ท่านได้ติดตามบทบาทอันโดดเด่นของ บิลลี่ เดอะ คิด และเรื่องราวเกี่ยวกับความวุ่นวายในนิวเม็กซิโก อันเป็นดินแดนท้องถิ่นตะวันตกของอเมริกาที่แสนจะห่างไกลสำหรับยุคนั้น ใน กันส์ เวิลด์ ไทยแลนด์ ไปแล้ว 2 ฉบับ นะครับ
เชื่อว่า นอกจากจะทำให้เห็นภาพตัวอย่างจริงของการกระจายอำนาจการปกครอง จากส่วนกลางไปยังท้องถิ่น ที่สหรัฐฯกัดฟันริเริ่มมานานกว่าร้อยปีแล้ว ยังทำให้อดนึกเปรียบเทียบกับบ้านเราอีกไม่ได้ว่า ข่าวครึกโครมเรื่องเหตุการณ์ไม่สงบอย่างต่อเนื่อง ตามหัวเมืองห่างไกลเมืองหลวงที่ผ่านมา จะเป็นโจรกระจอกหรือผู้ก่อการร้ายก็ไม่รู้ละ แต่เล่นเอาคนใหญ่คนโตทั้งหลายอยู่ไม่เป็นสุข ต้องลงไปตรวจสอบสถานการณ์ด้วยตนเองกันเป็นแถวนั้น
ดูเหมือนจะมีอะไรๆคล้ายกับนิวเม็กซิโก เมื่อร้อยกว่าปีก่อนไม่น้อยทีเดียว
ครั้งที่แล้ว เรื่องได้ดำเนินมาถึงตอนที่กลุ่มผู้มีอิทธิพลทางธุรกิจและการเมือง
ซึ่งขณะนี้นำโดย ทอม เคทรอน และ จิมมี่ โดลัน
สามารถยึดอำนาจการปกครองบ้านเมืองกลับมาเป็นของตน
ส่งกำลังทั้งตำรวจและทหารเข้าปิดล้อมผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลด้วยข้อหาก่อความไม่สงบ
เหตุการลุกลาม จนถึงขั้นบุกโจมตีผู้ชุมนุมด้วยอาวุธทั้งหนักและเบา
เพื่อจะจับตาย
ฝ่ายกลุ่มผู้ชุมนุม นำโดย บิลลี่ เดอะ คิด
ถูกยิงเสียชีวิตไปหลายคน ที่เหลือต้องหนีเข้าป่าเอาตัวรอด
จากนั้นไม่นาน ผู้ว่าการเขตปกครองนิวเม็กซิโก ก็ถูกรัฐบาลกลางที่กรุงวอชิงตันสั่งพักราชการ
และส่งผู้ว่าฯคนใหม่ชื่อ พลเอก ลิว วอลเลซ เข้ามาแก้ปัญหาความวุ่นวายนี้
กลุ่มอิทธิพลต้อนรับผู้ว่าฯคนใหม่อย่างสมเกียรติ
ด้วยการก่อคดีฆาตกรรม รุมสังหารทนายความฝีปากกล้าชื่อ ฮิวสตัน เจ. แช็ปแมน ผู้พยายามจะฟ้องร้องเอาผิดกับพวกตัว
อย่างอุกอาจในที่สาธารณะใจกลางเมืองลินคอล์น โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ใดๆเข้ามาจับกุมดำเนินคดี
ทำให้ผู้ว่าฯ ต้องลงทุนเดินทางมายังสถานที่เกิดเหตุ
เพื่อสั่งการจับกุมคนร้ายด้วยตัวเอง
และแอบนัดแนะ เพื่อจะพบปะเจรจาอย่างลับๆกับบิลลี่
ขอให้บิลลี่ ในฐานะผู้เห็นเหตุการณ์ ยอมเป็นพยานปรักปรำผู้ต้องหาในศาล
แลกเปลี่ยนกับการถอนฟ้องคดีอาญาทุกคดี ที่บิลลี่เคยก่อไว้ทั้งหมด ในการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
การพบกันครั้งประวัติศาสตร์เกิดขึ้น เมื่อคืนของวันที่
17 มีนาคม ค.ศ.1879 ตามเวลาที่นัดกันไว้คือ 3 ทุ่ม
ที่บ้านหลังหนึ่งชานเมืองลินคอล์น
บิลลี่มาเคาะประตูบ้านตรงตามเวลานัด
ส่วนผู้ว่าฯ มาถึงและนั่งรออยู่ก่อนแล้ว กับเจ้าของบ้านชื่อ สไควร์ วิลสัน
ราษฎรอาวุโสรุ่นบุกเบิกของลินคอล์น ผู้รู้จักบิลลี่เป็นอย่างดี และค่อนข้างจะชอบพอนิสัยใจคอของไอ้หนูนักสู้คนนี้
เมื่อได้ยินเสียงเคาะประตู วิลสันก็ลุกขึ้นไปเปิดประตูให้บิลลี่ ผู้ค่อยๆย่างก้าวเข้ามาในบ้านอย่างระมัดระวัง
ท่าทางไม่มั่นใจนัก ว่าตัวเองจะต้องพบกับอะไร
ในความมืดสลัว ที่มีเพียงแสงตะเกียงส่องสว่าง ผู้ว่าฯวอลเลซลุกขึ้นแนะนำตัวเองกับบิลลี่
และเชื้อเชิญให้ลงนั่งคุยกัน
ผู้ว่าฯออกจะทึ่ง เมื่อได้เห็นตัวจริงของบิลลี่
หลังจากเคยอ่าน และรับฟังรายงานเรื่องวีรกรรมของบิลลี่อย่างละเอียดมาแล้วก่อนหน้านี้
ว่าที่แท้ ก็เป็นเพียงเด็กหนุ่มรูปร่างบอบบาง
หน้าตาท่าทางซื่อๆ ดูไม่น่าจะมีพิษมีภัยอะไร
นี่หรือคือผู้ที่จับปืนขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐ
เป็นผู้นำขบวนการต่อสู้กลุ่มอิทธิพลทั้งในและนอกเครื่องแบบ ชนิดตาต่อตาฟันต่อฟัน
ก่อความเสียหายอย่างหนักให้กับฝ่ายตรงข้าม ถึงขนาดต้องปิดกิจการ
และสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายให้กับทางการอย่างมากมาย
(หากเป็นรายการข่าวสารทางอากาศของหลวงเมือง ทางวิทยุ ท.ท.ท.ตอนดึกๆสมัยก่อน ก็จะต้องบรรยายคำทักทายว่า
ตัวท่านนี้หรือชื่อลกเจ๊ก เมื่อยังเด็กลักส้มเขาไปให้มารดา
นั่งลงเถิดเราจะเจรจาด้วย...)
