จอห์น เว้สลี่ย์ ฮาร์ดิน มือปืนปัญญาชนโรคจิต (1/2)


ท่านผู้อ่านได้รับฟังเรื่องราวของคาวบอยในยุคพิชิตตะวันตก ผู้มีบทบาทโดดเด่นกันมาหลายรายและหลายแง่มุม หากลองพินิจพิจารณาถึงพฤติกรรมของแต่ละคนแล้ว ถึงจะแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ในภาพรวมก็คงจะเห็นตรงกันได้อย่างหนึ่งนะครับว่า ถึงจะเก่งกล้าสามารถในเชิงฝีมือการต่อสู้สักขนาดไหน มีพฤติกรรมส่วนตัวและผลงานต่อส่วนรวมในด้านดีหรือด้านร้ายอย่างไรก็ตาม

ในที่สุดแล้ว กระแสสังคมในแต่ละยุคสมัยเท่านั้น ที่จะเป็นผู้ตัดสินชี้นำเองว่า ใครเป็นพวกผู้ดี หรือผู้ร้าย

รื่องกระแสสังคมนี่ บางทีก็เอาใจลำบากเหมือนกันนะครับ และดูจะเปลี่ยนไปได้ตามกาลเวลาเสียด้วย

ยกตัวอย่างเช่น การเข้าป่าล่าสัตว์ไงครับ แต่ก่อนถือเป็นกีฬาของพวกผู้ดีมีอันดับ หรือผู้มีน้ำใจนักกีฬากล้าหาญอดทน รักธรรมชาติและเกลียดความอยุติธรรมเท่านั้น

แต่เดี๋ยวนี้ ใครขืนแบกปืนเข้าป่าไปล่าสัตว์ หรือประกาศตัวเป็นนักนิยมไพรอีกละก็ ต่อให้ตีฟอร์มผู้ดี มีใจรักสายลมและแสงแดด เกลียดการดูถูกเหยียดหยามสักขนาดไหน ก็ต้องถูกประณามหยามเหยียด ว่าเป็นผู้ร้ายแน่

แต่ถึงกระนั้น ก็ต้องยอมรับว่า ชัดเจนเป็นมาตรฐานหนึ่งเดียวกันดีนะครับ ไม่ดูอึกอัก กลืนไม่เข้าคายไม่ออกบอกไม่ถูก เหมือนตัวอย่างอื่นๆ เช่นพวกครูบาอาจารย์ แพทย์ นักบวช ที่เรามักคิดกันว่า ไม่ว่ายุคสมัยจะผ่านไปนานเท่าใด บุคคลเหล่านี้ก็ควรจะต้องดำรงตนเป็นผู้ดี มีพฤติกรรมเป็นที่น่ายกย่องนับถืออยู่เสมอ (โปรดอย่าถามต่อนะครับว่า อ้าว แล้วพวกตำรวจทหาร หรือนักการเมืองล่ะ เดี๋ยวจะหัวเราะกันกลิ้งเสียเปล่าๆ)

พอชักเริ่มสงสัยเข้าจริงๆจังๆว่า แล้วจะแยกยังไง ว่าใครเป็นผู้ร้ายใครเป็นผู้ดี ผมก็เกิดนึกถึงคำจำกัดความของผู้ร้ายประเภทต่างๆ ที่เคยอ่านพบจากข้อเขียนของนักเขียนอาวุโสท่านหนึ่ง คือ นายแพทย์ เสนอ อินทรสุขศรี

ท่านเขียนได้เฉียบคม มีอารมณ์ขัน แต่แฝงด้วยสาระ แถมเป็นอมตะใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย ถึงแม้ว่าท่านจะเขียนเอาไว้ตั้งแต่เมื่อเกือบ 40 ปีก่อนก็ตาม

ขออนุญาตนำมาลงเผยแพร่ไว้ ณ ที่นี้ เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านอีกครั้งหนึ่งนะครับ (อาจจะตกหล่นไปบ้างนิดหน่อย ตามความสามารถในการจดจำ) คือ คุณหมอท่านแบ่งผู้ร้ายออกไว้เป็น 3 ประเภท

1. “ผู้ร้ายผู้ดีคือผู้ร้ายที่ทำตัวเป็นผู้ดี พวกนี้พบแต่ในหนังสืออ่านเล่นหรือนิทาน มีพฤติกรรมตั้งแต่ลักเล็กขโมยน้อยไปจนถึงปล้นเอาเงินคนมีมาให้คนจน  โกหกทั้งเพใครมันจะลงทุนยอมเสี่ยงขนาดนั้น ถ้าทำได้ก็เก็บไว้เองหมด คนลงว่ามีเงินแล้วไม่ว่ากี่ล้านมันพอเสียเมื่อไหร่ เอาเหอะอาจจะยอมให้อย่างมากก็ซักสี่ซ้าห้าสิบบาท นอกนั้นเก็บไว้เองหมด

2. “ผู้ดีผู้ร้ายคือผู้ดีที่เป็นผู้ร้าย พวกนี้ดูเหมือนจะเห็นได้มากและมีจริงๆ ไม่ต้องยกตัวอย่าง คิดเอาเองเป็นการบ้านแล้วไม่ต้องส่งมา

3. “ผู้ร้ายผู้ร้ายคือผู้ร้ายที่เป็นผู้ร้ายโดยไม่ต้องเสียเวลาทำตัวเป็นผู้ดี เพราะถือคติว่าเวลาเป็นของมีค่า พอคลอดออกมาก็เป็นผู้ร้ายโดยกำเนิด โดยการศึกษา และโดยอาชีพไปเลย

สำหรับ จอห์น เว้สลี่ย์ ฮาร์ดิน หรือที่ชาวบ้านมักเรียกสั้นๆว่า เว้ส ฮาร์ดิน คาวบอยประจำฉบับนี้ ก็นับว่าเป็นอีกผู้หนึ่งเหมือนกัน ที่มีฝีมือในการใช้ปืนผาหน้าไม้อย่างชำนาญ สังหารคู่อริไปไม่น้อยกว่า 40 ศพ จึงไม่สามารถหนีพ้นกระแสคำวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมไปได้

ภาพถ่ายอย่างเป็นทางการ
อันเป็นที่รู้จักแพร่หลายที่สุด
ของ จอห์น เว้สลี่ย์ ฮาร์ดิน
ในมาดที่ดูเป็นผู้ดี

และด้วยผลงานก่อกรรมทำเข็ญขนาดนี้ เป็นผลให้กระแสสังคมไม่ว่ายุคใดสมัยไหน ย่อมจะทำใจเข้าข้างได้ยาก 

ถึงแม้เจ้าตัวจะยืนยันอย่างหนักแน่น และท้าพิสูจน์มาตลอดชีวิตว่า ตนเองไม่ใช่ผู้ร้าย เพราะไม่เคยสังหารผู้ที่ไม่สมควรจะถูกสังหาร 

ใครก็ตามที่ถูกตนสังหาร ถือเป็นผู้สมควรตายทั้งนั้น (เจ้าตัวเขียนไว้ว่า “I never killed anyone who didn’t need killing”)

เรียกว่า ใหญ่กว่าพระเจ้าอีกนะครับ หากกลับชาติมาเกิดใหม่ได้ยุคนี้ คงได้กลายเป็นคนโปรด ไม่ก็มือขวาของท่านผู้นำ(สหรัฐฯ) รับอาสาไปดวลกับซัดดัมตามคำท้าทายแน่

ภาพถ่ายอย่างเป็นทางการ
อีกภาพหนึ่งของ
จอห์น เว้สลี่ย์ ฮาร์ดิน
(ในมาดที่ดูเป็นผู้ร้าย ?) 

