บิลลี่ เดอะ คิด คาวบอยเล็กพริกขี้หนู (1/3)


ตามที่ได้เกริ่นไว้ตั้งแต่ครั้งก่อนนะครับว่า เมื่อเขียนถึง แพ็ท การ์เร็ตต์ ไปแล้ว จะไม่เขียนเรื่อง บิลลี่ เดอะ คิด ผู้เปรียบเสมือนคู่บุญ (หรือที่จริงน่าจะหมายถึงคู่กรรม หรือคู่บาป หรือคู่ซ้ำเติม ก็แล้วแต่มุมมองนะครับ) เสียเลยก็คงจะไม่ได้

มองดูเส้นทางชีวิต และจุดจบของทั้งสองแล้ว หากคิดเป็นเรื่องบาปบุญคุณโทษ ก็เหมือนจะสรุปได้ว่า บาปกรรมมีจริง ที่เล่นไปแอบยิงเขาแบบไม่ทันให้ตั้งตัว ผลสุดท้าย ตัวเองเลยถูกคนอื่นแอบยิงเอาแบบไม่ทันตั้งตัวบ้าง

ยิ่งกว่านั้น อาจนึกสงสัยข้ามภพข้ามมิติต่อไปว่า พวกนี้ตามไปลอบยิงกันในเมืองผีอีกหรือเปล่า หรือไม่ก็ บิลลี่กลับชาติมาเกิดแก้แค้นวันหลังหรือเปล่า

ผมลองมาคิดเล่นๆดู ก็ไม่แน่เหมือนกันนะครับว่า บิลลี่อาจกลับชาติมาเกิดใหม่ เป็นมือปืนสังหาร แพ็ท การ์เร็ตต์ จริงๆก็ได้

เพราะบิลลี่ถูกยิงตาย ตอนอายุประมาณ 19-20 เมื่อปี ค..1881 จากนั้น แพ็ท การ์เร็ตต์ ไปถูกยิงตายเอาเมื่อปี ค..1908 หรือ 27 ปีหลังจากยิงบิลลี่ ซึ่งถือว่านานเพียงพอ ที่วิญญานบิลลี่จะหาทางกลับมาเกิดใหม่ หัดยิงปืน รวมทั้งฝึกปรือวิทยายุทธ์ให้ช่ำชองยิ่งกว่าเมื่อชาติปางก่อน รอคอยโอกาสเหมาะๆ เพื่อแก้แค้นได้สบายๆ

เรื่องแบบนี้ ผมยังไม่เคยเห็นฝรั่งเขียนหรือทำหนังไว้ ขอยึดเอาเป็นลิขสิทธิ์ของตัวเองไปพลางๆก่อนนะครับ วันหลังหากทางกอง บ..ของ กันส์ เวิล์ด ไม่ว่าอะไร อาจลองเขียนเป็น คาวบอยกับปืนคู่ใจ ภาคทวิภพ หรือบ่วงบรรจถรณ์ อะไรแบบนั้นดูบ้างก็ได้

เลยขอถือโอกาสคุยต่อเนื่อง เรื่องคาวบอยกับผีๆสางๆ อีกสักหน่อยนะครับว่า เมื่อไม่นานนี้ คุณยุทธดนัย เทพหัสดินฯ โทรมาบอกให้ผมดูหนังคาวบอยทางช่องเคเบิ้ลเรื่องนึงชื่อว่า Purgatory แปลเป็นไทยก็คงจะทำนองว่า การชดใช้กรรมในนรก

หนังผูกแก๊กเรื่อง ให้เป็นเมืองคาวบอยหลังเขาเมืองหนึ่ง คล้ายๆเมืองลับแล แต่มีประชากรเป็นผีคาวบอย เป็นพวกอดีตมือปืนนามอุโฆษทั้งหลาย ที่ตายแล้วถูกยมทูต (ซึ่งเป็นอินเดียนแดงแก่ๆ) ส่งมาชำระล้างบาปที่นี่ให้หมด ก่อนถึงจะขึ้นสวรรค์ได้

ตัวเอกในเรื่อง เขาให้ ไวลด์ บิล ฮิกค็อก เป็นนายอำเภอ มีผู้ช่วยคือ เจสสี เจมส์ กับ ด๊อค ฮอลลิเดย์ แล้วก็ บิลลี่ เดอะ คิด

ในระหว่างชำระบาปนี้  ห้ามผีทุกคน (ทุกตัว?) พกปืน และห้ามยิงใครเป็นอันขาด ซึ่งก็ไม่เคยมีปัญหาอะไร

จนกระทั่งวันหนึ่ง มีผู้ร้ายเป็นคนฝูงใหญ่ หลงเข้ามาในเมืองลับแลนี้ได้อย่างไรไม่ทราบ หาเรื่องก่อความไม่สงบ กับเตรียมการปล้นใหญ่ เมื่อเห็นว่า ทุกคนในเมืองตั้งแต่นายอำเภอลงมา ไม่มีใครพกปืนสักคน

โดยไม่รู้ว่า พวกนี้นอกจากจะเป็นผีแล้ว ยังเป็นมือปืนระดับพระกาฬทั้งนั้น

ท่านที่ยังไม่ได้ดู ก็คงเดาออกนะครับว่า ในที่สุดบรรดาผีมือปืนทั้งหลาย ก็ต้องยอมฝ่าฝืนกฎ กลับไปพกปืนมาดวลกับผู้ร้ายทั้งฝูง กวาดผู้ร้ายทิ้งจนเกลี้ยงรักษาเมืองไว้ได้ และยังได้ขึ้นสวรรค์เป็นรางวัลตอนจบ

ถือได้ว่า เป็นหนังคาวบอยที่น่าสนใจเรื่องนึงทีเดียวครับ เอาใจคนดูได้ทั้งแฟนหนังผี และแฟนหนังคาวบอยพร้อมๆกัน

ส่วนตัวผมนั้น ชอบตรงที่หาคนมาแสดงเป็น ไวลด์ บิล ได้หน้าตาละม้ายดีมาก กับฉากแอ๊คชั่นดวลปืนหมู่ตอนจบ ซึ่งมันส์ไม่แพ้ฉากการดวลที่ โอเค คระราล ในหนังดังร่วมสมัยเรื่องอื่นๆ

ท่านผู้อ่านหากสนใจและยังไม่เคยดู ผมเห็นยังพอมีเป็นหนังแผ่นให้เช่า ตามร้านใหญ่ๆแถวศูนย์การค้าอยู่เหมือนกันนะครับ

ส่วนภาพยนตร์เกี่ยวกับ บิลลี่ เดอะ คิด นั้น ก็มีสร้างกันมาหลายเรื่อง หลายยุคและหลายบรรยากาศ ขณะที่ผมเขียนอยู่นี้ ยังมีฉายให้ดูทางช่องเคเบิ้ลด้วยเลยครับ คือเรื่องยังกันส์ภาคสอง (Young Guns II)

ภาคแรกนั้น ผมเห็นมีเป็นดีวีดีวางขาย ดูเหมือนจะสร้างตั้งแต่เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว โดยรวมๆแล้วดูสนุกดีเหมือนกัน ถึงแม้จะมีบางฉากดูเพ้อเจ้อ หรือไม่ก็โม้เกินพอดีไปสักหน่อย

ส่วนเรื่องอื่นๆก่อนหน้านั้น เคยดูตั้งแต่สมัยเป็นเด็กนานมาแล้ว จำได้ลางๆว่าเรื่องหนึ่งเล่นโดย พอล นิวแมน กับอีกเรื่องหนึ่งเล่นโดย คริส คริสตอฟเฟอร์สัน เสียดายครับ ที่ไม่เห็นมีการนำมาฉายใหม่อีก ไม่งั้นคงเอามาบรรยายเปรียบเทียบกันได้สนุกกว่านี้