ภาพวาด บิลลี่ เดอะ คิด ในพิพิธภัณฑ์ ที่เมือง ฟอร์ท ซัมเนอร์ |
ทั้งสองเจรจากันอยู่นานกว่าชั่วโมง
โดยผู้ว่าฯยื่นขอเสนอว่า จะออกคำสั่งนิรโทษกรรมให้กับบิลลี่ทุกข้อหา
หากบิลลี่ยินยอมที่จะให้การต่อศาลและคณะลูกขุน เพื่อว่าทางการจะได้สามารถตัดสินลงโทษผู้มีส่วนในการลงมือสังหารทนายแช็ปแมนทุกคนได้
บิลลี่แจ้งกับผู้ว่าฯว่า ยินดีจะให้ความร่วมมือทุกอย่าง
แต่ยังมองเห็นปัญหาว่า ตราบใดที่โดลันและพรรคพวกยังคงอิทธิพลอยู่ในนิวเม็กซิโกแล้ว
ตนก็คงจะเอาตัวรอดอยู่ได้ไม่นานหลังจากได้รับนิรโทษกรรม
ต้องถูกพวกนี้ตามเก็บแน่ โทษฐานให้การเป็นปฏิปักษ์ หลังจากเพิ่งตกลงสงบศึกกันไปหยกๆ
ผู้ว่าฯหว่านล้อมบิลลี่ว่า ตนไม่ได้เป็นเพียงผู้ว่าฯธรรมดาๆ
แต่เป็นถึงผู้ว่าฯซีอีโอ ได้รับฉันทานุมัติพิเศษ จากประธานาธิบดีและกระทรวงมหาดไทย ให้มาทำหน้าที่บูรณาการ
(แปลว่าอะไรก็ไม่รู้เหมือนกันนะครับ) มีอำนาจเต็มเหนือทุกหน่วยราชการในเขตนี้ สามารถสั่งการ
และส่งกำลังมาคุ้มครองความปลอดภัยให้บิลลี่ได้
และอธิบายแผนการ ที่เตรียมไว้แล้วอย่างเป็นระบบ
ให้บิลลี่ฟัง
ตามแผนนี้ บิลลี่จะแกล้งทำเป็นถูกจับ
จากนั้นจะถูกควบคุมตัวนำตัวมาขึ้นศาล เป็นพยานในคดีสังหารทนายแช็ปแมน
พอบิลลี่ให้การที่เป็นประโยชน์ต่อศาลแล้ว ก็จะถูกปล่อยตัวอิสระ
พ้นข้อหาจากทุกๆคดีที่เคยก่อไว้ กลายเป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง 100 เปอร์เซ็นต์
บิลลี่ตัดสินใจว่า จะขอคิดดูก่อน และสัญญากับผู้ว่าฯ
ก่อนจะลาจากไปในตอนดึกของคืนนั้นว่า จะให้คำตอบโดยเร็ว
ปรากฏว่าอีกเพียง 2 วันต่อมา โดลัน แคมป์เบลล์ และอีแวนส์
ผู้ต้องหาในคดีสังหารทนายแช็ปแมน ก็หลบหนีการควบคุมตัวออกจากคุกทหารที่ค่ายสแตนตั้น
ไปได้อย่างง่ายดาย
บิลลี่พอทราบข่าวนี้ ก็ส่งสารถึงผู้ว่าฯวอลเลซอีกครั้ง
ถามว่าข้อเสนอของผู้ว่าฯ จะยังคงเป็นเช่นเดิมหรือไม่
และได้รับคำตอบกลับมาว่า เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
และแล้ว วันที่ 21 มีนาคม ค.ศ.1879
ทางการก็สามารถจับตัวบิลลี่ได้ พร้อมกับ ทอม โอฟอลเลียร์ด ผู้เป็นคู่หูอีกคนหนึ่ง ทั้งคู่ถูกนำมาขังไว้ที่ห้องขังในเมืองลินคอล์น
บิลลี่สร้างความทึ่งให้กับผู้ว่าฯวอลเลซอีกครั้ง
เมื่อหน้าห้องขังเนืองแน่นไปด้วยผู้มาเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ
นำสุราอาหารมาส่งให้อย่างไม่ขาดสายทุกวัน
บางวันถึงกับมีวงดนตรีมาร้องเพลงขับกล่อมให้ฟัง (ขาดแต่เพียงทำพิธีสะเดาะเคราะห์หรือบายศรีสู่ขวัญเท่านั้นเอง)
เอมิโล เอสเตเวซ แสดงเป็น บิลลี่ เดอะ คิด ในภาพยนตร์เรื่อง ยัง กันส์ ทั้ง 2 ภาค |
ไม่กี่วันก่อนจะถึงวันเริ่มต้นพิจารณาคดี
ผู้ว่าฯวอลเลซก็ทำเซอร์ไพร้ส์ เดินทางออกจากลินคอล์นกลับไปยังซานตาเฟ่
โดยอ้างว่ามี “ภารกิจส่วนตัว”
บิลลี่เริ่มสังหรณ์ว่า จะต้องมีอะไรไม่ปกติเกิดขึ้น
และก็เป็นจริง เมื่อทราบข่าวว่า
ผู้ที่จะมาทำหน้าที่อัยการคือ วิลเลียม ไรเนอร์สัน อธิบดีอัยการเขต 3
ของนิวเม็กซิโก พันธมิตรคนสำคัญของเคทรอนและโดลัน
เคยเดินทางไปถึงกรุงวอชิงตันมาแล้ว เพื่อล็อบบี้ไม่ให้ผู้ว่าฯคนเก่า ซึ่งขณะนั้นโดนสอบสวนอยู่
ต้องถูกปลดออกจากตำแหน่ง
พอการพิจารณาคดีเริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม
ไรเนอร์สันก็ใช้ชั้นเชิงของตน ดำเนินเกมกับกระบวนการยุติธรรม แถลงต่อศาลขอเลื่อนการพิจารณาคดี
และขอเปลี่ยนสถานที่พิจารณาคดี จากศาลมณฑลลินคอล์นไปยังศาลมณฑลโดนาอานา
(Dona Ana) อันเป็นเขตที่ทุกคนทราบดีว่า ไรเนอร์สันมีอำนาจคุมทุกอย่างแบบเบ็ดเสร็จ
ผู้พิพากษาของศาลลินคอล์น ผู้ไม่อยากเปลืองตัวในคดีนี้
รีบอนุมัติคำขอทันที
ไรเนอร์สันหันมายิ้มให้กับบิลลี่อย่างมีความหมาย ขณะผู้คุมนำตัวบิลลี่กลับไปยังห้องขัง
บิลลี่เข้าใจได้ทันทีว่า อะไรกำลังจะเกิดขึ้นกับตน และเริ่มรู้สึกว่า
ตัวเองตัดสินใจผิดอย่างมหันต์ ที่หลงผิดคิดไว้ใจนักการเมือง
เรื่องนี้คงโทษใครไม่ได้ นอกจาก ลิว วอลเลซ ผู้ว่าฯซีอีโอ
อดีตบิ๊กทหารผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นคนสำคัญคนหนึ่งที่ทำให้ฝ่ายรัฐบาลได้รับชัยชนะในสงครามกลางเมือง ตัดสินใจยอมสละเครื่องแบบลาออกจากกองทัพ หวังเอาดีทางการเมือง
เตรียมตัวด้านการข่าวอย่างแยบยล
มีการแอบเจรจาลับและวางแผนกลยุทธอย่างดีเพื่อจะช่วยเหลือ
บิลลี่ เดอะ คิด และกำจัดกลุ่มอำนาจเก่าทางการเมืองไปพร้อมๆกัน
แต่แล้ว ด้วยความอ่อนหัดทางการเมือง หรือไม่ก็ด้วยความที่มัวแต่หัวเสธฯ
สักแต่วางแผนอย่างเดียว ไม่สนใจความเป็นไปได้ หรืออุปสรรคในขั้นปฏิบัติ หรือทั้ง 2 อย่าง เลยถูกฝ่ายตรงข้าม
ผู้คร่ำหวอดกว่าในชั้นเชิงทางการเมืองและข้อกฎหมาย