แต่กระนั้น ก็ยังอุตส่าห์มีผู้เห็นอกเห็นใจ พยายามใช้หลักสังคมศาสตร์และจิตวิทยา ช่วยวิเคราะห์เรื่องสิ่งแวดล้อม และภูมิหลังของ เว้ส ฮาร์ดิน ผู้เติบโตมาในช่วงสงครามกลางเมืองของสหรัฐฯ ที่ฝ่ายใต้กลายเป็นผู้แพ้ ต้องยอมให้ฝ่ายเหนือ หรือที่ชาวใต้เรียกว่าพวกแยงกี้ เข้ามายึดครองบ้านเมือง

และด้วยความต้องการที่จะแสดงอำนาจของผู้ชนะ กองกำลังฝ่ายเหนือก็ใช้อำนาจปกครองบ้านเมืองแบบกดขี่ด้วยกำลัง 

เป็นผลให้ชาวใต้ผู้รักศักดิ์ศรี และยังมีเลือดนักสู้อยู่อย่างเต็มเปี่ยม เกิดความเคียดแค้น ต้องการตอบโต้พวกแยงกี้ด้วยความรุนแรง ถึงจะแพ้สงครามอย่างเป็นทางการไปแล้วก็ตาม

สรุปว่า เว้ส ฮาร์ดิน เป็นเพียงผลผลิตคนหนึ่งจากสภาพแวดล้อมนี้ ถ้าลองอ่านหนังสืออัตตชีวประวัติที่แกเขียนไว้ หลังจากออกจากคุก และสอบเป็นเนติบัณฑิตได้แล้ว จะเข้าใจดี (ใช่ครับเขียนไม่ผิดหรอกครับ ติดคุกแล้วออกมาสอบได้เป็นเนติบัณฑิต ประกอบอาชีพทนายความจริงๆ)

ฟังได้หรือรับไม่ได้อย่างไร ลองมาติดตามดูกันนะครับ

เว้ส ฮาร์ดิน เกิดเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ค..1853 ที่เมือง บอนแฮม (Bonham) ทางตอนเหนือของรัฐเท็กซัส เป็นลูกคนที่สองจากจำนวนทั้งหมด 8 คน ของครอบครัวผู้เคร่งครัดในศีลธรรมและศาสนา

พ่อของเว้สชื่อเจมส์ (James) เป็นนักบวชและครูสอนวิชากฏหมายในโรงเรียนของหมู่บ้าน แม่ชื่อเอลิซาเบ็ธ (Elizabeth) เป็นสุภาพสตรีจากครอบครัวที่มีการศึกษาและฐานะดี

แผนที่สหรัฐอเมริกา
และตำแหน่งที่ตั้งของรัฐเท็กซัส (ระบายสีเข้ม)
 

ตระกูลฮาร์ดิน เป็นตระกูลที่มีเกียรติประวัติ และเป็นที่นับหน้าถือตาในหมู่ชาวเท็กซัส เนื่องจากบรรพบุรุษของเว้ส เป็นผู้ร่วมรบในสงครามประกาศอิสรภาพของเท็กซัส ให้พ้นจากการปกครองของประเทศเม็กซิโก

ปู่ของเว้ส ก็เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาของสาธารณรัฐเท็กซัส และลุงคนหนึ่ง ก็เป็นผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ ประกอบคุณงามความดีจนทางราชการตั้งชื่อมณฑลแห่งหนึ่ง ทางภาคตะวันออกของเท็กซัส ให้เป็นเกียรติตามนามสกุลว่า มณฑลฮาร์ดิน

ครอบครัวฮาร์ดินย้ายถิ่นฐาน ไปปักหลักอยู่ที่ซัมพ์เตอร์ (Sumpter) เมืองเล็กๆในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเท็กซัส
เว้สเข้าเรียนหนังสือ ในโรงเรียนที่พ่อของตนเป็นเจ้าของ เติบโตเป็นหนุ่มหล่อรูปร่างสูงโปร่ง

และฉายแวว ความเป็นผู้นำด้วยการริเริ่มจัดกิจกรรมนักเรียนหลายอย่าง ตั้งแต่วิ่งแข่ง มวยปล้ำ และยิงปืน (สมัยก่อนเด็กนักเรียนชาวเท็กซัสพกปืนกันทุกคน ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาๆของสมัยนั้น บ้านเราเพิ่งจะมาคิดเอาอย่างกัน)

เว้สเริ่มออกอาการดุเดือดให้ใครๆเห็น เมื่อรับคำท้าลงแข่งมวยปล้ำ กับเพื่อนนักเรียนคนหนึ่งชื่อ ชาร์ลส สโลเต้อร์ (Charles Sloter) ผู้อายุมากกว่า และตัวโตกว่า

ปล้ำกันไปพักหนึ่ง เว้สก็สามารถล้มชาร์ลสลงได้ ทำให้ชาร์ลสไม่พอใจ หันไปคว้ามีดมาไล่แทงตอบ

เว้สล่าถอยเพียงชั่วครู่ ก็มีคนโยนมีดมาให้บ้าง

ทั้งสองรี่เข้าแทงฟันใส่กันอุตลุด ได้แผลมาคนละหลายแผล

ในที่สุด ชาร์ลสวิ่งหนีกลับบ้านไปก่อน พร้อมเลือดโชก ส่วนเว้สแค่ลงไปล้างแผลในคลองหลังโรงเรียน

วันต่อมา พ่อแม่ของชาร์ลสเข้ามาฟ้องคณะกรรมการโรงเรียน และแจ้งความกับเชอร์ริฟ แต่เว้สรอดพ้นข้อกล่าวหาทั้งหมด ถูกตัดสินว่าไม่ผิด หลังจากเพื่อนๆและผู้เห็นเหตุการณ์ทุกคน ออกมาช่วยยืนยันว่า เป็นการป้องกันตัว

สงครามกลางเมือง ระหว่างฝ่ายใต้และฝ่ายเหนือที่ปะทุขึ้นในปี ค.ศ.1861 และดำเนินต่อไปถึง 4 ปี สร้างความโกรธเกลียดพวกแยงกี้ให้กับเว้สมาก ถึงขนาดชักชวนญาติสนิทคนหนึ่งชื่อ แมนนิ่ง คลีเม้นต์ส (Manning Clements) ไปสมัครเป็นทหารจะออกรบ

ภาพเขียนแสดงการรบฉากหนึ่ง
ของสงครามกลางเมืองในสหรัฐฯ
มองเห็นกองทัพฝ่ายใต้กำลังชูธง
บุกเข้าโจมตีทหารฝ่ายเหนือ 

