แบ๊ท ม้าสเตอร์สัน คาวบอยมาดลูกกรุง


ผ่านไปแล้วเมื่อครั้งก่อนนะครับสำหรับ วายแอ็ท เอิ๊ร์ป มือปืนผู้คงกระพัน หวังว่าท่านผู้อ่านคงจะเริ่มเครื่องร้อนกันขึ้นแล้วที่จะทำความรู้จักรายต่อไปกันบ้าง

ก่อนจะเริ่มเอ่ยถึงแบ๊ท ผมก็อดไม่ได้ ที่จะขอคลายข้อข้องใจอีกสักนิดนึง เกี่ยวกับการใช้คำว่า คาวบอยที่หลายท่านอาจจะท้วงติงว่า อ่านเรื่องดูแล้ว ไม่เห็นจะเกี่ยวกับพวกต้อนวัวหรือเลี้ยงวัว ตามความหมายที่แท้จริงของคำว่าคาวบอยหรือโคบาล ตรงไหนเลย 

ก็ขอยอมรับโดยดีครับว่า ถ้าแปลตรงๆก็ไม่ใช่ แต่ถ้าเราพูดถึงหนังคาวบอยละก็ คงจะพอเห็นพ้องกันนะครับว่า ไม่เห็นมีซักกี่เรื่อง ที่ว่าด้วยเรื่องเลี้ยงวัวอย่างเดียวเลย ส่วนมากเป็นเรื่องขี่ม้ายิงปืนกันเป็นหลักเสียมากกว่า

และก็หนีไม่พ้นที่จะต้องมีนายอำเภอ โจรผู้ร้าย หรือบางทีก็อินเดียนแดง เป็นตัวชูโรง 

หาที่มีพระเอกตั้งหน้าตั้งตาเลี้ยงวัวอย่างเอาจริงเอาจัง เป็นอาชีพแต่เพียงอย่างเดียวจริงๆได้ยากมาก 

ท่านที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับคาวบอย (หมายถึงคาวบอยแบบในหนังนะครับ ไม่ใช่คาวบอยเลี้ยงวัวตามคำแปลตรงๆ เดี๋ยวจะงงกันเสียก่อน) หากมีโอกาสได้อ่านหนังสือดูจะพบว่า ในยุคนั้นจะมีคำหลายคำ ที่เขาเอาไว้ใช้แยกแยะกลุ่มบุคคลออกเป็นประเภทต่างๆ เพื่ออธิบายแบบง่ายๆว่าใครทำอาชีพอะไรเป็นหลัก 

ทำให้เราเห็นภาพลางๆด้วยว่า เศรษฐกิจและสังคมในดินแดนอันห่างไกลและกว้างใหญ่ไพศาล ของยุคพิชิตตะวันตกนั้น มีการขับเคลื่อนกันอย่างไร 

พวกที่ถูกกล่าวถึงบ่อยๆ ก็จะมี มือปืน (Gunfighter), มือปราบ (Lawman), พวกนอกกฎหมาย (Outlaw), นักพนัน (Gambler) เป็นลำดับต้นๆ

รองลงมาก็มี พรานล่าควาย (Buffalo Hunter), เสือพราน (Army Scout), นักบุกเบิกแสวงโชค (Frontiersman), ชาวปศุสัตว์ (Cattleman), ชาวไร่ (Rancher), โจร (Rustler) 

ทั้งหมดนี้ต่างนับได้ว่า เป็นกลุ่มชนชั้นนำที่มีบทบาทสูง ตามสภาพแวดล้อมของบ้านเมืองในเวลานั้น อันหมายถึงบ้านป่าเมืองเถื่อนตามมาตรฐานปัจจุบัน 

พวกที่ดูจะมีสีสัน และถูกกล่าวขวัญเขียนถึงมากกว่าใคร ก็คงจะหนีไม่พ้นสี่อย่างแรกนั่นแหละครับ และต้องเป็นให้ได้อย่างน้อยสามอย่างในคนเดียวกันด้วย คนๆนั้นถึงจะดัง 

หรือถ้าเป็นได้สี่อย่างเลยละก็ จะยิ่งดังที่สุด (ทำให้น่านึกถึงคนดังๆหลายคนในบ้านเราทุกวันนี้ด้วยเหมือนกันนะครับ

แบ๊ท ม้าสเตอร์สัน นั้น เล่นเสีย 5 อย่างเลย คือเป็นทั้งมือปืน, มือปราบ, นักพนัน แถมยังเป็นพรานล่าควาย และเสือพรานด้วย 

ประวัติในวัยเด็กและช่วงต้นๆของชีวิตนั้นไม่ค่อยชัดเจน บ้างก็ว่าเกิดในปี ค.ศ.1853บ้างก็ว่า 1855 วันที่กับเดือนนั้นไม่ต้องพูดถึง 

ส่วนสถานที่เกิดนั้นยิ่งไปกันใหญ่ครับ บางตำราก็บอกว่าเกิดที่รัฐอิลลินอยส์ บางตำราบอกว่าแคนซัส และบางตำราก็ฉีกแนวไปเสียไกลเลยครับบอกว่าเกิดที่แคว้นควีเบ็คในประเทศคานาดาโน่น 

พอมาถึงเรื่องชื่อเสียงเรียงนาม ก็สนุกไม่แพ้กันอีก ตำราหนึ่งบอกว่าตอนเกิดพ่อแม่ตั้งชื่อให้ว่า บาร์โธโลมิว (Bartholomew) อันเป็นที่มาของชื่อย่อว่า แบ๊ท (Bat)  