ภาพถ่ายของ บิลลี่ เดอะ คิด อันเป็นที่รู้จักแพร่หลาย
กันมากที่สุด ลงเปรียบเทียบให้ดู ระหว่างต้นฉบับ
ของเดิม ที่ถ่ายไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1879 กับฉบับที่นำมา
แต่งเติมในภายหลังให้ดูดีขึ้น ภาพนี้ทำให้หลายคน
เข้าใจว่า บิลลี่ถนัดซ้าย เนื่องจากคาดปืนไว้ที่เอวซ้าย
และซองปืนก็เป็นซองมือซ้าย แต่ภายหลังมีผู้ตั้งข้อ
สังเกตว่า หากดูให้ดีแล้วจะมองเห็นช่องบรรจุกระสุน
ของปืนวินเชสเตอร์ปรากฏอยู่ด้านซ้ายของปืนเช่นกัน
จึงเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าภาพนี้พิมพ์กลับข้าง
ปืนวินเชสเตอร์กระบอกนี้ ดูจากรายละเอียดเท่าที่เห็น
หากไม่เป็นรุ่น 1866 ก็คงจะเป็น 1873 ส่วนปืนสั้นนั้น
พอมองเห็นแต่เพียงส่วนด้าม ไม่เห็นเป็นรูปร่างทั้ง
กระบอก เลยไม่สามารถเดาออกว่าเป็นปืนอะไร 

ประวัติวัยเยาว์ของ บิลลี่ เดอะ คิด ไม่สามารถหาหลักฐานทางราชการ มายืนยันข้อเท็จจริงได้ครับ มีเพียงจากข้อเขียนของนักประวัติศาสตร์คาวบอยหลายคน ที่ใช้วิธีตั้งข้อสันนิษฐาน จากการนำหลักฐานอื่นๆ ที่พบเมื่อตอนโตแล้ว มาปะติดปะต่อเอา

ได้ความว่า ปีเกิดน่าจะอยู่ที่ราวๆ ค. .1861 ส่วนสถานที่เกิด อาจเป็นไปได้ตั้งแต่นิวยอร์ค ไปจนอินเดียน่าหรือไม่ก็มิสซูรี่

ส่วนชื่อนามสกุลที่ใช้ ก็มีหลากหลาย ตั้งแต่ วิลเลียม เอ็ช. บอนนี่ (William H. Bonney)  เฮนรี่ แม็คคาร์ที (Henry McCarty) เฮนรี่ แอนทริม (Henry Antrim) กับชื่อที่รู้จักกันแพร่หลายที่สุดว่า บิลลี่ เดอะ คิด นี่แหละครับ

ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะแม่ของบิลลี่แต่งงานใหม่อีกหลายหน จนบิลลี่มีนามสกุลให้เลือกใช้แยะ

ส่วนชื่อตัวนั้น ชื่อแรกก็คือ วิลเลี่ยม ที่เรียกกันเล่นๆว่าบิลลี่ นั่นแหละครับ โดยมีชื่อรองอย่างเป็นทางการ ตามธรรมเนียมฝรั่งว่าเฮนรี่

สำหรับฉายา เดอะ คิด อันหมายถึงไอ้หนู หรือไอ้หนุ่ม ก็เป็นศัพท์ธรรมดาสำหรับพวกคาวบอย ใช้การเรียกขานเด็กผู้ชายวัยรุ่นในยุคนั้น (เป็นยุคนี้หากจะให้จ๊าบคงต้องเรียกว่า บิลลี่ขาโจ๋ ละมังครับ)

แม่ของบิลลี่ชื่อ แคธรีน (Catherine) แต่งงานครั้งหลังสุดกับ วิลเลี่ยม แอนทริม (William Antrim) หลังจากหอบหิ้วบิลลี่ กับน้องชายต่างบิดาอีกคนหนึ่งชื่อ โจเซฟ (Joseph) มาตั้งรกรากใหม่ในนิวเม็กซิโก อยู่ที่เมืองซานตาเฟ่ (Santa Fe) เมื่อปีค..1873

ภาพนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าคือ
แคธรีน แอนทริม
แม่ของ บิลลี่ เดอะ คิด 

 วิลเลี่ยม แอนทริม
พ่อเลี้ยงของ บิลลี่ เดอะ คิด 

ในปีถัดมา แม่ของบิลลี่เสียชีวิตลงด้วยวัณโรค และจากนั้นไม่นาน พ่อเลี้ยงคือวิลเลี่ยม ก็ทิ้งเด็กทั้งสอง หนีไปเผชิญโชคที่อื่นตามลำพัง

ปล่อยให้บิลลี่ ซึ่งขณะนั้นอายุแค่ประมาณ 12-13 ขวบ ต้องออกจากโรงเรียน และต่อสู้ชีวิตด้วยตัวเองตามลำพังอย่างขาดหางเสือ ร่อนเร่ไปมาหลายที่ ทั้งในนิวเม็กซิโกและอริโซน่า ภายใต้การอุปถัมภ์ของบุคคลหลายประเภท เปลี่ยนหน้าสลับกันไปเรื่อยๆ

มีตั้งแต่ สาธุชนผู้ใจบุญ หัวขโมยสมัครเล่น ไปจนถึง โจรและมือปืนอาชีพ

กับถูกจับส่งเข้าคุกตะรางอีกบ้างเป็นครั้งคราว ในข้อหาลักเล็กขโมยน้อย

ไม่มีรายละเอียดเรื่องน้องชายของบิลลี่ ว่ารูปร่างหน้าตา และชะตากรรมต่อไปเป็นอย่างไร แต่ของตัวบิลลี่นั้น พอจะได้เค้าจากผู้ที่เคยรู้จัก ให้การสอดคล้องกันในภายหลังว่า เป็นเด็กวัยรุ่นอัธยาศัยดี ยิ้มง่าย มีอารมณ์ขัน

ตัวค่อนข้างเล็ก หากเทียบกับเด็กหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกัน มีพรสวรรค์ด้านศิลปและการร้องรำทำเพลง (ส่วนนี้เชื่อว่าคงจะได้มาจากแม่ ครู และสาธุชนอื่นๆที่เคยอุปถัมป์)

หลังจากนั้นจึงได้เรียนรู้ และพัฒนาความสามารถในการขี่ม้า ต้อนวัว ยิงปืน ขว้างมีด ลักเล็กขโมยน้อย กับพิสูจน์ว่า ตัวเองมีทั้งไหวพริบดี และความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว (ซึ่งส่วนนี้คงต้องยกประโยชน์ให้กับบรรดาพวกหัวขโมยและโจรผู้เคยมีส่วนในการเลี้ยงดูตนด้วยเช่นกัน)

ความสามารถพิเศษอีกอย่างของบิลลี่คือ ภาษาต่างประเทศ สามารถใช้ภาษาสเปน อันเป็นภาษาของชาวแม็กซิกันได้อย่างคล่องแคล่ว อันนี้เป็นผลพวงมาจากการที่ต้องร่อนเร่พเนจร อยู่ในท้องที่ที่มีคนสายเลือดแม็กซิกันอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่า บิลลี่จะเป็นผู้ที่มีสันดานโหดร้ายอำมหิต และคำร่ำลือที่ว่าบิลลี่ฆ่าคนไปแล้ว 21 คน ก่อนจะถูกจับตายเมื่ออายุ 21 ปีพอดี โดยทำเครื่องหมายไว้ศพละ 1 ขีดบนด้ามปืนของตัวเอง ก็ไม่เคยมีหลักฐานอะไรมายืนยัน

