ไวลด์ บิล ฮิกค็อก ต้นแบบนักเลงปืน (1/2)


ท่านผู้อ่านท่านใดมีความสามารถแสดงการใช้ปืนพกของท่านในแบบต่างๆดังต่อไปนี้บ้างไหมครับ

1. ยิงเป้านิ่งในท่ายืนระยะ 50 หลา ให้ได้กลุ่มกระสุนไม่ใหญ่กว่า 5 นิ้ว ด้วยมือข้างเดียว

ฟังดูไม่น่าเหลือบ่าฝ่าแรงนักนะครับ ฝึกซ้อมตามตำราบ่อยๆเสียหน่อยก็น่าจะทำได้ ไหนลองมาดูลำดับต่อไปบ้าง

2. ยืนอยู่ตรงกลางระหว่างเสาโทรเลข 2 ต้น ปักอยู่ห่างจากกัน 170 ฟุต (สมัยนี้เสาโทรเลขหายาก อนุโลมให้เป็นเสาไฟฟ้า แทนก็แล้วกัน) หันหน้าเข้าหาเสาต้นแรก ชักปืนออกจากซอง ยิงจากระดับเอวให้ถูกเสาภายในนัดเดียว แล้วหมุนตัวกลับยิงเสาอีกต้นหนึ่งทันที ให้ถูกภายในนัดเดียวจากระดับเอวอีกเช่นกัน (โปรดลองกับเสาที่หามาปักกันเอง อย่าทดลองกับเสาโทรเลขหรือเสาไฟฟ้าจริง เดี๋ยวจะพลอยเดือดร้อนกันไปหมดทั้งผู้ยิงผู้เขียน รวมทั้ง บ.ก.ด้วย)

อันนี้ก็น่าจะเป็นไปได้เหมือนกันนะครับ ถ้าไม่รีบมากนัก ขอเวลากะให้ดีๆหน่อยเท่านั้นเอง ถ้างั้นมาดูลำดับต่อไป

3. หาเสาขนาดเสารั้ว (ประมาณเสาไฟฟ้าอีกก็ได้) ปักไว้ห่างจากกัน 66 ฟุต คาดปืนไว้ 2 ข้าง ยืนอยู่ระหว่างกลางเสาทั้งสอง ให้เสาอยู่ซ้ายมือต้นนึงขวามือต้นนึง ชักปืนทั้ง 2 กระบอก ยิงออกทางด้านข้างพร้อมกันเข้าใส่เสาทั้ง 2 ต้นให้ถูกภายในครั้งเดียว

ชักน่าคิดใช่ใหมครับ เอาเป็นว่าข้ามไปดูแบบต่อไปก่อนก็ได้

4. โยนกระป๋องขนาด 1 ควอร์ท (อนุโลมว่า 1 ลิตร)  ขึ้นไปในอากาศ ชักปืนออกจากซองยิงให้ถูกกระป๋อง 2 นัด ก่อนที่กระป๋องจะตกลงมาถึงพื้น

ยังไม่ต้องรีบนึกก็ได้ครับว่าจะไหวหรือเปล่า เพราะไม่ใช่แค่นี้จบ ท่านต้องยิงต่อเนื่องให้ครบชุดดังต่อไปนี้ด้วย

5. พอกระป๋องที่ถูกยิงกลางอากาศ 2 รูนี้ตกถึงพื้นแล้ว ให้ใช้มืออีกข้างชักปืนอีกกระบอกหนึ่ง ยิงกระป๋องให้กระเด็นออกจากตัวท่านไปข้างหน้า จากนั้นเดินไล่ตามกระป๋องไป สลับมือยิงทีละข้างให้กระป๋องกลิ้งออกไปอีก เดินไปยิงไปเรื่อยๆ อย่าให้กระป๋องหยุดวิ่งจนกว่าลูกจะหมด

คงคิดหนักหน่อยละนะครับ และก่อนที่ท่านจะคิดออกว่าจะใช้ปืนรุ่นไหนขนาดไหนดี หรือฟันธงไปเลยว่า อย่างงี้มันต้องลูกซองซะละมัง (ถ้าหาลูกซองพกได้) เพราะต่อให้ใช้ กล็อค 18 ก็คงฝืดเต็มที

ผมขออนุญาตแถลงปิดคดีไว้ตรงนี้เลยครับว่า ทั้ง 5 แบบ 5 ข้อนี้ มีประจักษ์พยานในอดีตยืนยันเล่าขานกันต่อมามากมายว่า ไวลด์ บิล ฮิกค็อก สามารถทำได้หมด ด้วยปืนลูกโม่บรรจุ 6 นัด ซิงเกิ้ลแอ็คชั่น ขนาด .44 แบบเพอร์คัสชั่น (Percussion) ของโค้ลท์

เป็นรุ่นที่ก่อนยิงจะต้องทำการอัดดินดำ หมอน และลูกกระสุนลงลูกโม่เองจนเต็มโม่ก่อน จากนั้นเสียบแก๊ปเข้าที่ปลายลูกโม่จึงจะเสร็จพิธี  ไม่ได้ใช้กระสุนสำเร็จรูปเป็นนัดๆ (Cartridge) แบบหยอดลงไปในโม่ทีเดียวเสร็จ อย่างที่เราคุ้นเคยดีในปัจจุบัน

นี่ยังไม่นับขั้นตอนในการยิง ที่ต้องง้างนกก่อนเหนี่ยวไกทุกนัด และศูนย์เล็งที่เป็นศูนย์ตายทั้งหน้าและหลัง ไม่มีอะไรให้ปรับทั้งสิ้นด้วยนะครับ

 นิตยสาร ไวลด์ เวสท์
ฉบับเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1996
ลงภาพปกเป็นรูป ไวลด์ บิล ฮิกค็อก
กำลังแสดงฝีมือการยิงปืน 

ไวลด์ บิล ฮิกค็อก เป็นคาวบอยและมือปืนรุ่นเก๋าที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่รู้จักกันทั่วไปทั้งภายในและภายนอกประเทศของตน คือสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ตัวเองยังหนุ่มๆ ไม่ต้องรอให้แก่หรือตายไปก่อนแล้วจึงค่อยมาดังทีหลัง ดังเช่นพวกคาวบอยรุ่นน้องๆที่ผมเคยเล่าถึงไปก่อนหน้านี้

นอกจากนั้น ยังเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีคนนิยมชมชอบเท่าๆกับคนที่ไม่ชอบ มีทั้งผู้ที่เชื่อและไม่เชื่อในเรื่องราวหลายๆเรื่องเกี่ยวกับตัวเขา ที่เล่าขานต่อๆกันมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องฝีมือการยิงปืน ที่ร่ำลือกันว่าทั้งเร็วทั้งแม่นขนาดตัวอย่างที่กล่าวถึง สมควรท้าพิสูจน์กันให้เห็นประจักษ์นี่แหละครับ