อีกตำราหนึ่งบอกว่าไม่ใช่ ที่จริงแล้วชื่อ วิลเลียม บาร์เคลย์ (William Barclay)ต่างหาก ส่วนชื่อ แบ๊ท นั้นคนมาเรียกกันทีหลัง เมื่อหันมาถือไม้เท้าติดตัวใช้เป็นอาวุธตีผู้ร้ายแล้ว 

ต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่า เหตุผลของตัวเองน่าเชื่อถือกว่า จนปัจจุบันยังไม่มีข้อยุติ 

ในที่สุด ก็เลยมีผู้เสนอทางออก(ที่ฟังดูออกจะประชดประชัน เชิงขำขันเสียมากกว่า) ว่า ตอนเกิดพ่อแม่คงจะตั้งชื่อให้ว่าบาร์โธโลมิวนั่นแหละ 

แต่ตัวเองไม่ชอบ พอโตแล้วเลยไปเปลี่ยนใหม่เป็น วิลเลียม บาร์เคลย์ 

ผมฟังดูแล้ว ก็ชักจะนึกสนุกครับ คิดตามเรื่อยเปื่อยเพลิดเพลินไปว่า สงสัยคงถูกหมอดูทักว่า ชื่อเดิมเป็นกาลกิณี ชาตินี้ไม่มีวันรุ่งแน่ เลยไปขอให้พระตั้งชื่อให้ใหม่ อย่างนี้สิถึงจะอามะภันเตเท่ที่สุด 

แบ๊ทเกิดในครอบครัวชาวไร่ เป็นบุตรชายคนที่ 2 ของ ทอม กับ แคเธอรีน มีพี่น้องรวมกันทั้งหมด 5 คน พี่ชายคนโตชื่อ เอ๊ด (Ed)  และน้องชายคนถัดไปชื่อ จิม (Jim) ส่วนที่เหลืออีก 2 คน ไม่ทราบชื่อ 

แบ๊ทเติบโตในหลายแห่ง ตามพ่อแม่ซึ่งย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในรัฐนิวยอร์ค  อิลลินอยส์  แล้วในที่สุดก็มาปักหลักอยู่ที่แคนซัส แถวๆเมืองวิชิต้า 

พอถึงปี ค.ศ. 1871 อายุได้แถวๆ 16 ปี แบ๊ทรู้สึกเบื่อที่จะใช้ชีวิตชาวไร่ จึงได้ชักชวนชวนพี่ชาย เอ๊ด และน้องชาย จิม ออกผจญภัยในดินแดนตะวันตก

แบ๊ท ม้าสเตอร์สัน ในวัยรุ่น

พิจารณาดูตรงนี้จะเห็นว่า แบ๊ทนั้นคล้ายกับ วายแอ็ท เอิ๊ร์ป เหมือนกัน คือถึงจะออกจากบ้านมาแล้ว ก็ยังใช้ชีวิตร่วมเป็นร่วมตายกันกับพี่น้องอยู่ 

และในที่สุด คนหนึ่งก็จะถูกยิงตายด้วยเหมือนกัน ซึ่งเดี๋ยวผมจะเล่ารายละเอียดอีกทีนึงนะครับ 

มาถึงตรงนี้ ยังอดที่จะขอออกนอกเรื่องอีกสักนิดไม่ได้ คือ เรื่องของพี่ๆน้องๆนั้น แต่ก่อนแต่ไรเรามักจะเข้าใจกันว่า ชีวิตของฝรั่งอเมริกันนั้น พอโตๆกันแล้วก็ตัวใครตัวมัน ต่างคนต่างอยู่ ไม่ค่อยผูกพันกันเท่าไรในระหว่างพ่อแม่พี่น้อง จะมาเจอกันก็ต่อเมื่อมีเทศกาลอย่างเช่นคริสต์มาส หรืออี๊สเต้อร์ปีนึงไม่กี่ครั้ง 

ไม่เหมือนอย่างชาวเอเชีย โดยเฉพาะชาวจีน ที่ครอบครัวมักจะเหนียวแน่นกันไปตลอดจนตาย 

แต่จากการที่ได้ศึกษาประวัติชีวิตของพวกคาวบอยและมือปืนตะวันตกหลายคน กลับพบว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป 

มีหลายรายมาก ที่พี่น้องใช้ชีวิตอย่างผูกพันใกล้ชิดไปเรื่อยๆ ทั้งๆที่โตๆหรือมีครอบครัวกันแล้ว 

ท่านที่อ่านเรื่อง วายแอ็ท เอิ๊ร์ป ในตอนก่อนก็คงจะจำได้นะครับว่า เหตุการณ์ที่เมืองทูมบ์สโตนนั้น ถือได้ว่าเป็นเรื่องการพิพาทบาดหมางกันระหว่างพี่น้องตระกูลเอิ๊ร์ปฝ่ายหนึ่ง กับพี่น้องตระกูลแคลนตั้นและแม็คลอรี่อีกฝ่ายหนึ่ง จนถึงขนาดต้องล้างบางกันให้หมดไปข้างหนึ่ง 

ส่วนท่านที่เคยดูหนังเรื่อง วายแอ็ท เอิ๊ร์ป ก็คงจะจำได้ว่า วายแอ็ทถูกพ่ออบรมสั่งสอนมาตั้งแต่เด็ก จนโตแล้วก็เชื่ออย่างฝังใจมาตลอดว่า พี่น้องเท่านั้นที่เป็นครอบครัว นอกนั้นเป็นคนอื่น 

แถมยังพูดจาหาเรื่อง ไปถึงภรรยาและพี่สะใภ้น้องสะใภ้ด้วยว่า ภรรยานั้นไม่ถือเป็นครอบครัว เพราะในที่สุดถ้าไม่แยกทางกันก็ตายจากไป (ไม่ได้หมายความว่าผมจะเชื่อตามนะครับ ท่านผู้อ่านโดยเฉพาะท่านสุภาพสตรีทั้งหลายโปรดอย่าเพิ่งเข้าใจผิด

