ในตอนก่อน ผมได้บรรยายถึงเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในมณฑลลินคอล์น เมื่อปี ค.ศ. 1878 หลังจากเมอร์ฟี่กับโดลัน ผู้เป็นนายทุนท้องถิ่นผูกขาดธุรกิจปศุสัตว์ และร้านสรรพสินค้าอยู่แต่เดิม ร่วมมือกันกับนักการเมือง และข้าราชการฝ่ายปกครองในสังกัดของตนอีกจำนวนหนึ่ง ช่วยกันกำจัดคู่แข่งทุนต่างชาติหน้าใหม่ นามว่าทันสตอลล์ ผู้เข้ามาลงทุนแข่งขันทั้งค้าส่งและค้าปลีก จนเริ่มมีส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ
ด้วยการส่งฝูงมือปืนไปล้อมยิงทันสตอลล์ ขณะกำลังเดินทางจากบ้านจะเข้าไปในเมือง จนเสียชีวิต
ทำให้ บิลลี่ เดอะ คิด และเพื่อนร่วมงาน ผู้เป็นลูกจ้างของนายทุนชาวต่างชาติผู้นี้ ตัดสินใจออกแก้แค้นตามล้างผลาญ ทั้งมือสังหารและตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จนหมดสภาพไปตามๆกัน
นำไปสู่การล่มสลายทางธุรกิจของเมอร์ฟี่กับโดลันในที่สุด
ตามมาด้วยการโยกย้ายล้างบางตำรวจชุดเก่า พร้อมกับการแต่งตั้งหัวหน้าตำรวจคนใหม่ เปิดโอกาสให้ผู้ที่ใจซื่อมือสะอาด และไม่ใช่เด็กของนักการเมือง ได้มีโอกาสเข้ามาทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขชาวบ้านบ้าง
บิลลี่ เดอะ คิด กลายเป็นผู้นำนักปฏิวัติรุ่นเยาว์ไปโดยปริยาย ฝ่ายที่เข้าข้างกัน ต่างสรรเสริญว่า บิลลี่เป็นผู้นำความยุติธรรมกลับมาสู่สังคม ช่วยปลดแอกประชาชน จากการกดขี่ขูดรีดของพวกนายทุนขุนนาง (ยุคนี้คงต้องเติมคำว่า อำมาตย์ เข้าไปอีกตำ)
ส่วนฝ่ายตรงข้าม แน่นอนครับ ก็คงจะต้องประณามว่า บิลลี่เป็นพวกรับเงินต่างชาติ เอาใจฝักใฝ่สนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามายึดครองเศรษฐกิจ
เป็นสุนัขรับใช้ยังไม่พอ ยังหันมาเป็นศัตรูแว้งกัดทำลายล้างธุรกิจ ที่ก่อตั้งเติบโตมาด้วยหยาดเหงื่อของคนชาติเดียวกัน แทนที่จะหันมาช่วยกันส่งเสริมเพื่อนร่วมชาติ ต่อต้านการยึดครองจากต่างด้าว
แถมยังมีพฤติกรรมเป็นผู้ก่อการร้าย ฝ่าฝืนกฎหมาย ทำลายความสงบของบ้านเมืองอีกด้วย
อะไรทำนองนั้น
นักค้นคว้าหลายคนเชื่อกันว่า นี่เป็นภาพถ่ายอีกภาพหนึ่งของ บิลลี่ เดอะ คิด |
เช่นเดียวกับรูปนี้ ที่ค้นพบในอัลบั้ม ของครอบครัวชาวไร่รายหนึ่ง ผู้เคยอุปถัมป์บิลลี่ในวัยเด็ก |
ว่าๆไปแล้ว สิ่งที่เรียกกันว่าจักรวรรดินิยม เมื่อหลายสิบปีก่อนที่จะกลายมาเป็นโลกาภิวัฒน์อย่างทุกวันนี้ ไปจนถึงเรื่องการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย และการต่อสู้ท้าทายอำนาจทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมืองด้วยวิธีรุนแรง ก็มีให้เห็นมากมายมาตั้งแต่ยุคคาวบอย ร้อยกว่าปีมาแล้วนะครับ (ฤาว่าของเราเพิ่งจะก้าวสู่ยุคคาวบอยกัน)
ดังที่กล่าวไว้ในตอนที่แล้วเช่นกันว่า ความสงบเรียบร้อยกลับมาสู่มณฑลลินคอล์นได้เพียงไม่นาน ความวุ่นวายก็หวนกลับมาอีกครั้ง
เมื่อกลุ่มผู้สูญเสียอำนาจไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ หาทางที่จะหวนคืนสู่อำนาจ พร้อมกับเป้าหมายที่จะกำจัดบิลลี่ และขบวนการต่อต้านพวกตนลงให้สิ้นซาก
แผนการทั้งหมดเริ่มขึ้น เมื่อ ทอม เคทรอน (Tom Catron) ทนายความผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงการเมืองที่เมืองซานตาเฟ่ และผู้สนับสนุนทางการเงินคนสำคัญคนหนึ่งในธุรกิจของเมอร์ฟี่กับโดลัน ทนเห็นผลประโยชน์ของตัวต้องละลายหายไปเฉยๆไม่ได้
จึงเข้าล็อบบี้ แซมมวล บี. แอ๊กซเทลล์ ผู้ว่าการเขตปกครองนิวเม็กซิโก ชี้แนะว่า บิลลี่ เดอะ คิด และบรรดาผู้กำกับดูแล เป็นพวกนอกกฎหมายที่กำเริบเสิบสาน ไม่ยำเกรงเจ้าหน้าที่บ้านเมือง
ถึงจะยังไม่เคยเผาโรงพักหรือศาลากลาง แต่ก็กระทำการอุกอาจ ดักรุมยิงเจ้าหน้าที่ถึงตายมาแล้ว หากปล่อยทิ้งไว้จะเป็นอันตรายมหาศาลต่อบ้านเมือง
และเชอร์ริฟคนใหม่ของมณฑลลินคอล์นนั้น ก็เป็นผู้ที่ไม่มีความสามารถเพียงพอ ที่จะดูแลปกครองบ้านเมืองให้เรียบร้อยได้
ผู้ว่าฯแอ๊กซเทลล์ เชื่อ และทำตามคำยุยงของเคทรอนอย่างง่ายดาย
ออกคำสั่งทันที โยกย้าย จอห์น โค้ปแลนด์ นายตำรวจผู้ที่ชาวบ้านทั่วไปต่างยอมรับในความซื่อสัตย์สุจริต ออกจากตำแหน่ง
แล้วแต่งตั้ง จ๊อร์จ เป๊ปปิน เด็กของเมอร์ฟี่กับโดลัน ผู้เคยตามล้างตามเช็ดกับบิลลี่มาตลอด ก่อนที่กิจการของเมอร์ฟี่กับโดลันจะล้มละลาย กลับเข้ามาเป็นเชอร์ริฟอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1878
เป๊ปปินไม่รอช้า ที่จะเตรียมตัวจัดการกับศัตรูคู่อาฆาตเก่าของตน หลังจากล้มเหลวมาหลายครั้ง
เร่งระดมนักเลงและมือปืนจำนวนมากมายเข้ามาไว้ในสังกัดเพื่อเตรียมเปิดศึกใหญ่
ไม่สนใจว่า หลายคนเป็นโจร ที่เคยปล้นฆ่าชาวบ้านมาแต่ก่อน บัดนี้กลายเป็นเจ้าหน้าที่ไปแล้ว ก็ยิ่งได้ใจ สามารถข่มเหงรังแกย่ำยีชาวบ้านอย่างสะดวก และหนักขึ้นยิ่งกว่าเก่า
คำร้องทุกข์ของชาวบ้าน ไม่เคยได้รับการเหลียวแล หรือดำเนินการแก้ไขแต่อย่างใด