พ่อของ ไวลด์ บิล ชื่อ วิลเลียม อลองโซ (William Alonzo) เป็นทั้งเจ้าของร้านโชว์ห่วยและนักบวชอยู่ที่เมืองโฮเมอร์ (Homer) ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ทรอย โกรฟ (Troy Grove) ในรัฐอิลลินอยส์ ส่วนแม่ชื่อ พ็อลลี่ (Polly)

บ้านเกิดของ เจมส์ บัทเล่อร์ หรือ ไวลด์ บิล ฮิกค็อก
ที่เมือง ทรอย โกรฟ ในรัฐอิลลินอยส์ อยู่ห่างจากเมือง
ชิคาโกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เพียง 110 กิโลเมตร 

ทั้งสองให้กำเนิดลูกชายคนสุดท้อง ในจำนวนทั้งหมด 4 คนเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ค.. 1837 อันเป็นช่วงเวลาของวิกฤตเศรษฐกิจ ต้องเลิกกิจการร้านโชว์ห่วยหันไปทำฟาร์มแทน

ทั้งพ่อและแม่พยายามเคี่ยวเข็ญทุกทาง ให้ลูกคนนี้เอาดีทางเรียนหนังสือ และอยู่ในระเบียบประเพณีอย่างเคร่งครัด

แต่ ไวลด์ บิล กลับต่อต้านความเข้มงวดนี้ ด้วยการหันไปสนใจเรื่องการผจญภัยและปืนผาหน้าไม้แทน วันๆหนึ่งพอหมดงานในไร่แล้ว ก็เอาแต่ออกหาของป่าล่าสัตว์ หาเรื่องยิงปืนฝึกฝนฝีมือตัวเอง

เดือดร้อนบรรดาสิงสาราสัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่ากระรอกกระแตกระต่าย นกหนูหมูป่าหมาจิ้งจอก ต่างตกเป็นเหยื่อสังเวยให้ ไวลด์ บิล ใช้เป็นทั้งเป้านิ่ง และเป้าเคลื่อนที่สำหรับซ้อมยิง เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมหาศาล

ชื่อจริงของ ไวลด์ บิล ตามที่พ่อแม่ตั้งให้ตั้งแต่เกิด คือ เจมส์ บัทเล่อร์ (James Butler) หรือเรียกสั้นๆเป็นชื่อเล่นแบบฝรั่งว่า จิม

ส่วนชื่อที่รู้จักกันแพร่หลายว่า ไวลด์ บิล (Wild Bill) อันมีความหมายว่า บิลระห่ำ บิลเถื่อน หรือบิลโหด อะไรทำนองนี้ เป็นชื่อที่คนอื่นตั้งให้ในภายหลัง

หลายท่านคงสงสัยใช่ไหมครับ ว่าชื่อจิมแล้วทำไมถึงเพี้ยนไปเป็นบิลได้ แล้วที่ว่า ระห่ำ เถื่อน หรือโหดนั้นมันซักขนาดไหน

คำถามหลังนั้น หากท่านติดตามอ่านไปเรื่อยๆ อีกไม่นานก็จะทราบคำตอบเอง ส่วนคำถามแรกขออุบให้ทายกันไปก่อนนะครับ แล้วผมจะเฉลยตอนท้าย (โปรดอย่ารีบพลิกไปดูเสียก่อนนะครับเดี๋ยวไม่สนุก)

 ไวลด์ บิล นิยมปล่อยผมยาวสลวย
และไว้หนวดยาวหนาเหนือริมฝีปาก
แต่ไม่ยอมไว้เครามาตั้งแต่ยังหนุ่ม
ไม่เคยเปลี่ยนแปลงสไตล์เป็นอย่างอื่น 

พออายุได้ 18 ปี ไวลด์ บิล ก็ออกจากบ้านไปเผชิญโชคในดินแดนตะวันตก ตามความนิยมของคนหนุ่มร่วมสมัย

หลังจากรับงานสัพเพเหระไปสักระยะหนึ่ง ถึงปี ค.ศ.1858 ก็เข้าทำงานเป็นลูกจ้างให้กับบริษัท โอเว่อร์แลนด์ สเตจ (Overland Stage Company) ผู้ประกอบกิจการเดินรถม้าโดยสาร บนเส้นทาง โอเรกอน เทรล (Oregon Trail) ระหว่างรัฐมิสซูรี่กับภาคตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ในตำแหน่ง พ... หรือ พนักงานขับรถนั่นเอง

เชื่อกันว่า บริษัทตัดสินใจรับ ไวลด์ บิล เข้าทำงานในตำแหน่งนี้ ก็เพราะประทับใจในความสามารถทางปืนผาหน้าไม้ สามารถคุ้มครองรถม้าและผู้โดยสาร ให้ปลอดภัยจากโจรและอินเดียนแดง ซึ่งยังมีอยู่ชุกชุมตลอดเส้นทาง

มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งขณะที่จอดรโดยสารค้างคืนกลางป่า ให้ทุกคนได้รับประทานอาหารและหลับพักผ่อนให้เต็มที่นั้น หมีตัวหนึ่งคงจะได้กลิ่นอาหาร จึงบุกเข้ามาตอนกลางดึกถึงบริเวณที่ทุกคนกำลังนอนหลับสนิท โดยไม่มีใครรู้ตัว

หมีไม่สนใจใคร เดินตรงรี่เข้าไปที่ ไวลด์ บิล ซึ่งกำลังหลับอย่างสบาย (สงสัยว่ามื้อนั้นเจ้าตัวคงจะกินมูมมามไปหน่อย ไม่ได้เช็ดปากหรือระวังเสื้อผ้าไม่ให้เลอะเทอะ หรือไม่ก็เพราะไม่ได้เปลี่ยนเสื้อผ้ามาหลายวัน จนกลิ่นแรงสะดุดจมูกหมีกว่าคนอื่น)

หลังจากดมฟุดฟิดไปมาจนทั่วตัว หมีก็งับ ไวลด์ บิล เข้าให้ตรงที่สำคัญ (ไม่ทราบเหมือนกันครับว่าที่สำคัญนั้นคือตรงไหนแต่คงไม่ได้งับแรงนัก ไม่งั้นต้องได้รับฉายาเป็นอย่างอื่นไปแล้ว) ทำให้ ไวลด์ บิล ตกใจตื่นขึ้น