ฟังดูแล้ว ก็นึกถึงหนังเรื่องสามก๊ก ที่เคยฉายทางโทรทัศน์ ตอนหนึ่งได้ยินเล่าปี่พูดว่า พี่น้องเหมือนแขนขา ลูกเมียเหมือนเสื้อผ้า  

เรียกว่ามีปรัชญาชีวิตแบบเดียวกันเปี๊ยบเลยนะครับ ไม่น่าเชื่อจริงๆว่า คิดเหมือนกันข้ามยุคข้ามทวีปขนาดนี้เข้าไปได้อย่างไร (ผมเองก็ชักจะสงสัยแล้วเหมือนกันว่า เขียนเรื่องคาวบอยอยู่ดีๆ ทำไมถึงดันไปออกเป็นเรื่องสามก๊กได้

หันมาเข้าเรื่องของเราต่อไปนะครับ แบ๊ทกับพี่น้องเริ่มชีวิตการผจญภัยในดินแดนตะวันตก ด้วยอาชีพล่าควาย เริ่มจากในทุ่งหญ้าเขตตะวันตกเฉียงใต้ของแคนซัส ซึ่งไม่ไกลจากบ้านนัก 

จากนั้นแบ๊ทกับเอ๊ดพี่ชาย ก็เปลี่ยนไปทำงานกับบริษัทผู้รับเหมาสร้างทางรถไฟสาย แอ๊ทชิสัน โทปีก้า และ ซานตาเฟ่  

ทำให้มีโอกาสได้สัมผัสกับเมืองด๊อดจ์ ซิตี้ (Dodge City) ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ ที่พวกคนงานมาตั้งแค้มป์รวมอยู่ด้วยกัน และเป็นจุดค้าขายส่งควายขึ้นรถไฟไปขายต่อที่อื่น 

อย่างที่ผมเคยบรรยายไว้ในเรื่อง วายแอ็ท เอิ๊ร์ป มือปืนผู้คงกระพันแล้วนั่นแหละครับ แถวนั้นยังเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน เต็มไปด้วยบาร์ บ่อน แล้วก็อื่นๆอีก แต่ทั้งคู่ก็เอาตัวรอดปลอดภัยมาได้ 

ว่ากันว่าเป็นเพราะบุคลิกส่วนตัวมีส่วนช่วย คือแบ๊ทเป็นคนรักสนุกสนาน ส่วนเอ๊ดป็นผู้มีอัธยาศัยดี 

ถึงกระนั้นทั้งสองก็คงความเข้มแข็งเด็ดขาด เมื่อถึงคราวจำเป็น 

ครั้งหนึ่งถูกผู้รับเหมาเบี้ยวค่าแรง หลังจากทวงแล้วทวงอีกไม่สำเร็จ ก็ใช้ไม้แข็งเอาปืนจี้เก็บเงินมาจนได้ เลยเป็นที่ครั่นคร้ามของบรรดานักเลงต่างๆพอสมควร 

ส่วนจิมน้องชายนั้น ค่อนข้างจะมีนิสัยโมโหง่าย และไม่ค่อยสนใจงานสมาคมนัก จึงไม่ค่อยได้มาร่วมวงด้วย 

พอเสร็จงานรถไฟ แบ๊ทกับเอ๊ดก็กลับไปล่าควายกันต่อ 

ได้รู้จักกับ วายแอ็ท เอิ๊ร์ป และร่วมงานกันล่าควายอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ได้เงินมากมาย 

จนเมื่อวายแอ็ทบอกลาไปแล้ว แบ๊ทก็ยังคงล่าควาย และตะลุยต่อไปทางใต้ ผ่านเข้าเขตโอคลาโฮม่าไปจนถึงเท็กซัส 

การล่าควายในยุคนั้น ในที่สุดได้ขยายตัวจากการเป็นเพียงแค่ธุรกิจ SME ช่วงเริ่มต้น กลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ผลาญชีวิตควายกันอย่างมโหฬารแทบจะล้างทุ่ง 


ฝูงควายไบซันจำนวนมหาศาล หากินอยู่ในทุ่งหญ้า
อันกว้างขวางของดินแดนตะวันตก 
ถูกทั้งคนขาวและอินเดียนแดงล่ากินเป็นอาหาร 
ทำครื่องนุ่งห่ม เครื่องเรือน เครื่องประดับ ฯลฯ

โดยได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากฝ่ายทหาร ที่เห็นว่า เป็นการช่วยกำจัดคนท้องถิ่นและชนกลุ่มน้อย ที่ไม่ยอมขึ้นกับรัฐบาลกลาง เนื่องจากพวกนี้ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยเนื้อและหนังควายเป็นหลัก 

ฝูงควายไบซันจำนวนหนึ่ง ที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้
ในเขตวนอุทยานแห่งชาติ เยลโล่สโตน รัฐไวโอมิ่ง
(บันทึกภาพไว้เมื่อปี ค.ศ.1981)

ควายไบซันเชื่องแค่ไหน ดูได้จากการเผชิญหน้ากัน
(บุคคลในภาพยังมีชีวิตอยู่จนทุกวันนี้)

ฝ่ายที่เดือดร้อนมากที่สุดก็คือ อินเดียนแดงเผ่าโคมานชี  (Comanche) และไคโอวา (Kiowa) เพราะนอกจากพวกผิวขาวจะมาตลุยล่าควายกันอย่างไม่บันยะบันยังแล้ว ยังแถมด้วยการไล่ฝูงม้าและขโมยม้า 

จนกลายเป็นสาเหตุทำให้เกิดสงครามลุ่มแม่น้ำแดง (Red River War) ขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1874 