ทำลายแผนการและชิงเปลี่ยนสถานการณ์ พลิกผลันจากเสียเปรียบ กลับมาเป็นได้เปรียบอย่างไม่ยากเย็น
ยังมีหลักฐานบอกอีกว่า
ผู้ว่าฯวอลเลซได้ถือโอกาส ระหว่างมารับตำแหน่งใหญ่ในนิวเม็กซิโกนี้
ลงทุนทำธุรกิจเหมืองแร่ซึ่งค่อนข้างจะอุดมสมบูรณ์ได้ผลตอบแทนดี
และการที่ต้องเดินทางกลับไปซานตาเฟ่นี้ ก็เพราะมีธุระต้องไปเจรจาในเรื่องดังกล่าว
ถือได้ว่า มีข้อพิสูจน์มานานกว่าร้อยปีแล้วเหมือนกันนะครับ
ถึงธาตุแท้ของนักการเมือง ประเภทที่ชอบไปลงทุนทำธุรกิจส่วนตัวระหว่างรับตำแหน่งสำคัญๆ
นั่นคือ เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเลือก ระหว่างหน้าที่ความรับผิดชอบต่อชาติบ้านเมืองเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่
กับหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์สุขส่วนตนแล้ว
ท่านนักการเมืองผู้มีเกียรติ จะตัดสินใจเลือกอย่างไหน
บิลลี่ตกลงใจที่จะหนี และด้วยคำยุยงจาก ทอม
โอฟอลเลียร์ด เพื่อนคู่หูที่ถูกจับด้วยกัน แต่ถูกปล่อยตัวออกไปก่อนเนื่องจากหาหลักฐานเอาผิดอะไรไม่ได้
ก็ปลดกุญแจมือออกจากข้อมือของตน เดินออกจากห้องขังของเมืองลินคอล์นไปอย่างง่ายดาย
(พอๆกับฝ่ายตรงข้ามเหมือนกัน) เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.1879
โดยมีทอม และเพื่อนอีกคนคือ ด๊อค สเกอร์ล็อค (Doc Scurlock) นำม้ามารอยังที่นัดหมาย ก่อนจะควบหนีไปด้วยกัน มุ่งหน้ากลับไปตั้งหลักที่เมือง
ฟอร์ท ซัมเนอร์
และได้ทราบข่าวว่า แพ็ท การ์เร็ตต์ ย้ายออกจาก
ฟอร์ท ซัมเนอร์ สวนทางกันหันกลับไปทำไร่อยู่แถวใกล้ๆเมืองลินคอล์นแล้ว
เรื่องแหกคุก ซึ่งดูเหมือนเป็นความสามารถพิเศษของบิลลี่นี้
กล่าวกันว่า เป็นเพราะบิลลี่มีลักษณะไม่เหมือนใครอยู่อย่างหนึ่งคือ มีข้อมือหนา แต่นิ้วมือเล็กและฝ่ามือเรียวบาง
เมื่อเหยียดนิ้วมือออก และห่อฝ่ามือบีบเข้าด้วยกันให้สุดๆแล้ว
มือจะเหลือขนาดใกล้เคียงกับข้อมือ สามารถรูดกุญแจมือออกจากข้อมือได้ไม่ยาก
อันนี้เท็จจริงอย่างไร ไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันครับ
ส่วนการเดินออกจากห้องขังไปง่ายๆนั้น ก็ว่ากันว่าเพราะผู้คุมส่วนมากต่างชอบพอและเห็นใจบิลลี่กันทั้งนั้น
หลังจากกลับมาหลบซ่อนตัวเงียบๆที่ ฟอร์ท
ซัมเนอร์ อยู่หลายเดือน บิลลี่ก็ดันไปก่อคดีขึ้นอีกโดยไม่ตั้งใจ
ด้วยการสังหารคาวบอยหนุ่มคนหนึ่งจากเท็กซัสชื่อ โจ แกร๊นท์ (Joe
Grant)
ผู้ประกาศว่าได้ยินกิตติศัพท์อันเลื่องลือของบิลลี่ และต้องการโค่นบิลลี่ลงด้วยฝีมือของตนเอง
เหตุเกิดขึ้นในเดือนมกราคม ค.ศ.1880 ทั้งสองพบกันในร้านเหล้า
ตามข้อเท็จจริงบันทึกไว้เพียงว่า เป็นการดวลแบบตัวต่อตัว ที่บิลลี่หลีกเลี่ยงไม่พ้น
แถมยังชักปืนทีหลัง เพียงแต่โชคดีที่ยิงแม่นกว่า
หลังจากนั้น หนังสือพิมพ์หยิบไปเล่นข่าวบรรยายว่า
บิลลี่ฮึกเหิมเที่ยวท้ายิงใครต่อใครเล่นเพื่อความสะใจ
และบานกลาย จนเป็นนิยาย เล่าต่อกันอย่างสนุกสนานมาทุกวันนี้ว่า
บิลลี่รู้อยู่ก่อนว่า โจ แกร๊นท์ เที่ยวคุยโม้ไปทั่วว่าเก่งกว่าตัว
ก็เลยไม่แสดงตัวว่าเป็นใคร แกล้งทำเป็นเด๋อๆด๋าๆ ชวนคุยพลางยกยอปอปั้นไปพลาง ให้ตายใจ
แล้วทำเป็นขอยืมปืน โค้ลท์.45
ของโจมาดูเพื่อจะชื่นชม
พอโจหลงกล ก็แอบเปิดโม่ เทลูกปืนทิ้งก่อนจะคืนปืนให้
จากนั้นจึงประกาศให้โจรู้ ว่าจริงๆแล้วตัวเป็นใคร
ก่อนจะยิงโจตายอย่างขบขันและสะใจ ที่เห็นโจหน้าถอดสีเพราะปืนยิงไม่ออก
มีเพียงเสียงลั่นดัง แชะ แชะ แชะ (จริงๆแล้วไม่ใช่นะครับ ต้องเป็น กริ๊กแชะ
กริ๊กแชะ กริ๊กแชะ ต่างหากถึงจะถูก)
หลังจากบิลลี่แหกคุก และหายตัวไปนานร่วมปี โดยไม่มีใครสามารถตามจับตัวกลับมาได้
ฝ่ายตรงข้ามของบิลลี่ก็เริ่มเปิดฉากเกมรุกครั้งใหม่
หนนี้ ทอม เคทรอน หัวโจกใหญ่ที่เมืองซานตาเฟ่ เป็นผู้วางแผนดำเนินการเองทั้งหมด
ด้วยการติดต่อเชื้อเชิญ พร้อมกับใช้อิทธิพลทางการเมืองที่ยังมีอยู่ของตน
จัดการให้ แพ็ท การ์เร็ตต์ เข้ามารับตำแหน่งเชอร์ริฟแห่งมณฑลลินคอล์น หลังจากทราบว่า
แพ็ทรู้จักคุ้นเคยดีกับบิลลี่มาก่อน
น่าจะเป็นผู้ที่ติดตามล่าเอาตัวบิลลี่กลับมาได้ไม่ยาก
และเพื่อให้แน่ใจว่า แพ็ทจะต้องมีอำนาจตามจับบิลลี่ได้
ในทุกท้องที่นอกเขตคามของมณฑลลินคอล์น
ก็ใช้คอนเน็คชั่นในแวดวงการเมืองระดับสูงของตน จัดการให้แพ็ทได้รับแต่งตั้งเป็น
ยู.เอส.มาร์แชล ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง ในหน้าร้อนกลางปี ค.ศ.1880
ปลายเดือนพฤศจิกายนในปีนั้น มีข่าวออกมาว่า บิลลี่ก่อคดีสังหารผู้ไม่มีทางสู้อย่างเลือดเย็นอีก
เหตุเกิด หลังจากบิลลี่และเพื่อนอีกสามสี่คน ถูกชุดไล่ล่าหลายสิบคนจากเมือง