แต่ถูกพ่อของตนไปตามกลับมาเสียก่อน พร้อมสั่งสอนว่า ตัวแค่นี้ อยู่ทำประโยชน์อย่างอื่นที่บ้านดีกว่า จะหาเรื่องรีบไปตายทำไม

เว้สยอมตามอย่างเสียไม่ได้ และด้วยความเกลียดชังพวกแยงกี้ แบบเหนียวแน่นฝังใจ จึงใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ (ไม่รู้ว่าประชดพ่อด้วยหรือเปล่า) ด้วยการทำหุ่นฟาง จำลองตัวประธานาธิบดีลินคอล์นของฝ่ายเหนือขึ้นมา เอาไว้ใช้เป็นเป้าซ้อมยิงปืนเพื่อฝึกฝนความแม่นยำ 


ประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น
ของสหรัฐฯ ในยุคสงครามกลางเมือง

ก่อนจะนำไปเผาทิ้งอย่างสะใจ หลังจากยิงเสียจนพรุนขาดวิ่นไปหมดทั้งตัวแล้ว

หมดตัวหนึ่ง ก็ทำตัวใหม่ขึ้นมา ยิงไปเผาไปอย่างนี้เรื่อยๆ จนกลายเป็นนักแม่นปืนประจำหมู่บ้าน

สงครามจบลงอย่างเป็นทางการ เมื่อปี ค.ศ.1865 พร้อมด้วยความขมขื่นของชาวใต้จำนวนมาก ผู้ไม่สามารถทำใจยอมรับความพ่ายแพ้

พลเอก โรเบิร์ต อี. ลี แม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้
ลงนามยอมแพ้ต่อกองทัพฝ่ายเหนือ
เมื่อวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1865

เว้สเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น และพาตัวเองไปสู่คดีอุกฉกรรจ์ กลายเป็นคนนอกกฎหมายในปีเดียวกันนั่นเอง เมื่ออายุได้เพียง 12 ปี

เหตุเกิดขึ้นในไร่อ้อยของลุง หลังฤดูเก็บเกี่ยว

เว้สกับลูกพี่ลูกน้องอีกคนหนึ่ง ท้าปล้ำกับอดีตทาสผิวดำตัวใหญ่มากชื่อ เม้จ (Mage) แบบสองต่อหนึ่ง

ระหว่างปล้ำติดพัน แหวนที่เว้สใส่อยู่ ดันไปข่วนโดนหน้าของอดีตทาสผิวดำผู้นั้น เป็นแผลยาวโดยไม่เจตนา

เกิดการชกต่อยขึ้น แบบจริงๆจังๆ อย่างดุเดือด

เม้จ ซึ่งบัดนี้ไม่ได้อยู่ในฐานะทาสอีกแล้ว หลังจากฝ่ายเหนือผู้ชนะสงครามประกาศเลิกทาส 

ถือว่าตัวไม่ได้เป็นเบี้ยล่างของคนขาวอีกต่อไป 

ออกอาการโกรธจัด เมื่อถูกคนดูช่วยกันรุมจับแยกออกมา แถมยังถูกลุงของเว้ส ไล่ออกไปให้พ้นจากไร่

จึงทิ้งคำอาฆาตไว้ว่า ฝากไว้ก่อนเหอะไอ้เว้ส เจอกันคราวหน้าไม่รอดแน่

วันรุ่งขึ้น ขณะเว้สกำลังขี่ม้าออกจากไร่ ก็พบเม้จเดินสวนทางมา ถือท่อนไม้ดุ้นใหญ่มาด้วย ส่งเสียงดังตะโกนสั่งว่า ลงจากหลังม้ามาเดี๋ยวนี้นะไอ้เว้ส วันนี้ตายแน่

พอเห็นเว้สทำไม่สนใจและไม่ยอมหยุด เม้จก็เดินรี่เข้ามา คว้าบังเหียนม้ายึดไว้ไม่ให้ไปไหน และพยายามจะตีเว้สด้วยท่อนไม้

แต่เว้สไม่ใช่ไอ้หวัง จึงชักปืนออกมายิงใส่เม้จ 1 นัด ถูกเม้จผงะถอยหลังออกไป แต่แล้วก็รี่กลับเข้ามาจะตีอีก

เว้สยิงซ้ำอีกนัด แต่ก็ยังหยุดเม้จไม่อยู่

เป็นอย่างนี้จนเว้สยิงนัดที่ห้า เม้จถึงได้ลงไปนอนเลือดท่วมตัวอยู่กับพื้น

ลุงและญาติคนอื่นๆที่ไร่ ตามเสียงปืนออกมาดู แต่ไม่สามารถช่วยชีวิตเม้จได้ทัน จึงเร่งปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดี

เมื่อพ่อของเว้สทราบข่าวนี้เข้า ก็มองสถานการณ์ออกทันที่ว่า เว้สจะต้องถูกฝ่ายบ้านเมือง ซึ่งขณะนี้ถูกปกครองโดยพวกแยงกี้ จับกุมในข้อหาฆ่าคนตายแน่

และเนื่องจากเป็นการฆ่าคนผิวดำ ซึ่งพวกแยงกี้เพิ่งจะปลดปล่อยให้พ้นความเป็นทาสจากพวกฝ่ายใต้ คดีนี้จะต้องกลายเป็นคดีตัวอย่างทางการเมือง ที่เว้สไม่มีทางรอดเด็ดขาด จึงแนะนำให้ลูกชายหนีไปหลบซ่อนตัวเสีย

ไม่นานต่อมา มีทหารม้าฝ่ายเหนือ  3 คน แวะมาถามหาเพื่อจะจับตัวเว้ส พอทราบว่าไม่อยู่บ้าน ก็ออกติดตามหาต่อไป

เว้สแทนที่จะรีบหนีต่อไปไกลๆ หลังจากญาติแอบมาส่งข่าว กลับถามว่า พวกที่จะมาจับตัวนั้น มุ่งหน้าไปทางไหน

พอรู้ทิศแล้ว ก็รีบออกติดตามไปเพียงคนเดียว พร้อมปืนพกคู่ใจ มีดเล่มหนึ่ง และลูกซองแฝดอีกกระบอกหนึ่ง กะดักซุ่มโจมตี แบบไม่เกรงกลัวฝ่ายตรงข้ามที่มีจำนวนมากกว่าเลยสักนิด

เว้สสังหารทหารม้าทั้ง 3 คนได้หมด เริ่มจากการลอบยิง จนถึงสู้กันแบบประชิดตัวด้วยมีด จากนั้นก็ไปตามญาติๆ ขอแรงมาช่วยฝังศพกลบเกลื่อนหลักฐาน

แถมกล่าวทิ้งท้ายอย่างสะใจอีกว่า ...ไม่เคยคิดสงสารไอ้พวกที่จะมาจับตัวฉันไปทรมานแล้วประหารเลยจริงๆ…”

แปลกดี ที่เรื่องนี้กลับเงียบหายไปเฉยๆ ไม่มีเจ้าหน้าที่มาตามรังควานอีก

ถึงปีถัดมา เว้สเริ่มรู้สึกมั่นใจว่าปลอดภัยแล้ว จึงกลับมาอยู่กับพ่อ ซึ่งขณะนี้ย้ายไปเป็นครูใหญ่ ของโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งที่เมืองพิสกา (Pisga) ในภาคเหนือตอนล่างของเท็กซัส