วันที่ 26 เดือนมิถุนายนในปีนั้น แบ๊ทแวะพักค้างคืนที่ อโดบิ วอลส์  (Adobe Walls) ซึ่งเป็นป้อมค่ายเล็กๆ ถูกสร้างขึ้นไว้ให้เป็นจุดพักค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างทาง ในตอนบนของส่วนที่เป็นด้ามกะทะของรัฐเท็กซัส (Texas Panhandle) 

ภาพวาดแสดงให้เห็นอาคารป้อมค่ายต่างๆ
ของ อโดบิ วอลส์

ขยายความนิดนึงครับว่า รัฐเท็กซัสนั้น มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดามลรัฐต่างๆของสหรัฐอเมริกาที่อยู่ติดกันบนแผ่นดินใหญ่ (คือไม่รวมอล้าสก้าที่ถูกประเทศคานาดากั้นไว้) 

พื้นที่ของรัฐเท็กซัส กว้างขวางกว่าอินโดจีนทุกประเทศรวมกัน ทิศตะวันตกเฉียงเหนือยื่นออกมาคล้ายสี่เหลี่ยม ดูรวมๆกันในสายตาฝรั่งเจ้าของประเทศแล้ว เป็นรัฐที่รูปร่างเหมือนกะทะ โดยมีด้ามอยู่ด้านบน 

แผนที่แสดงอาณาเขต
และเส้นพรมแดนของรัฐเท็กซัส

เขตตะวันตกเฉียงเหนือก็เลยถูกขนานนามว่าด้ามกะทะ หรือ Panhandle จนแพร่หลาย กลายเป็นศัพท์ที่ใช้ในทางราชการไปด้วยในที่สุด 

คืนนั้นมีพวกพรานล่าควายแวะค้างอยู่รวมกันสัก 28 คน พอวันรุ่งขึ้นเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ถูกอินเดียนแดงบุกเข้าโจมตีตั้งแต่เช้ามืด ด้วยกำลังที่เหนือกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ 

บางตำราบอกว่า ฝ่ายอินเดียนประกอบด้วยนักรบ 200 คนบ้าง 500 บ้าง 700 บ้าง จน 1000 บ้างก็มี (ไม่รู้จะโม้กันไปถึงไหน

บรรดาพรานทั้งหลายต่างช่วยกันต่อสู้อย่างเต็มที่ จนฝ่ายอินเดียนไม่สามารถยึดป้อมได้ แค่ปิดล้อมไว้ 3-4 วันแล้วก็ถอนกำลังกลับไป หลังจากเสียนักรบไปเป็นร้อย ช้างฝ่ายพรานนั้นตายไป 2 คน 

แบ๊ทเวลานั้นอายุเพิ่งจะประมาณ 19 น้อยที่สุดในกลุ่ม ได้ร่วมต่อสู้อย่างแข็งขันและรอดชีวิตมาได้ 

ภาพวาดแสดงพื้นที่การรบ
ระหว่างฝ่ายพรานกับอินเดียนแดงที่ อโดบิ วอลส์ 

สาเหตุหลักที่ฝ่ายอินเดียนต้องล่าถอยไปในที่สุดนั้น ก็เพราะอาวุธสู้ฝ่ายพรานไม่ได้ 

ผมค้นไม่พบว่าฝ่ายอินเดียนใช้ปืนอะไรกันบ้าง แต่ทางฝ่ายพรานที่ตั้งรับอยู่ในป้อมนั้น บอกว่าทีเด็ดอยู่ที่ปืนไรเฟิลช้าร์ปส์ ขนาด .50 คาลิเบอร์ ซึ่งปกติเอาไว้ใช้ล่าสัตว์ใหญ่ในระยะไกล 

ฝ่ายพรานให้การว่า ใช้ปืนช้าร์ปส์ .50 เล็งยิงถูกฝ่ายตรงข้ามตกจากหลังม้าลงมาตาย ที่ระยะไกลตั้ง 3/4 ไมล์ (กว่า 1 กิโลเมตรเชียวนะครับ ถือเป็นไรเฟิลซุ่มยิงรุ่นแรกๆได้เลย) 

ฝ่ายอินเดียนให้การว่า พวกคนขาวมีปืนดีติดกล้องด้วย ส่องยิงโดนนักรบตกลงมาจากหลังม้า ทั้งๆที่อยู่ห่างออกไปตั้ง 1 ไมล์ (กว่า 1.5 กิโลเมตร) ทำให้บรรดาเหล่านักรบตกใจ รู้สึกครั่นคร้ามเสียขวัญมาก

พรานล่าควายไม่ทราบขื่อ ถ่ายรูปคู่กับ
ปืนไรเฟิล ช้าร์ปส์ อันเป็นปืนยอดนิยม
สำหรับการล่าควายในยุคนั้น
ช้าร์ปส์ไรเฟิลเป็นปืนบรรจุเดี่ยวจากท้ายลำกล้อง
มีขนาดกระสุนให้เลือกใช้ตั้งแต่ .40 ถึง .50 นิ้ว
กระบอกที่ยิงอินเดียนแดงจากระยะไกล
ใช้กระสุนแบบ .50-90 ฉายา "บิ๊ก ฟิ้ฟตี้"
น้ำหนักหัวประสุน 475 เกรน
ความเร็วปากลำกล้อง 1350 ฟุตต่อวินาที
มีแรงปะทะ 1920 ฟุตปอนด์