จากนั้น ทุกคนที่เหลือก็สะดุ้งตื่นขึ้นบ้าง เมื่อได้ยินเสียงดังผิดปกติ ต่างช่วยกันจุดตะเกียงส่องดูว่าเกิดอะไรขึ้น

ท่ามกลางความตกอกตกใจแกมขวัญหนีดีฝ่อ ทุกคนเห็น ไวลด์ บิล ในมือถือมีดยาว 6 นิ้วไว้เล่มหนึ่ง กำลังปล้ำอยู่กับหมีซึ่งตัวสูงเท่าๆกัน

การต่อสู้ระหว่างคนกับหมีเป็นไปอย่างดุเดือด หมีทั้งตบและกัด ในขณะที่ ไวลด์ บิล ก็แทงตอบแบบไม่ยั้ง

จบการต่อสู้ ไวลด์ บิล บาดเจ็บสาหัส ถูกหมีข่วนกัดหลายแผล ต้องทาบริบูรณ์บาล์มกันอยู่หลายวัน ส่วนหมีเจ้ากรรมโชคร้าย ไม่นึกว่าหนูหล่อจะอึดขนาดนี้ ชะตาถึงฆาตต้องตายอย่างอนาถ ด้วยบาดแผลจากคมมีดของ ไวลด์ บิล

บริษัท โอเว่อร์แลนด์ สเตจ ตั้งสถานีรถระหว่างเส้นทางเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งในเขตเนบราสก้า ชื่อว่าสถานี ร็อค ครี้ก (Rock Creek Station) โดยเช่าซื้อที่ดินจากเจ้าของชื่อ เดวิด แม็คแคเนิลส์ (David McCanles) เมื่อปี ค.ศ.1860 

แต่งตั้ง โฮราซ เวลแมน (Horace Wellman) เป็นนายสถานี และมอบหมายให้ ไวลด์ บิล เป็นพนักงานประจำสถานี

ทุกคนคุ้นเคยสนิทสนมกันดี จนกระทั่งครบกำหนดชำระเงินงวดแรก ทางสถานีกลับไม่ยักจ่ายค่าเช่าตามสัญญา

เวลแมนในฐานะนายสถานี แจ้งกับแม็คแคเนิลส์ว่า ทางบริษัทยังไม่ได้ส่งเงินมา ขอผัดผ่อนการชำระเงินไปก่อน จากนั้นแม็คคานเลสก็คอยติดตามทวงถาม แต่ถูกผัดผ่อนอยู่เรื่อย ไม่ได้เงินเสียที

ความไม่พอใจเริ่มสะสม ความตึงเครียดเริ่มก่อตัวขึ้น เมื่อแม็คแคเนิลส์ขู่ว่า จะยึดสถานีมาเป็นของตัว หากยังไม่มีการชำระเงิน

วันที่ 12 กรกฎาคม ค.. 1861 เดวิด แม็คแคเนิลส์ กับลูกชายอายุ 12 ขวบชื่อมอนโร (Monroe) ติดตามด้วยลูกพี่ลูกน้องอีกสองคนชื่อ เจมส์ วู้ดส์ (James Woods) และ เจมส์ กอร์ดอน (James Gordon) เดินทางมาที่สถานีร็อคครี้ก ตั้งใจจะยื่นคำขาดกับเวลแมน ขอยึดสถานีคืนหากยังไม่ยอมชำระเงิน

แม็คแคเนิลส์กับลูกชาย เข้าไปข้างในอาคารสถานีเพื่อถามหาเวลแมน ในขณะที่วู้ดส์และกอร์ดอน เดินสำรวจบริเวณอยู่ข้างนอก ทุกคนมาแบบมือเปล่าไม่มีใครพกอาวุธ

เวลแมนไม่ยอมออกมาพบแม็คแคเนิลส์ กลับส่งเมียออกมารับหน้าแทน

แม็คแคเนิลส์บอกกับนางเวลแมนว่า ต้องการพบสามีของเธอ เพื่อจะตกลงกันให้รู้เรื่อง

นางเวลแมนตอบห้วนๆว่า เค้าไม่ออกมาหรอก

แม็คแคเนิลส์ ซึ่งทุกคนรู้จักกันดีว่า เป็นคนตัวใหญ่และชอบใช้กำลัง พูดอย่างโมโหว่า ไปพามันออกมา ไม่งั้นฉันจะเข้าไปลากมันออกมาเอง

พอคำขู่จบลง ก็ปรากฏร่างของ ไวลด์ บิล ขึ้นข้างๆนางเวลแมน หน้าตาออกไปทางบอกบุญไม่รับ ไม่ยอมพูดจาทักทายโอภาปราศัยอะไรทั้งสิ้น ทั้งๆที่ก็คุ้นเคยกันดี

ด้วยความไม่แน่ใจว่า อยู่ๆ ไวลด์ บิล โผล่ออกมาทำไม และเกี่ยวข้องอะไรด้วยหรือไม่ แม็คแคเนิลส์ถาม ไวลด์ บิล ไปว่า จิม เราเป็นเพื่อนกันมาตลอดใช่ไหม ขอน้ำกินซักแก้วซี

ไวลด์ บิล ไม่ตอบว่าอะไร ไปตักน้ำมาให้แม็คแคเนิลส์กินแต่โดยดี

แม็คแคเนิลส์อาศัยเวลาช่วงที่ ไวลด์ บิล ไปตักน้ำมาให้ และระหว่างที่กินน้ำ สอดส่ายสายตาดูไปรอบๆ เพื่อประเมินสถานการณ์ รู้สึกมีลางสังหรณ์ไม่ค่อยดีขึ้นมา

จึงรีบส่งแก้วน้ำคืน และจับตาดู ไวลด์ บิล เดินเอาแก้วกลับเข้าไปเก็บหลังร้านแต่โดยดีอีก และยังไม่ยอมพูดจาอะไรเหมือนเดิม

แม็คแคเนิลส์รีบพาลูกชายเดินออกไปอีกห้องหนึ่งทันที ก่อนที่ ไวลด์ บิล จะกลับออกมา

แต่ไม่ทันเสียแล้วครับ

ไวลด์ บิล ซึ่งเตรียมตัวจะมาจัดการกับแม็คแคเนิลส์อยู่ก่อน รู้ว่าตัวเองไม่มีทางจะสู้ให้ชนะแม็คแคเนิลส์ ซึ่งตัวโตและกำลังมากกว่าได้ด้วยมือเปล่า (ไหนว่าเคยสู้กับหมีมาแล้ว) ใช้ปืนไรเฟิลยิงออกมาจากหลังผ้าม่านเข้าใส่แม็คแคเนิลส์ ถูกจังๆล้มลงตายภายในนัดเดียว ต่อหน้าต่อตาลูกชายโดยไม่ทันสั่งเสีย