ภารกิจของการเข้ารับตำแหน่งนี้อีกครั้ง มีเพียงอย่างเดียว คือ อาศัยอำนาจในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ เอา บิลลี่ เดอะ คิด กับพรรคพวกผู้กำกับฯที่ยังเหลืออยู่ ลงหลุมให้หมด
การเผชิญหน้าครั้งแตกหัก เกิดขึ้นในเมืองลินคอล์น เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ.1878
บิลลี่และพรรคพวก เข้ายึดที่มั่นอยู่ในบ้านของ อเล็กซานเดอร์ แม็คสวีน มีเพื่อนคาวบอยชาวแม็กซิกันกลุ่มใหญ่ ผู้เห็นใจและสนับสนุนบิลลี่อีกนับสิบๆคน เข้าช่วยคุมเชิงในอีกตึกหนึ่ง ใกล้ๆร้านค้าเดิมของทันสตอลล์ ซึ่งบัดนี้แม็คสวีนเป็นผู้ดูแลบริหาร
เป๊ปปินวางแผนเผด็จศึกเอาไว้อย่างรอบคอบ และเพื่อให้แน่ใจว่า อำนาจการยิงของฝ่ายตนจะต้องไม่เป็นรองฝ่ายของบิลลี่ จึงติดต่อ พันเอก เอ็น. เอ. เอ็ม. ดั๊ดลี่ย์ (Colonel N. A. M. Dudley) ผู้บังคับการคนใหม่ของกองพันทหารม้าที่ 9 ซึ่งตั้งอยู่ที่ค่ายสแตนตั้น (Fort Stanton) นอกเมืองลินคอล์น ขอกำลังทหารมาช่วย “ปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ” ในเมืองด้วยอีกชั้นหนึ่ง
เตรียมปิดล้อมบิลลี่และพรรคพวก ไว้ในที่มั่นให้แน่นหนา ไม่ให้เล็ดรอดหนี หรือส่งกำลังบำรุงจากภายนอกได้
ก่อนหน้านั้นไม่นาน กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เพิ่งออกคำสั่งห้ามฝ่ายทหารเข้าไปยุ่งเกี่ยว ในกิจการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อยของฝ่ายพลเรือน
แต่สงสัยผู้การดั๊ดลี่ย์ คงจะเป็นเป็นนายทหารคุมกำลังประเภทเกลียดคอมมิวนิสต์ขึ้นใจ เมื่อฟังเป๊ปปินบรรยายเรื่องราวของบิลลี่กับพวกแล้ว ก็รีบเห็นพ้องด้วยทันทีว่า ทหารจะต้องรีบเคลื่อนกำลังเข้าไปในเมือง พร้อมอาวุธหนักโดยด่วน เพื่อช่วยฝ่ายตำรวจควบคุมสถานการณ์
และรักษาบ้านเมืองให้ปลอดภัยจากผู้ไม่หวังดี ที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติให้มาล้มล้างรัฐบาล (อะไรๆแบบนี้นั่นแหละครับ)
บิลลี่ และบรรดาพรรคพวกที่ชุมนุมกันอยู่ในบ้านของแม็คสวีน จึงต้องประหลาดใจ เมื่อเห็นดั๊ดลี่ย์นำกองทหารเคลื่อนทัพเข้ามาในเมือง พร้อมอาวุธประจำกายครบมือ แถมด้วยปืนกลแก๊ทลิ่ง (Gatling) และปืนใหญ่ตามมาเป็นขบวน
ทั้งหมดได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเป๊ปปิน พร้อมด้วยโดลัน ผู้ซึ่งต้องการมาดูจุดจบของบิลลี่ให้เห็นกับตา
ขาดแต่เมอร์ฟี่ ซึ่งบัดนี้ป่วยหนัก ไม่สามารถหามมาได้
ภาพถ่ายจากมุมสูงของเมืองลินคอล์นในปัจจุบัน กล่าวกันว่าไม่ได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปจากยุคก่อนเท่าใดนัก |
เพื่อไม่ให้เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของกระทรวงกลาโหม ดั๊ดลี่ย์จึงประกาศกับชาวเมืองว่า กองทหารของตนไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือฝ่ายตำรวจหรือฝ่ายใดๆทั้งสิ้น ต้องการจะมา “สังเกตการณ์” เพียงเท่านั้น
แต่หากถูกโจมตี หรือประทุษร้ายก่อนละก็ ทหารมีสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญเต็มที่ในการป้องกันตัวเอง
ว่าแล้ว ก็สั่งการวางกำลังไว้บนถนน ในตำแหน่งที่เป็นเกราะกำบังอย่างดีให้กับพวกของเป๊ปปิน โดยไม่ลืมที่จะหันปากปืนกลแก๊ตลิ่งและปืนใหญ่ทุกกระบอก ไปทางบ้านของแม็คสวีน
หลังจากคุมเชิงกันอยู่ โดยยังไม่มีอะไรคืบหน้า ฝ่ายคาวบอยแม็กซิกันก็ถอนกำลังออกไปก่อน เนื่องจากบิลลี่เห็นว่า ไม่เป็นประโยชน์ที่จะคงกำลังไว้ แต่ไม่สามารถยิงสนับสนุน โดยไม่ถูกตอบโต้จากทหาร
และคาดหวังว่า ทหารคงจะเป็นกลางพอที่จะพูดกันได้ หากตนสามารถแสดงความจริงใจให้เห็นว่า ไม่ได้เตรียมตัวมาจะใช้กำลัง
ฝ่ายของเป๊ปปิน เห็นพวกแม็กซิกันถอนตัวไป ก็รีบฉวยโอกาส ยิงเข้าใส่ฝ่ายของบิลลี่ที่ยังเหลืออยู่ประมาณแค่ 10 คนในบ้านของแม็คสวีน
พอฝ่ายของบิลลี่ยิงตอบโต้ให้บ้าง ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ลูกปืนจะต้องวิ่งฝ่าแนวทหารเข้าไป ผู้การดั๊ดลี่ย์ก็รีบฉวยโอกาสตามบ้าง ประกาศว่า นี่เป็นการโจมตี
แล้วสั่งลูกน้อง ให้ยิงตอบโต้บิลลี่ ช่วยฝ่ายของเป๊ปปินอีกแรงหนึ่งทันที
พันเอก เอ็น.เอ.เอ็ม. ดั๊ดลี่ย์ นำทหารพร้อมอาวุธหนัก เข้าปราบปราม บิลลี่ เดอะ คิด และถล่มบ้านของแม็คสวีน |
การรบเริ่มดุเดือด โดยฝ่ายของบิลลี่กลายเป็นเสียเปรียบ ต้องตั้งรับอยู่ในที่มั่น แต่ยังไม่มีท่าทีว่าจะยอมแพ้
ระหว่างการปิดล้อมและโจมตีนี้ ก็มีวีรสตรีเกิดขึ้นทางฝั่งของบิลลี่ คือ ซูซาน แม็คสวีน ภรรยาของ อเล็กซานเดอร์ แม็คสวีน เจ้าของบ้าน
นางได้ขอเจรจาสงบศึก ผ่านดั๊ดลี่ย์ถึงสองครั้งสองหน
พยายามอธิบายข้อเท็จจริงให้ทราบว่า ฝ่ายของเป๊ปปิน รวมไปถึงเมอร์ฟี่กับโดลันนั้น มีประวัติไม่สุจริตอย่างไร เคยก่อความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านไว้ขนาดไหน
และยื่นข้อเสนออย่างเด็ดเดี่ยว ขอให้ฝ่ายทหารเลิกให้การสนับสนุนเป๊ปปิน พร้อมแจ้งจับเป๊ปปินในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ดั๊ดลี่ย์ไม่เคยสนใจฟังคำอธิบาย และคำร้องของนางแม็คสวีน กลับยื่นคำขาด ให้กลับไปบอกทุกคนในบ้าน ให้ทิ้งอาวุธมอบตัว