ส่วนสาเหตุรองของการล่าถอยนั้นบอกว่า เพราะนักรบอินเดียนคนหนึ่งดันทำผิดศีล เอาปืนไปยิงตัวสกั๊งค์ตาย เกิดเป็นอาเพศทำให้ยาทากันกระสุนปืน ที่หมอผีอุตส่าห์ปลุกเสกไว้ให้นั้น หมดฤทธิใช้ไม่ได้ผล (นี่จากหลักฐานที่ค้นได้จริงๆนะครับ ไม่ได้แต่งขึ้นมาเองสนุกๆ อย่างตอนที่เล่าเรื่องแบ๊ทเปลี่ยนชื่อ

ในการต่อสู้ที่ อโดบิ วอลส์ นี้ แบ๊ทยังไม่ได้เป็นพระเอก เป็นแต่เพียงผู้หนึ่งที่ช่วยกันต่อสู้ เพื่อให้อยู่รอดจากการปิดล้อมโจมตีเท่านั้น 

จบจากการรบแล้ว แบ๊ทก็ตกกระไดพลอยโจน สมัครเป็นเสือพราน ทำหน้าที่เป็นหน่วยสอดแนมให้กับฝ่ายทหารไปเสียเลย จนสงครามลุ่มแม่น้ำแดงยุติลง ในเดือนมิถุนายนปี ค.ศ.1875 

หลังสงคราม แบ๊ทก็ยังคงใช้ชีวิตวนเวียนอยู่แถวด้ามกะทะของเท็กซัส กลับมาล่าควาย และแบ่งเวลาส่วนหนึ่งทำหน้าที่ส่งกำลังบำรุงให้ฝ่ายทหาร

และยังได้ช่วยฝ่ายทหารทำการสำรวจพื้นที่ สำหรับการตั้งค่ายแห่งใหม่ขึ้นในบริเวณด้ามกะทะด้วย โดยเลือกที่ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำเล็กๆสายหนึ่งมีชื่อว่า สวี้ทวอเท่อร์ (Sweetwater – ในภาษาอังกฤษกลับแปลว่าน้ำจืดนะครับ ไม่ยักแปลว่าน้ำหวาน

จากนั้น ฝ่ายทหารก็ก่อตั้งค่ายเอเลียต (Fort Elliot) ขึ้นที่นั่น ส่วนชุมชนเดิมที่อยู่ใกล้ๆ ก็ขยับขยายขึ้นเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ใช้ชื่อว่า สวี้ทวอเท่อร์ ตามชื่อของแม่น้ำ 

และที่นี่เอง เป็นจุดเริ่มต้นของการที่แบ๊ทจะมีชื่อเสียงโด่งดัง และแจ้งเกิดในฐานะมือปืนชั้นแนวหน้าระดับพิชิตตะวันตกอีกคนหนึ่ง 

ที่สวี้ทวอเท่อร์นี้ แบ๊ทได้คบหาสมาคม เป็นเพื่อนกับนักเลงปืนพี่น้องชื่อดัง 2 คน ได้แก่ เบ็น และ บิล ธอมป์สัน 

ท่านผู้อ่านคงจำได้จากเรื่อง วายแอ็ท เอิ๊ร์ปในตอนที่แล้วนะครับว่า พี่น้องคู่นี้ไปก่อเรื่องไว้ที่เมืองเอลส์เวอร์ธในแคนซัส เมื่อสองปีก่อน โดยบิลยิงนายอำเภอตาย แถมยังขี่ม้าลอยนวลออกนอกเมืองไปเฉยๆ 

ส่วนเบ็นอยู่จ้องตาสู้กันกับวายแอ็ทอยู่พักหนึ่ง ก็ยอมแพ้ให้จับ โดยไม่ทันได้ดวลกันให้เห็นดำเห็นแดงเสียก่อน ทั้งๆที่ตัวเองก็เป็นถึงนักเลงปืนระดับพระกาฬ ที่ได้ชื่อว่าโหดเหี้ยม ยิงคู่ต่อสู้คว่ำไปตั้งหลายคนแล้ว ในขณะที่วายแอ็ทเพิ่งจะเป็นมือใหม่ 

เบ็นเล่าเหตุผลในเรื่องนี้ให้แบ๊ทฟังว่า ตนมองเข้าไปลึกๆในสายตาของวายแอ็ทแล้ว นอกจากจะอ่านออกว่าวายแอ็ทเอาจริงแน่ ยังมีลางสังหรณ์ไม่ค่อยดีอีกด้วย เลยตัดสินใจถอยดีกว่า 

ผมฟังคำอธิบายแล้วก็รู้สึกว่าประหลาดอยู่ แต่ไม่ประหลาดเท่ากับที่แบ๊ท ผู้ซึ่งจะเปลี่ยนอาชีพไปเป็นมือปราบในวันหลัง กลับเลือกคบนักเลงปืนผู้เหี้ยมโหดคู่นี้อย่างสนิทสนม 

แต่ก็พอจะเข้าใจได้หรอกครับ ลองคิดง่ายๆดูว่า บ้านป่าเมืองเถื่อนที่เอะอะก็ตัดสินกันด้วยปืนนั้น จะไปหาคนดีๆมีศีลธรรมที่ไหนมาคบได้ แบ๊ทเองนั้นก็เป็นคนมีนิสัยรักความสนุกสนานเป็นพื้นอยู่แล้ว เลยคบใครไม่ยากนัก 

เหตุการณ์ที่จะทำให้แบ๊ทโด่งดังมาถึง เมื่อคืนวันที่ 24 มกราคม ค.ศ.1876 

แบ๊ทอยู่ในซาลูนชื่อเลดี้ เกย์ (Lady Gay – น่าจะแปลว่าผู้หญิงบานฉ่ำนะครับ ไม่ใช่คุณนายประเภทสอง) นั่งเล่นไพ่โป๊กเกอร์อยู่กับเจ้าของซาลูนชื่อ เฮนรี่ เฟลมมิ่ง และแขกประจำอีก 2 คน