 เดวิด แม็คแคเนิลส์ เจ้าของที่ดิน
และสิ่งปลูกสร้าง ที่เป็นสถานีรถ
โดยสารร็อคครี้ก ในเนบราสก้า
มีพื้นเพเดิมมาจาก น้อร์ธ แคโรไลน่า
เคยเป็นทั้งนายทหารและนายอำเภอ
มาก่อนที่จะโยกย้ายมาตั้งรกราก
อยู่ในดินแดนตะวันตก
ตามหลักฐานบอกว่าเป็นคนตัวใหญ่
กำยำล่ำสัน นิสัยค่อนข้างมุทะลุ 

พอวู้ดส์กับกอร์ดอน ซึ่งอยู่ข้างนอกได้ยินเสียงปืน วิ่งเข้ามาข้างในเพื่อจะดูว่าเกิดอะไรขึ้น ไวลด์ บิล ก็ชักปืนโค้ลท์เนวี่ขึ้นยิงใส่ทั้งคู่ทันที กะเก็บเสียให้เกลี้ยงไม่มีโอกาสกลับมาทวงหนี้ได้อีก

เหตุการณ์ต่อจากนี้ไป ค่อนข้างหวาดเสียวและหดหู่ครับ (ไม่ผิดจากพาดหัวข่าวหน้าแรกของหนังสือพิมพ์หัวสีบ้านเราทุกวันนี้นัก)

ขอสรุปคร่าวๆให้ฟังเพียงว่า วู้ดส์กับกอร์ดอน ถูก ไวลด์ บิล ยิงบาดเจ็บ กอร์ดอนวิ่งหนีไปได้

เวลแมนโผล่ออกมาจากหลังร้าน ตีวู้ดส์ด้วยชะแลงตายอยู่ที่หน้าร้าน แล้วกลับเข้าไปข้างใน เอาชะแลงไล่ตีมอนโรไปรอบๆ พลางตะโกนว่า จัดการมันให้หมด

มีนางเวลแมนยืนตบมือตะโกนเชียร์ผัวว่า ฆ่ามัน ฆ่ามัน

แต่มอนโรซึ่งยังเด็ก วิ่งได้เร็วกว่า และโชคดีหนีเอาชีวิตรอดไปได้ในที่สุด

ไม่เหมือนกอร์ดอน ที่หลังจากวิ่งหนีไปแล้ว ยังถูกเวลแมนกับพวก เอาสุนัขดมกลิ่นออกตามหาจนเจอ และยิงทิ้งด้วยปืนลูกซองอีกทีนึง

บริษัท โอเว่อร์แลนด์ สเตจ อันเป็นบริษัทที่ผูกขาดธุรกิจสัมปทานการเดินรถในเส้นทางนั้น ใช้อิฺธิพลทั้งทางการเมืองและการเงิน ช่วยเหลือลูกจ้างของตนที่เกี่ยวข้องในคดีสังหารโหดนี้ ให้ศาลตัดสินว่า เป็นการป้องกันตัวเองโดยสมควรแก่เหตุ

รอดพ้นความผิดไปได้ทุกคนอย่างน่าทึ่ง

ภาพถ่ายสถานีร็อคครี้ก มองเห็น เดวิด แม็คแคเนิลส์
ผู้เป็นเจ้าของ ยืนม้าอยู่ทางซ้ายมือ ส่วนทางขวามือ
มองเห็นอาคารสถานี และรถม้าโดยสารจอดอยู่ 

แต่ถึงกระนั้น ก็ยังไม่น่าทึ่งเท่ากับคำให้สัมภาษณ์ของ ไวลด์ บิล เอง ที่ปรากฏอยู่บนนิตยสารรายเดือนชื่อ ฮาร์เป้อร์ส  (Harper’s Monthly Magazine) ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ค..1867 หรือ 6 ปีหลังจากเหตุการณ์สังหารโหดครั้งนี้ผ่านพ้นไปแล้ว

ฮาร์เป้อร์ส เป็นนิตยสารที่ขายดี มีผู้นิยมติดตามอ่านมากในฟากตะวันออก มีเสน่ห์ดึงดูดผู้อ่านทุกเพศทุกวัย ให้สนุกตื่นเต้นไปกับเรื่องราวการผจญภัย และชีวิตอันโลดโผนน่าทึ่งในดินแดนตะวันตก โดยแยกแยะไม่ออกว่าเรื่องไหนจริงเรื่องไหนโกหก (จะเรียกว่ามอมเมาก็คงไม่ผิดนักนะครับ)

มาดูกันนะครับว่า เหตุการณ์สังหารโหดที่สถานีร็อคครี้ก จากคำบอกเล่าของ ไวลด์ บิล ให้นักข่าวจดไปเขียนนี่ จะน่าตื่นเต้นเร้าใจน่าติดตามแบบวางไม่ลงขนาดไหน (ถอดข้อความชนิดคำต่อคำ ไม่ฉวยโอกาสแต่งเติมอะไรทั้งสิ้นครับ เพราะมัวแต่หัวเราะอยู่)

เห็นมั้ย ไอ้แม็คแคเนิลส์นี่มันเป็นทั้งหัวหน้าแก๊งเหล่าร้าย โจรขโมยม้า ฆาตกร ไอ้พวกชอบปาดคอที่ใครๆก็หวาดกลัวไปทั้งชายแดน... มันยื่นหัวเข้ามาที่ทางเดินแล้วโดดเข้าไปในห้อง ยกปืนขึ้นจะยิง แต่ไม่ไวพอ ลูกปืนของผมวิ่งตัดขั้วหัวใจมันเสียก่อน มันหงายท้องตกออกไปทางหลังบ้าน ศพยังกอดปืนไว้แน่นเลย... ผมวางไรเฟิลลงชักปืนพกออกมา... ทุกอย่างนิ่งเงียบอย่างน่ากลัวไปประมาณสองสามวินาที แล้วไอ้พวกโจรก็แห่กันเข้ามาทั้งสองประตู... ในชีวิตผมไม่เคยเล็งอย่างตั้งใจมากกว่าครั้งนี้เลย หนึ่ง สอง สาม สี่ แล้วพวกมันสี่คนก็ล้มลงตาย แต่ยังหยุดที่เหลือไม่ได้ สองคนยิงลูกซองใส่ผม และผมรู้สึกเจ็บไปทั้งตัว... ผมต่อยมันล้มไปคนนึง... ลงไปบนเตียง... ผมหักแขนพวกมันอีกคนด้วยมือเปล่า... พวกมันเอาพานท้ายปืนไรเฟิลทุบผมเข้าที่หน้าอกก่อนที่ผมจะตั้งหลักได้ ผมรู้สึกได้เลยว่าตัวเองกระอักเลือดออกมาทั้งทางปากและจมูก ผมเริ่มโกรธจัดและนึกขึ้นได้ว่ามือถือมีดอยู่ จากนั้นทุกอย่างก็ฝ้าฟางไปหมด ความบ้าบิ่นบังเกิดขึ้น ผมไล่แทงพวกมันแบบไม่ยั้ง ตามติดไอ้พวกนรกนี้จากฟากหนึ่งของห้องไปอีกฟากหนึ่ง และต้อนพวกมันเข้ามุม ทั้งแทงทั้งฟันจนผมรู้ว่าพวกมันตายหมดแล้วทุกคน... มีลูกบั๊คช็อตสิบเอ็ดเม็ดฝังอยู่ในตัวผม... ผมถูกฟันสิบสามแผล...”