หรือมิฉนั้น นางควรจะรีบพาตัวเองและเด็กออกจากบ้านไปโดยเร็วที่สุด
เพื่อจะได้ไม่ต้องรับเคราะห์ หากทางการตัดสินใจว่า จะต้องจับตายผู้ต่อต้านทุกคน
การปิดล้อมและยิงต่อสู้กันดำเนินต่อไป ย่างเข้าวันที่ห้าเวลาพลบค่ำ ทหารของดั๊ดลี่ย์ก็กระจายกำลังเข้าล้อมตัวบ้าน ขณะที่สมุนของเป๊ปปิน พยายามบุกเข้าประชิดตัวบ้านจะวางเพลิง
หลายคนถูกฝ่ายของบิลลี่ยิงสกัดตอบโต้ จนล่าถอยหรือล้มคว่ำไป
อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งสามารถฝ่าดงกระสุน หลบหลีกเข้าจุดไฟสุมขึ้น ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของตัวบ้านได้จนสำเร็จ
เพลิงเริ่มไหม้ลุกลามไปรอบๆตัวบ้าน บิลลี่และพรรคพวกทุกคน จำเป็นต้องรีบวางแผนการหนีโดยเร็ว ก่อนจะถูกไฟคลอกตายกันหมด
ซูซาน แม็คสวีน พาลูกๆ 2 คนออกมาได้อย่างปลอดภัย เป๊ปปินสั่งให้ลูกน้องเข้าล้อมรอบตัวบ้านไว้ให้แน่นหนา เพื่อเตรียมจัดการขั้นเด็ดขาดกับพวกที่เหลือ
ซุซาน แม็คสวีน ภรรยาของ อเล็กซานเดอร์ แม็คสวีน ผู้พยายามเกลี้ยกล่อมให้ ฝ่ายทหารวางตัวเป็นกลาง แต่ไม่สำเร็จ |
พอไฟเริ่มไหม้ทั่วทั้งบ้าน บิลลี่ก็นำพรรคพวก และ อเล็กซานเดอร์ แม็คสวีน ลุยออกทางหลังบ้าน พร้อมอาวุธคู่ใจ ก้มตัวลงต่ำ รีบวิ่งไปยังประตูหลังของคอกม้าที่อยู่ถัดออกไป
อาศัยควันไฟซึ่งขณะนี้ก่อตัวหนาทึบ เป็นม่านกำบังอย่างดี
เป๊ปปิน ซึ่งยืนควบคุมสถานการณ์คู่กับดั๊ดลี่ย์อยู่ทางหน้าบ้าน มองเข้าไปไม่เห็นอะไรเลย นอกจากเปลวไฟที่กำลังลุกโชนและหมอกควัน
ได้ยินแต่เสียงปืน ดังมาจากทางหลังบ้าน 3-4นัด กับเสียงลูกน้องของตัว ตะโกนบอกต่อกันว่า “เร็ว! มันออกมาแล้ว” ก่อนเสียงร้อง “โอ๊ย!” ตามด้วยเสียงปืนอีกหลายนัด สลับกับเสียงโอ๊ยอีกหลายโอ๊ย จนไม่รู้ใครเป็นใคร
จึงบอกกับดั๊ดลี่ย์ว่า ต้องรีบหน่อยแล้วหละ ไม่งั้นพวกมันหนีเข้าป่า หายไปในความมืดกันได้หมดแน่
ดั๊ดลีย์สั่งการ ให้พลปืนแก๊ตลิ่งระดมยิงแบบปูพรม เข้าใส่บ้านที่กำลังลุกเป็นไฟทันที
และเพื่อช่วยดับไฟที่กำลังโหมหนัก และกำจัดควันทึบให้หายไปได้อย่างรวดเร็ว ก็สั่งให้ปืนใหญ่ร่วมยิงถล่มบ้านให้ราบเป็นหน้ากลองลงเดี๋ยวนั้น
เสียงปืนกลและปืนใหญ่คำรามสนั่นหวั่นไหว เหมือนเกิดสงครามใหญ่
ภาพเขียนจำลองเหตุการณ์ขณะ บิลลี่ เดอะ คิด กับพรรคพวก ฝ่าวงล้อมหนีออกทางหลังบ้านของ แม็คสวีน หลังจากไฟไหม้ก่อนจะถูกถล่มด้วยอาวุธหนัก |
สิ้นเสียงปืน ควันไฟเริ่มจางลง เป๊ปปินพบศพของ อเล็กซานเดอร์ แม็คสวีน กับนักศึกษากฎหมายฝึกงาน ซึ่งเผอิญติดอยู่ในบ้านด้วยอีกคนหนึ่ง และผู้ช่วยชาวแม็กซิกันอีกคนหนึ่ง ถูกยิงตายเสียก่อนจะไปได้ถึงคอกม้า กับลูกน้องของตัวอีก 4-5 ศพ
แต่ไม่พบศพบิลลี่ หรือใครคนใดอื่นอีก
ลูกสมุนของเป๊ปปินที่ยังเหลือ ซึ่งส่วนใหญ่อดตาหลับขับตานอน ปิดล้อมอยู่หลายวันหลายคืน ต่างไชโยโห่ร้องอย่างบ้าคลั่ง มีการกินเหล้าฉลองชัยชนะ ทั้งๆที่ยังไม่ได้ตัวบิลลี่ (คงดีกว่าอยู่เปล่าๆ)
พอเมาได้ที่ ก็พากันบุกเข้าไปในร้านค้าของแม็คสวีนที่อยู่ข้างๆ หยิบฉวยเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า มาเป็นของตน
อเล็กซานเดอร์ แม็คสวีน ต้องเสียชีวิต จากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหาร เข้าปิดล้อมทำลายบ้าน ของตนในเมืองลินคอล์น เพื่อจับตัว บิลลี่ เดอะ คิด และพรรคพวก |
บิลลี่เป็นผู้เดียว ที่รอดออกมาได้โดยไม่ถูกยิงสักนัด เพื่อนๆที่เหลือ ต่างได้มากันคนละแผลสองแผล
ตามแผนการหนีแล้ว ทุกคนตัดสินใจที่จะไม่ไปด้วยกัน เพราะเห็นแล้วว่า ขืนรวมกันอาจจะตายหมู่มากกว่าเราอยู่ (แต่คงไม่เชื่อว่าทิ้งกูมึงตาย)
จึงแยกย้ายกัน หนีเข้าป่าไปคนละทาง เพื่อให้ผู้ตามล่าสับสน และไม่ให้ผู้ที่รอดจากการถูกยิงบาดเจ็บ ต้องพะวงหลังคอยช่วยคนอื่น อันจะทำให้ถูกตามจับได้ง่าย
โดยนัดแนะกันไว้ว่า หากเอาตัวรอดไปได้ ให้ไปเจอกันอีกที ที่จุดนัดพบในป่าริมฝั่งแม่น้ำโบนิโต้ (Bonito River) นอกเมือง
เมื่อรวบรวมกำลังผู้รอดชีวิตกันได้ครบแล้ว บิลลี่ก็นำพรรคพวกเร่งเดินทาง มุ่งหน้าไปยังเมือง ฟอร์ท ซัมเนอร์ (Fort Sumner) ห่างจากเมืองลินคอล์นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 160 กิโลเมตร
พ้นจากการติดตามไล่ล่าของเป๊ปปินและดั๊ดลี่ย์
ทีนี่ มีแต่ชาวบ้านชาวเมืองผู้รักใคร่ห่วงใย คอยให้ข้าวให้น้ำตน รวมทั้งมีงานการให้ทำ สามารถหารายได้เลี้ยงตนเองให้เป็นเรื่องเป็นราวด้วย
ทุกคนมีเวลาพักฟื้นและพักผ่อน หลังจากกรำศึกหนักติดต่อกันมาหลายวัน
เหตุการณ์ปิดล้อม และถล่มบ้านของแม็คสวีนที่เมืองลินคอล์นโดยเชอร์ริฟเป๊ปปิน ด้วยการสนับสนุนจากฝ่ายทหาร รวมทั้งบทบาทของบุคคลสำคัญผู้เกี่ยวข้องทุกคน อยู่ในสายตาของ แฟร้งค์ วอร์เน่อร์ แองเจล สายลับของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ทางวอชิงตันส่งมาสืบสวนเหตุการณ์ความไม่สงบในมณฑลลินคอล์น โดยตลอด