และที่แปลกยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีกก็คือ คณะกรรมการโรงเรียนลงมติ ตกลงว่าจ้างเว้ส ผู้มีคดีฆ่าคนตายติดตัวอยู่ถึง 4 ศพ เข้าทดลองงานเป็นครูสอนวิชาอ่านอังกฤษ เขียนอังกฤษ และเลขคณิต ให้กับเด็กนักเรียน ซึ่งบางคนอายุมากกว่าตัวเสียด้วยซ้ำ

เมื่อครบสามเดือน ปรากฎว่าผลงานเข้าตากรรมการ ทางโรงเรียนจึงเตรียมบรรจุเข้าเป็นอาจารย์ประจำ

แต่ไอ้หนุ่มเว้ส กลับปฏิเสธ บอกกับพ่อว่า ไม่ชอบงานสอนหนังสือ ขอเปลี่ยนไปต้อนวัวกับพวกญาติๆ สนุกกว่า

ใครเคยไปเท็กซัส จะต้องได้ยินคำขวัญอย่างไม่เป็นทางการ ที่คนพื้นเมืองชอบกล่าวอวดผู้มาเยือนอย่างภาคภูมิใจว่า “Nowhere but Texas! หรือ ไม่มีที่ไหนสู้เท็กซัสได้หรอกเฟ้ย!

หากท่านอ่านมาถึงตรงนี้ คงพอเข้าใจได้แล้วว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น (และโปรดอย่าเพิ่งรีบตอบเป็นเสียงเดียวกันเสียก่อนนะครับว่า แถวบ้านเรานี่ สู้เขาได้ถมไป...)

เว้สไปจับกลุ่มกับญาติๆรุ่นเดียวกันหลายคน ใช้ชีวิตคาวบอย ต้อนวัวไปขายยังที่ต่างๆอย่างสนุกสนาน แต่แล้วเกิดเป็นเรื่องขึ้นมาอีก เมื่อบางคนไปมีเรื่องกับพวกทหารฝ่ายเหนือเข้า จนถูกตามล่า

เว้สไม่เคยละเลยที่จะช่วยเหลือ และเมื่อรู้ว่าฝ่ายตรงข้ามเป็นพวกแยงกี้ ก็เข้าช่วยยิงต่อสู้และสังหารไปเสีย 2 ศพ ก่อนจะหลบหนี กลับไปหลบซ่อนตัวอยู่ในไร่อ้อยของลุง ที่เมืองซัมป์เตอร์อีกครั้ง

ระหว่างนี้ ก็เริ่มประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเอง ด้วยการค้าขายหนังสัตว์ ฝ้าย วัว และพนันม้าแข่งไปพลางๆ

พอเวลาล่วงมาถึงปี ค.ศ.1869 ชื่อของ จอห์น เว้สลี่ย์ ฮาร์ดิน ก็ปรากฏอยู่ในบันทึกของทางการทุกฉบับ และเป็นที่จดจำกันดีของบรรดาเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของเท็กซัสทุกคน ในฐานะบุคคลอันตรายที่สุดแห่งภาคตะวันออก

ฆ่าคนตายไปครึ่งโหลแล้ว ทั้งๆที่เพิ่งอายุเพียง 16 ปี

ในปีเดียวกัน เอ็ดมันด์ เจ. เดวิส (Edmund J. Davis) นักการเมืองชาวเท็กซัส ผู้แปรพักตร์ไปเข้ากับพวกแยงกี้ ได้รับการสนับสนุนเต็มที่ทุกรูปแบบ ทั้งจากพรรครีพับลิกัน (อันเป็นพรรคการเมืองที่ถือกันว่าเป็นของคนเหนือ) และจากกองทัพฝ่ายปกครอง (ก็ของคนเหนืออีกนั่นแหละครับ) ให้ได้รับเลือกตั้ง เป็นผู้ว่าการรัฐเท็กซัสคนแรกหลังสงคราม

ผู้ว่าฯเดวิส สนองตอบความต้องการของพวกนักการเมืองแยงกี้ และพรรครีพับลิกัน ผู้ต้องการแสดงผลงานว่า สามารถสร้างความสงบเรียบร้อยทางสังคม ความมั่นคงของรัฐ และเสถียรภาพทางการเมือง (ถ้าเป็นสมัยนี้ คงต้องใช้คำว่า บริบูรณ์บาล์ม...ขอโทษไม่ใช่ครับ...ต้องใช้คำว่า บูรณาการ) ขึ้นในรัฐเท็กซัส อันเป็นดินแดนที่พวกนี้เห็นว่า มีแต่พวกนักเลงปืนหัวดื้อผู้ชอบใช้ความรุนแรง

ด้วยการประกาศนโยบายเร่งกำจัดผู้มีพฤติกรรมต่อต้าน และเป็นปฏิปักษ์ต่อฝ่ายปกครองทุกคน อย่างไม่ไว้หน้าใคร

เพื่อให้การดำเนินงานในเรื่องนี้ บรรลุผลอย่างรวดเร็ว อย่างไม่ต้องไว้หน้าใครจริงๆ ผู้ว่าฯเดวิสก็ใช้อำนาจจัดตั้งหน่วยตำรวจพิเศษขึ้น ใช้ชื่อว่า ตำรวจแห่งรัฐเท็กซัส” (Texas State Police) ประกอบด้วยพวกนักเลงหัวไม้และอันธพาลทั้งนั้น ขึ้นมาทับซ้อนกับ เท็กซัส เรนเจ้อร์ส (Texas Rangers) อันเป็นหน่วยงานตำรวจเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ.1835

และใช้กำลังตำรวจของตนเองที่ตั้งขึ้นมาใหม่นี้ เป็นเครื่องมือคอยติดตาม ปราบปรามผู้ที่ตนเห็นว่า เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ

เว้ส จึงกลายเป็นผู้ที่หน่วยตำรวจแห่งรัฐเท็กซัสต้องการตัวมากที่สุด แต่ก็ไม่เคยจนมุมเลยสักครั้ง ไม่ว่าจะไปมีเรื่องมีราวกับใครที่ไหน แม้ทางตำรวจจะออกประกาศจับอย่างเป็นทางการ ก็ยังคงคว้าน้ำเหลว

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเว้สได้รับอานิสงส์จากเครือข่ายญาติมิตรที่มีอยู่มากมาย และจากบรรดาชาวบ้าน ที่แอบยกย่องนับถือเว้ส ว่าเป็นเสมือนตัวแทนชาวใต้ผู้กล้าหาญ ไม่ยอมก้มหัวให้พวกแยงกี้ผู้ยึดครอง

เมื่อใดก็ตาม ที่มีกำลังตำรวจ หรือพวกสายสืบมาเพ่นพ่านหาข่าวในพื้นที่ เว้สก็จะได้รับแจ้งเบาะแส จากญาติสนิทมิตรสหายเหล่านี้ และหลบหนีเอาตัวรอดไปได้ก่อนทุกครั้ง

พอเริ่มมั่นใจว่า ยังไงๆก็ไม่มีทางถูกจับ เว้สก็ทำตามแนะนำของพ่อ หันกลับมาเรียนหนังสืออีกครั้ง