แต่แน่นอนว่า ความเป็นหนุ่ม ย่อมทำให้เลือดร้อนและขาดความยั้งคิด นำไปสู่การใช้ความรุนแรงได้ง่าย

หนแรกที่บิลลี่ทำร้ายคนถึงตายนั้น ก็เพราะถูกคนเกเรที่ตัวโตกว่าข่มเหงรังแกก่อน

เหตุเกิดขึ้นที่ชุมชนใกล้ๆค่ายทหารชื่อ ค่ายแกร๊นท์ (Camp Grant) ในอริโซน่า

มีช่างตีเหล็กคนหนึ่ง ชื่อ แฟร้งค์ พี. คาฮิลล์ (Frank P. Cahill) เป็นคนร่างใหญ่ มีนิสัยชอบรังแกคนตัวเล็กกว่าเพื่อความสนุกสนาน มักหาเรื่องสัพยอกบิลลี่ด้วยการเขกหัว ผลัก เตะ ถีบ ฯลฯ เป็นการพักผ่อนหย่อนใจทุกครั้งที่เจอกัน

วันที่ 18 สิงหาคม ค..1877 ทั้งคู่เจอกันในแคนทีน่าแห่งหนึ่ง (Cantina - แคนทีนในภาษาอังกฤษนั่นเองครับ แต่ต้นฉบับในภาษาสเปนสำหรับยุคนั้นท้องที่นั้น จะหมายถึงร้านประเภทบาร์และซาลูน ไม่ใช่ร้านขายอาหาร)

แฟร้งค์ตะโกนแซวบิลลี่ก่อนว่า ไอ้แหย

บิลลี่เลยตอกกลับเข้าให้บ้างว่า ไอ้ลูกไม่มีพ่อ

แฟร้งค์ย่ามใจในความได้เปรียบ ทั้งด้านสรีระและพละกำลัง รี่เข้าจับบิลลี่โยนลงกับพื้น เสร็จแล้วทำท่าเหมือนมวยปล้ำ ลงนั่งทับหน้าอกบิลลี่ไว้ไม่ให้หนีได้ จัดการตบหน้าสั่งสอนไปพร้อมๆกันเป็นการใหญ่

บิลลี่ค่อยๆเลื่อนมือขวาไปหยิบปืน .45 ของตัวที่พกมาด้วย ชักออกมาระเบิดใส่พุงของแฟร้งค์เพียงนัดเดียว หงายหลังตกลงไปนอนตายอยู่กับพื้น

จากนั้น บิลลี่ในวัยเพียง 16 ปี แต่มากด้วยประสบการณ์เกินอายุ ก็ไม่รอช้า รีบเผ่นออกจากอริโซน่า ข้ามกลับไปนิวเม็กซิโกทันที ก่อนที่จะมีใครมาตามจับกุม

 ข่าวตัดจากหนังสือพิมพ์ อริโซน่า ซิติเซ่น
ลงข่าว บิลลี่ เดอะ คิด ยิง แฟร้งค์ พี. คาฮิลล์ ตาย
นอกจากจะจงใจละเลย ไม่บรรยายว่าบิลลี่ถูก
แฟร้งค์ทำร้ายก่อนแล้ว ยังเขียนชื่อบิลลี่สองครั้ง
ไม่ตรงกัน คือตอนแรกเขียนว่า Austin Antrim
 แต่ตอนหลังกลับเขียนว่า Henry Antrim 

บิลลี่เข้ามาป้วนเปี้ยนอยู่ในมณฑลลินคอล์น (Lincoln County) ของนิวเม็กซิโกพักหนึ่ง ก็ได้เข้าทำงานเป็นคนงานในไร่ปศุสัตว์ของ จอห์น เอ็ช. ทันสตอลล์ (John H. Tunstall) นักธุรกิจชาวอังกฤษ ผู้อพยพจากบ้านเกิดในย่านกรุงลอนดอน หอบทุนทรัพย์ลงเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติค มายังอเมริกาแผ่นดินใหม่

แค่นั้นไม่พอ ยังบุกป่าฝ่าดง ข้ามน้ำข้ามเขาอีกหลายพันกิโลเมตร สู่ดินแดนตะวันตก มาจนถึงมณฑลลินคอล์นในนิวเม็กซิโกนี่

ด้วยความเชื่อว่า มีโอกาสที่จะลงหลักปักฐาน สร้างความร่ำรวยมั่งคั่ง และเป็นปึกแผ่นได้สะดวกรวดเร็วกว่าในแถบตะวันออก ที่ผู้คนต่างจับจองโอกาสและทรัพยากรกันไปหมดแล้ว

ทันสตอลล์เริ่มต้นธุรกิจ ด้วยการทุ่มทุนทำไร่ปศุสัตว์ขนาดใหญ่ ซึ่งในเวลานั้นเป็นธุรกิจที่กำลังบูม และยังมีอนาคตอีกไกล เนื่องจากมีผู้คนทยอยเข้ามาก่อร่างสร้างตัวในดินแดนใหม่นี้อย่างไม่หยุดหย่อน ทำให้ความต้องการเนื้อสัตว์เป็นอาหาร มีแต่จะเพิ่มขึ้น

และว่าจ้างแรงงานท้องถิ่นหลายคนไว้เป็นลูกมือ ส่วนใหญ่เป็นเด็กหนุ่ม รุ่นราวคราวเดียวกับบิลลี่

ความที่มีพื้นเพเป็นผู้ดีอังกฤษมาก่อน ทันสตอลล์จึงได้ชื่อว่า เป็นนายจ้างที่มีมารยาทและยุติธรรม เป็นที่รักใคร่ของลูกจ้าง

โดยเฉพาะบิลลี่ ผู้ซึ่งเคยเรร่อนไร้ทิศทางมาตลอดตั้งแต่แม่ตาย พอได้มาทำงานเป็นเรื่องเป็นราว เป็นหลักเป็นแหล่งมั่นคง มีสวัสดิการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี

ก็แทบจะนับถือทันสตอลล์เป็นพ่อที่เดียว

 จอห์น เอ็ช. ทันสตอลล์
ชาวอังกฤษผู้หวังมั่งคั่งร่ำรวย
จากการทำธุรกิจในนิวเม็กซิโก 

คนอื่นๆทุกคน ก็ต่างทุ่มเท ทำงานตอบแทนให้ทันสตอลล์กันอย่างเต็มที่ ไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย

แต่แทนที่ทันสตอลล์จะสมหวัง ทำมาหากินได้สะดวกคล่องแคล่ว กลายเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีอย่างรวดเร็วได้ตามที่ฝันไว้ กลับพบว่า ดินแดนใหม่แห่งนี้ ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสองคู่หูนักธุรกิจเชื้อสายไอริช นามว่า พันตรี ลอว์เร้นซ์ จี. เมอร์ฟี่ (Major Lawrence G. Murphy) กับ จิมมี่ โดลัน (Jimmy Dolan)

ทั้งคู่ทำกิจการร้านสรรพสินค้าอยู่ในเมืองลินคอล์น ต่อมาได้ขยับขยายไปทำไร่ปศุสัตว์อยู่นอกเมือง จนกระทั่งกลายเป็นไร่ปศุสัตว์ ที่กว้างใหญ่ที่สุดในมณฑลลินคอล์น แซงแช้มป์เดิมผู้มีชื่อว่า จอห์น ชิซั่ม (John Chisum) อดีตคาวบอยจากเท็กซัส ผู้เข้ามาบุกเบิก และเป็นเจ้าพ่อปศุสัตว์ที่นี่มาแต่ก่อน รวมทั้งคู่แข่งรายย่อยอื่นๆไปได้อย่างรวดเร็ว