ไว้ท์ โอ๊คส์ (White Oaks) ผู้เชื่อว่าบิลลี่กับพวกเป็นโจรขโมยม้า ติดตามมาทันและปิดล้อมไว้ขณะแวะพักที่บ้านของ จิม เกร๊ทเฮาส์ (Jim
Greathouse) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง แล้วเรียกร้องให้บิลลี่ออกมามอบตัวแต่โดยดี
บิลลี่ยื่นข้อเสนอ ขอให้หัวหน้าชุดไล่ล่าเข้ามาตกลงเงื่อนไขการมอบตัวกันในบ้าน ด้วยความช่วยเหลือของเกร๊ทเฮ้าส์เจ้าของบ้าน
ผู้ยินยอมที่จะออกไปเป็นตัวประกันอยู่ข้างนอกกับชุดไล่ล่า ในระหว่างการเจรจา
แต่สุดท้าย บิลลี่กับหัวหน้าชุดไล่ล่ากลับไม่สามารถตกลงกันได้
เมื่อพบว่าชุดไล่ล่านี้ไม่มีหมายจับของทางการ อันหมายความว่า บิลลี่มีโอกาสสูงที่จะเจอศาลเตี้ย
หากยอมมอบตัว
การเจรจาเริ่มยืดเยื้อนานออกไป ทำท่าจะไม่จบ
จนคนข้างนอกเริ่มไม่ไว้ใจ ว่าเกิดอะไรขึ้นกับหัวหน้าของตัว
นักล่าผู้ใจร้อนสองสามคนข้างนอก ตะโกนเข้ามาในบ้านว่า
ถ้าหัวหน้าของตนไม่กลับออกมาภายใน 5 นาทีละก็
จะฆ่าเกร๊ทเฮ้าส์ทิ้งเสียข้างนอกนี่แหละ
หลังจากนั้น ก็มีการยิงปืนขึ้นฟ้าขึ้นข่มขู่สำทับหลายนัด
หัวหน้าชุดไล่ล่า ตกใจเมื่อได้ยินเสียงปืน
ไม่แน่ใจว่าเกร๊ทเฮ้าส์จะถูกพวกของตัวยิงทิ้งเสียแล้วหรือเปล่า
ความกลัวว่า จะถูกบิลลี่กับเพื่อนๆรุมยิงทิ้งบ้างเป็นการตอบแทน
เลยตัดสินใจขอเผ่นเอาตัวรอดไว้ก่อน รีบพรวดพราดกระโดดออกมาทางหน้าต่างบ้าน
ข้างลูกน้องที่ล้อมอยู่ข้างนอก ก็ตกใจเหมือนกัน
ที่เห็นคนโดดหน้าต่างออกมา ไพล่คิดไปว่า ต้องเป็นบิลลี่พยายามจะหนีแน่ๆ
เลยรีบรุมกันยิงใส่เข้าไปหลายนัด
ถูกหัวหน้าของตัวล้มลงนอนตายอยู่นอกหน้าต่างนั่นเอง
พอเห็นชัดๆ ว่าผู้ตายเป็นใคร
นักไล่ล่าทั้งหมดก็หน้าถอดสีไปตามๆกัน และรีบแยกย้ายสลายตัวกลับทันที
ไม่สนจงสนใจที่จะตามจับบิลลี่อีกแล้ว
จากนั้น ข่าวจึงออกมากลายเป็นว่า
บิลลี่ชักปืนออกมา ไล่ยิงหัวหน้าชุดไล่ล่าผู้พยามจะเจรจาด้วยโดยดี
จนต้องวิ่งหนีออกทางหน้าต่างมาตายข้างนอก
แต่ไม่ยักมีใครอธิบายว่า
แล้วที่ยังเหลือล้อมบ้านอยู่อีกตั้งหลายสิบคน พร้อมอาวุธครบมือ
มีอำนาจการยิงเหนือกว่าฝ่ายของบิลลี่ตั้งมากมายนั้น
ทำไมถึงไม่บุกเข้าถล่มจับตายบิลลี่เสีย ให้รู้แล้วรู้รอดไปเดี๋ยวนั้นเลย หรืออย่างน้อยก็ยิงเกร๊ทเฮ้าส์ทิ้ง เป็นการตอบแทนบ้าง
แพ็ท การ์เร็ตต์ จึงถูกกดดัน ทั้งจากฝ่ายการเมืองและสื่อมวลชน
ให้เร่งรัดตามจับตัวบิลลี่ให้ได้โดยเร็วที่สุด
หลังจากพยายามหลบเลี่ยง บ่ายเบี่ยงมาหลายครั้งหลายหน
แพ็ทก็จัดชุดไล่ล่า ประกอบด้วยนักสืบและมือปืนหลายคน มุ่งหน้าไปยังเมือง ฟอร์ท
ซัมเนอร์ โดยมีนักข่าวของหนังสือพิมพ์ ลาส เวกัส กาเซ็ทท์
(คนละเมืองกับที่เป็นเมืองการพนันนะครับ เผอิญชื่อเดียวกัน) ร่วมขบวนตามไปเพื่อเกาะติดสถานการณ์ด้วย
ขณะนั้นเป็นช่วงฤดูหนาว ที่ถือได้ว่าหฤโหดเป็นอย่างยิ่ง
ชุดไล่ล่าทั้งคนและม้า ต้องใช้ความทรหดอดทนเหนือธรรมดา ในการลุยฝ่าพายุหิมะ
และลมหนาวที่กรรโชกรุนแรง เหยียบย่ำลงไปบนเส้นทางที่ปกคลุมด้วยหิมะหนาเป็นศอก
เป็นระยะทางร่วม 160 กิโลเมตร หวังว่า จะสามารถจับตัวบิลลี่ได้แบบไม่รู้ตัวและคาดไม่ถึง
แน่นอนครับว่า บิลลี่ เดอะ คิด
ย่อมไม่ใช่หมูอย่างที่คิด
บรรดาชาวบ้านผู้หวังดี ต่างส่งข่าวบอกต่อกัน ให้บิลลี่ทราบความเคลื่อนไหวของชุดไล่ล่า
จนรู้ตัวและหลบหนีไปเสียก่อน
แพ็ทและชุดไล่ล่าจึงต้องผิดหวัง เมื่อบากบั่นฟันฝ่ามาจนถึง
ฟอร์ท ซัมเนอร์ แล้ว กลับไม่พบร่องรอยของบิลลี่
และแน่นอนเช่นกันว่า แพ็ท การ์เร็ตต์
ย่อมไม่ล้มเลิกความตั้งใจ ไม่ถอนทัพกลับง่ายๆ หลังจากลงทุนฝ่าฟันความลำบากมาขนาดนี้แล้ว
แถมยังมีสื่อมวลชน คอยติดตามดูผลงานอย่างใกล้ชิดเสียอีก
ยังไงๆก็ต้องแสดงฝีมือให้เต็มที่หน่อย
จึงวางกลยุทธ ใช้การข่าวตอบโต้การข่าว หลอกชาวบ้านว่า ชุดไล่ล่าจะเดินทัพติดตามต่อไปยังเมืองอื่น
ทำทีเป็นเคลื่อนกำลังออกจากเมือง ให้ดูสมจริง
แต่แล้วไม่ได้ไปไหนไกล แอบกลับเข้ามาตอนกลางคืนเงียบๆ
ซุ่มตัวอยู่ที่ป้อมทหารเก่าตรงชานเมืองและรอคอยอย่างใจเย็น
ข่าวลวง ถูกปล่อยไปถึงหูบิลลี่ยังที่ซ่อนนอกเมือง
บิลลี่กับเพื่อนๆทราบได้ทันทีว่า ฝ่ายตรงข้ามเริ่มรวบรวมกำลัง
ใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติการจองเวรกับพวกตน ได้เหมือนเดิมอีก
ผู้ว่าฯซีอีโอที่ คุยนักคุยหนาว่า รัฐบาลให้อำนาจเต็มมาปราบปรามพวกกลุ่มอิทธิพลมิจฉาชีพ
ก็ท่าดีทีเหลว ไม่เห็นจะมีผลงานอะไรที่เป็นรูปธรรมซักอย่าง
แถมยังทำให้บิลลี่ถูกจับติดคุกฟรีๆเสียอีก
หากไม่แหกคุกออกมาเอง ป่านนี้คงถูกฝ่ายตรงข้ามจับแขวนคอไปเรียบร้อยแล้ว
ทุกคนปรึกษากัน เห็นพ้องว่า มาถึงวันนี้ กำลังของพวกตนมีแต่จะลดน้อยร่อยหรอ
ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามยังคงความแข็งแรงแน่นปึ้กเช่นเดิม ไม่มีท่าทีว่าจะอ่อนกำลังลงแต่อย่างใด
สามารถดำเนินเกมบุกอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเป็นเช่นนี้ คงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากหลบหนีออกไปตั้งหลักนอกประเทศ
เป็นการชั่วคราวก่อน จากนั้นค่อยคิดการกันใหม่ ว่าจะเอาอย่างไรดี
บิลลี่ผู้มีเลือดนักบู๊รุนแรงกว่าเพื่อน ไม่ได้เห็นพ้องด้วยเต็มที่นัก
แต่ก็ต้องยอมจำนนด้วยเหตุผล
ทั้งหมดตกลงกันว่า จะหนีลงใต้ ข้ามไปยังประเทศเม็กซิโกโดยไม่ชักช้า
แต่จะต้องกลับเข้าไปในเมืองอีกครั้ง เพื่อเตรียมเสบียงให้พร้อมเสียก่อน
ถึงแม้จะได้ข่าวว่าชุดไล่ล่าเคลื่อนพลออกไปแล้ว
ทุกคนก็ไม่ประมาท ต่างรอให้ถึงเวลาพลบค่ำเสียก่อน จึงค่อยออกจากที่ซ่อน
หารู้ไม่ว่า กำลังพาตัวเองเข้าไปสู่กับดักของ แพ็ท
การ์เร็ตต์ โดยไม่รู้ตัว
วันนั้นเป็นวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ.1880 เพื่อนผู้ร่วมชะตากรรมของบิลลี่ ขณะนี้มีอยู่ 5 คน นอกจาก ทอม
โอฟอลเลียร์ด แล้วก็มี ชาร์ลี
เบาดเร (Charlie Bowdre) เดฟ รุดดาบอห์ (Dave Ruddabough) บิลลี่
วิลสัน (Billy Wilson) และ ทอม พิคเก็ตต์ (Tom
Pickett)
นับเป็นโชคร้ายของ ทอม โอฟอลเลียร์ด ที่ขี่ม้านำหน้า ขณะกำลังเคลื่อนขบวนเข้าใกล้ป้อมทหารเก่าชานเมือง
อันเป็นที่ๆชุดไล่ล่าซุ่มตัวดักอยู่
เวรยามของชุดไล่ล่า รีบแจ้งกับ แพ็ท การ์เรตต์ ว่า เห็นคนขี่ม้า 6 คนกำลังใกล้เข้ามา
แพ็ทกระซิบคำสั่งผ่านถึงกองกำลังทุกคน
ให้ยิงคนที่ขี่นำมาก่อนเป็นคนแรก ด้วยคาดการว่าจะต้องเป็นบิลลี่
เสียงปืนจากฝ่ายซุ่มโจมตีดังขึ้นถี่ยิบ ห่ากระสุนวิ่งกรูเข้าใส่ ทอม โอฟอลเลียร์ด
ส่วนใหญ่พลาด เพราะขณะนั้นเริ่มมืดแล้วและมีหมอกลง ทำให้ทัศนวิสัยไม่ดี
จับเป้าซึ่งกำลังเคลื่อนที่ได้ยาก
มีเพียงนัดหนึ่ง โดนเข้าที่กลางหน้าอกของทอม ผู้พยายามจะควบม้าหนี แต่แล้วก็หล่นลงมาจากหลังม้าในที่สุด
ที่เหลือรีบชักม้า เร่งควบย้อนกลับทางเดิม ทันทีที่ได้ยินเสียงปืนระเบิดขึ้น
ชุดไล่ล่าและแพ็ทจึงต้องผิดหวังอีกครั้ง เมื่อวิ่งเข้าไปดูแล้วพบว่า เป้าที่พวกตนยิงถูกกลายเป็นทอม
ไม่ใช่บิลลี่ และกว่าจะกลับลำตั้งตัวได้ใหม่ บิลลี่กับพรรคพวกที่เหลือ ก็หายเข้ากลีบหมอกไปหมด ติดตามไม่ทันเสียแล้ว
ส่วนทอม เสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นาน โดยไม่มีโอกาสได้ร่ำลาเพื่อนๆ
ทอม โอฟอลเลียร์ด คู่หูของ บิลลี่ เดอะ คิด ถูกสังหารที่เมือง ฟอร์ท ซัมเนอร์ โดยชุดไล่ล่าของ แพ็ท การ์เร็ตต์ เพราะเข้าใจผิด นึกว่าเป็นบิลลี่ |
การแกะรอยเริ่มต้นในเช้าของวันรุ่งขึ้น จนสามวันต่อมา
แพ็ทกับชุดไล่ล่าก็สามารถสะกดรอยตามบิลลี่ ไปถึงบ้านร้างก่ออิฐทึบหลังหนึ่ง ในตำบลที่มีชื่อว่า
น้ำพุเน่า (Stinking Springs) อยู่ห่างจากเมือง ฟอร์ท ซัมเนอร์ ไปทางตะวันออกประมาณ 24 ก.ม. และกระจายกำลังปิดล้อมไว้รอบบ้านทุกทิศทุกทาง อย่างแน่นหนา โดยที่บิลลี่และเพื่อนๆไม่ทันรู้ตัว
ขณะนั้นเป็นเวลาค่ำคืนเดือนหงาย
แสงจันทร์นวลผ่อง นภาไม่ถึงกับพราวพร่างดังทอง เพียงแค่ใสแจ๋วปราศจากเมฆหมอก แต่อากาศหนาวเหน็บ
หิมะหนาปกคลุมพื้นขาวโพลนไปทั่ว เมื่อมองแล้วจึงไม่ได้สุขอุรานัก
และไม่เหมาะสมที่จะขี่ควายชมจันทร์แต่ประการใด
ประมาณฟ้าสาง ชาร์ลี เบาดเร ก็โผล่ประตูออกมาข้างนอกบ้าน
ความที่ใส่หมวกทรงเดียวกับของบิลลี่
จึงทำให้ยามของชุดไล่ล่าที่เฝ้าดูอยู่เข้าใจผิดอีก และยิงเปรี้ยงเข้าใส่ทันที
ชาร์ลีล้มลงไป ก่อนจะคุกเข่าขึ้นมาเกาะขอบประตูไว้
พยุงตัวเองกลับเข้าไปในบ้าน บอกกับเพื่อนๆซึ่งกำลังตกใจว่า ตัวเองโดนหนักมาก เห็นทีจะไม่รอดแน่
ก่อนตายขอออกไปเล่นงานพวกมันตอบแทนบ้าง
จากนั้นก็โซซัดโซเซกลับออกมาข้างนอก พร้อมด้วยโค้ลท์
2 กระบอกกำแน่นอยู่ในมือ แต่ไม่ทันจะได้ยิงนัดแรก ก็หมดแรงล้มฟุบลงเสียก่อน ได้ยินเสียงพูดสั้นๆ ออกมาจากลำคอเพียงว่า “ฉันอยาก…”
แล้วก็ขาดใจตาย
ตลอดเช้าจนถึงบ่ายวันนั้น ไม่มีการยิงกันอีก
ฝ่ายไล่ล่าวางแผนใช้วิธีปิดล้อมไปเรื่อยๆ
บีบให้ฝ่ายถูกล่าหมดเสบียงอาหารต้องหมดแรงยอมแพ้เอง ขืนพยายามแหกวงล้อมออกมาละก็ เป็นจับตายสถานเดียว
บ้านก่ออิฐที่ บิลลี่ เดอะ คิด และพรรคพวก แวะพักชั่วคราวระหว่างหลบหนีการตามจับกุม โดย แพ็ท การ์เร็ตต์ ในตำบลน้ำพุเน่า นอกเมือง ฟอร์ท ซัมเนอร์ และถูกปิดล้อมโจมตี |
ปัจจุบันบ้านหลังนี้ถูกทุบทิ้งไปแล้ว คงเหลือแต่ ร่องรอยฐานรากหลงเหลืออยู่ มองเห็นทิวทัศน์ ของตำบลน้ำพุเน่าได้โดยรอบ |
ผู้ถูกล่า ซึ่งขณะนี้ยังเหลือรอดชีวิตอยู่ด้วยกันเพียง
4 คน มีม้า 2 ตัวผูกอยู่ด้วยในบ้าน อีก 3 ตัวผูกอยู่ข้างนอก เร่งระดมสมองออกความคิดกันใหญ่
บิลลี่เสนอแผนว่า