คนหนึ่งชื่อ จิม ดั๊ฟฟี่ อีกคนหนึ่งเป็นทหารยศสิบโทชื่อ เมลวิน คิง (Melvin King) 

หมู่คิงเสียไพ่ให้กับแบ๊ทตั้งแต่เริ่มเล่น แก้เท่าไรไม่ขึ้น ยิ่งเล่นยิ่งเสีย ชักฉุนก็เลยบอกเลิกกลับออกไปก่อนอย่างหงุดหงิด 

พอวงไพ่เลิก แบ๊ทก็เจอะเจอกับสาวนักระบำคนหนึ่งชื่อ มอลลี่ เบร็นแนน (Mollie Brennan) 

มอลลี่เป็นนักเต้นประจำโรงเต้นรำข้างๆเลดี้เกย์ซาลูน อันเป็นสถานเริงรมย์ที่ขึ้นชื่อว่า มีสาวสวยนักเต้นมากมาย เจ้าของเป็นอดีตนายทหารยศพันเอกชื่อ ชาร์ลี นอร์ตั้น เข้าหุ้นร่วมกันกับ บิล ธอมป์สัน เพื่อนของแบ๊ท 

คืนนั้นโรงเต้นรำปิด พวกสาวนักเต้นจึงพากันออกมาเที่ยวที่เลดี้เกย์ซาลูนกัน รวมทั้งมอลลี่ด้วย 

แบ๊ทจ๊ะจ๋ากับมอลลี่อยู่พักใหญ่ โดยไม่รู้ว่ามอลลี่เป็นที่หมายปองของหมู่คิง ผู้เพิ่งจะแพ้พนันจากโป๊กเก้อร์ให้ตัวเองไปหลายตังค์อยู่หยกๆ 

หมู่คิงนั้น มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า เป็นนักเลงโตประเภทชอบเบ่ง และเกะกะระรานชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเมา 

ใกล้เที่ยงคืน แบ๊ทกับมอลลี่ และชาร์ลี นอร์ตั้น เดินออกมาจากเลดี้เกย์ซาลูนไปที่โรงเต้นรำ เข้าไปข้างในปิดประตูแล้ว  ชาร์ลี นอร์ตั้น ก็เดินไปจุดตะเกียง ปล่อยแบ๊ทกับมอลลี่ไว้ให้นั่งคุยกันอยู่ที่โต๊ะริมหน้าต่าง ตรงใกล้ๆประตู 

แบ๊ทมองออกไปข้างนอก เห็นหมู่คิงเดินรี่เข้ามาเคาะประตู ท่าทางเมาแอ๋และโกรธจัดเอาเป็นเอาตาย จึงลุกขึ้นเดินไปเปิดประตู เพื่อจะถามว่ามีอะไร 

พอประตูเปิดเท่านั้น หมู่คิงก็ร้องด่าแบ๊ทอย่างหยาบคายเสียๆหายๆ พร้อมชักปืนยิงตูมเข้าใส่แบ๊ททันที 

แต่ด้วยเหตุผลกลใดไม่แน่ชัด มอลลี่รีบวิ่งเข้ามาขวางไว้ (บ้างก็บอกว่าออกมาห้าม บ้างก็บอกว่าจะวิ่งหนีออกไปข้างนอก

กระสุนนัดแรกวิ่งเฉียดมอลลี่ไปอย่างหวุดหวิด เลยไปโดนแบ๊ทอย่างเฉียงๆตรงหน้าท้อง แล้วทะลุเข้าไปถึงกระดูกสะโพก ทำให้แบ๊ทล้มหงายหลังลงกับพื้นทันที 

หมู่คิงยิงซ้ำอีกนัดหนึ่ง นัดนี้โดนมอลลี่เข้าจังๆ ล้มลงไปอีกคน

แบ๊ทผู้ยังคุมสติได้ดีเยี่ยมแม้จะบาดเจ็บ รีบฉวยจังหวะนี้ ใช้แขนซ้ายยันตัวขึ้น มือขวาชักปืนออกมายิงเข้าใส่หมู่คิง ทะลุเข้ากลางหน้าอก จนหมู่คิงล้มลงไปบ้าง 

จบเสียงปืน 3 นัด ก็ลงไปนอนกองอยู่กับพื้นครบทั้ง 3 คน ผู้คนต่างกรูกันเข้ามาดูว่าเกิดอะไรขึ้น 

นิตยสาร ไวล์ดเว้สท์ ฉบับเดือนตุลาคม ค.ศ. 2000
ลงเรื่องราวการยิงกันที่สวี้ทวอเท่อร์

เนื่องจากเมืองนี้ยังไม่มีนายอำเภอ ฝ่ายทหารจึงเข้ามาดูแลแทน

ในชั้นแรกต้องรีบห้ามผู้คนไม่ให้ตีกัน เนื่องจากแบ๊ทมีพวกพรานล่าควายเป็นเพื่อนอยู่มากมาย รวมทั้งมือปืนระดับพระกาฬอย่างเบ็นและบิลธอมป์สันด้วย 

ส่วนหมู่คิง ก็มีเพื่อนพ้องทหารเยอะเหมือนกัน ต่างฝ่ายต่างอยากแก้แค้นแทนเพื่อนด้วยกันทั้งนั้น 

หลังจากเข้าคุมม็อบทั้งสองฝ่ายได้แล้ว หมอทหารจึงเข้าตรวจรักษาผู้บาดเจ็บ และหัวหน้านายทหารก็เข้าสอบสวนเหตุการณ์ พบว่า มอลลี่เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ ส่วนหมู่คิงถูกนำส่งโรงพยาบาลทหารและไปตายในวันรุ่งขึ้น 