ความสำเร็จ และความเป็นผู้นำทางธุรกิจของเมอร์ฟี่และโดลัน ไม่ได้มาจากการคิดใหม่ทำใหม่ หรือความเฉลียวฉลาดและไหวพริบทางการค้าแต่อย่างใด แต่เป็นวิธีเดิมๆที่เราๆท่านรู้จักคุ้นเคยกันดี ใช้ได้ผลมาทุกยุคทุกสมัย

นั่นคือ วิ่งเต้นทำสัญญาสัมปทานผูกขาดการขายเนื้อวัวให้กับทางราชการ จากนั้นก็เลี้ยงเส้นสายสนับสนุนไว้ให้ครบทุกระดับ ตั้งแต่ตำรวจท้องที่ อัยการ ศาล ไปจนถึงนักการเมืองในรัฐบาลท้องถิ่นที่เมืองซานตาเฟ่

โดยไม่ลืมที่จะเลี้ยงมือปืนฝูงใหญ่ไว้อีกฝูงหนึ่งด้วย

เท่านี้ ก็สามารถรักษาอำนาจการผูกขาด และกินรวบไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

คู่แข่งทั้งหลาย ไม่ว่ารายใหญ่หรือรายย่อย หากไม่ยอมก้มหัวให้ ก็จะถูกกำจัดให้พ้นทางออกไป ด้วยวิธีการหลายรูปแบบ ทั้งในกฎหมายและนอกกฎหมาย ขึ้นอยู่กับว่าจะมีความรู้และหัวแข็งมากน้อยแค่ไหน

ลอว์เร้นซ์ เมอร์ฟี่
ผู้ต้องการผูกขาดการทำธุรกิจ
ทั้งการค้าปศุสัตว์และค้าปลีก 

ทันสตอลล์กับชาวไร่รายย่อยอีกกลุ่มหนึ่ง จึงพยายามรวมตัวกัน เพื่อต่อต้านอำนาจและการกดดันอย่างไม่เป็นธรรมของเมอร์ฟี่กับโดลัน

ได้ทนายความผู้มีความรู้ดี และค่อนข้างจะเคร่งศาสนาชื่อ อเล็กซานเดอร์ เอ. แม็คสวีน (Alexander A. McSween) ผู้เห็นว่า ทันสตอลล์ถึงแม้จะเป็นชาวต่างชาติ แต่ก็เป็นผู้ที่ มีวัฒนธรรมและยึดมั่นในครรลองของกฎหมายมาเป็นหุ้นส่วนและที่ปรึกษา

อเล็กซานเดอร์ เอ. แม็คสวีน
ทนายความผู้เป็นพันธมิตรกับทันสตอลล์
ในการต่อสู้กับอำนาจเถื่อน  

ทั้งสองยังได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี จากชิซั่ม ผู้ไม่ชอบหน้าเมอร์ฟี่กับโดลัน (เพราะเป็นผู้ทำให้ตัวต้องเสียแช้มป์ตกกระป๋อง กลายเป็นรองทางธุรกิจไป) เป็นทุนเดิมอีกด้วย

นอกจากจะทำไร่ปศุสัตว์ใหญ่โต แข่งกับเมอร์ฟี่และโดลันอย่างไม่เกรงใจแล้ว ทันสตอลล์ยังรุกเข้ามาเปิดร้านสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในเมืองลินคอล์น แข่งกับร้านเดิมของเมอร์ฟี่กับโดลัน ที่เคยผูกขาดอยู่เพียงร้านเดียว เหมือนกับเป็นการท้าทายถึงในบ้าน

ประชาชนชาวลินคอล์นชอบใจ เพราะเริ่มมีทางเลือก ต่างพบว่า ร้านของทันสตอลล์มีสินค้าใหม่สดกว่า ในราคาไม่แพง จึงหันมาอุดหนุนกันอย่างคับคั่ง

 ร้านสรรพสินค้าของทันสตอลล์ในเมืองลินคอล์น 

ร้านของเมอร์ฟี่กับโดลันเริ่มขายได้น้อยลง จนถึงขั้นประสบภาวะขาดทุนในที่สุด

ด้วยเหตุนี้ เมอร์ฟี่กับโดลันจึงต้องคิดแก้ปัญหาที่ต้นตอ (หรือสมัยนี้ต้องเรียกว่าระดับรากหญ้านั่นแหละครับ) นั่นคือ หาทางกำจัดทันสตอลล์เสีย ไม่ให้มาเป็นตัวขัดลาภอีกต่อไป

ทั้งสองวางแผนใช้วิชามารอย่างเป็นระบบ อาศัยว่าตัวเองมีทั้งตำรวจ นักการเมือง แล้วก็มือปืนเป็นพวก ดำเนินการกดดันทันสตอลล์ทุกรูปแบบ

ตั้งแต่นินทาว่าร้าย ปล่อยข่าวลือทำลายชื่อเสียง แจ้งข้อหาเท็จ ลักขโมย ทำลายข้าวของ แม้กระทั่งข่มขู่ซึ่งๆหน้า

แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากทันสตอลล์เชื่อว่า ตัวเองก็เป็นนักลงทุนคนหนึ่ง ผู้มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่ควรเกรงกลัวหรือโอนอ่อนให้กับอิทธิพลเถื่อน หรืออำนาจมืดใดๆทั้งสิ้น

กลางฤดูหนาว ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1878 เมอร์ฟี่กับโดลันส่งเด็กของตัวชื่อ วิลเลี่ยม เบรดี้ (William Brady) ผู้มีตำแหน่งเป็นถึงเชอร์ริฟแห่งมณฑลลินคอล์น ไปพบทันสตอลล์พร้อมหมายยึดทรัพย์

แจ้งว่า ปศุสัตว์ในไร่ของทันสตอลล์ส่วนใหญ่ เป็นวัวและม้าที่ถูกขโมยมาจากไร่ของเมอร์ฟี่กับโดลัน

ทันสตอลล์ย้อนให้ว่า ตามขั้นตอนจะต้องตรวจสอบว่า ทุกตัวมีตราประทับของไร่อื่นติดอยู่ด้วยหรือไม่เสียก่อน ถึงจะยึดได้

แล้วเรื่องที่ชาวบ้านร้องเรียนว่า เชอร์ริฟเอาเงินภาษีที่เก็บได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งก็เป็นเงินของตนเหมือนกัน ไปให้เมอร์ฟี่กับโดลันหมุน ใช้แก้ปัญหาสภาพคล่องทางธุรกิจล่ะ จะว่าไง (ตำแหน่งเชอร์ริฟในยุคนั้นมีภาระต้องรับผิดชอบในการจัดเก็บภาษีเงินได้ด้วย)

เบรดี้กลับไปอย่างไม่พอใจ พอถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ก็ส่งผู้ช่วยชื่อ บิล แมธิวส์ (Bill Mathews) พร้อมมือปืนฝูงใหญ่หลายสิบคนอาวุธครบมือ ไปที่ไร่ของทันสตอลล์ เพื่อจะใช้กำลังเข้าทำการยึดทรัพย์ตามหมาย

ทันสตอลล์ทราบข่าวนี้ล่วงหน้า และแทนที่จะเตรียมการป้องกันต่อสู้ กลับสั่งการให้ลูกน้องทั้งหมดรวม 5 คน เดินทางออกจากไร่ไปพร้อมกับตัว มุ่งหน้าเข้าเมืองลินคอล์น

มิไยลูกน้องทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบิลลี่ ต่างยืนยันว่า ยินดีสู้ตายเพื่อปกป้องนายและทรัพย์สินของนาย