ต้องหาทางเอาม้าตัวที่แข็งแรงที่สุด เข้ามาในบ้านอีกตัวหนึ่งให้ได้ก่อน จากนั้น ทั้ง
4 คนก็จะอาศัยม้าเพียง 3 ตัวจากในบ้าน ขึ้นควบตามกันพุ่งออกทางประตู ตีฝ่าวงล้อมออกไปแบบสายฟ้าแลบ
ราว 4 โมงเย็น ยามของชุดไล่ล่าก็สังเกตเห็นว่า ม้าที่ผูกไว้ข้างนอกตัวหนึ่ง
กำลังถูกดึงเข้าไปในบ้าน
แผนของบิลลี่เกือบจะบรรลุผลอยู่แล้ว แต่ แพ็ท
การ์เร็ตต์ ดันเดารูปการณ์ออก ไหวตัวทันเสียก่อน
รีบคว้าปืนวินเช้สเตอร์ขึ้นยิงม้าตัวนั้นล้มลง ตายคาอยู่กลางประตูบ้านพอดี
แค่นี้ไม่พอ ยังยิงเชือกผูกม้าอีก 2
ตัวข้างนอกขาดออก ไล่ตะเพิดให้วิ่งเตลิดหายไปอีกด้วย
บ้านหลังนี้มีเพียงประตูเดียว และไม่มีหน้าต่าง
เมื่อมีม้าทั้งตัวมานอนตายขวางประตูเข้าออก ก็เท่ากับหมดทางหนีกันพอดี
บิลลี่คิดแผนสองไม่ออก และในที่สุด เมื่อเสบียงอาหารร่อยหรอลงจนหมด
ทนความหนาวและความหิวไม่ไหว ก็ยอมยกธงขาว ขอมอบตัวแต่โดยดี
แลกกับอาหารอุ่นๆที่ทางชุดไล่ล่าหุงหาให้
โค้ลท์ ซิงเกิ้ล แอ๊คชั่น อาร์มี่ ขนาด .44-40 หมายเลขประจำปืน 0361 กระบอกนี้ เชื่อกันว่าเป็นปืนคู่ใจของ บิลลี่ เดอะ คิด และถูกยึดไว้โดย ชุดไล่ล่าของ แพ็ท การ์เร็ตต์ หลังจากถูกจับที่ตำบลน้ำพุเน่า |
ทั้งหมดถูกนำตัวไปยังเมืองซานตาเฟ่
ระหว่างทางจะต้องหยุดแวะที่เมือง ลาส เวกัส เพื่อเดินทางต่อโดยรถไฟ
ขณะถูกขังรอรถไฟอยู่ที่นี่ มีผู้คุมรายหนึ่ง ลงทุนออกสตังค์ส่วนตัว
ซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่มาให้นักโทษทั้งสี่ เปลี่ยนแทนชุดเก่าที่โทรมเต็มที
โดยบอกกับผู้ที่พบเห็นเพียงสั้นๆว่า อยากให้เค้าดูหล่อๆกันหน่อย
นอกจากนี้ ยังมีชาวบ้านร้านตลาดจำนวนมาก ที่ไม่เคยและอยากเห็นตัวจริงของไอ้หนูบิลลี่
แห่กันมามุงดูเต็มไปหมด
แถมด้วยขบวนนักข่าวหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับ เข้ามารุมล้อมแย่งกันสัมภาษณ์
ที่คุกเมืองซานตาเฟ่
บิลลี่พยายามเขียนจดหมายถึงผู้ว่าฯวอลเลซอีกหลายฉบับ จะเรียกว่า เป็นการให้โอกาสครั้งสุดท้ายแก่ท่านนักการเมืองผู้มีเกียรติ
ที่จะปฏิบัติตามสัญญา หรือทดสอบสมมติฐานว่า ตนเท่านั้นย่อมเป็นที่พึ่งแห่งตน ก็แล้วแต่
ผลออกมาปรากฏว่า ไม่ได้รับคำตอบ หรือการเหลียวแลใดๆทั้งสิ้น
ผลออกมาปรากฏว่า ไม่ได้รับคำตอบ หรือการเหลียวแลใดๆทั้งสิ้น
เนื่องจากท่านผู้ว่าฯขณะนี้ ได้วิ่งเต้นขอย้ายตัวเอง
เพื่อจะไปเป็นเอกอัครราชทูตอยู่ที่ประเทศตุรกีตามความตั้งใจเดิม เกือบจะสำเร็จแล้ว กำลังเร่งรัดจัดการขายที่ทาง และธุรกิจเหมืองแร่ที่ลงทุนไว้
และรีบเขียนนิยายเรื่อง เบ็น เฮอร์ ที่แต่งค้างไว้ให้จบด้วย
จึงติดภารกิจสำคัญเยอะแยะ จนเหลือเวลาว่างน้อยมาก
ต้องอยู่ดึกๆดื่นๆทุกคืน แทบไม่ได้พักผ่อนนอนหลับ ทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ ตรากตรำลำบาก น่าสงสารเป็นยิ่งนัก
เมืองซานตาเฟ่ ในช่วงเวลาที่ บิลลี่ เดอะ คิด ถูก แพ็ท การ์เร็ตต์ นำไปส่งตัวขังคุกไว้ เพื่อเตรียมขึ้นศาลพิจารณาคดี |
วันที่ 28 มีนาคม ค.ศ.1881
บิลลี่ถูกนำตัวออกจากห้องขังไปขึ้นศาล เพื่อพิจารณาคดีในความผิดฐานฆ่าเจ้าพนักงาน
คือเชอร์ริฟ วิลเลี่ยม เบรดี้ (ตามเหตุการณ์ตั้งแต่เมื่อตอนที่หนึ่งนะครับ)
ผลการพิจารณาคดี ออกมาตามความคาดหมาย บิลลี่ถูกศาลพิพากษาตัดสินเมื่อวันที่ 13
เมษายน ค.ศ.1881 ว่ามีความผิด จะต้องถูกลงโทษประหารชีวิต
ให้นำตัวไปทำพิธีแขวนคอในวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ.1881 ระหว่างเวลา 9 ถึง 15 นาฬิกา
ที่เมืองลินคอล์น อันเป็นสถานที่กระทำความผิด
ขบวนคุ้มกันถูกจัดขึ้นอย่างแน่นหนา เพื่อพาบิลลี่เดินทางไปยังเมืองลินคอล์น
โดยมี บ๊อบ โอลิงเก้อร์ (Bob Olinger) สมุนเอกคนหนึ่งของโดลัน รับหน้าที่เป็นผู้ควบคุมตัวบิลลี่ ตั้งแต่เริ่มออกเดินทาง
และจะดูแลรับผิดชอบไปจนถึงเวลาส่งตัวขึ้นทำพิธีแขวนคอ
บิลลี่กับบ๊อบ มีความหลังมาด้วยกันยาวนาน
ต่างฝ่ายต่างเคยยิงเพื่อนของอีกฝ่ายหนึ่งตาย และลั่นวาจาเอาไว้ว่า จะต้องแก้แค้นแทนเพื่อนให้ได้
บ๊อบนั้น อยากจะยิงบิลลี่ทิ้งด้วยตัวเอง มากกว่าจะต้องรอดูบิลลี่ถูกแขวนคอ
จึงวางกลยุทธ ใช้วิธีการเยาะเย้ยโขกสับบิลลี่ ไปตลอดการเดินทาง
กะยั่วยุให้บิลลี่โกรธจนอดกลั้นไม่ไหว ต้องลุกชึ้นต่อสู้หรือไม่ก็พยายามหนี
จะได้ใช้เป็นข้ออ้างโดยชอบธรรม ในการยิงบิลลี่ทิ้งเสียกลางทาง
แต่บิลลี่ฉลาดพอ ที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อในเกมนี้
จึงอดทนยิ้มสู้เพียงลูกเดียวไม่ยอมออกอาการอะไร
อยู่รอดปลอดภัยจนมาถึงเมืองลินคอล์น เมื่อวันที่ 21
เมษายน
ก่อนถูกนำไปขังต่อ ในห้องชั้นบนของที่ทำการศาล ตีตรวนและใส่กุญแจมือไว้ตลอดเวลา จนกว่าจะถึงพิธีประหารชีวิต