ปืนไรเฟิลที่ ไวลด์ บิล ใช้ยิง เดวิด แม็คแคเนิลส ์
ตายคาสถานีร็อคครี้กเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1861
เป็นปืนแก๊ปดินดำ ด้ามไม้แบบกระโจมมือครึ่งท่อน
อันเป็นรูปแบบที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย
ตามทุ่งนาป่าดงสมัยนั้น 

หลังจากเหตุการณ์สังหารโหดที่สถานีร็อคครี้กผ่านไปไม่นาน ไวลด์ บิล ก็เข้าสมัครร่วมรบในสงครามกลางเมือง เป็นกองสอดแนมสายพลเรือน ปฏิบัติงานให้กับกองทัพฝ่ายเหนืออยู่ในแถบแคนซัสและมิสซูรี่

เมื่อสงครามเลิก ไวลด์ บิล ได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเก่งกล้าของตัวเอง ให้ผู้สื่อข่าวจากฟากตะวันออกฟังอีกมากมายหลายเรื่อง

แต่ละเรื่องล้วนท้าพิสูจน์ทั้งนั้นครับ เช่น ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำ หนีห่ากระสุนที่ทหารฝ่ายใต้ระดมยิงเข้าใส่อย่างถี่ยิบ ไปได้อย่างปลอดภัย

หรือ หลบซ่อนตัวจากการค้นหาของพวกทหารฝ่ายใต้ อยู่ในพงหญ้าสูงกับม้าคู่ใจที่ฝึกมาอย่างดี สามารถหมอบหลบอยู่ด้วยกันอย่างเงียบเชียบ ไม่มีตื่นเต้นกระโตกกระตาก

แต่ที่น่าสนใจที่สุด เห็นจะเป็นตอนที่เล่าว่า ตัวเองซุ่มยิงทหารข้าศึกตายไป 50 คน ด้วยกระสุน 50 นัดพอดิบพอดี ไม่ขาดไม่เกิน

กับอีกตอนหนึ่งเล่าว่า ตัวเองยิงข้าศึกที่อยู่ข้างหน้าคนหนึ่งตาย ด้วยปืนพกในมือซ้าย พร้อมๆกับยิงอีกคนที่อยู่ข้างหลังตาย ด้วยปืนพกอีกกระบอกในมือขวา ด้วยการยิงข้ามไหล่ซ้ายแบบไม่ต้องหันไปดู

ที่เมืองสปริงฟีลด์ (Springfield) ในมิสซูรี่ วันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ.1865 ไวลด์ บิล มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งอย่างดุเดือดกับมือปืนคนหนึ่งชื่อ เดวิส ทัตต์ (Davis Tutt) ถึงขั้นท้าดวล

ผู้เห็นเหตุการณ์ บ้างก็กล่าวว่าทะเลาะกันในวงไพ่ บ้างก็บอกว่าไม่ใช่หรอก เขาทะเลาะแย่งผู้หญิงกันต่างหากเล่า

แต่สาเหตุที่แท้จริงของการดวลคืออะไร กลับไม่น่าสนใจเท่ากับว่า หลังจากนั้นทั้งคู่ยิงกันวิธีไหน และผลการดวลออกมาเป็นอย่างไร

ท่านผู้อ่านลองช่วยผมคิดหน่อยนะครับว่า ระหว่างคำบอกเล่าของผู้อ้างว่าเห็นเหตุการณ์ทั้งหลาย ที่บรรยายออกมาต่างกันเป็น 3 อย่างดังต่อไปนี้ อันไหนน่าเชื่อมากที่สุด (หรือไม่น่าเชื่อเลยสักอย่าง)

1.     ทั้งคู่เผชิญหน้ากันกลางถนน ชักปืนยิงเกือบจะพร้อมกัน เสียงปืนทั้งสองนัดดังติดกันมากจนฟังเหมือนนัดเดียว ทัตต์ไวกว่าแค่เสี้ยววินาทีแต่ยิงพลาด ส่วน ไวลด์ บิล ถึงจะช้ากว่าแต่แม่นกว่า ยิงถูกทัตต์ล้มคว่ำลง ลูกกระสุนวิ่งทะลุเข้ากลางหัวใจพอดิบพอดี จบการดวลแล้ว ไวลด์ บิล ยังยืนอยู่กับที่ไม่ไปไหน รอให้ผู้คนเข้ามาวัดระยะยิง พบว่าคู่ดวลอยู่ห่างกันตั้ง 75 หลา

2.     ทั้งคู่เผชิญหน้ากันกลางถนน ไวลด์ บิล ชักปืนไวกว่า แต่ยังไม่ยิง รอให้ทัตต์ยิงก่อน พอทัตต์ยิงพลาด ไวลด์ บิล ก็บรรจงยกแขนซ้ายงอศอก พาดแขนขวาลงบนแขนซ้ายให้มั่นคง เล็งปืนในมือขวาอย่างมั่นใจ ก่อนลั่นไกยิงถูกทัตต์ตายทันทีในนัดเดียว

3.     ทั้งคู่เผชิญหน้ากันกลางถนน ชักปืนออกมาพร้อมๆกัน แต่ ไวลด์ บิล ไวกว่า รีบยิงก่อนเพียงนัดเดียว เสร็จแล้วหมุนตัวกลับหันหลัง เดินออกไปทันทีแบบไม่สนใจไยดีว่าผลการยิงเป็นอย่างไร ปล่อยให้ผู้ชมฮือฮาพากันหันกลับไปมองดูทัตต์ ซึ่งยืนเกร็งตัวสั่นอยู่ เพราะถูกลูกกระสุนเพียงนัดเดียวนั้นเข้าที่กลางหน้าอก ก่อนจะล้มโครมลงหน้าทิ่มพื้นขาดใจตายโดยไม่มีโอกาสยิงตอบ