แต่ทันสตอลล์ยืนยันกับลูกน้องว่า แค่วัวกับม้าฝูงหนึ่ง ไม่คุ้มค่าที่จะเอามาแลกกับชีวิตคนบริสุทธิ์ เรายังมีเวลาใช้กระบวนการยุติธรรม ฟ้องเอาคืนได้ในวันหลัง โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ

ทั้ง 6 คน เดินทางออกจากไร่ไปพร้อมกับม้า 9 ตัว ที่ไม่ได้ระบุไว้อยู่ในหมายยึดทรัพย์ ก่อนที่ขบวนของแมธิวส์จะมาถึงบ้าน

ดังนั้น เมื่อแมธิวส์เมื่อมาถึงไร่ของทันสตอลล์ จึงไม่เจอใคร นอกจากพ่อครัวอยู่โยงเฝ้าบ้านเพียงคนเดียว

ถามได้ความว่า ที่เหลือไปกันหมดแล้ว

แมธิวส์ตัดสินใจ แบ่งลูกน้องออกเป็นกลุ่มย่อยออกมาได้ 16 คน มี บิลลี่ มอร์ตั้น (Billy Morton) เป็นผู้นำ สั่งให้รีบติดตามทันสตอลล์ไปให้ทัน และจัดการยึดเอาม้ากลับมาให้หมด

นับเป็นโชคร้ายของทันสตอลล์ ที่ไม่ได้กำกับการเดินทาง ให้ทุกคนอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน แต่ปล่อยให้กระจัดกระจายกัน อยู่ห่างๆได้ตามอัธยาศัย

หลายคนแยกกลุ่มออกไปไล่ยิงไก่ป่าที่พบระหว่างทาง ตรงกับจังหวะเวลาที่ขบวนของมอร์ตั้นตามมาทันพอดี

และก่อนที่บิลลี่กับเพื่อนๆทุกคน จะกลับมาแก้สถานการณ์ได้ทันเวลา ทันสตอลล์ก็พบว่า ตัวเองตกอยู่ท่ามกลางวงล้อมของฝ่ายตรงข้ามคนเดียว อย่างไม่มีทางสู้ หรือแหวกวงล้อมหนีออกไปได้

บิลลี่และพรรคพวก เห็นขบวนม้าฝูงใหญ่ของมอร์ตั้น วิ่งไปทางเดียวกับทันสตอลล์ และได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 3 นัด ก็รีบควบม้าตามจะไปช่วย

แต่ไม่ทันเสียแล้ว พบแต่ศพของทันสตอลล์ ถูกยิงที่หน้าอกและหัวอย่างละนัด และม้าของทันสตอลล์ก็ถูกยิงตายด้วยอีกนัด

ทุกคนตกใจ และทำอะไรไม่ถูกในเบื้องต้น พอตั้งสติได้ ก็ตัดสินใจว่า ควรจะช่วยกันดูแลจัดการศพของทันสตอลล์ ให้เรียบร้อยเสีย ก่อนจะคิดการอย่างอื่น

ข้างเมอร์ฟี่กับโดลันนั้น คิดว่าปัญหาคงจะยุติแล้ว หรือมิฉะนั้น ที่เหลือก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร เป็นแค่เศษเล็กเศษน้อยที่ต้องตามเช็ดถูอีกนิดหน่อย

จิมมี่ โดลัน
ผู้มีบทบาทอยู่เบื้องหลังในการ
บงการสังหารทันสตอลล์ 

แต่เรื่องกลับไม่จบง่ายๆอย่างที่คิด แถมยังบานปลายกลายเป็นประเด็นทางการเมืองระดับชาติ ดังไปถึงกรุงวอชิงตัน อันจะเด้งกลับมาสั่นคลอนเก้าอี้ผู้ว่าการเขตปกครองนิวเม็กซิโกที่เมืองซานตาเฟ่ ในวันข้างหน้าอีกด้วย

กับอีกอย่างหนึ่ง ที่เมอร์ฟี่กับโดลันไม่เคยคาดคิด ก็คือ

จากนี้ไป เด็กหนุ่มตัวเล็กๆอายุเพียง 17 ปี นามบิลลี่ ที่ใครๆก็เรียกว่าไอ้หนู ผู้ไม่เคยอยู่ในสายตา หรืออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ที่จะต้องจับตาดูเป็นพิเศษมาก่อนแต่อย่างใด จะกลายเป็นตัวปัญหาใหญ่เรื้อรัง ที่จะสร้างความแสบสันต์และเดือดร้อนเสียหาย แก่ธุรกิจและพรรคพวกของตัว อย่างหนักหนาสาหัสเสียยิ่งกว่าที่เคยเดือดร้อนจากทันสตอลล์

หลังการตายของทันสตอลล์ไม่กี่วัน ฯพณฯ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำสหรัฐอเมริกา เซอร์ เอ็ดเวิร์ด ธอร์นตั้น (Sir Edward Thornton) ได้เดินทางเข้าพบ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นาย คาร์ล ชู้ร์ซ (Carl Schurz) เพื่อแสดงความกังวลใจต่อเหตุฆาตกรรมอย่างอุกอาจที่เกิดขึ้น

และขอร้องให้รัฐบาลอเมริกัน เร่งรัดสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิด มาลงโทษตามกฎหมายโดยเร็ว พร้อมออกมาตรการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ของนักธุรกิจชาวต่างประเทศในดินแดนห่างไกล ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ซึ่ง ฯพณฯ รัฐมนตรีก็รับปาก และให้ความมั่นใจต่อ ฯพณฯ เอกอัครราชทูตว่า จะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างดีที่สุด เพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศที่มีมาช้านาน และเพื่อไม่ให้เป็นการทำลายบรรยากาศการลงทุน (ยังเป็นเรื่องคาวบอยอยู่นะครับ โปรดอย่าเผลอนึกว่ากำลังฟังข่าวทางวิทยุกระจายเสียงของกรมประชาสัมพันธ์ หรืออะไรประเภทนั้นอยู่)

ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีชู้ร์ซเคยได้รับความรำคาญ จากรายงานข่าวการทุจริตคอรัปชั่นในวงราชการ ที่เกิดขึ้นในเขตปกครองนิวเม็กซิโก และความเกี่ยวโยงไปถึงกลุ่มอิทธิพลเมอร์ฟี่กับโดลันอยู่เหมือนกัน

ประกอบกับที่ผ่านมา ไม่เคยได้รับรายงานข้อเท็จจริงอะไรจากผู้ว่าการเขตฯ นามว่า แซมมวล บี. แอ๊กซเทลล์ (Samuel B. Axtell) เลย

จึงตัดสินใจเข้าปรึกษาหารือกับประธานาธิบดี รุเธอร์ฟอร์ด เฮยส์ (Rutherford Hayes) จนได้รับความเห็นชอบ ให้ส่งสายลับของรัฐบาลกลางเข้าไปในพื้นที่ เพื่อทำการสืบสวนคดีฆาตกรรมทันสตอลล์ รวมทั้งข้อเท็จจริงเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างละเอียด ก่อนทำรายงานส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยตรงต่อไป

ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกมาทำหน้าที่สายลับนี้ได้แก่ แฟร้งค์ วอร์เน่อร์ แองเจล (Frank Warner Angel) ผู้มีตำแหน่งราชการประจำ เป็นผู้ช่วยอัยการสหรัฐฯประจำนครนิวยอร์ค

สายลับแองเจล เดินทางมาถึงเมืองลินคอล์นในเดือนมีนาคม หลังจากพิธีฝังศพทันสตอลล์เพียงไม่กี่อาทิตย์ และเริ่มงานทันที ด้วยการติดต่อหาข้อมูลเบื้องต้นจากบิลลี่และแม็คสวีนก่อน