หลังจากบันทึกรายละเอียด และตามสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องในเมืองลินคอล์น จนได้หลักฐานครบแล้ว สายลับแองเจลก็รีบเดินทางไปยังเมือง ฟอร์ท ซัมเนอร์ ทันที เมื่อสืบทราบว่า บิลลี่กับพลพรรคกบดานอยู่ที่นั่น
บิลลี่จำแองเจิลได้ ตั้งแต่ครั้งมาสัมภาษณ์ตนและแม็คสวีน เรื่องการตายของทันสตอลล์ เมื่อหลายเดือนก่อน จึงให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
แองเจลรวบรวมคำให้การ ทั้งจากปากของบิลลี่เอง และพรรคพวกที่ยังเหลืออยู่ทุกคนได้มากมาย พร้อมกับศึกษานิสัยใจคอของบิลลี่ไปพร้อมๆกัน
ย่างเข้าเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1878 สายลับแองเจลรวบรวมบันทึกคำให้การจากทุกฝ่าย เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 แสนคำ พร้อมหลักฐานประกอบ จัดเป็นหมวดหมู่อย่างเรียบร้อย มีลำดับเหตุการณ์ และรายชื่อผู้คนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
เดินทางออกจากนิวเม็กซิโก กลับไปยังสำนักงานที่นครนิวยอร์ค เพื่อเตรียมทำรายงานสรุปข้อเท็จจริง เรื่องการฆาตกรรมทันสตอลล์ และขบวนการการคอร์รัปชั่นที่พบเห็นในนิวเม็กซิโก พร้อมความเห็นเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่กรุงวอชิงตัน
ขั้นตอนแรกก่อนการสรุปรายงานคือ เรียบเรียงข้อกล่าวหา เรื่องการทุจริตและไม่โปร่งใสในการบริหารราชการ จำนวน 31 ข้อ จากคำให้การและหลักฐานที่รวบรวมมาได้ ยื่นเป็นกระทู้ส่งถึงผู้ว่าการเขตปกครองเขตนิวเม็กซิโก แซมมวล บี. แอ๊กซเทลล์
ขอให้ชี้แจงตอบกลับมาภายใน 30 วัน
หนึ่งในข้อกล่าวหาระบุว่า ผู้ว่าฯรับสินบนเป็นเงิน 2 พันเหรียญ หรือประมาณเกือบ 9 หมื่นบาท (ยุคนั้น ปืนโค้ลท์ซิงเกิ้ลแอ๊คชั่นอาร์มี่ใหม่เอี่ยม ราคากระบอกละ 15 เหรียญ หรือ 600 กว่าบาทเท่านั้นเองครับ ท่านที่ไปเดินร้านปืนย่านหลังวังฯบ่อยๆ คงทราบแล้วว่า เดี๋ยวนี้กระบอกละเป็นแสน)
ยังแสดงความไม่พอใจ และเรียกร้องให้เปิดเผยรายชื่อผู้กล่าวหาหรือให้การซัดทอดมายังตนทุกคน
แค่นั้นไม่พอ ประท้วงด้วยว่า ทำไมต้องมาขีดเส้นตายคำชี้แจงกันแค่ 30 วัน
แองเจลทำหนังสือตอบไปว่า ข้อกล่าวหาทั้งหมด มาจากบุคคลที่มีตัวตนจริง ไม่น้อยกว่า 30 คน ทุกคนลงลายมือชื่อรับรองบันทึกคำให้การไว้ครบถ้วน
แต่หากบอกรายชื่อไป ก็จะเป็นอันตรายต่อบุคคลเหล่านั้น
และหากผมเป็นท่านละก็ ถูกกล่าวหากันขนาดนี้ ผมจะไม่รอแม้แต่ 24 ชั่วโมงเพื่อจะขอชี้แจง
ไม่มีคำตอบอะไรจากผู้ว่าฯแอ๊กซเทลล์อีก
แองเจลจึงสรุปรายงาน และเสนอความเห็นต่อนาย คาร์ล ชู้ร์ซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่า
ผู้ว่าฯแอ๊กซเทลล์ มีพฤติกรรมเอนเอียง ที่จะสนับสนุน และเอื้ออำนวยประโยชน์แก่กลุ่มธุรกิจเฉพาะกลุ่ม โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์สุขส่วนรวมของประชาชน
ใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ อย่างไม่เป็นธรรมและไม่รอบคอบ ปล่อยให้ผู้ที่มีประวัติเป็นอาชญากรเข้ามาทำหน้าที่รักษากฎหมาย
แถมยังขัดขวางกระบวนการยุติธรรม เป็นเหตุให้มีการละเมิดกฎหมายอย่างรุนแรง จนนำไปสู่ฆาตกรรม และการตามล้างแค้นกันไม่สิ้นสุด
บ้านเมืองลุกเป็นไฟ โจรผู้ร้ายพากันข่มเหงราษฎรได้ตามอำเภอใจ
ถือเป็นการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง หากไม่ได้เป็นเพราะตัวเองทุจริตคอร์รัปชั่น ก็ต้องเป็นเพราะอ่อนแอไร้ความสามารถ (ยังไงๆก็ไม่ใช่บกพร่องโดยสุจริต)
สมควรถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง
ทางฝ่ายขั้วอำนาจเก่านั้น ไม่ยอมนิ่งเฉยในเรื่องนี้
ผู้ว่าฯแอ๊กซเทลล์หารือกับ ทอม เคทรอน อย่างเคร่งเครียด ก่อนส่ง พันเอก วิลเลียม ไรเนอร์สัน (Colonel William Rynerson) อธิบดีอัยการเขต 3 ของนิวเม็กซิโก เดินทางไปพบแองเจลที่นิวยอร์ค เพื่อขอตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อกล่าวหา
แต่เองเจลไม่ยอมให้ตรวจสอบ อ้างว่า ทุกอย่างถูกส่งไปให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหมดแล้ว
ไรเนอร์สันจึงเดินทางต่อไปยังกรุงวอชิงตัน เพื่อขอเคลียร์กับรัฐมนตรีชู้ร์ซ และพยายามติดต่อล็อบบี้นักการเมืองคนอื่นๆที่ตนรู้จัก สร้างแรงกดดันทางการเมืองทุกวิถีทาง ให้ช่วยปกป้องแอ๊กซเทลล์
พร้อมๆกันนั้น ก็มีการล่ารายชื่อประชาชนชาวนิวเม็กซิโกได้หลายร้อยคน ส่งมาถึงกระทรวงมหาดไทย
ยืนยันว่า ผู้ว่าฯแอ๊กซเทลล์ เป็นคนดีที่หนึ่งเลย เป็นที่รักใคร่ของประชาชนยิ่งกว่าใคร (อะไรทำนองนั้น)
รัฐมนตรีชู้ร์ซอ่านรายงานของแองเจลโดยละเอียดแล้ว พอได้พบกับไรเนอร์สัน และรับทราบความเคลื่อนไหวอื่นๆที่ตามมา ก็นำเรื่องทั้งหมดเข้ารายงานกับประธานาธิบดี รุเธอร์ฟอร์ด เฮยส์
เสนอว่า หากต้องการแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยในเขตปกครองนิวเม็กซิโกนี้ให้สำเร็จ สมควรทำตามคำแนะนำของแองเจล