ผมเองคิดเท่าไรก็คิดไม่ออกครับ เลยขอเชื่อเฉพาะตรงที่บอกว่า “ทั้งคู่เผชิญหน้ากันกลางถนน” แค่นั้น ไปพลางๆก่อนก็แล้วกันนะครับ

ภาพเขียนแสดงเหตุการณ์ที่เมืองสปริงส์ฟีลด์
ในมิสซูรี่ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1865
เดวิส ทัตต์ ถูก ไวลด์ บิล ยิงตายจากการดวลปืน
เพื่อตัดสินข้อขัดแย้งกันแบบสมศักดิ์ศรี
ตามธรรมเนียมตะวันตก (ผู้เขียนภาพดูจะเชื่อถือ
คำบอกเล่าที่ว่า ไวลด์ บิล มีเวลาเหลือเฟือ
สามารถพาดแขนขวาบนแขนซ้าย
เล็งยิง เดวิส ทัตต์ ได้อย่างแม่นยำ) 

ในช่วงปี ค.ศ. 1867 ถึง 1869 ไวลด์ บิล ยังคงทำงานเป็นกองสอดแนมให้กับฝ่ายทหาร ในสงครามกับพวกอินเดียนแดง

และมีโอกาสได้รับใช้บิ๊กทหารม้าคนดังของยุคนั้น คือ จ๊อร์จ อาร์มสตรอง คัสเตอร์ (George Armstrong Custer) ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 7 

ผู้ได้เห็น ไวลด์ บิล ปฏิบัติงานอย่างอย่างแคล่วคล่องและเข้มแข็ง ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์หลายครั้งหลายหน เรียกได้ว่าเป็นที่ประทับใจจ๊อดมาก

จ๊อร์จ อาร์มสตรอง คัสเตอร์
นายทหารม้าคนดัง เป็นผู้หนึ่งที่
ยกย่องนับถือ ไวลด์ บิล ในความ
กล้าหาญและความสามารถในการ
ต่อสู้ คัสเตอร์เป็นอีกผู้หนึ่ง ที่นิยม
ปล่อยผมยาวสลวย และไว้หนวด
ยาวหนาเหนือริมฝีปากโดยไม่ไว้
เครา ในสไตล์เดียวกับ ไวลด์ บิล
กล่าวกันว่า ในช่วงระยะเวลา
ที่สองคนนี้ร่วมงานกัน เมื่อใดที่
คัสเตอร์ไปไหนมาไหนโดยไม่
แต่งเครื่องแบบละก็ ผู้คนมักจะ
จำผิดคิดว่าเป็น ไวลด์ บิล อยู่เสมอ  

ถึงจะงานหนักเพียงใด ไวลด์ บิล ก็ยังมีเวลาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ (อีกแล้ว)

นักข่าวหนังสือพิมพ์มิสซูรี่เดโมแคร็ตรายสัปดาห์ (The Weekly Missouri Democrat) ชื่อ เฮนรี่ เอ็ม. สแตนลี่ย์ (Henry M. Stanley) บันทึกบทสัมภาษณ์ระหว่างตนกับ ไวลด์ บิล ตอนหนึ่งไว้เมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1867 ว่า

นักข่าว : คุณฮิกค็อก ให้ผมเรียกคุณว่าบิลก็แล้วกันนะ เท่าที่จำได้คุณเคยฆ่าคนตายไปกี่ศพแล้ว?

ไวลด์ บิล : (เคร่งคิดอยู่ครู่หนึ่ง) เอาผมไปสาบานต่อหน้าพระพรุ่งนี้เช้าได้เลยว่าผมฆ่าไปมากกว่าร้อยศพแล้ว

นักข่าว : อะไรทำให้คุณฆ่าคนเหล่านั้น คุณฆ่าเขาทั้งๆที่ไม่มีสาเหตุหรือไม่ได้โกรธเคืองอะไรเลยบ้างหรือเปล่า

ไวลด์ บิล : เปล่า สวรรค์เป็นพยานเถิด ผมไม่เคยฆ่าใครโดยไม่มีเหตุอันสมควร

นักข่าว : คุณฆ่าคนครั้งแรกตอนอายุเท่าไร และด้วยสาเหตุอะไร

ไวลด์ บิล : ตอนนั้นผมอายุยี่สิบแปด และมันสมควรตาย มันเป็นไอ้พวกนักพนันจอมลวงโลก ผมอยู่ในโรงแรมที่เมืองลีเวนเวอร์ธ เห็นไอ้พวกสถุลนี้เพ่นพ่านอยู่หลายคน ผมเล่นได้สตังค์มามากพอก็เลยสั่งห้องไว้ กะจะพักผ่อนซักหน่อย ผมนอนอยู่บนเตียงได้ราวๆสามสิบนาทีก็ได้ยินเสียงคนหลายคนที่ประตู ผมชักปืนกับมีดโบวี่ออกมาซ่อนเตรียมพร้อมไว้ แกล้งทำเป็นหลับ ประตูถูกเปิดออกและพวกมันห้าคนก็เข้ามา ซุบซิบกันว่า ฆ่าไอ้ลูกไม่มีพ่อตัวนี้ทิ้งเถอะ พนันได้เลยว่ามันต้องมีเงินแยะแน่ๆ ท่านสุภาพบุรุษ มันเป็นเวลาที่น่าขนพองสยองเกล้า ผมนิ่งเฉยไม่ขยับจนกระทั่งมีดของมันแตะหน้าอกผม ผมโดดออกข้างและปักมีดของผมเข้าที่หน้าอกมันแทน แล้วใช้ปืนยิงไอ้พวกที่เหลือทั้งซ้ายและขวา คนหนึ่งบาดเจ็บอีกคนหนึ่งตาย จากนั้น ท่านสุภาพบุรุษ ผมก็เผ่นออกจากห้องรีบไปยังค่ายทหาร พาพวกทหารกลับมาที่โรงแรม ล้อมจับพวกมันได้ทั้งหมดสิบห้าคน เราลงไปค้นห้องใต้ถุน พบศพมนุษย์ถูกฝังอยู่ในนั้นสิบเอ็ดศพ เหยื่อสังหารของไอ้พวกโจรนี้ทั้งนั้น”

 โฉมหน้าของเมืองลีเวนเวอร์ธในแคนซัส
เมืองที่ ไวลด์ บิล เล่าว่า ตนสามารถ
จับโจรปล้นทรัพย์ได้ทีเดียว 15 คนพร้อม กัน 

 ไวลด์ บิล ในเครื่องแต่งตัว
สไตล์ลูกทุ่งตะวันตกขนานแท้
สวมเสื้อและรองเท้าหนังกวาง
พกปืนโค้ลท์เนวี่ขนาด .36
สองกระบอกหันด้ามออกข้างหน้า
เหน็บมีดโบวี่อีกเล่มหนึ่งไว้ที่พุง 