หนนี้ตามพี่ชายชื่อโจ (Joe) ไปเข้าเรียนในโรงเรียนสอนวิชากฏหมายชั้นต้น ของศาสตราจารย์ลันดรัม (Professor Landrum) อยู่ที่เมืองหินกลม หรือ ราวนด์ ร็อค (Round Rock)

เริ่มเรียนไปได้เพียงวันเดียว พ่อก็ส่งข่าวบอกว่า พวกตำรวจกำลังมุ่งหน้ามาทางเมืองนี้ เว้สจึงต้องออกจากห้องเรียน ไปหลบซ่อนตัวอยู่ในป่า

แต่ยังคงพากเพียรเรียนต่อไป โดยมีพี่ชายมาช่วยติวหนังสือให้ถึงที่ซ่อนตัวเป็นประจำ จนเชื่อมั่นว่าตัวเองมีความรู้ดีแล้ว ก็ขออนุญาตกลับเข้ามาสอบเทียบที่โรงเรียน

ผลปรากฏว่า สอบผ่านหมดทุกวิชาในครั้งเดียว และต้องรีบทำพิธีรับประกาศนียบัตรจากอธิการบดี อย่างฉุกละหุกบนหลังม้า 

ก่อนจะควบหนีพวกตำรวจ ที่กำลังมุ่งหน้าเข้ามาตามจับตน สามารถเอาตัวรอดไปได้อย่างหวุดหวิดเช่นเคย (ครับ ไม่มีที่ไหนเหมือนเท็กซัสอีกแล้ว)

ถึงต้นปี ค..1871 พ่อของเว้สก็มีความเห็นว่า ตราบใดที่พรรครีพับรีกันของพวกแยงกี้ ยังปกครองเท็กซัสอยู่ คงไม่ยอมปรานีกับผู้ที่ทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลเป็นอันขาด

หากเว้สเกิดพลาดท่า ถูกจับได้เมื่อไรละก็ จะไม่มีทางได้รับการพิจารณาอย่างยุติธรรมแน่ รังแต่จะต้องถูกจับใส่กระสอบถ่วงน้ำแต่เพียงอย่างเดียว

คงต้องรอให้พรรคเดโมแครต อันมีฐานเสียงอยู่ทางใต้ ได้กลับมาเป็นรัฐบาลเสียก่อน ถึงจะมีโอกาสได้ต่อสู้คดีอย่างสมศักดิ์ศรี ตามครรลองของกระบวนการยุติธรรมจริงๆ

เว้สจึงตกลงใจ ที่จะ ลี้ภัยการเมืองออกไปอยู่นอกเท็กซัสสักพัก ออกเดินทางมุ่งข้ามชายแดนทางทิศตะวันออก 

กะจะไปอาศัยอยู่กับญาติที่เมืองชรี้ฟพอร์ท (Shreveport) อันเป็นเมืองริมชายแดนของรัฐหลุยเซียน่า ติดกับชายแดนด้านทิศตะวันออกของรัฐเท็กซัส

แต่โชคร้าย ถูกตำรวจจับเสียก่อนจะไปถึงชายแดน

ความจริงตำรวจที่จับเว้สได้นั้น โชคร้ายกว่าเว้สเยอะ เพราะเป็นการจับผิดตัว นึกว่าเว้สเป็นผู้ร้ายคนอื่น ไม่รู้ว่าที่จริงแล้วคือใครและอันตรายขนาดไหน

เพราะว่า ขณะหยุดพักกลางทาง เว้สก็แอบเจรจาขอซื้อปืนโค้ลท์มาจากคนอื่นได้กระบอกหนึ่ง เอามาซ่อนไว้อย่างมิดชิดใต้เสื้อโค้ต

พอออกเดินทางต่อไม่นาน ตำรวจคนนั้นก็ถูกเว้สยิงตาย

หลังจากหลบกลับมาทักทายพ่อแม่ที่บ้าน ซึ่งขณะนี้อยู่ในมณฑลโคมานชี (Comanche County) ทางภาคเหนือตอนล่างของเท็กซัส เพียงแป๊บนึง เว้สก็รีบเปลี่ยนเส้นทางหนี มุ่งลงใต้กะจะข้ามไปเม็กซิโก

ไปได้ไม่ไกล ไม่ทันจะถึงเมืองเวโก้ (Waco) ก็ถูกตำรวจ 3 คนล้อมจับไว้ได้

แต่แล้ว โชคร้ายก็กลายเป็นของตำรวจ 3 คนนี้อีก ที่ดันเมาไปหน่อยระหว่างพักค้างแรมตอนกลางดึก เลยถูกเว้สแอบขโมยฉกปืนออกมายิงตายเกลี้ยงไม่เหลือ

เว้สมุ่งลงใต้ต่อไปถึงเมืองกอนซาเล้ส (Gonzales โปรดอย่าออกเสียงผิดเป็น ก้อนเสลด นะครับ) พบกับ แมนนิ่ง คลีเม้นต์ส ญาติคู่ซี้ตั้งแต่สมัยชวนกันไปออกรบกับพวกแยงกี้ตอนเด็กๆ

แมนนิ่งบอกเว้สว่า อย่าหนีไปเม็กซิโกเลย ข้ามไปฝั่งโน้นไม่มีญาติพี่น้องเพื่อนฝูงเหลืออยู่แล้ว

เรื่องอะไรจะต้องมาหนีหัวซุกหัวซุน สู้มาต้อนวัวขึ้นเหนือไปขายด้วยกัน ที่แอ๊บบิลีน (Abilene) ในแคนซัสกันดีกว่า

นอกจากได้มาร่วมวงกับพี่ๆน้องๆกันเองแล้ว ที่แอ๊บบิลีนยังมีอะไรสนุกๆให้ทำแยะเลยด้วย

แมนนิ่ง คลีเม้นต์ส
ผู้เป็นทั้งญาติและเพื่อนสนิท
ของ เว้ส ฮาร์ดิน
 

ท่านผู้อ่านที่ติดตามคาวบอยกับปืนคู่ใจมาตลอด คงยังจำได้นะครับว่า เมืองแอ๊บบิลีนในปี ค.. 1871 คือเมืองศูนย์กลางการค้าขายปศุสัตว์ และเป็นจุดเริ่มต้นของการขนส่งทางรถไฟ จากตอนกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา ไปยังดินแดนที่เจริญกว่าทางตอนเหนือ

ภาพตัวอย่างแสดงชีวิตและการทำงานของพวก
คาวบอยเท็กซัส ระหว่างการต้อนวัวไปขายยังแดนไกล
รัฐเท็กซัสทุกวันนี้ยังคงมีการทำไร่ปศุสัตว์ขนาดใหญ่
อยู่มากมายหลายแห่ง บางแห่งยอมเปิดเป็นสถานที่
ท่องเที่ยว ให้ผู้สนใจเสียเงินเข้าชมได้ด้วย

จึงเนืองแน่นไปด้วยพวกคาวบอยจากเท็กซัส ที่พากันต้อนฝูงวัวมาขึ้นรถไฟกันอย่างไม่ขาดสาย