ให้ถอดถอนผู้ว่าฯแอ๊กซเทลล์ออกจากตำแหน่งเสีย แล้วส่งนักปกครองผู้มีคุณธรรมและความสามารถ เข้าไปทำหน้าที่แทน
ประธานาธิบดีเฮยส์เห็นชอบตามข้อเสนอ ออกคำสั่งพักราชการผู้ว่าฯแอ๊กซเทลล์เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ.1878 และตัดสินใจเลือก พลเอก ลิว วอลเลซ (General Lew Wallace) อดีตแม่ทัพคนสำคัญในการเอาชนะสงครามกลางเมืองกับฝ่ายใต้ และผู้สนับสนุนทางการเมืองของตนมาโดยตลอด เข้ารับหน้าที่นี้
นายพลวอลเลซ มีพื้นเพมาจากรัฐแม้สซาจูเซ็ตส์ อันเป็นถิ่นของพวกเศรษฐีมีตระกูล (อย่างตระกูลเคนเนดี้ไงครับ มาจากรัฐนี้เหมือนกัน)
เมื่อครั้งที่ตนช่วยดำเนินงานทางการเมืองสนับสนุน จนประธานาธิบดีเฮยส์ได้รับเลือกตั้งนั้น เคยแจ้งความจำนงไว้ว่า อยากจะไปเป็นเอกอัครราชทูต อยู่ที่ประเทศอิตาลี หรือสเปน หรือบราซิล หรือไม่ก็เม็กซิโก
และใช้เวลาว่างในช่วงนี้ เริ่มแต่งวรรณกรรม เกี่ยวกับการกำเนิดและพลังแห่งศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ขึ้นเรื่องหนึ่ง ตั้งชื่อว่า เบ็น เฮอร์ (Ben Hur)
คอหนังเก่า คงจำได้นะครับว่า ถูกสร้างเป็นหนังใหญ่ขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1959 นำแสดงโดย ชาร์ลตัน เฮสตั้น มีฉากการรบทางทะเลสมัยโรมัน และการแข่งรถเทียมม้า 4 ตัว ที่ตื่นเต้นอลังการมาก
พอถูกทาบทาม ให้ไปเป็นผู้ว่าการเขตปกครองนิวเม็กซิโก อันเป็นดินแดนคาวบอยตะวันตก ห่างไกลความเจริญและไร้ซึ่งอารยธรรม
จัดอยู่ในจำพวกบ้านป่าเมืองเถื่อนระดับแนวหน้า แทนที่จะได้เป็นท่านทูตในประเทศที่เจริญแล้ว อยู่ในวงสังคมชั้นสูง แวดล้อมไปด้วยผู้คนสิ่งของและพิธีการสวยๆงามๆ
วอลเลซก็ไม่ค่อยรู้สึกประทับใจนัก
จนกระทั่งประธานาธิบดีต้องหว่านล้อมว่า ถึงจะเป็นเพียงตำแหน่งราชการระดับภูมิภาค กลางท้องที่ทุรกันดาร แต่ในอนาคต ก็มีโอกาสยกฐานะขึ้นเป็นมลรัฐ สามารถใช้เป็นประตูไปสู่การเมืองระดับชาติ
ลงสมัครเป็น ส.ว. หรือวุฒิสมาชิกได้สบายๆ ง่ายกว่าไปเป็นทูตอยู่ต่างประเทศมากมายนัก
วอลเลซจึงได้ยอมตกลง (ขึ้นต้นแบบนี้ ท่าทางประชาชนจะฝากผีฝากไข้ด้วยลำบากเสียแล้ว)
ถึงกระนั้น วอลเลซก็เตรียมทำการบ้านไว้ก่อนตามสมควร เริ่มจากการอ่านรายงานของแองเจลอย่างละเอียด ก่อนพบปะพูดคุยซักถามในประเด็นต่างๆ
ซึ่งแองเจลได้แจ้งกับวอลเลซว่า ตามความเห็นของตนแล้ว กลุ่มของแม็คสวีน อันหมายรวมถึง บิลลี่ เดอะ คิด และอดีตคณะผู้กำกับดูแล ที่ยังเหลือรอดชีวิตอยู่ เป็นผู้ที่สามารถเชื่อถือไว้วางใจได้มากกว่าเพื่อน
ถึงแม้จะได้กระทำการหลายๆอย่างที่ถือว่าผิดกฎหมาย ไปไม่น้อยกว่าฝ่ายอื่นๆก็ตาม
วอลเลซยังได้ปรึกษาหารือกับรัฐมนตรีกลาโหมไว้ก่อน ถึงความจำเป็น ที่อาจจะต้องขอให้ทางทหารส่งกำลังเข้าช่วยรักษาความสงบอย่างจริงจัง หากฝ่ายตำรวจไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้
กับขอให้ประธานาธิบดีเตรียมออกคำสั่ง ให้ทุกฝ่ายที่ยังต่อสู้กันอยู่ หยุดยิงทันที และกลับเข้าประจำที่มั่นของตนอย่างสงบด้วย
และที่เป็นประเด็นใหญ่ที่สุด จนต้องนำเข้าพิจารณา ในการประชุมคณะรัฐมนตรีก็คือ
วอลเลซขออำนาจเบ็ดเสร็จ แบบผู้ว่าซีอีโอ ที่จะนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่เคยกระทำความผิด และสั่งปรับ หรือแม้แต่ริบทรัพย์ทุกคนในนิวเม็กซิโกได้ โดยไม่ต้องผ่านระเบียบหรือขั้นตอนใดๆ
ซึ่งในที่สุด คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบ
ผู้ว่าฯคนใหม่ เดินทางมาถึงทำเนียบที่เมืองซานตาเฟ่ ในปลายเดือนกันยายน ค.ศ. 1878 โดยไม่มีพิธีการใดๆ หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนไหนมาต้อนรับ
และเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เมื่อเวลาบ่าย 3 โมง 15 นาที ของวันที่ 30 ตามเวลาท้องถิ่น
ในระหว่างที่ฝ่ายการเมือง กำลังดำเนินการเพื่อผลัดแผ่นดินกันอยู่นี้ บิลลี่ยังคงกบดานอยู่ที่เมือง ฟอร์ท ซัมเนอร์ กับเพื่อนๆ ที่ตีฝ่าวงล้อมและรอดชีวิตมาได้ หลังจากการรบครั้งใหญ่กับเป๊ปปินและดั๊ดลี่ย์ ที่เมืองลินคอล์น
ชีวิตในเมือง ฟอร์ท ซัมเนอร์ ซึ่งแปรสภาพจากอดีตค่ายทหาร มาเป็นชุมชนเกษตรกรรมของชาวบ้านเชื้อสายแม็กซิกัน มีแต่ความเรียบง่ายและสงบสุข
ไม่มีการเมืองเรื่องผลประโยชน์ ไม่มีการแย่งชิงทรัพยากรหรือทรัพย์สมบัติ ไม่มีการใช้ความรุนแรง
ทุกคนซึ่งต่างยังอยู่ในวัยรุ่น มีความรู้สึกเหมือนได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง สามารถสนุกสนาน หัวหกก้นขวิดกันได้ทุกวันหลังเลิกงาน แถมยังมีสาวๆให้ไล่ตามจีบมากมาย
และในช่วงนี้เอง ที่บิลลี่ได้รู้จักมักคุ้น และถูกอัธยาศัยกับ แพ็ท การ์เร็ตต์ สุภาพบุรุษชาวใต้จากอลาบามา ผู้หันเหชีวิตมาเป็นโคบาล และพรานล่าควายในเท็กซัส แล้วย้ายเข้ามาเปิดร้านเหล้าเล็กๆขึ้นที่นี่
แพ็ทอายุมากกว่าบิลลี่ตั้ง 10 ปี และเป็นคนรูปร่างสูงเก้งก้างถึง 190 ซ.ม. ขณะที่บิลลี่สูงเพียง 170 ซ.ม.