ก่อนถูกนำไปขังต่อ ในห้องชั้นบนของที่ทำการศาล ตีตรวนและใส่กุญแจมือไว้ตลอดเวลา จนกว่าจะถึงพิธีประหารชีวิต
เมืองลินคอล์น ในช่วงเวลาใกล้ๆกับที่ บิลลี่ เดอะ คิด ถูกส่งตัวไปคุมขังไว้ก่อน เพื่อเตรียมทำพิธีแขวนคอ |
บิลลี่ เดอะ คิด ถูกขังไว้ในห้องชั้นบนด้านหน้า ฝั่งซ้ายมือของอาคารที่ทำการศาลในเมืองลินคอล์น |
ระหว่างนี้ บ๊อบได้ผู้ช่วยที่ แพ็ท การ์เร็ตต์
ส่งมาให้อีกคนหนึ่งชื่อ จิม เบลล์ (Jim Bell) มาคอยผลัดเปลี่ยนเวรยาม และยังคงระรานบิลลี่ต่อไป อย่างเสมอต้นเสมอปลาย
ตรงข้ามกับจิม ผู้ดูเป็นกันเอง และค่อนข้างเห็นอกเห็นใจ
วันประหารเริ่มใกล้เข้ามา บิลลี่พยายามคิดหาวิธีหลบหนี
ทั้งๆที่เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมดูจะไม่เป็นใจสักอย่าง
มองไม่เห็นช่องทางเลยสักนิดเดียว
เหมือนโชคชะตาชอบเล่นตลกกับบิลลี่ เมื่อ แพ็ท การ์เร็ตต์
และบรรดาผู้ช่วย ต้องจัดชุดไล่ล่าเดินทางออกจากลินคอล์นอีกครั้ง ในตอนเช้าของวันที่
28 เมษายน เพื่อไปตามจับโจรปล้นม้ากลุ่มหนึ่ง ปล่อยให้บ๊อบกับจิม
อยู่โยงเฝ้าบิลลี่เพียง 2 คนเท่านั้น
บิลลี่ไม่รอช้าที่จะฉวยโอกาสทองนี้ คิดวางแผนอย่างใจเย็น
รอจังหวะจนถึงเวลาเที่ยง ให้บ๊อบออกเวรไปกินอาหารที่โรงแรมว้อร์ทลี่ย์ (Wortley Hotel) ซึ่งตั้งอยู่เยื้องกันบนอีกฟากหนึ่งของถนนเสียก่อน
พอบ๊อบพ้นสายตาไปแล้ว บิลลี่ก็ขออนุญาตจิมผู้มาผลัดเวรยาม ให้พาไปเข้าห้องน้ำ
ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นห้องเล็กๆ ปลูกแยกอยู่ต่างหากนอกอาคาร
ขากลับ เมื่อบิลลี่ลากตรวนขึ้นบันไดไปถึงชั้นบนสุด
ยืนตั้งหลักได้มั่นคงดีแล้ว ก็รูดมือขวาออกจากกุญแจมือ แล้วหันขวับไปหาจิม ผู้กำลังเดินขึ้นบันไดตามมาติดๆ
เหวี่ยงกุญแจมือข้างขวาที่หลุดออกมาแล้วนั้นด้วยมือซ้าย
ฟาดเข้าใส่หน้าจิมผู้ไม่ทันระวังตัว
จิมเสียหลักเซไปเกาะราวบันไดไม่ให้ล้ม บิลลี่ใช้ความไว ฉกปืนของจิมออกจากซองมาไว้ในมือขวา
ขู่จิมไว้และสั่งให้ยกมือขึ้นยอมแพ้ รีบหยิบกุญแจมาไขโซ่ตรวนออกเสียดีๆ
จิมนอกจากไม่ยอมทำตามแล้ว ยังรีบวิ่งพรวดพราดลงจากกระไดพยายามหนี
บิลลี่ไม่มีเวลาชั่งใจว่า จิมเพียงแต่จะเอาตัวรอดให้พ้น หรือจะไปตามบ๊อบกลับมาช่วย
จึงตัดสินใจ ยิงเปรี้ยงเพียงนัดเดียว โดนจิมเข้ากลางหลัง
ล้มคะมำกลิ้งตกบันไดลงไปนอนตายอยู่กับพื้นข้างล่าง
เสร็จแล้วก็ลากตรวน พาตัวเองกลับเข้าไปในห้องคุมขัง คว้าปืนลูกซองแฝดขนาด 10
ยี่ห้อวิธนี่ย์ (Whitney) ของบ๊อบ ที่วางทิ้งไว้หน้าห้อง รี่ไปยังหน้าต่าง
ง้างนกขึ้นไกเตรียมพร้อมทั้ง 2 ลำกล้อง
ฝ่ายบ๊อบได้ยินเสียงปืน ก็รีบวิ่งออกมาจากโรงแรมกลับมาที่ศาล
มองเห็นศพของจิม กองอยู่กับพื้นตรงเชิงบันได
ยังไม่ทันจะได้คิด หรือขยับทำอะไร ก็ได้ยินเสียงของบิลลี่ ตะโกนออกมาจากหน้าต่างชั้นบนว่า
“ฮัลโหล บ๊อบ”
เมื่อมองขึ้นไป ก็เห็นบิลลี่ประทับปืนลูกซองแฝดของตน กำลังเล็งลงมาที่ตน
จังหวะนั้น ภารโรงของศาลเพิ่งเห็นบ๊อบกลับออกมาจากโรงแรม
จึงรีบระล่ำระลักเข้าไปรายงานสถานการณ์ว่า “ไอ้หนูมันยิง
จิม เบลล์”
โดยไม่ได้สนใจเลยว่า”ไอ้หนู”คนเดียวกันนั้น กำลังเล็งปืน เตรียมจะเล่นงานบ๊อบด้วยเหมือนกัน
บ๊อบพูดตอบโดยไม่ยอมหันหน้ามา สายตายังไม่ละจากชั้นบน
มือขวากุมด้ามปืนที่เอว ในท่าเหมือนเตรียมพร้อม แต่ยืนตัวแข็งทื่อหน้าซีด ตอบเหมือนรู้ชะตากรรมล่วงหน้าว่า
“ใช่ – มันยิงฉันด้วย”
บิลลี่ไม่ให้ความหวังอะไรทั้งสิ้นแก่บ๊อบ
ลั่นไกปล่อยกระสุนบั๊คช้อททั้งสองนัด ตูมเข้าใส่คู่อาฆาตอย่างสะใจล้มกลิ้งลงไปทันที
จากนั้นก็รีบออกจากห้อง ลงบันไดมาชั้นล่างอย่างทุลักทุเล สั่งภารโรง ให้ให้ไปหาชะแลงมาได้อันหนึ่ง
กับม้าอีกตัวหนึ่ง จัดการทุบเอาโซ่ตรวนขาดออก แล้วขึ้นม้าขี่ออกจากเมืองไป ในตอนกลางวันแสกๆ
ต่อหน้าต่อตาชาวบ้านชาวเมืองผู้สนใจมายืนออมุงดูเหตุการณ์กันอยู่มากมาย แต่ไม่ยักมีใครกล้าเข้าไปขัดขวาง หรือช่วยเหลือสักคน
นี่คือการต่อสู้ เพื่อเอาชีวิตรอดเป็นครั้งสุดท้ายของบิลลี่บ๊อบ โอลิงเก้อร์ ถูกบิลลี่ เดอะ คิด ยิงตาย ด้วยปืนลูกซอง จากหน้าต่างด้านข้างชั้นบน ของที่ทำการศาล |
โรงแรมว้อร์ทลี่ย์ สถานที่ที่ บ๊อบ โอลิงเกอร์ เข้าไปรับประทานอาหารกลางวัน เมื่อวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1881 โดยไม่เคยคาดคิด มาก่อนว่าจะกลายเป็นมื้อสุดท้ายในชีวิต |
ดังที่กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้นั่นแหละครับว่า
โชคชะตาดูจะชอบเล่นตลกกับบิลลี่เสียจริงๆ เพราะแทนที่หลุดออกมาแล้ว จะรีบหนีข้ามชายแดนไปยังประเทศเม็กซิโก
บิลลี่กลับมุ่งหน้าย้อนไปยัง ฟอร์ท ซัมเนอร์ วนเวียนอยู่แถวนั้นอีกเหมือนเดิม ไม่ยอมไปไหน