จากนั้น จึงเดินหน้าสอบถามเก็บข้อมูลจากพยานผู้เห็น หรือรู้เรื่องเหตุการณ์ ทุกๆฝ่ายจำนวนมากมายหลายสิบปาก เพื่อให้เป็นกลางอย่างแท้จริง พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบอีกมากมาย

นำมาปะติดปะต่อ เป็นลำดับเหตุการณ์ เวลา สถานที่ และชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนได้อย่างละเอียด รวบรวมเขียนขึ้นเป็นรายงานได้หลายร้อยหน้า และมากกว่าหนึ่งแสนคำ

แต่ก่อนที่สายลับแองเจลจะเดินทางมาถึง บิลลี่กับพรรคพวก ด้วยความเห็นชอบของแม็คสวีน และชาวบ้านผู้รักความยุติธรรมอีกจำนวนมาก ได้ร่วมกันตัดสินใจแล้วว่า ทันสตอลล์จะต้องไม่ตายเปล่า

งานนี้ จะต้องมีการชดใช้ให้สาสม ถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องช่วยกันนำความมีขื่อมีแปมาสู่มณฑลลินคอล์นเสียที

ทุกคนสาบานตัว ขอต่อสู้กับอิทธิพลเถื่อนของเมอร์ฟี่กับโดลันอย่างถึงที่สุด

เพื่อให้มีอำนาจตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ผู้พิพากษาเพื่อความสงบเรียบร้อย (Justice of the Peace อันเป็นตำแหน่งทางด้านตุลาการที่ส่วนกลางแต่งตั้งให้ไปทำหน้าที่ในท้องถิ่นห่างไกล มีอำนาจพิพากษาตัดสินคดีในชั้นต้นได้ เทียบเคียงกับบ้านเราก็คงคล้ายๆผู้พิพากษาศาลเคลื่อนที่นั่นเองครับ) นาม จอห์น บี. วิลสัน (John B. Wilson) จึงแต่งตั้งให้ ริชาร์ด บริวเออร์ (Richard Brewer) อดีตหัวหน้าคนงานของทันสตอลล์ เป็นเจ้าพนักงานพิเศษ รวบรวมผู้ช่วยอีกจำนวนหนึ่งขึ้น เป็นชุดติดตามจับกุมคนร้าย ขนานนามว่า ผู้กำกับดูแล” (Regulators)

และออกหมายจับมือปืนของเมอร์ฟี่กับโดลันทุกคน ผู้ถูกต้องสงสัยว่าลงมือ หรือมีส่วนร่วมในการสังหารทันสตอลล์

บิลลี่ได้รับการแต่งตั้ง ให้เป็นหนึ่งในเจ้าพนักงานพิเศษนี้ด้วย
คณะผู้กำกับฯ รีบออกติดตามจับกุมมือสังหาร 2 คนแรก คือ บิลลี่ มอร์ตั้น ผู้ที่นำลูกน้องเข้าไปล้อมกรอบยิงทันสตอลล์ กับมือปืนอีกคนหนึ่งชื่อ แฟร้งค์ เบเก้อร์ (Frank Baker) ทันที

หลังจากทั้ง 2 ฝ่ายยิงต่อสู้ และไล่กวดกันบนหลังม้าอยู่พักใหญ่ คณะผู้กำกับฯ ก็จับตัวทั้งมือปืนคู่ได้ ในวันที่ 7 มีนาคม ค..1878 และนำตัวกลับไปยังเมืองลินคอล์นทันที

แต่พอถึงเช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากพักค้างคืนกลางทาง มอร์ตั้นก็แอบดึงปืนออกมาจากซองของผู้กำกับฯคนหนึ่งขณะเผลอได้ และยิงผู้คุมกฎคนนั้นเสียชีวิตทันที ก่อนที่ตนกับเบเก้อร์จะรีบหนีเอาตัวรอด

บรรดาผู้กำกับฯที่เหลือไม่รอช้า รีบติดตามไปจนทัน และสามารถจับตายทั้งคู่ได้โดยละม่อม

ข่าวการจับตายมือปืนทั้งสองของเมอร์ฟี่กับโดลัน โดยคณะผู้กำกับดูแล ถูกรายงานไปยังเมืองซานตาเฟ่

ผู้ว่าฯแอ๊กซเทลล์ เมื่อรับทราบข่าวแล้ว ก็ออกคำสั่งถอดถอนวิลสัน ออกจากตำแหน่งผู้พิพากษาเพื่อความสงบเรียบร้อยทันที

มีผลให้อำนาจตามกฎหมายของคณะผู้กำกับฯ ที่เคยได้รับมอบหมายจากวิลสัน ต้องหมดสิ้นลงตามไปด้วย ไม่มีสิทธิ์ออกติดตามจับกุมผู้ต้องสงสัยอื่นๆที่ยังเหลือได้อีกต่อไป

เมอร์ฟี่กับโดลัน ถือโอกาสนี้ สั่งให้เชอร์ริฟเบรดี้จัดการตาม เก็บกวาดพวกผู้กำกับฯเสียให้หมดทันที อย่าได้รอช้า เรื่องจะได้จบไวๆ

เบรดี้สนองตอบนโยบายอย่างรวดเร็ว ติดต่อขอความร่วมเมือจากฝ่ายทหาร ให้ช่วยออกติดตามกวาดล้างด้วยอีกแรงหนึ่ง

แต่ทำการไม่สำเร็จ คณะผู้กำกับฯสามารถหลบซ่อน และหลบหลีกการตามล่านี้ได้

และเมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ.1878 ก็เล็ดรอดกลับเข้ามาในเมืองลินคอล์น พากันไปแอบซ่อนอยู่ในร้านค้าของแม็คสวีน (ซึ่งก็คือร้านเดิมของทันสตอลล์นั่นเอง)

โดยที่ทั้งเบรดี้และลูกสมุน ไม่มีใครรู้ระแคะระคายอะไรเลย

ถึงเวลานี้ ดูเหมือนว่าบิลลี่จะกลายเป็นผู้นำอย่างไม่เป็นทางการ ของฝ่ายต่อต้านเมอร์ฟี่กับโดลันไปเสียแล้ว

พอทราบข่าวว่า เชอร์ริฟเบรดี้ ผู้ซึ่งตนเชื่อว่า เป็นตัวบงการสังหารทันสตอลล์ กับมือปืนในกลุ่มสังหารอีกคนที่ชื่อ จ๊อร์จ ฮินด์แมน (George Hindman) กำลังเดินทางกลับเข้ามาในเมือง บิลลี่ก็ชักชวนพรรคพวก ไปซุ่มตัวอยู่หลังประตูรั้วทึบข้างๆร้าน

พอเบรดี้กับฮินด์แมนเดินมาตามถนน ใกล้เข้ามาจนได้ระยะ ก็มีเสียงปืนระดมยิงเป็นตับออกมาจากหลังประตู ดังสนั่นหวั่นไหว

ทุกนัดวิ่งเข้าใส่เป้าหมายเดียวกัน คือเบรดี้ ไม่มีผิดพลาด ไม่มีตกหล่น

ความแรงและจังหวะของกระสุน ที่ยิงไล่ตามติดๆกันแบบไม่เลี้ยงนี้ ทำให้เบรดี้ถึงกับตัวหมุนไปรอบๆอยู่กับที่เหมือนลูกข่าง และขาดใจตายตั้งแต่ก่อนจะล้มลงเสียอีก