แต่ทั้งคู่ก็คบหาสมาคม ตั้งวงเล่นไพ่ด้วยกันเป็นประจำ จนเพื่อนๆของบิลลี่ตั้งฉายาให้ว่า บ่อนใหญ่ กับ บ่อนเล็ก
มาถึงเวลานี้ เพื่อนๆอดีตผู้คุมกฎหลายคน เริ่มจะเบื่อหน่ายกับการต่อสู้ด้วยกำลัง อย่างยืดเยื้อกับฝ่ายอำนาจรัฐ โดยยังไม่เห็นว่าจะได้ชัยชนะมาอย่างไร
พร้อมๆกัน ข่าวการมาของผู้ว่าฯคนใหม่ และข่าวว่า จะมีการนิรโทษกรรมกันในเร็วๆนี้ ทำให้หลายคนคิดอยากจะออกจากป่าวางอาวุธ กลับไปใช้ชีวิตสามัญชน ทำมาหากินตามปกติได้เหมือนกับคนอื่นๆ
บิลลี่ นอกจากไม่สนใจ ยังให้ข้อคิดกับเพื่อนๆว่า นักการเมืองคนหนึ่งออกไป นักการเมืองคนใหม่เข้ามา ก็แค่นั้นเอง
อย่างอื่นเหมือนเดิมหมด ไม่มีอะไรเปลี่ยน
จงอย่าเพิ่งหวังว่า ออกไปมอบตัวแล้ว ชีวิตจะดีขึ้น หรือคาดฝันลมๆแล้งๆว่า จะมีการปฏิรูปทางการเมืองกันจริงๆจังๆ
หรือจะหมดยุคธุรกิจการเมือง ที่ใช้อำนาจรัฐกอบโกยผลประโยชน์ให้กับพรรคพวก ปล่อยให้มีการเอาเปรียบข่มเหงชาวบ้าน อย่างที่เคยเป็นมากันง่ายๆเลย
ไม่เชื่อลองไปดูประเทศนึง แถวๆเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ขยันเปลี่ยนรัฐธรรมนูญมาแล้วไม่รู้กี่สิบฉบับเป็นตัวอย่างก็ได้ (อะไรทำนองนี้)
มีผู้มาขอเข้าพบผู้ว่าฯคนใหม่กันหลายคน หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ ซูซาน แม็คสวีน ภรรยาหม้ายของ อเล็กซานเดอร์ แม็คสวีน ผู้เสียชีวิตจากการถูกปิดล้อมและถล่มบ้าน โดยเป๊ปปินและทหาร ร้องเรียนเรื่องการคอร์รัปชั่นในมณฑลลินคอล์น และการที่สามีของตนถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม จากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองผู้ไม่สุจริต
นางแม็คสวีน ได้ทนายความหนุ่มหัวก้าวหน้าชื่อ ฮิวสตัน เจ. แช็ปแมน (Houston J. Chapman) ผู้เคยทำงานอยู่กับสามีของนาง มาช่วยเหลือ ทำหนังสือฟ้องร้องกล่าวโทษโดลันและเคทรอน กับบรรดาผู้มีอิทธิพลที่เมืองซานตาเฟ่
และระบุด้วยว่า ดั๊ดลี่ย์เป็นตัวการสำคัญ ที่ทำให้ อเล็กซานเดอร์ แม็คสวีน ต้องถึงแก่ชีวิต
หนังสือฟ้องร้อง ถูกยื่นผ่านผู้ว่าฯวอลเลซ ไปยังกระทรวงมหาดไทย
เรื่องถูกส่งต่อ ไปยังกระทรวงกลาโหม ลงไปตามสายบังคับบัญชาถึง พลเอก เอ็ดเวิร์ด แฮ็ทช์ (General Edward Hatch) ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกมิสซูรี่ อันเป็นหน่วยเหนือ ที่ดั๊ดลี่ย์ขึ้นตรงอยู่
แต่แล้ว สิ่งที่พลเอกแฮ็ทช์ดำเนินการต่อก็คือ ส่งหนังสือฟ้องร้องของทนายแช็ปแมนนี้ทั้งดุ้น ไปให้ดั๊ดลี่ย์อ่าน โดยไม่มีการปิดบังชื่อผู้กล่าวโทษแต่อย่างใด
ข่าวตัดจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของนิวเม็กซิโก รายงานว่า ทนายแช็ปแมนเตรียมตัวเดินทาง ไปพบรัฐมนตรีกลาโหมที่กรุงวอชิงตัน เพื่อกล่าวโทษนายพันเอกดั๊ดลี่ย์ด้วยตนเอง |
แน่นอนครับว่างานนี้ ดั๊ดลี่ย์จอมโหด ผู้ยึดมั่นในนโยบายขวาพิฆาตซ้าย และเป็นฝ่ายเดียวแนบแน่นกันกับโดลัน จะต้องไม่ยอมให้ทนายความหนุ่มหัวก้าวหน้า ผู้ต้องการเห็นความยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคมรายนี้ มีอนาคตที่ดีแน่
หลังจากประธานาธิบดีเฮยส์ออกคำสั่ง ให้ทุกฝ่ายวางอาวุธ และกลับเข้าสู่ที่ตั้งเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1878 ตามด้วยการประกาศนิรโทษกรรม โดยผู้ว่าฯวอลเลซในเดือนถัดมา
เคทรอนก็ส่งนายหน้า มาทาบทามเชื้อเชิญบิลลี่ ให้เดินทางมาเจรจาสงบศึกกับโดลันที่เมืองลินคอล์น
คำสั่งของประธานาธิบดี รุเธอร์ฟอร์ด เฮยส์ ลงวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ.1878 ให้ทุกฝ่ายในนิวเม็กซิโก ที่กำลังต่อสู้กัน วางอาวุธและกลับเข้าสู่ที่ตั้ง อย่างสงบ ภายในเที่ยงวันของวันที่ 13 ตุลาคม |