พอเสร็จงานแล้วก่อนเดินทางกลับ ก็จะต้องมีการหยุดพักผ่อนหย่อนใจ ใช้เงินซื้อหาความสุขสำราญกันให้เต็มที่เสียก่อน ตามสถานเริงรมย์ทุกประเภทที่มีอยู่มากมาย ล้วนเปิดขึ้น เพื่อหารายได้จากแขกกระเป๋าหนักพวกนี้โดยเฉพาะ

มืองแอ๊บบิลีนในรัฐแคนซัส เป็นตลาดกลางการซื้อขาย
ปศุสัตว์ ที่ใหญ่ที่สุดของภาคตะวันตกเมื่อปี ค.ศ. 1871

และท่านคงจะนึกออกด้วยนะครับว่า มาร์แชลหรือหัวหน้าตำรวจที่เมืองแอ๊บบิลีนนี้ ไม่ใช่ใครอื่นไปได้ นอกจาก ไวลด์ บิล ฮิกค็อก สิงห์ปืนไวเจ้าของตำรับมือปราบปืนโหด 

ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง ในเรื่องความไวและแม่นแบบไร้เทียมทาน และเกลียดน้ำหน้าพวกคาวบอยเท็กซัสเป็นอย่างยิ่ง

ดังที่เคยบรรยายรายละเอียดไว้แล้วใน คาวบอยกับปืนคู่ใจ ตอน ไวลด์ บิล ฮิกค็อก ต้นแบบนักเลงปืน

ระหว่างที่บรรดาญาติๆของเว้ส กำลังไล่คล้องจับวัวป่ามารวบรวมให้เป็นฝูง ก่อนต้อนไปขายที่แอ๊บบิลีน หนุ่มเว้สในวัย 18 ได้ไปร่วมงานแต่งงานญาติคนหนึ่ง ทางสายของพวกตระกูลคลีเม้นตส์

และโดยการแนะนำของแมนนิ่ง ก็พบเข้ากับสาวสวยอายุ 16 คนหนึ่ง เจ้าหล่อนมีนามว่า เจน เบาเว่น (Jane Bowen) เป็นลูกสาวของชาวไร่ครอบครัวหนึ่ง ที่เมืองกอนซาเล้สนี้

ทั้งคู่เกิดตกหลุมรักกัน และตกลงใจทำพิธีหมั้นไว้ก่อน เว้สให้คำสัญญากับแฟนสาวว่า จะกลับมาแต่งงานทันทีที่ภารกิจเสร็จสิ้นลง

เจน เบาเว่น
หวานใจของ เว้ส ฮาร์ดิน
ขนาดรักจริงหวังแต่ง 

จากนั้น ขบวนปศุสัตว์ก็เริ่มออกเดินทาง มุ่งหน้าไปยังทิศเหนือสู่เมืองแอ๊บบิลีน

เว้สผู้มีอายุน้อยที่สุดในคณะ ได้รับการลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ จากผู้ร่วมทีมทุกคน ให้เป็นหัวหน้าคณะ

ขบวนปศุสัตว์ของเว้ส เดินทางมาถึงเมืองแอ๊บบิลีน และอีกไม่นานนัก เว้สก็จะมีโอกาสได้เผชิญหน้าอย่างจะๆกับ ไวลด์ บิล ฮิกค็อก เป็นครั้งแรก

ชื่อเสียงและบารมีของ ไวลด์ บิล นั้น ได้รับการบอกเล่าปากต่อปาก จากคาวบอยเท็กซัสผู้เคยมาเยือนเมืองแอ๊บบิลีนทุกคน 

และถ่ายทอดไปถึงหูของเว้สในที่สุด ทำให้เว้สเกิดความสนใจ ใคร่ที่จะเห็นตัวจริงเป็นอันมาก

อะไรจะเกิดขึ้น เมื่อมือปืนชั้นแนวหน้าระดับเสือ ต้องมาเจอกับสิงห์ ทั้งคู่ต่างมีผลงานมาแล้วคนละหลายๆศพ

ฝ่ายหนึ่ง เปรียบเสมือนแช้มป์เก่าหลายสมัย ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแยะ เรียกได้ว่ากำลังอยู่บนจุดสูงสุด 

อีกฝ่ายหนึ่งเปรียบเสมือนผู้ท้าชิงที่สดใหม่กว่า กำลังเร่งเครื่องแรงแซงขึ้นมาอยู่แถวหน้า ไต่อันดับไล่บี้แช้มป์เก่าอย่างเร็วเสียยิ่งกว่าภราดร

ยังไม่นับว่า นี่ถือเป็นศึกระหว่างตัวแทนฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ มีเกียรติยศศักดิ์ศรีเป็นเดิมพันด้วยอีก


ไวลด์ บิล ฮิกค็อก
มือปราบปืนโหดและหัวหน้าตำรวจ
แห่งเมืองแอ๊บบิลีน ผู้เกลียดพวก
คาวบอยจากเท็กซัสเป็นชีวิตจิตใจ 

เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป ไม่ต้องรอติดตามต่อใน กันส์ เวิลด์ ฉบับหน้าหรอกครับ ผมเล่าได้ในฉบับนี้เลย 

โดยขออ้างอิงคำบรรยายเรื่องราวการเผชิญหน้าครั้งสำคัญ ตามที่ปรากฏอยู่ในหนังสือชีวประวัติของ จอห์น เว้สลี่ย์ ฮาร์ดิน ที่ตนเองเป็นผู้เขียนขึ้นเมื่อ 20 กว่าปีถัดมา บอกว่า

ไวลด์ บิล ชักปืนขึ้นมาขู่ เพื่อจะปลดอาวุธตน 

แต่แล้วกลับเสียที ปล่อยให้ตนเล่นลูกไม้ หยิบปืนทั้งคู่ออกมาทำท่าจะส่งด้ามปืนให้ แล้วควงขวับแบบ โร้ด เอเย่นต์ สปิน ง้างนกหันปากกระบอกปืนทิ่มเข้าใส่หน้าของ ไวลด์ บิล เป็นการตอบแทน 

ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของพวกคาวบอยเท็กซัสเชียร์ว่า จัดการมันเลยอย่าปล่อยไว้

แต่ตนมีความเป็นสุภาพบุรุษพอ ที่จะไม่ทำตาม 

แถมขู่กลับพวกคาวบอยกองเชียร์ ที่ทำท่าจะเข้ามาช่วยกันรุมอัด ไวลด์ บิล อีกว่า 

นี่มันเรื่องส่วนตัว(ของอั๊ว) คนอื่นไม่เกี่ยว (พวกลื้อ)อย่ามายุ่งด้วยเป็นอันขาด ใครไม่เชื่อ จะยิงทิ้งให้ดู

หลังจากทำให้ ไวลด์ บิล แช้มป์เก่าตัวแทนพวกแยงกี้เสียหน้าได้สมใจแล้ว ก็รับคำชวนเลี้ยงเหล้าจาก ไวลด์ บิล แล้วผูกเสี่ยวเป็นเพื่อนกัน

เรื่องจริงจะเป็นตามนี้หรือไม่ ยังเป็นที่ถกเถียงกันไม่จบตราบเท่าทุกวันนี้

แม้แต่กระแสสังคม ก็ยังตัดสินให้เป็นเอกฉันท์ไม่ได้ว่า ใครเก่งกว่าใคร บอกได้อ้อมๆแอ้มแต่เพียงว่า มันก็ขี้โม้พอๆกัน(ทั้งคู่)นั่นแหละ