ส่วนฮินด์แมนยังโชคดี สามารถวิ่งหนีเอาตัวจากห่ากระสุนที่ยิงไล่หลังตามมาอีกชุด โดดเข้าที่กำบังได้ทัน

เวลานั้น บิล แมธิวส์ มือรองของเบรดี้ (ผู้ก่อนหน้านี้นำขบวนมือปืนไปยึดทรัพย์ทันสตอลล์ถึงที่ไร่ และสั่งการให้มอร์ตั้นพาลูกน้องติดตามไปไล่ล่าให้ทันเมื่อไม่พบตัว) ได้ยินเสียงปืน ก็รีบออกมาดูเหตุการณ์ พลันมองเห็นบิลลี่โผล่ขึ้นมาจากหลังประตู จึงยิงเข้าใส่บิลลี่ทันที

แต่พลาด กระสุนวิ่งถากชายโครงของบิลลี่ไปอย่างหวุดหวิด

ลูกน้องของเบรดี้ที่เหลือ เริ่มออกมาสมทบกับแมธิวส์ และช่วยกันระดมยิงตอบโต้

บิลลี่กับพรรคพวก คงจะบรรจุกระสุนใหม่ไม่ทัน จึงล่าถอยเข้าคอกม้า รีบโดดขึ้นม้าควบหนีออกนอกเมืองไปได้อย่างปลอดภัย

สามวันหลังจากนั้น บิลลี่นำคณะผู้กำกับฯ ซึ่งขณะนี้กลายเป็นพวกนอกกฎหมายไปแล้ว ด้วยข้อหาฆ่าเจ้าพนักงาน ยังคงออกตามล่ามือปืนลูกสมุนของเบรดี้อีกคนหนึ่ง ชื่อ แอนดรูว์ โรเบิร์ตส์ (Andrew Roberts) ฉายา บั๊คช้อท (Buckshot) อดีตพรานล่าควายผู้พิการที่ขาข้างหนึ่ง

บิลลี่กับพรรคพวก ไล่ติดตามบั๊คช้อท ไปจนมุมอยู่ที่หน้าโรงเลื่อยซุงของนายแพทย์ โจเซฟ เอ็ช. บเลเซ่อร์ (Dr. Joseph H. Blazer) ที่นอกเมือง จึงเกิดการเผชิญหน้าขึ้น
ฝ่ายของบิลลี่มีกันอยู่ 6 คน ประกอบด้วย ริชาร์ด บริวเอ้อร์ อดีตหัวหน้าคณะผู้กำกับฯ พร้อมด้วย เฟร้ด เวต (Fred Waite) แล้วก็มี ชาร์ลี เบาดเร (Charlie Bowdre) กับ จ๊อร์จ โค (George Coe) และ แฟร้งค์ มิดเดิลตั้น (Frank Middleton)

เบาดเรตะโกนบอกบั๊คช้อท ให้ยอมแพ้เสียดีๆ อย่าขัดขืนหรือพยายามสู้เลย ไม่มีทางหรอก

บั๊คช้อทไม่ตอบว่าอะไร ยิงสวนกลับมาด้วยปืนไรเฟิลช้าร์ปส์ (Sharps) 1 นัด ถูกเข้าที่ข้างเอวของเบาดเร ตัดเข็มขัดปืนขาดสะบั้นออกจากกัน

กระสุนล่าควายวิ่งต่อไปอีก และโดนเข้าที่นิ้วชี้ขวาของโค ซึ่งยืนอยู่ข้างหลังเบาดเรอย่างจัง

เบาเดรไม่รอช้า ยิงตอบโต้ด้วยปืนโค้ลท์ ส่งกระสุนเข้าที่หน้าท้องของบั๊คช็อทอย่างแม่นยำ

แต่บั๊คช้อทไม่ยอมตาย และไม่ยอมแพ้

อดีตพรานล่าควายผู้พิการ และบัดนี้มีแผลฉกรรจ์สดๆที่หน้าท้องอีกหนึ่งแผล พิสูจน์ตนเองว่า มีความอึดเหนือควายทุกตัวที่ตนเคยล่า และอึดกว่าผู้ที่กำลังตามล่าตนอยู่ซึ่งๆหน้าขณะนี้ทุกคน

สามารถบรรจุกระสุนใหม่ ยิงสวนกลับมาอีกนัด โดนมิดเดิลตั้นเข้าที่หน้าอกจังๆ

ก่อนจะลากสังขารตัวเองและปืน เข้าไปซ่อนตัวอยู่ในบ้านข้างๆ ขัดกลอนประตู และชักม่านปิดหน้าต่างหมดทุกบาน ทิ้งรอยเลือดเป็นทางยาวไว้ข้างนอก

ปืนไรเฟิลช้าร์ปส์ รุ่นปี ค.ศ. 1874
 เป็นปืนยาวบรรจุเดี่ยวยอดนิยม
ของบรรดาพรานล่าควาย
และมือปืนในยุคพิชิตตะวันตก
เพราะมีความแม่นยำสูงในระยะไกล
 และมีกระสุนขนาดต่างๆให้เลือกใช้
ตั้งแต่ .40 ไปจนถึง .50
พวกคาวบอยเรียกปืนไรเฟิลช้าร์ปส์
นี้ว่า Buffalo Gun หรือ ปืนยิงควาย
 ไม่ก็  Old Reliable หรือ เฒ่าผู้วางใจได้
(คนที่ยืนถือปืนอยู่ในภาพนี้ไม่ใช่
 บั๊คช้อท โรเบิร์ตส์ นะครับ แต่คิดว่า
ตัวจริงก็คงหน้าตาไม่ต่างไปจากนี้นัก)

ฝ่ายบิลลี่และพรรคพวก ซึ่งขณะนี้เหลือผู้ที่ยังครบสามสิบสองอยู่แค่ 4 คน กระจายกำลังแยกย้ายกันเข้าปิดล้อม

บิลลี่กับเบาดเร และเวต รี่เข้าประชิดตัวบ้านคนละมุม โดยมีบริวเอ้อร์คอยเฝ้าคุมเชิงอยู่ห่างๆ

ทุกอย่างนิ่งเงียบอย่างน่ากลัวไปประมาณ 2-3 นาที ท่ามกลางความกระวนกระวายใจ และระทึกใจของฝ่ายผู้ล่าทุกคน ไม่มีใครกล้าตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี

ทันใดนั้น เสียงปืนไรเฟิลช้าร์ปส์กระบอกเดิมก็ดังสนั่นขึ้นอีก บิลลี่ เบาดเร และเวต รีบโดดลงหมอบกับพื้น

แต่เมื่อพบว่า ตัวเองไม่ได้ถูกยิง ทุกคนก็วิ่งกลับไปหาบริวเอ้อร์

เพียงเพื่อจะพบว่า บริวเอ้อร์นอนหงายตายสนิทกลายเป็นศพไปเสียแล้ว โดนกระสุนทะลุเข้ากลางหน้าผากพอดี

มีเสียงตะโกนดังตามหลังมาจากข้างในบ้านว่า ฉันฆ่าไอ้ลูกไม่มีพ่อตัวนั้นเองโว้ย! ฉันนี่แหละ ฮ่า..ฮ่า..ฮ่า..