ส่วน คัสเตอร์ ผู้ซึ่งอีก 9 ปีต่อมา ได้นำพาตัวเองและเหล่าทหารหาญไปสู่หายนะ ถูกอินเดียนแดงรุมกินโต๊ะเสียเกลี้ยงที่ ลิตเติ้ล บิ๊ก ฮอร์น ในมอนทานา เมื่อปี ค.ศ. 1876 ไม่เหลือรอดชีวิตกลับมาสักคนทั้งบิ๊กและไม่บิ๊กนั้น

กล่าวถึง ไวลด์ บิล อย่างยกย่องในหนังสือของตัวเองชื่อ “ชีวิตของข้าพเจ้าบนท้องทุ่ง” (My Life on the Plain) ก่อนพบจุดจบเพียง 2 ปีว่า

“ไม่ว่าจะเดินหรืออยู่บนหลังม้า เขาเป็นผู้ชายที่มีรูปร่างสมส่วนไม่มีที่ติที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็น เรื่องความเด็ดเดี่ยวนั้นไม่มีข้อกังขา เขาชำนาญในการใช้ปืนทั้งยาวและสั้นอย่างไม่เคยพลาด เขาไม่เคยแสดงอาการวางโตหรือขี้เบ่ง  ไม่เคยพูดถึงตัวเองเลยถ้าไม่ถูกขอร้อง คำสนทนาของเขาไม่เคยเข้าขั้นหยาบคายหรือหมิ่นเหม่ เขามีบารมีล้นเหลือในหมู่พวกนักบุกเบิก คำพูดของเขาคือกฎหมาย เมื่อใดมีการทะเลาะเบาะแว้งหรือก่อกวนกันขึ้นระหว่างเพื่อนฝูง เขาจะประกาศเพียงสั้นๆว่า นี่มันชักจะเกินไปแล้วนะ และหากยังไม่มีใครยอมหยุด เขาก็จะเตือนว่า แบบนี้ต้องมาคุยกันหน่อยมั้ง

ไวลด์ บิล ไม่ใช่คนชอบวิวาท แต่ไม่มีใครนอกจากเขาบอกได้ว่าเคยมีเรื่องกับคนอื่นไปแล้วกี่ครั้ง และเกือบทุกครั้งจะจบลงโดยคู่วิวาทเสียชีวิต ผมทราบมาด้วยตัวของผมเองว่า เขาฆ่าคนไปแล้วอย่างน้อยครึ่งโหล หนึ่งในนั้นเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของผมเสียด้วย ส่วนที่เหลืออาการสาหัสทุกคน ตัวเขานั้นกลับรอดจากการต่อสู้มาได้แบบไม่เคยเจ็บตัวเลยสักครั้ง ในท้องทุ่งพวกผู้ชายทุกคนจะคาดเข็มขัดเอาไว้พกพาอุปกรณ์มากมายอย่างเปิดเผย ส่วนใหญ่เป็นมีดกับปืนลูกโม่ ไวลด์ บิล พกปืนลูกโม่กระบอกเขื่องด้ามงาสุดเท่ห์สองกระบอกติดตัวอยู่เสมอ ไม่เคยมีใครเห็นเขาโดยไม่เห็นปืนสองกระบอกนี้”

โชว์ภาพของคัสเตอร์ในชุดเสื้อหนังกวาง
ขณะออกล่าสัตว์ ลองเปรียบเทียบดูนะครับ
ว่าเหมือน ไวลด์ บิล มากน้อยแค่ไหน
 ปืนยาวของคัสเตอร์ที่เห็นถืออยู่ตามภาพนี้
คือ เรมิงตัน โรลลิ่ง บล็อก ไรเฟิล ขนาด .50

ครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1869 มีรายงานว่า ไวลด์ บิล ได้รับบาดเจ็บ จากการถูกโจมตีโดยพวกอินเดียนแดง จึงตัดสินใจขอกลับไปรักษาตัวและพักฟื้น ที่บ้านเดิมในอิลลินอยส์

พอหายดีเป็นปกติ ก็ถือโอกาสลาพักผ่อน และตระเวณเยี่ยมเยียนเพื่อนฝูงสมัยเด็กเสียหน่อย

ไวลด์ บิล นัดเพื่อนเก่าไว้คนหนึ่งที่ชิคาโก ชื่อว่า เฮอร์แมน บอลด์วิน (Herman Baldwin) ซึ่งได้ให้การในภายหลังว่า เมื่อเจอกับ ไวลด์ บิล ตามนัดเรียบร้อยแล้ว ก็ชวนกันไปกินดื่มที่ซาลูนแห่งหนึ่ง จากนั้นตีบิลเลียดต่ออีกเป็นที่สนุกสนาน

ชิคาโกเป็นเมืองลูกกรุงไม่ใช่ลูกทุ่ง แต่ ไวลด์ บิล แต่งตัวเป็นลูกทุ่งขนานแท้ สวมเสื้อและรองเท้าหนังกวาง แถมไว้ผมยาวเสียอีก

เป็นเป้าสายตาให้ผู้คนรอบข้างซุบซิบดูกันใหญ่

ผลสุดท้ายก็ไม่พ้นถูกจิ๊กโก๋ตะโกนแซวว่า ไอ้บั้นท้ายหนัง (ท่านจะใช้คำอื่นแทนคำว่าบั้นท้าย ให้ตรงความหมายกว่านี้ก็ได้นะครับ) แถมยังถามเป็นเชิงล้อเลียนต่ออีกว่า “ทุกคนที่บ้านแกยังนุ่งหนังและแคะฟันด้วยมีดโบวี่กันอยู่หรือเปล่า”

ไวลด์ บิล ตอบนิ่มๆว่า “เปล่า แต่แถวบ้านฉันนี่ ทุกคนรู้จักดีว่าใครคือพ่อของมัน”

เจอคำตอบเข้าแบบนี้เข้า พวกจิ๊กโก๋ก็เกิดอาการของขึ้น ต่างไม่รอช้า มือฉวยไม้คิวรุมล้อมกรอบเข้ามาทันที

ไวลด์ บิล หนนี้ไม่ได้พกปืน เลยต้องคว้าไม้คิวเป็นอาวุธเหมือนกัน

หลังจากตีกันได้ไม่นาน ไวลด์ บิล ก็พิสูจน์ตัวเองว่า สามารถใช้ไม้คิวในการต่อสู้ได้อย่างชำนาญไม่แพ้ปืนโค้ลท์ ส่งผลให้จิ๊กโก๋ที่เข้ามารุมทุกคน ถูกตีลงไปกองอยู่กับพื้น เลือดสาดต้องล่าถอยกันไปหมด