เว้สใช้เวลาอยู่ที่เมืองแอ๊บบิลีน วนเวียนทำธุระอยู่แถบนั้น ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมากนัก นอกเหนือจากหาเรื่องยิงกับพวกนักเลงปืนรายอื่นๆ อ้างว่าถูกโกงในวงไพ่บ้าง คนเมามันหาเรื่องก่อนบ้าง 

ถูกพวกแยงกี้มันดูหมิ่นศักด์ศรีชาวใต้ก่อนบ้าง ล้างแค้นแทนเพื่อนบ้าง ฯลฯ แล้วแต่จะแก้ตัวกันไป

สามารถลอยหน้าและลอยนวลอยู่ไปได้เรื่อยๆ โดยไม่ถูกจับหรือมีรอยขีดข่วน สร้างความปวดหัวรำคาญใจให้กับ ไวลด์ บิล และบรรดาผู้ช่วยเป็นอย่างมาก

แต่ก็มีเหตุการณ์ดวลปืน ที่ดูเหมือนจะตื่นเต้นและหวุดหวิดที่สุด อยู่รายการหนึ่งเหมือนกัน 

เมื่อเว้สไปมีเรื่องกับพวกแม็กซิกัน ผู้เป็นศัตรูคู่อาฆาตของชาวเท็กซัสมาแต่ชาติปางก่อน (อาฆาตกันอย่างไรขนาดไหน ผมจะหาโอกาสนำมาเล่าสู่กันฟังภายหลังนะครับ หากใจร้อนละก็ขอแนะนำให้ท่านลองหาภาพยนตร์เรื่อง เดอะ อลาโม หรือ The Alamo จะเป็นภาคใหม่ล่าสุด หรือภาคแรกที่สร้างและแสดงนำโดย จอห์น เวย์น พร้อมดาราประกอบระดับบิ๊กๆในยุคซิกซ์ตี้อีกมากหน้าหลายตา ดูเล่นไปพลางๆก่อน ก็จะพอได้อรรถรส)

เรื่องราวเริ่มต้น เพียงเพราะขบวนของคาวบอยแม็กซิกัน ต้อนวัวมาเบียดท้ายขบวนของเว้ส ซึ่งเคลื่อนที่ได้ช้ากว่า เพราะมีจำนวนวัวมากกว่า

พวกแม็กซิกันพยายามจะขอแซงขึ้นหน้า แต่แซงไม่ได้ เกิดเป็นปากเสียงกันขึ้น

หัวหน้าคาวบอยแม็กซิกัน ชักม้าเข้ามาหาเว้ส ด่าเว้สอย่างหยาบๆคายๆด้วยภาษาแม็กซิกัน พร้อมกับบอกว่า เดี๋ยวจะจัดการแกเสียด้วยปืนล่าสัตว์ ขอเวลากลับไปหยิบปืนที่เกวียนก่อน

เว้สปล่อยให้คู่อริชาวแม็กซิกัน ย้อนกลับไปหยิบปืนอย่างไม่เดือดร้อน

สักครู่ หัวหน้าคาวบอยแม็กซิกันก็ขี่ม้ากลับมา พร้อมปืนยาวในมือจริงๆ 

พอได้ระยะประมาณ 100 หลาห่างจากเว้ส คาวบอยแม็กซิกันก็ลงจากหลังม้า นั่งคุกเข่าเล็งปืนยาวมาที่หัวของเว้ส และยิงทันที

กระสุนวิ่งถากหัวของเว้ส ถูกหมวกของเว้สกระเด็นหลุดไป

คาวบอยแม็กซิกันพยายามยิงอีกนัด แต่ปืนเกิดมีปัญหายิงไม่ออก 

จึงชักปืนพกขึ้นมา พร้อมกับเรียกพรรคพวกอีก 6-7 คนให้มาช่วยกันรุมยิงใส่เว้ส

เวลานั้น จิม คลีเม้นต์ส ญาติอีกคนหนึ่งของเว้ส ผู้มาด้วยกันในขบวน ได้ยินเสียงปืน และทราบว่าเกิดอะไรขึ้น จึงรีบเข้ามาช่วย

เว้สมีปืนติดตัวอยู่เพียงกระบอกเดียว เป็นโค้ลท์อาร์มี่ .44 รุ่นปี ค.ศ. 1860 อันเป็นปืนพกที่ถือว่าชั้นเยี่ยมและมีอานุภาพมากที่สุดรุ่นหนึ่งในยุคนั้น

แต่ปัญหาก็คือ เป็นปืนที่ใช้งานหนักติดต่อกันมานาน จนโม่เริ่มหลวม ยิงไม่ออกถ้าไม่ใช้มือยึดลูกโม่ไว้ ให้ตำแหน่งของแก๊ปตรงเผงพอดีกับตำแหน่งนกสับ (ที่จริงเจ้าของก็เป็นนักเลงปืนตัวยง น่าจะซ่อมหรือเปลี่ยนเสียตั้งนานแล้วทำไมถึงปล่อยไว้ได้)

โค้ลท์อารมี่ .44 รุ่นปี  ค.ศ. 1860 คู่ใจของ เว้ส ฮาร์ดิน
และมือปืนดังๆอีกมากมายในยุคนั้น 

การอยู่บนหลังม้าในภาวะคับขัน แล้วยิงต่อสู้ด้วยปืนสั้น แต่ต้องใช้ทั้งสองมือ อีกมือหนึ่งคอยช่วยขยับยึดโม่ให้พอดีเปี๊ยบถึงจะยิงออกนั้น ย่อมเป็นเรื่องงุ่มง่ามและอึกอัก ชักลงติดกึกชักลึกติดกักเป็นอย่างยิ่ง

เว้สพยายามใช้วิธีดังกล่าว ยิงคู่อริ ผู้กำลังควบม้าใกล้เข้ามาทุกที ครั้งแล้วครั้งเล่าเท่าไรก็ไม่สำเร็จ

จึงตัดสินใจโดดลงจากหลังม้า มือซ้ายกำโม่ปืนขยับให้เข้าที่ กับจับม้าเอาไว้ด้วยพร้อมกันไม่ยอมปล่อย ก็ยังไม่ได้ผล

จนกระทั่งได้ยินเสียงจิมตะโกนมาว่า ปล่อยม้าไปสิ(โว้ย) แล้วจับโม่ให้แน่นๆ

เว้สจึงได้สติและทำตาม ส่งลูกปืนเปรี้ยงออกไป โดนคู่อริเข้าที่ต้นขา ชะงักลงอยู่ที่ระยะห่างออกไปเพียงสิบก้าววิ่งเท่านั้น

เว้สง้างนกกะยิงซ้ำอีกนัดหนึ่ง ก่อนจะได้ยินเสียงสปริงนกหักดังเผาะ

ปืนของจิม ซึ่งเป็นโค้ลท์รุ่นเดียวกัน ถึงจะใหม่และอยู่ในสภาพดีกว่ามาก แต่กลับไม่ได้บรรจุกระสุนไว้ และไม่มีทางที่จะบรรจุกันตรงหน้างานนั้นได้ทัน 