หลังจากนั้นเพียง 2 เดือนกว่า แพ็ท
การ์เร็ตต์ ก็นำผู้ช่วย 2 คน คือ จอห์น โป (John Poe) กับ ทิป แม็คคินนีย์ (Tip
McKinney) ออกสืบข่าว และแกะรอยตามบิลลี่อย่างเงียบๆมาถึง ฟอร์ท
ซัมเนอร์ และดักรออยู่ จนสามารถแอบสังหารบิลลี่ในความมืดได้สำเร็จ
ที่ห้องนอนในบ้านของ พี้ท แม็กซ์เวลล์ (Pete Maxwell) เมื่อคืนวันที่
14 กรกฎาคม ค.ศ.1881
ผมขออนุญาตไม่เล่ารายละเอียดนะครับ เนื่องจากได้เคยบรรยายไปแล้วใน คาวบอยกับปืนคู่ใจ ตอน แพ็ท การ์เร็ตต์ มือปราบผู้อาภัพ
แพ็ท การ์เร็ตต์ อ้างว่า บิลลี่ เดอะ คิด ถือปืนโค้ลท์ ดับเบิ้ล แอ๊คชั่น รุ่นฟ้าคำราม (Thunderer) ขนาด .41 กระบอกนี้อยู่ในมือก่อนจะถูกสังหาร บนด้ามงามีตัวหนังสือแกะเป็นคำว่าบิลลี่ |
แพ็ท การ์เร็ตต์ อ้างอีกเช่นกันว่า ปืนวินเช้สเตอร์รุ่นปี 1873 ขนาด .44-40 กระบอกนี้ เป็นที่ บิลลี่ เดอะ คิด เคยใช้ติดตัวเป็นประจำ |
ชาวบ้านต่างช่วยกันตกแต่งศพของบิลลี่ให้สวยงาม
และหาโลงอย่างดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ มาบรรจุศพ ก่อนนำไปทำพิธีและฝังไว้ในบริเวณสุสานทหารเดิมนอกเมือง
เคียงคู่กับสหายผู้ร่วมเป็นร่วมตายมาแต่ก่อนอีก 2 คน คือ ทอม โอฟอลเลียร์ด และ
ชาร์ลี เบาดเร ผู้ถูกยิงเสียชีวิตไปก่อนหน้านี้ไม่นาน
บนแผ่นหินเหนือหลุมศพของบุคคลทั้งสาม
มีคำจารึกเขียนไว้เพียงสั้นๆ แต่กินใจทุกคนว่า “เพื่อนยาก”
สภาพของหินจารึกชื่อเหนือหลุมฝังศพ ก่อนจะมีการทำกรงล้อมไว้ ถูกพวกมือบอนตอกกระเทาะเล่นจนบิ่นเบี้ยวไปหมด หรือแอบขโมยยกไปเลยก็เคยมี |
บิลลี่ เดอะ คิด คาวบอยเล็กพริกขี้หนู จึงมีชีวิตอยู่สู้โลกเบี้ยวๆนี้ได้เพียงแค่
19 หรือ 20 ปีเท่านั้นเอง แต่ได้กลายเป็นตำนานทันทีที่จากไป
มีผู้คนระลึกถึง กล่าวขวัญถึง แต่งเพลง
โคลงกลอน เขียนหนังสือกันหลายเล่ม ทำภาพยนตร์กันก็หลายเรื่อง
(เฉพาะหนังโรงเริ่มสร้างเป็นหนังเงียบตั้งแต่ปี ค.ศ. 1911 มาจนถึงเรื่องล่าสุดคือ
ยัง กันส์ ภาคสอง ในปี ค.ศ.1990 รวมทั้งหมด 46 เรื่อง
มากที่สุดในบรรดาหนังที่สร้างเป็นเรื่องชีวประวัติ)
ทุกวันนี้ มีแม้กระทั่งชมรมคนรัก บิลลี่ เดอะ
คิด ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เรื่องราว
และข้อคิดเห็นต่างๆ ให้กับผู้ที่สนใจ
และเป็นธรรมดา ที่ความเห็นย่อมจะไม่ค่อยสอดคล้องกันนัก
(อย่างที่ได้เคยเกริ่นไปบ้างแล้วในตอนก่อนนั่นแหละครับ)
ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า บิลลี่เป็นพวกฆาตกรบ้าเลือดที่ชอบใช้ความรุนแรง
เป็นอาชญากรวัยรุ่นที่เสียคนมาตั้งแต่แต่เด็ก สันดานชั่วร้ายฝังลึก ยากเกินกว่าจะแก้ไขให้กลับมาเป็นคนดีได้
เป็นพวกหลงผิด ไม่ยอมรับนับถือกฎหมาย
ทำการปลุกระดมมวลชนให้ลุกฮือขึ้นต่อต้านเป็นขบถต่อรัฐบาล หากปล่อยทิ้งไว้ บ้านเมืองก็จะไม่สงบ
มีแต่ความวุ่นวายไร้ระเบียบ ถือเป็นผู้ก่อการร้าย ที่บ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ และเป็นภัยต่อสังคม
ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า
บิลลี่เป็นเด็กหนุ่มที่ถึงแม้จะด้อยการศึกษา แต่ก็เป็นผู้มีอุดมการณ์สูง
ทนเห็นการกดขี่ขูดรีดชาวบ้านโดยพวกนายทุนขุนนางไม่ได้
ต้องการแก้ไขความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างจริงจัง
จึงทำสงครามประชาชนต่อสู้เพื่อล้มล้างรัฐบาลทรราชย์ และความไม่มีประสิทธิภาพของระบบกฎหมาย
โดยไม่เคยยอมจำนนต่ออิทธิพล อำนาจมืด หรืออำนาจเงินตราใดๆทั้งสิ้น ถือเป็นวีรบุรุษ
ผู้สมควรได้รับการยกย่องอย่างแท้จริง
ผมเองยังไม่ค่อยอินกับทั้ง 2 ฝ่ายนัก
(หรือเรียกว่ายังไม่โดนใจก็คงจะได้นะครับ) เพราะมานึกได้ว่า
ในช่วงชีวิตที่ผ่านมาก็เคยได้ยินได้เห็นวีรชนนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและประชาชน
ผู้โด่งดังในหน้าหนังสือพิมพ์เพราะความกล้า ยืนหยัดมีเพียงท่อนไม้และก้อนอิฐในมือ ท้าทายอาวุธทั้งหนักและเบาของทหารและตำรวจ
นอกจากนั้น ยังมีผู้กล้าอีกจำนวนมาก ที่เคยหนีเข้าป่าเพื่อจับปืนขึ้นต่อสู้อำนาจรัฐ
มาบัดนี้ หลายคนกลับกลายเป็นพ่อค้านักธุรกิจ หรือไม่ก็นักการเมืองในสังกัดพรรคทุนนิยมที่ชอบผูกขาดไปเสียเองแล้ว
ทั้งๆที่สมัยก่อนก็เคยด่าว่าเขาเป็นพวกนายทุนขุนศึกศักดินา
เป็นสุนัขรับใช้จักรวรรดินิยม ฯลฯ จนถูกทางการตราหน้าให้บ้างว่า
เป็นผู้นำขบวนการนักศึกษาหัวรุนแรง ผู้หลงผิดและฝักใฝ่ลัทธิชั่วร้ายทำลายชาติ
จึงได้แต่เพียงนึกเรื่อยเปื่อยต่อไปครับว่า
หากคาวบอยเล็กพริกขี้หนูรายนี้ สามารถประคองตัวเอาชีวิตรอดไปได้อีกอย่างน้อยซัก
20-30 ปี ละก็
ถึงวันนี้ เราจะรู้จัก บิลลี่ เดอะ คิด
กันในหน้าตาท่าทาง และพฤติกรรมแบบไหน
มาร์แชลต่อศักดิ์
กรกฎาคม 2545