ไม่นานหลังจากนั้น ไวลด์ บิล ก็มีโอกาสได้รับใช้นักการเมืองระดับชาติคนสำคัญ ได้แก่วุฒิสมาชิก เฮนรี่ เอส. วิลสัน (Henry S. Wilson) ประธานคณะกรรมาธิการทหาร

วุฒิสมาชิกวิลสันได้ยินกิตติศัพท์ของ ไวลด์ บิล มามาก เลยเขียนจดหมายลงวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ.1869 ถึง ไวลด์ บิล ขอให้ช่วยทำหน้าที่พรานนำทาง พาคณะพร้อมครอบครัวออกล่าสัตว์ในท้องทุ่งตะวันตก

ไวลด์ บิล รับทำหน้าที่ตามคำขออย่างดีเยี่ยมไม่มีที่ติ แถมโชว์ฝีมือแม่นปืนในรูปแบบต่างๆ ทั้งธรรมดาและพลิกแพลง ให้คณะของท่านวุฒิสมาชิกดูกันอย่างเป็นที่ฮือฮา ประทับใจไม่รู้ลืมด้วย

จบงานนี้ ท่านวุฒิสมาชิกได้ตกรางวัลให้ ไวลด์ บิล เป็นเงินสดจำนวน 500 เหรียญ แถมด้วยปืนลูกโม่ โค้ลท์ เนวี่ รุ่นปี 1851 ขนาด .36 อีกหนึ่งคู่ สั่งทำพิเศษชุบเงิน แกะลวดลายและสลักชื่อไว้ที่สันด้าม เปลี่ยนประกับด้ามจากไม้เป็นด้ามงาให้อีก

ทำให้ ไวลด์ บิล ภาคภูมิใจมาก จนต้องพกปืนสองกระบอกนี้ ติดตัวเป็นประจำอยู่เสมอไม่เคยขาด ถึงแม้ชื่อของตัวที่สลักไว้ จะสะกดผิด จาก Hickok กลายเป็น Hickock ไปก็ตาม

 ปืน โค้ล์ท เนวี่ รุ่นปี 1851 ขนาด .36 ที่วุฒิสมาชิก
 เฮนรี่ เอส. วิลสัน สั่งทำขึ้นเป็นพิเศษเพื่อมอบให้
ไวลด์ บิล เป็นของขวัญ ที่สันด้ามมีการ
สลักตัวหนังสือไว้ เขียนว่า J.B. Hickock 1869 

ไวลด์ บิล เริ่มเข้าสู่วงการผู้รักษากฎหมายอย่างเต็มตัว ในปีเดียวกัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เคยทำหน้าที่ผู้ช่วย ยู.เอส. มาร์แชล ในเขตทหารเป็นครั้งเป็นครามาบ้างแล้ว 

แต่หน้าที่รับผิดชอบหลักๆในเขตทหาร มีเพียงติดตามของหายกลับมาคืน และจัดการกับทหารนอกแถวเท่านั้น

วันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ.1869 ไวลด์ บิลได้รับเลือกตั้งให้เป็น เชอร์ริฟแห่งมณฑลเอ็ลลิส (Ellis County) ในรัฐแคนซัส ดินแดนใหม่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ พื้นที่ที่ผู้คนมากมายกำลังแสวงหาโชคลาภ และความมั่งคั่งให้กับตนเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แบบไม่ต้องเกรงใจใคร

 ไวลด์ บิล ในเครื่องแต่งตัวสไตล์ลูกกรุง
สลัดคราบความเป็นลูกทุ่งไปโดยสิ้นเชิง
(แต่ไม่เปลี่ยนสไตล์การไว้ผมและหนวด)
เชื่อกันว่า พอเข้าสู่วงการผู้รักษากฎหมาย
 ไวลด์ บิล ก็หันมานิยมสไตล์ลูกกรุงมากขึ้น
ลดภาพความเป็นลูกทุ่งของตัวเองลง

ถึงเวลานี้ ไวลด์ บิล อายุได้ 32 ปี ย่างออกจากวัยหนุ่มแน่นเข้าสู่วัยหนุ่มใหญ่ เข้ารับตำแหน่งมือปราบในดินแดนตะวันตกยุคบุกเบิก ที่ยังถือว่าป่าเถื่อนไร้กฎกฏิกามารยาท

แต่เพียบพร้อม ด้วยคุณสมบัติเฉพาะตัว อันเป็นที่ร่ำลือระบือไกลไปทั่วทุกสารทิศ 

มีหลักฐาน เป็นทั้งคำบอกเล่าปากต่อปาก และรายงานข่าวจากสื่อมวลชนทั่วประเทศว่า เป็นนักสู้ผู้เก่งกาจกล้าหาญ แข็งแกร่งไม่เกรงกลัวใคร เคยสังหารเหล่าร้ายตายไปแล้วเป็นร้อยศพ

นอกจากชักปืนไวแล้ว ยังยิงแม่นยิ่งกว่าจับวาง ไร้เทียมทานจนเปรียบเทียบได้ว่า เป็นซุปเปอร์แมนของสมัยนั้น (หรือไม่ก็อัศวินควายดำของสมัยนี้ อะไรทำนองนั้น)

 ฟอร์ท เฮย์ส เมืองเอกของมณฑลเอ็ลลิส
ที่ไวลด์ บิล ได้รับเลือกตั้งให้เป็นเชอร์ริฟ
ทำหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์และรักษากฎหมาย

เรามาดูบทบาทของ ไวลด์ บิล หรือ เจมส์ บัทเล่อร์ ฮิกค็อก มือปราบหน้าใหม่ของวงการ ว่าจะประสบความสำเร็จแค่ไหนในอาชีพนี้ ต้องพบปะและต่อกรกับเหล่าร้ายมากน้อยเพียงใด มีใครกล้าลองของมือปราบ ผู้ขึ้นชื่อว่าเป็นสิงห์ปืนไวรายนี้บ้างหรือไม่

ชื่อเสียงจะดังกระเดื่องมากขึ้นอีกเท่าไร และชีวิตหลังจากนั้น จะลงเอยอย่างใด

รวมทั้งคำเฉลยปริศนา ที่มาของชื่อ ไวลด์ บิล กันในตอนต่อไปของคาวบอยกับปืนคู่ใจ นะครับ

รับรองว่า ยังมีเรื่องราวอันเหลือเชื่อน่าตื่นเต้นอีกมากมาย ไม่แพ้ตอนนี้

โปรดติดตามกันให้ได้นะครับ

มาร์แชลต่อศักดิ์
กุมภาพันธ์ 2545