สำหรับแบ๊ทนั้น ได้รับการรักษาทันทีในที่เกิดเหตุ และรอดตายมาอย่างหวุดหวิด แต่ไม่หายสนิทเหมือนเดิม

ทั้งนี้เนื่องจากกระดูกสะโพกแตกไปส่วนหนึ่งด้วยลูกกระสุน หมอไม่สามารถเชื่อมต่อให้ครบเหมือนเดิมได้ มีผลทำให้เดินไม่ค่อยถนัด ต้องใช้ไม้เท้าช่วยเดินไปตลอดหลังจากนั้น  

ผลการสอบสวนออกมาอย่างตรงไปตรงมา ตัดสินว่าแบ๊ทต่อสู้ป้องกันตนเองตามสมควรแก่เหตุ จึงไม่มีความผิด 

ผู้คนส่วนใหญ่ที่ทราบข่าว ต่างสรรเสริญฝีมือของแบ๊ท และพากันดีใจ ที่นักเลงโตอย่างหมู่คิงถูกกำจัดไปเสียได้ 

ส่วนแบ๊ทนั้น ดูจะไม่ได้ภูมิอกภูมิใจอะไรนัก กลับรู้สึกว่า ตนเป็นเหตุทำให้ผู้หญิงน่ารักคนหนึ่งต้องตายไป แถมยังไม่แน่ใจอีกว่า พรรคพวกของหมู่คิงจะแห่ตามมาแก้แค้นหรือเปล่า

เลยตัดสินใจย้ายออกจากสวี้ทวอเท่อร์ ตั้งใจจะกลับไปเยี่ยมบ้านสักพัก 

แบ๊ทกลับมาถึงบ้านเดิมที่วิชิต้าในแคนซัสได้ไม่นาน  วายแอ็ท เอิ๊ร์ป ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ช่วยมาร์แชลอยู่ที่เมือง ด๊อดจ์ ซิตี้ (Dodge City) ก็ทราบข่าว จึงชวนแบ๊ทให้เข้ามาร่วมทีมมือปราบของตน 

แบ๊ทตกลงตอบรับคำชวนจากเพื่อนเก่า เข้าทำหน้าที่ปราบปรามอันธพาลและโจรผู้ร้าย เคียงบ่ากับวายแอ็ทและผู้ร่วมทีมอื่นๆอย่างแข็งขัน สร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยและขื่อแปขึ้น เป็นที่ถูกอกถูกใจชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง 

สักพักต่อมา พี่และน้องชายของแบ๊ทคือเอ๊ดและจิม ก็เข้ามาร่วมเสริมทีมให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นอีก 

แต่ถึงแม้จะเป็นที่ถูกอกถูกใจชาวบ้าน แต่แบ๊ทกลับไม่ค่อยลงรอยกับมาร์แชลของเมืองด๊อดจ์ฯ ชื่อว่า แลรี่ ดีเกอร์ (Larry Deger) ผู้เป็นเจ้านายใหญ่ของตัวนัก แถมเคยมีเรื่องมีราว ถึงขนาดถูกนายของตัวเองแจ้งจับ ข้อหาขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ 

รายละเอียดเล่ากันว่า เป็นเพราะแบ๊ทเห็นผู้ต้องหาคนหนึ่ง ถูกมาร์แชลดีเกอร์ซ้อมอย่างไม่เป็นธรรม จึงเข้าไปขัดขวาง ทำให้ผู้ต้องหาหลุดหนีไปได้ 

ถึงปี ค.ศ.1877 มีการเลือกตั้งเชอร์ริฟแห่งมณฑลฟอร์ด (Ford County) อันเป็นเขตคามที่เมืองด๊อดจ์ฯสังกัดอยู่ 

แบ๊ทโดยการสนับสนุนจากชาวบ้าน ก็ลงสมัครรับเลือกตั้ง แข่งกับมาร์แชลดีเกอร์นายของตัว และเอาชนะไปได้อย่างหวุดหวิดแค่ 3 คะแนน 

พอแบ๊ทเข้ารับตำแหน่งใหม่ไม่นาน ดีเกอร์ก็ถูกถอดออกจากตำแหน่งมาร์แชลของเมืองด๊อดจ์ฯ โดยเอ๊ดพี่ชายของแบ๊ทขึ้นรับตำแหน่งแทน ในขณะที่จิมน้องชาย ก็ยังคงมีตำแหน่งผู้ช่วยมาร์แชลอยู่ 

เรียกว่าพี่น้องตระกูลม้าสเตอร์สันในเวลานี้ มีอำนาจปกครองและปราบปรามเบ็ดเสร็จ ไม่ใช่เฉพาะในเมืองด๊อดจ์ฯเท่านั้น แต่ยังขยายครอบคลุมไปทั่วทั้งมณฑลฟอร์ดอีกด้วย 

แบ๊ทได้รับเลือกเป็นเชอร์ริฟประจำมณฑลฟอร์ดครั้งนี้ เมื่อมีอายุได้ 22 ปีเท่านั้น และต้องทำงานหนักรับผิดชอบพื้นที่กว้างขวางมาก 

แบ๊ทไม่ทำให้ชาวบ้านผิดหวัง เร่งสร้างผลงานเป็นการใหญ่ ใช้ความเข้มแข็งเด็ดขาดและฝีมือการใช้อาวุธปืน ฟอร์มชุดไล่ล่าตามจับทั้งแก๊งโจรปล้นรถไฟ และพวกผู้ร้ายหลบหนีการจับกุมกลับมาได้ทุกครั้งมากมาย (คงจะเหลือแต่เรื่องปราบปรามยาเสพติดเท่านั้นแหละครับที่ไม่ได้ทำ)