บิลลี่ตอบตกลง ทั้ง 2 ฝ่ายพบกันเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1879
ตัวแทนในการเจรจาฝ่ายของโดลันมีหลายคน ส่วนใหญ่เป็นพวกมือปืนที่ยังเหลือจงรักภักดีอยู่ ซึ่งในใจลึกๆแล้ว ก็ยังอยากจะเก็บบิลลี่เสียมากกว่าจะเจรจา เพียงแต่ยังเกรงใจโดลันผู้เป็นเจ้านาย
ฝ่ายบิลลี่ ส่งตัวแทนเจรจามาเพียง 2 คน คือตัวเองกับเพื่อนสนิท ชื่อ ทอม โอฟอลเลียร์ด (Tom O’Folliard)
ผู้ซึ่งจะกลายเป็นคู่หู และมีบทบาทสำคัญเคียงข้างกับบิลลี่ ในกาลต่อไป
ทั้งคู่ขี่ม้าเข้ามาในเมือง มุ่งไปยังซาลูนอันเป็นที่นัดหมาย ท่ามกลางความสนอกสนใจของสื่อมวลชน ระคนกับความประหวั่นพรั่นพรึงของชาวเมืองลินคอล์น ว่าจะเกิดเรื่องใหญ่ขึ้นอีก
การเจรจายุติลงในตอนค่ำโดยไม่มีท่าทีว่าว่าจะเกิดเหตุรุนแรงอะไร อย่างที่พลอยกังวล
ชาวบ้านพากันถอนหายใจโล่งอก เมื่อเห็นทั้ง 2 ฝ่ายร่วมชนแก้วเหล้าดื่มฉลองสันติภาพ ก่อนกลับออกมาจากซาลูน โดยไม่มีการใส่อารมณ์หรือใส่อาวุธเข้าหากัน
ทุกอย่างดูเหมือนจะจบลงด้วยดี ต่อไปนี้คงไม่ต้องนอนสะดุ้งเสียงปืนอีก พรุ่งนี้เช้าหนังสือพิมพ์ต้องเอาเรื่องไปลงเป็นข่าวใหญ่แน่
ถูกต้องแล้วครับว่าผิด (โปรดอย่าเพิ่งงงนะครับ ลองฟังต่อไปก่อน) เพราะมีข่าวอื่นที่ใหญ่กว่าน่าตื่นเต้น และขนพองสยองเกล้ามากกว่าหลายเท่านัก เป็นเรื่องขึ้นมาเสียก่อน
นั่นคือ ในขณะที่พวกของโดลันและบิลลี่ กำลังจะแยกย้ายกันกลับบ้าน ทนายแช็ปแมนก็เกิดเดินผ่านมาพอดี
โดลันกับพวก รู้ดีว่าแช็ปแมนเป็นใคร และที่ผ่านๆมา ได้กระทำการอะไรเป็นปฏิปักษ์กับพวกตนไว้บ้าง
จึงซุบซิบพยักเพยิดกันว่า มาคนเดียวอย่างนี้ดีแล้ว ถือเป็นโอกาสที่จะสั่งสอนมัน ต่อหน้าผู้คนเสียหน่อยว่า ไอ้น้อง อย่านึกว่าเป็นทนายแล้วจะหนังเหนียว หนอยแน่เที่ยวกระแนะกระแหนสาระแนฟ้องคนโน้นคนนั้น นัวเนียนุงนังไปถึงไหนๆ แล้วยังมาทำนวยนาดเนิบนาบ ไม่รู้จักนบนอบ น้ำหน้าแค่นี้เดี๋ยวพี่จับนวดเสียคนละหนึบละหนับ แค่เหนาะๆนิดนึง ไม่ทันเหน็ดเหนื่อยไม่ต้องนับนิ้วก็น่วมแล้ว รับรองต้องเผ่นแน่บไปนอนหยอดน้ำข้าวต้มกันนมนานแน่ๆ (ขออภัยนะครับเผอิญเพิ่งไปเล่นทายปริศนาที่ถามว่า เกาะอะไรเอ่ยมี น หนู แยะที่สุดมา)
นัดแนะกันเสร็จเรียบร้อย บิล แคมป์เบลล์ (Bill Campbell) มือปืนของโดลัน ซึ่งอยู่ในอาการมึนเมากว่าเพื่อน ก็เดินเข้าไปขวางหน้าทนายแช็ปแมนไว้ ถามว่า “แกเป็นใครและกำลังจะไปไหน”
ทนายแช็ปแมนตอบเรียบๆว่า “ไม่ใช่กงการอะไรของแก”
แคมป์เบลล์ต่อความว่า “บางทีพวกเราอาจช่วยแกให้พูดจาดีขึ้นกว่านี้ได้นะ คุณทนาย”
ทนายแช็ปแมนไม่แสดงอาการหวาดวิตก ตอบกลับไปว่า “แกขู่ฉันให้กลัวไม่สำเร็จหรอกไอ้หนู ฉันรู้ว่าแกเป็นใครและมันไม่มีประโยชน์อะไร ก่อนหน้านี้แกก็เคยลองมาแล้ว”
แคมป์เบลล์พูดว่า “ถ้างั้นฉันจะจัดการกับแก”
และทันใดนั้น ก็ชักปืนขึ้นมา ยิงเปรี้ยงเข้าใส่ทนายแช็ปแมน 1 นัด ท่ามกลางสายตาผู้คนมากมายที่กำลังดูอยู่ กระสุนวิ่งเข้ากลางหน้าอกของทนายแช็ปแมน ทะลุออกข้างหลัง
โดลันซึ่งยืนอยู่ใกล้ๆ ยกปืนวินเชสเตอร์ของตนขึ้น ยิงใส่ทนายแช็ปแมนขณะกำลังล้มลงอีก 2 นัด
พวกที่เหลือ ช่วยกันเอาวิสกี้เทราดลงไปบนศพของทนายแช็ปแมนจนชุ่มโชก แล้วจุดไฟเผาศพขึ้นตรงนั้น
พยานผู้เห็นเหตุการณ์อันสยดสยองนี้ทุกคน ต่างเล่าว่า บิลลี่และ ทอม โอฟอลเลียร์ด พยายามจะปลีกตัวออกไปก่อนเกิดเหตุ
แต่ถูก เจสสี อีแวนส์ (Jesse Evans) มือปืนอีกคนของโดลันกับพวก ยกปืนคุมเชิงไว้ไม่ให้ไปไหน จากนั้นก็บังคับ ให้กลับเข้าไปกินเหล้าต่อด้วยกันในซาลูนอีกรอบหนึ่ง
แคมป์เบลล์ประกาศก้องขึ้นในซาลูนว่า “ข้าเคยให้คำสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าและท่านนายพลดั๊ดลีย์เอาไว้ว่า ข้าจะต้องสังหารไอ้แช็ปแมนมันให้ได้ บัดนี้ข้าได้ทำแล้ว...”