ริชาร์ด บริวเอ้อร์
อดีตหัวหน้าคนงานของทันสตอลล์
รับหน้าที่ผู้นำคนแรกของคณะผู้คุมกฎ
ออกติดตามจับคนร้ายผู้ลงมือสังหาร
ทันสตอลล์ แต่ภายหลังถูกฝ่าย
ตรงข้ามยิงเสียชีวิต 

บิลลี่เกิดความเหลืออดขึ้น ต้องการที่จะบุกเข้าไปในบ้าน จัดการกับบั๊คช้อทเสียให้รู้เรื่องรู้ราวกันไปข้างนึง

แต่ก็ต้องยอมล้มเลิกความตั้งใจ หลังจากเพื่อนๆเตือนสติว่า ยังไงเสีย บั๊คช้อทก็ไม่มีทางรอดจากบาดแผลขนาดนั้นแน่

แต่พวกเราซิ แค่บาดเจ็บยังไม่ตาย พอมีหวังอยู่อีก 2 คน คนหนึ่งแค่นิ้วชี้ด้วนก็จริง แต่อีกคนนึงปอดทะลุ ถ้ารอช้าไม่รู้จะรอดหรือเปล่า

ควรจะถอยกลับก่อน รีบไปหาหมอให้เร็วที่สุดดีกว่า

เย็นวันนั้น เมื่อหมอบเลเซ่อร์เจ้าของบ้าน ผู้ไม่รู้เรื่องรู้ราวเลยว่า มีใครมาทำอะไรกันไว้บ้างที่บ้านของตนเมื่อตอนกลางวัน กลับมาถึง

ก็พบศพ บั๊คช้อท โรเบิร์ตส์ นอนยิ้มเผล่กอดปืนไรเฟิลช้าร์ปส์ ตายสนิทอยู่ในบ้านของตน

ที่เมืองลินคอล์น จ๊อร์จ เป๊ปปิน (George Peppin) เด็กอีกคนหนึ่งของเมอร์ฟี่กับโดลัน ผู้เข้ามารักษาการในตำแหน่งเชอร์ริฟแทนเบรดี้ ประกาศว่า บิลลี่เป็นผู้สังหารบั๊คช้อต (ทั้งๆที่ความจริงแล้วเบาดเรเป็นคนยิง) และจะต้องถูกจับมาลงโทษในเร็วๆนี้

พอบิลลี่กับพรรคพวก ซึ่งยังหลบซ่อนตัวอยู่นอกเมืองทราบข่าว ก็ประกาศตอบโต้ท้าทายมาทันทีว่า แน่จริงก็ตามมาจับเดี๋ยวนี้เลย จะคอยอยู่ (แต่รู้สึกจะไม่ได้บอกว่าอยู่ที่ไหน)

ตลอดเดือนเมษายนนั้น บิลลี่และคณะ ยังคงติดตามล่าเอาชีวิตมือปืนลูกสมุนของฝ่ายตรงข้ามคนอื่นๆได้อย่างต่อเนื่อง

และในที่สุด ก็สามารถเล็ดรอดเข้าไปถึงใจกลางไร่ปศุสัตว์อันกว้างใหญ่ไพศาลของเมอร์ฟี่กับโดลัน ช่วยกันไล่ต้อนฝูงวัวและม้าจำนวนมหาศาล ให้ตื่นตระหนกและเตลิดเปิดเปิงออกจากไร่ กระจัดกระจายหายเข้าป่าไปจนหมด

สุดปัญญาที่เจ้าของจะออกติดตามกวาดต้อนกลับมาให้ครบได้ในระยะเวลาอันสั้น

ด้วยผลงานชิ้นโบว์แดงนี้ มหาอาณาจักรธุรกิจอันยิ่งใหญ่ของเมอร์ฟี่กับโดลัน ผู้ผูกขาดและควบคุมระบบเศรษฐกิจของมณฑลลินคอล์นไว้ในมือแต่ผู้เดียว ก็มีอันต้องล่มสลายลงในที่สุด หลังการจากไปของทันสตอลล์เพียงไม่ถึง 3 เดือน

เมอร์ฟี่ ซึ่งเริ่มป่วยกระเสาะกระแสะมาพักหนึ่งแล้ว ตัดสินใจวางมือ

ส่วน โดลัน ซึ่งที่จริงไม่ได้เป็นเจ้าของ แต่เป็นพวก มืออาชีพที่เมอร์ฟี่ไว้วางใจมอบหมายให้ดูแลกิจการ และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบาย และการบริหารบริษัทมาโดยตลอด ก็ไม่สามารถจะฟันฝ่าปัญหาสภาพคล่อง (คือไม่มีเงินนั่นแหละครับ) แต่เพียงลำพังได้

จึงต้องยุติบทบาททางธุรกิจตามไปด้วย

ขณะเดียวกัน คณะกรมการแห่งมณฑลลินคอล์น ก็มีมติให้ จ๊อร์จ เป๊ปปิน พ้นจากรักษาการในตำแหน่งเชอร์ริฟ และแต่งตั้ง จอห์น โค้ปแลนด์ (John Copeland) มือปราบผู้ที่ประชาชนทั่วไปต่างยอมรับนับถือในความซื่อสัตย์สุจริต ไม่เคยมีประวัติด่างพร้อย ให้เข้าดำรงตำแหน่งเชอร์ริฟแห่งมณฑลลินคอล์นแทน

แผนที่เหตุการณ์สำคัญในเรื่องนี้โดยสังเขป
1.เมืองซานตาเฟ่
2.ค่ายแกร๊นท์
3.ไร่ของทันสตอลล์
4.ไร่ของเมอร์ฟี่กับโดลัน
5.เมืองลินคอล์น
6.โรงเลื่อยของหมอบเลเซอร์

ดูเหมือนว่า บิลลี่ เดอะ คิด กับคณะผู้กำกับดูแล จะสามารถผลักดันการปฏิรูป เป็นตัวแทนประชาชนทำสงครามต่อสู้ล้มล้างขั้วอำนาจเก่าลงได้อย่างสวยงาม สามารถนำความมีขื่อมีแปมาสู่มณฑลลินคอล์นได้สำเร็จ ตามที่ได้เคยปวารณาตนไว้

ต่อไปนี้ กฎหมายคงจะเป็นกฎหมาย ปราศจากผู้มีอิทธิพลและการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมของพวกข้าราชการคอร์รัปชั่น

บ้านเมืองคงจะเป็นระเบียบเรียบร้อย มีเสรีทางการค้า ใครใคร่ค้าม้าค้า ใครใคร่ค้าวัวค้า (แถวนั้นคงไม่มีช้างหรอกนะครับ) ไพร่ฟ้าหน้าใส ได้คนดีมาปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขกันเสียที

เดากันได้ (หรือไม่ก็ทราบกันดี) อยู่แล้วนะครับว่า เปล่า ท้องฟ้าของมณฑลลินคอล์น เป็นสีทองผ่องอำไพอยู่ได้เพียงไม่นานนัก ก็มีอันต้องกลับกลายเป็นสีเลือดอีก

และสำหรับตัวบิลลี่เองแล้ว นี่เป็นเพียงการเริ่มต้นของจุดจบเท่านั้น

โปรดอย่าลืมติดตามบทบาทอันน่าตื่นเต้นของ บิลลี่ เดอะ ดิค คาวบอยเล็กพริกขี้หนู ในคาวบอยกับปืนคู่ใจตอนต่อไปให้ได้นะครับ

รับรองได้ว่า ยังมีเรื่องราวประเภท อึ้ง ทึ่ง เสียว ให้ได้รับฟังรับชมกันอีกมากมาย

รวมทั้งชั้นเชิงของสายลับจากรัฐบาลกลาง ที่ถูกส่งมาทำงานใหญ่เพียงคนเดียวในดินแดนห่างไกล แต่ยังไม่ได้บรรยายรายละเอียดให้ฟังในครั้งนี้ด้วย

ดูซิว่า ฝีมือจะขนาดไหน มีผลต่อชีวิตและอนาคตของบิลลี่หรือไม่อย่างไร

แล้วพบกันฉบับหน้าครับ

มาร์แชลต่อศักดิ์
พฤษภาคม 2545