีรอยเท้าม้าอื่นในบริเวณนั้น และมีปลอกกระสุนปืนไรเฟิลวินเชสเตอร์ ซึ่งไม่ใช่ปืนของเวย์นตกอยู่ด้วยอีก 1 ปลอก
ส่วนสภาพศพของแพ็ท ยับยู่ยี่เหมือนถูกรุมทำร้ายอยู่ในคูข้างถนน ใบหน้าโดนลูกกระสุนแหว่งหายไปซีกหนึ่ง มีปืนลูกซองยังไม่ได้ยิงตกอยู่ข้างตัว
เวย์นถูกจับส่งตัวขึ้นศาล ข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ในปีต่อมา
ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นทนายแก้ต่างให้คือ อัลเบิร์ต ฟอลล์
คนเดียวกับที่เคยเป็นทนายแก้ต่างให้ผู้ต้องหาที่ถูกแพ็ทจับกุม ในข้อหาฆาตกรรม อัลเบิร์ต เจนนิ่งส์ เฟาน์เท่น จนรอดพ้นความผิดไปได้ เมื่อ 12 ปีก่อน นั่นเอง
ศาลใช้เวลาพิจารณาคดีนี้เพียงวันเดียว คณะลูกขุนพร้อมใจกันลงความเห็นว่า เวย์นไม่มีความผิด ศาลจึงตัดสินให้พ้นข้อหาและปล่อยตัวไป
คดีปิดลง โดยไม่มีใครสนใจยกประเด็นเรื่องหลักฐานอื่น ที่ตำรวจพบในที่เกิดเหตุว่า อาจมีผู้อื่นเกี่ยวข้องกับการตายของแพ็ท หรือมีผู้บงการอยู่เบื้องหลังวางแผนให้สังหารแพ็ท โดยมีการเตรียมการอย่างดีไว้ก่อนหรือไม่
ข้อเท็จจริง ยังเป็นความลับมืดมนอยู่ จนทุกวันนี้
ทั้งหมดนี้ คือชีวิตอาภัพของมือปราบคนดังแห่งตะวันตก ผู้พากเพียรพยายามปิดคดีสำคัญระดับชาติอย่าง บิลลี่ เดอะ คิด จนสำเร็จ
แต่แล้ว กลับถูกกระแสสังคมตำหนิติเตียน ว่าเป็นผู้ทรยศหักหลังเพื่อน ยิ่งแก้ตัวยิ่งกลายเป็นผู้ร้ายหนักเข้าไปใหญ่
พอตอบรับคำชวน ย้ายไปเป็นนายตำรวจที่เท็กซัส หวังจะก้าวหน้าที่นั่น ก็ถูกเบี้ยวเรื่องยศ
หันมาลงทุนทำธุรกิจที่บ้าน ก็เจ๊งไม่เป็นท่า ทดลองเลี้ยงม้าแข่ง ทำท่าจะไปได้ดีอยู่แล้ว ดันเปลี่ยนใจ กลับมายอมช่วยทำคดีดัง หวังเอากล่องอีกครั้ง
กว่าจะจับตัวผู้ร้ายสำเร็จ ต้องเหนื่อยแทบเลือดตากระเด็น แถมเอาผิดตามกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ กลายเป็นเหนื่อยเปล่าอีก
พอถึงคราวบุญมาวาสนาส่ง ได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากประธานาธิบดี ให้ดำรงตำแหน่งสำคัญที่เท็กซัส ดูน่าจะมีอนาคตไกล ดันหาเรื่องขัดใจให้ผู้ใหญ่หมดความเอ็นดูเสียอีก
ต้องถูกเลิกจ้าง โดนเออร์ลี่รีไทร์เสียตั้งแต่อายุยังไม่ทันครบ 60
ยอมทำใจ กลับมาทำไร่อยู่กับบ้าน หวังจะใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างสงบสุขเสียหน่อย ท้ายสุดกลับถูกพวกอันธพาลยิงทิ้งเอาง่ายๆ เมื่ออายุเพียง 58
สภาพศพ แทบจะไม่ต่างจากหมาข้างถนน ตายไปเปล่าๆ อย่างไม่สมเกียรติสมศักดิ์ศรีอดีตมือปราบ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สักนิด
ขณะที่ผู้ร้าย ต่างลอยนวลไปได้หมด ไม่มีใครต้องถูกลงโทษชดใช้กรรมเลยสักคน
พูดถึง แพ็ท การ์เร็ตต์ ไปแล้ว ตอนต่อไป หากหากผมไม่เล่าเรื่อง บิลลี่ เดอะ คิด ละก็ มีหวังได้ถูกต่อว่ากันอย่างหนัก จนอาจทำให้ตัวเองอาภัพบ้างเหมือนกันนะครับ
เป็นอันว่า ครั้งหน้าเรามาดูกัน ว่า บิลลี่ เดอะ คิด นั้น จริงๆแล้วชั่วดีอย่างไรขนาดไหน ทำไมถึงดังกว่า และมีผู้เห็นอกเห็นใจมากกว่า ทั้งๆที่ทางการถือว่าเป็นอาชญากร
โปรดอย่าลืมติดตามนะครับ
มาร์แชลต่อศักดิ์