หลังจากกินเหล้ากันไปอีกไม่กี่แก้ว ก็มีใครคนหนึ่งพูดขึ้นว่า เมื่อกี้ไอ้แช็ปแมนมันไม่ได้พกปืนมา พวกเราควรจะเอาปืนพกไปใส่มือมันทิ้งไว้หน่อย
บิลลี่ได้ยินดังนั้น ก็เห็นสบช่อง จึงรับอาสาขึ้นว่า จะช่วยจัดการให้เอง
โดลันตะโกนตอบมาว่า เป็นความคิดที่ดีมาก แล้วส่งปืนพกกระบอกหนึ่งให้
บิลลี่รับปืน เดินออกไปจากร้าน โดยมี ทอม โอ ฟอลเลียร์ด ตามออกไปด้วย
ทั้งสองรีบไปที่ม้าของตัว ขึ้นควบออกจากเมือง หายไปในความมืดทันที
เรื่องนี้แหละครับ ที่กลายเป็นข่าวปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ ตอนเช้าวันรุ่งขึ้น
ข่าวตัดจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ของนิวเม็กซิโก รายงานข่าว การสังหารทนายแช็ปแมน อย่างโหดเหี้ยมและอุกอาจ ต่อหน้าผู้คนกลางที่สาธารณะ |
นอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่ยอมเข้ามาสอบสวนอะไรแล้ว โดลันกับพวก ยังได้ข่มขู่พยานผู้เห็นเหตุการณ์ทุกคนจนไม่มีใครกล้าให้การปรักปรำ
ในที่สุดต้องปิดสำนวนลง ด้วยการสรุปเพียงสั้นๆว่า ทนายแช็ปแมนถูกสังหาร โดยผู้ที่ไม่มีใครรู้จัก
ผู้ว่าฯวอลเลซ รับทราบข่าวนี้ด้วยความโมโห จนต้องเดินทางมาที่เมืองลินคอล์น เพื่อสัมผัสและรับทราบข้อเท็จจริงทุกอย่างด้วยตนเอง
ผู้ว่าฯตกใจมาก เมื่อเห็นสภาพบ้านเมืองที่ไร้ขื่อแป ประชาชนต่างตกอยู่ในอณาจักรแห่งความหวาดกลัว จึงทำหนังสือถึงพลเอกแฮ็ทช์ ขอให้สั่งพักราชการดั๊ดลี่ย์ทันที
และขอให้ส่งกำลังทหารออกจับกุมโดลัน แคมป์เบลล์ และอีแวนส์ ในข้อหาร่วมกันฆ่า กับขอให้ติดตามหาบิลลี่ให้พบเพื่อนำตัวมาให้การเป็นพยานด้วย
พร้อมประกาศรางวัลนำจับบิลลี่เป็นเงิน 500 ดอลล่าร์
ประกาศรางวัลนำจับ บิลลี่ เดอะ คิด เป็นเงิน 500 ดอลลาร์ โดย ลิว วอลเลซ ผู้ว่าการเขตปกครองนิวเม็กซิโก |
ตัวเองต้องกลายเป็นพวกนอกกฎหมาย ในขณะที่คนชั่วกลับลอยนวลอยู่ได้สุขสบาย
ถึงวันนี้ ไม่รู้ว่าจะหลบหนี หรือต่อสู้กับใครเพื่ออะไรอีกต่อไปแล้ว
จึงตัดสินใจ ส่งสารถึงผู้ว่าฯวอลเลซ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1879 แจ้งความประสงค์จะออกจากป่า ขอเข้ามอบตัวกับทางการอย่างมีเงื่อนไข
เรามาลองดูสำนวนของบิลลี่ เด็กหนุ่มอายุ 18 ผู้มีการศึกษาน้อย และเติบโตขึ้นในดินแดนอันห่างไกลอารยธรรม เขียนถึงข้าราชการฝ่ายปกครองระดับสูง อดีตนายทหารระดับแม่ทัพ ผู้มาจากตระกูลเศรษฐีผู้ดีเก่ากันนะครับ
“ กราบเรียน ฯพณฯ ผู้ว่าการ,
พลเอก ลิว วอลเลซ
กระผมได้ยินมาว่าใต้เท้าจะจ่ายหนึ่งพันดอลล่าร์สำหรับตัวกระผม ซึ่งกระผมเข้าใจได้ว่าหมายถึงเอาตัวมาเป็นๆเพื่อเป็นพยาน กระผมทราบว่าเป็นพยานปรักปรำพวกที่ฆ่าคุณแช็ปแมน หากกระผมปรากฏตัวที่ศาลกระผมสามารถให้ข้อมูลที่ต้องการได้ แต่กระผมถูกตั้งข้อหาหลายเรื่องจากหลายสิ่งที่ทำไว้ในสงครามมณฑลลินคอล์นที่ผ่านมา และกระผมเกรงว่าคงไม่สามารถเลิกได้เพราะศัตรูของกระผมจะฆ่ากระผมทิ้ง วันที่คุณแช็ปแมนถูกฆ่ากระผมอยู่ในลินคอล์น ตามคำขอร้องจากราษฎรดีๆกลุ่มหนึ่งให้มาพบกับคุณ เจ.เจ. โดลัน ฉันมิตร เพื่อต่างฝ่ายจะได้วางอาวุธและไปทำงาน กระผมอยู่ในเหตุการณ์ตอนที่คุณแช็ปแมนถูกฆ่าและรู้ว่าใครเป็นคนทำ และถ้าไม่ใช่เพราะข้อหาเหล่านั้นกระผมคงจะให้ความกระจ่างได้เดี๋ยวนี้ หากใต้เท้ามีอำนาจที่จะยกเลิกข้อหาเหล่านั้น กระผมหวังว่าใต้เท้าจะทำเพื่อให้โอกาสกระผมได้อธิบาย กรุณาส่งคำตอบให้กระผมบอกกระผมด้วยว่าใต้เท้าจะทำอะไรได้บ้าง ใต้เท้าสามารถส่งคำตอบมากับผู้ถือจดหมายนี้ได้ขอรับ
กระผมไม่มีความปรารถนาที่จะต่อสู้อีกแล้วขอรับ ที่จริงกระผมไม่ได้จับปืนอีกเลยหลังจากใต้เท้าประกาศนิรโทษกรรม ส่วนเรื่องความประพฤติของตัวกระผมนั้น กระผมขออ้างอิงถึงราษฎรคนไหนก็ได้ เนื่องจากส่วนใหญ่ก็เป็นมิตรกับกระผมทั้งนั้น และยังให้ความช่วยแก่กระผมเท่าที่จะทำได้ด้วย ใครๆเรียกชื่อกระผมว่าไอ้หนูแอนทริม แต่แอนทริมเป็นชื่อพ่อเลี้ยงของกระผม
กระผมกำลังรอคอยคำตอบ
จากข้ารับใช้ผู้อยู่ในโอวาทของใต้เท้า
ดับเบิ้ลยู. เอ็ช. บอนนี่ ”
ทีนี้ลองมาดูสำนวนของผู้ว่าฯวอลเลซ ที่เขียนตอบสารของบิลลี่กันบ้าง
“ ลินคอล์น,
15 มีนาคม 1879
ดับเบิ้ลยู. เอ็ช. บอนนี่:
มาที่บ้านของผู้เฒ่า สไควร์ วิลสัน (คนละคนกับที่เป็นทนาย) เวลาเก้า(9) นาฬิกาคืนวันจันทร์ เพียงคนเดียว ฉันหมายถึงที่บ้านไม่ใช่ที่ทำงาน ให้ลัดเลาะมาตามเชิงเขาด้านทิศใต้ของเมือง เข้ามาทางด้านนั้นแล้วเคาะประตูด้านทิศตะวันออก ฉันมีอำนาจที่จะถอนฟ้องเธอได้ หากเธอจะให้การตามที่เธอบอกว่ารู้
การพบกันที่บ้านของ สไควร์ วิลสัน นี้ ก็เพื่อเตรียมการต่างๆที่จะทำให้ชีวิตของเธอปลอดภัย การทำเช่นนี้จะต้องรักษาความลับไว้อย่างที่สุด ดังนั้นจงมาคนเดียว อย่าได้บอกใครที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นอันขาดว่าเธอจะไปไหนหรือไปทำอะไร หากเธอไว้ใจคนอย่าง เจสสี อีแวนส์ ได้ เธอก็ไว้ใจฉันได้
ลิว วอลเลซ ”
ครับ เรื่องราวและบทบาทของ บิลลี่ เดอะ คิด คาวบอยเล็กพริกขี้หนู ได้ดำเนินมาถึงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง
คงจะต้องขอให้อดใจ รอติดตามรายงานข่าวเจาะลึกเบื้องหลังการแอบนัดพบเจรจากัน และผลการประชุมลับสุดยอดระหว่างผู้นำ 2 ฝ่าย คนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล อีกคนหนึ่งเป็นผู้นำในการจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับอำนาจรัฐ ซึ่งท่านจะพบได้เพียงที่นี่แห่งเดียวเท่านั้น ในฉบับหน้านะครับ
รับรองไม่มีคำว่า ทื่อ มัว ตื้น เป็นอันขาด
แล้วคอยดูกันต่อไปด้วยว่า ผู้ว่าฯคนใหม่ จะสามารถนำสันติสุขมาสู่มณฑลลินคอล์นได้หรือไม่
และการตัดสินใจออกจากป่าอย่างเป็นทางการของบิลลี่ กลับกลายเป็นการนำพาตนเองไปสู่จุดจบได้อย่างไร
โปรดอย่าลืมนะครับ
มาร์แชลต่อศักดิ์