เนื่องจากโค้ลท์รุ่นนี้ ยังไม่สามารถใช้กระสุนแบบทำสำเร็จรูปเป็นนัดๆ (cartridge) ให้บรรจุยิงได้ทันทีอย่างรวดเร็วเหมือนในปัจจุบัน

ตรงกันข้าม ผู้ยิงต้องกรอกดินดำเข้าไปในช่องโม่เอง อัดหมอนอัดหัวกระสุนเอง ใส่แก๊ปด้วยตัวเองทีละนัด ถึงจะยิงได้

ดังนั้น สิ่งที่จิมและเว้สทำได้ดีที่สุดเพียงอย่างเดียวในยามนี้ก็คือ รีบหนีเอาตัวรอดไปให้พ้นก่อน 

ทั้งสองเร่งกลับไปเอาปืนที่ดีที่สุด ทั้งสั้นและยาว บรรจุลูกไว้เต็มที่พร้อมแล้ว จากพรรคพวกที่หัวขบวน

แล้วขนกลับมาเล่นงานพวกคาวบอยแม็กซิกัน ทั้งหัวหน้าและลูกน้องอีก 6-7 คนนั้น ตายเกลี้ยงในที่สุด

วินเช้สเต้อร์คานเหวี่ยงขนาด .44 รุ่นปี  ค.ศ. 1866
ก็เป็นที่นิยมของ เว้ส ฮาร์ดิน
และบรรดาคาวบอยร่วมสมัยในยุคนั้นอีกเช่นกัน

ถือเป็นบทเรียน สำหรับมือปืนผู้ตั้งอยู่ในความประมาทนะครับ ไม่เหมือนกับ ไวลด์ บิล ผู้ไม่เคยพกปืนติดตัวน้อยกว่าสองกระบอกเลย

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนเว้สจะยังไม่จดจำ เพราะหลังจากนั้น ก็ยังปล่อยให้ตัวเองมีปืนติดมืออยู่เพียงกระบอกเดียว แถมบรรจุลูกไว้เพียง 4 นัดเท่านั้น

ครั้งนี้ ทำให้เว้สถึงกับต้องเผ่นออกจากเมืองแอ๊บบิลีน และบอกลาไปแบบถาวร โดยไม่เคยมีโอกาสกลับมาเยี่ยมเยียนมิตรสหาย หรือฝ่ายตรงข้ามอีกเลย

เหตุเกิดขึ้นในคืนวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1871 

เว้สเข้าพักอยู่ในห้องของโรงแรมในเมือง กำลังจะเข้านอน ได้ยินเสียงฝีเท้าคนมาที่หน้าห้อง ปลดล็อคประตูแล้วแอบเปิดเข้ามา มีมีดเล่มใหญ่อยู่ในมือเสียด้วย

จึงคว้าปืนขึ้นยิงเข้าใส่หนึ่งนัด 

ชายลึกลับคนนั้นก็รีบวิ่งหนีออกนอกห้องไป โดยคว้าเอากางเกงของเว้สติดมือไปด้วย

เว้สลุกขึ้นตามไปเพียงแค่ประตูห้อง ยิงไล่หลังตามไปในความมืดอีก 3 นัด 

แล้วรีบปิดประตูห้อง ตะโกนดังๆว่า ใครขืนเข้ามาอีกเป็นโดนยิงแน่

เว้สเชื่อว่า งานนี้จะต้องเป็นอุบายของ ไวลด์ บิล ที่จะจับตัวในสภาพที่ต้องอับอายต่อสาธารณะชน (คือถูกจับได้โดยยังไม่ทันนุ่งกางเกง) 

จึงแอบเล็ดรอดปีนออกทางหน้าต่างห้องไปทั้งกางเกงใน คว้าเสื้อใส่ไปตัวนึงพอไม่ให้ดูน่าสมเพชมาก ไต่ลงข้างล่าง 

คลานหลบหลีกหนีออกไปได้ โดยอาศัยความมืดกำบัง

และระหว่างที่พวกตำรวจกับชาวบ้าน กำลังชุลมุนแห่กันเข้าไปในโรงแรม เพื่อดูเหตุการณ์หลังจากได้ยินเสียงปืน 

เว้สก็ขโมยม้าได้ตัวหนึ่ง รีบขี่ออกจากเมือง มุ่งหน้าไปยังแค้มป์ของพวกตน ที่ตั้งอยู่ห่างออกไป 35 ไมล์

ภาพเขียนแสดงบรรยากาศการตั้งแคมป์
ของพวกคาวบอย เพื่อไล่ต้อนวัวและม้าป่า
เข้ามารวบรวมให้เป็นฝูง ฝีมือ ชาร์ลส์ เอ็ม. รัสเซล
จิตรกรผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในการวาดภาพชีวิต
คาวบอยและอินเดียนในยุคพิชิตตะวันตก

อีก 4 วันหลังจากนั้น ขบวนของเว้สและบรรดาญาติๆ ก็เก็บข้าวเก็บของ ออกเดินทางมุ่งหน้ากลับสู่เท็กซัสบ้านเกิด

โดยไม่ลืม ที่จะเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหมด ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ บรรจุกระสุนเต็มพิกัด 

พร้อมเสมอที่จะต้อนรับแขกผู้ตามมาส่งโดยไม่ได้รับเชิญ หรือบรรดาผู้หวังดีทั้งหลาย 

ที่อยากจะมาตามตัวเว้สกลับไปยังแอ๊บบีลีน เพื่อร่วมงานพบปะสังหาร เฮฮาปามีดกันต่ออีกให้จบ

ไม่แน่ใจว่า ระหว่างทางจะร้องเพลงปลุกใจประเภท มาด้วยกันไปด้วยกัน เลือดเท็กซันเอ๋ย (Texan-หมายถึงชาวเท็กซัส) ไปด้วยหรือเปล่า

เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป นำมาเล่าในฉบับนี้คงไม่หมดเสียแล้วละครับ คงต้องขอให้อดใจรอฉบับหน้า ซึ่งหนุ่มเว้สจะกลับไปแต่งงานกับสาวคู่หมั้นตามสัญญา

จากนั้น ลองดูสิว่า นิสัยแบบนี้ จะอยู่ด้วยกันรอดหรือไม่ และจะนำพาครอบครัวไปสู่อะไรบ้าง ในที่สุดแล้วพลาดท่าโดนเขาจับติดคุกได้อย่างไร

แน่นอนครับ ยังมีวีรกรรม (หรือที่จริงแล้วคือเวรกรรม) และเหตุการณ์อีกมากมายอันน่าตื่นเต้นและน่าสนใจ ไม่มีที่ไหนแน่เท่าเท็กซัสอีกแล้ว จัดเต็มให้ติดตามกันอย่างเต็มที่ด้วย

จะฮากันจนดิ้นหรือไม่ดิ้นขนาดไหน โปรดอย่าพลาดตอนต่อไปของ จอห์น เว้สลี่ย์ ฮาร์ดิน มือปืนปัญญาชนโรคจิต นะครับ

มาร์แชลต่อศักดิ์
ตุลาคม 2545