ไม่นานก็ได้ชื่อว่า เป็นมือปราบที่โจรผู้ร้ายในยุคนั้นต่างเกรงกลัว ไม่อยากต่อกรด้วย 

โค้ลท์ ซิงเกิ้ล แอ๊คชั่น อาร์มี่ ขนาด .45
เป็นปืนคู่ใจของ แบ๊ท ม้าสเตอร์สัน มาโดยตลอด
ถูกผลิตขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1873 

เพื่อเป็นอาวุธประจำกายของทหารในกองทัพบกสหรัฐฯ 
มีสมญาเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า ผู้สร้างสันติ
(Peacemaker - มาจากรหัสรุ่นที่กำหนดให้เป็น Model P)
จากนั้นได้กลายเป็นที่แพร่หลาย ทั้งในวงการมือปราบ
และมือปืน ส่วนพวกคาวบอยที่ไม่ค่อยนิยมสันติเท่าไรนัก 
ช่วยกันตั้งสมญานามเพิ่มเติมให้ใหม่อีกหลายคำ เช่น
-เครื่องกำจัดความเหลื่อมล้ำ (Equalizer)
-ตุลาการโค้ลท์ (Judge Colt)
-ขาหมู (Hogleg)
-เครื่องมือจากฮาร์ทฟอร์ด 

(Hardware from HartFord 
คือเมืองที่ตั้งโรงงานผลิตปืนโค้ลท์)
ว่ากันว่า นอกจากจะเขนาดและน้ำหนักเหมาะมือแล้ว
ยังสามารถใช้ตอกตะปูแทนค้อน หรือตอกเกือกม้า
ได้ดีพอๆกับเอาไว้ตีหัวคนอื่นด้วย

นอกจากการเป็นมือปราบผู้โด่งดังแล้ว แบ๊ทยังได้สร้างชื่อเสียงเพิ่มขึ้นเป็นที่รู้กันทั่วไปอีกสองอย่าง 

อย่างแรกก็คือ การเป็นนักพนันมือฉกาจ ซึ่งแบ๊ทมีใจรักอยู่แต่เดิม และไม่เคยที่จะพลาดจากการเล่นไพ่ตามซาลูนต่างๆในเมืองด๊อดจ์ฯ เมื่อถึงเวลาพักผ่อนหรือว่างจากงานราชการ 

จึงเป็นที่น่าสังเกตนะครับว่า นอกจาก วายแอ็ท เอิ๊ร์ป แล้ว ก็มีแบ๊ทอีกคนหนึ่ง ที่ด้านหนึ่งเป็นมือกฎหมาย และอีกด้านหนึ่งเป็นนักการพนัน

ในมาตรฐานปัจจุบัน ฟังดูแล้วก็ไม่ค่อยน่าจะไปด้วยกันนัก 

แต่สำหรับยุคคาวบอยพิชิตตะวันตก เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้วนั้น เขาว่ากันว่าเป็นเรื่องธรรมดา 

จากหลักฐานพบว่า มีบรรดามือกฎหมายในสมัยนั้นอีกจำนวนมาก ที่เป็นทั้งนายอำเภอ และเป็นเจ้าของบาร์และบ่อนด้วยพร้อมๆกัน 

เขาอธิบายว่า เรื่องแบบนี้ถือเป็นปกติธรรมดา สำหรับเมืองที่มีแต่ผู้คนจำนวนมากผ่านไปมาเพียงเพื่อแวะหาพักผ่อนหาความสำราญ และกฎหมายท้องถิ่นก็อนุญาตให้มีการดื่มสุรา และการเล่นการพนันได้ 

ถือเป็นธุรกิจที่สามารถทำรายได้ให้กับท้องที่ ได้มากๆอย่างรวดเร็ว 

คนส่วนใหญ่ก็เห็นว่าเป็นเรื่องดีเสียอีก ที่ได้มือปืนที่ตรงไปตรงมา และเฉียบขาดเอาจริงเอาจัง มาเป็นทั้งนายอำเภอและเจ้าของบาร์เจ้าของบ่อนเสียพร้อมๆกัน ทุกอย่างจะได้เป็นระเบียบเรียบร้อย 

ถ้าใช้ศัพท์สมัยใหม่ก็คงต้องบอกว่า เพื่อเสถียรภาพ ความมั่นคง และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ทำนองนั้นนั่นแหละครับ

ทั้งๆที่เอาเข้าจริงๆแล้ว ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไปหรอก ยังหนีปัญหาการเมืองอิทธิพลต่างๆไปไม่พ้นอยู่ดี (ผมจะขยายความในตอนหลังๆอีกทีครับ) 

กิตติศัพท์อีกอย่างหนึ่งของแบ๊ท ที่เด่นดังกว่ามือปืนคนอื่นก็คือ ความเป็นหนุ่มเจ้าสำราญ และรสนิยมการแต่งตัว 

ตามที่ได้กล่าวไปแล้วครับว่า ความเป็นผู้มีอัธยาศัยดี รักความสนุกสนาน และยังหนุ่มมากสำหรับการเป็นนายอำเภอ ทำให้แบ๊ทออกจะป๊อปปูล่าร์ในหมู่ชาวบ้านร้านตลาด

ช่วงนี้ ไม่มีหลักฐานบอกว่ามีสาวๆมาติดพันอีกหรือเปล่า แต่อาจจะไม่มีก็ได้ครับ เพราะตัวเองเพิ่งเกือบตายเพราะผู้หญิงไปหยกๆ น่าจะยังเข็ดอยู่ 

สไตล์การแต่งตัวของแบ๊ทนั้น ไม่เหมือนคนอื่นๆ  คือแบ๊ทจะนิยมสวมสูทดำที่สั่งตัดโดยเฉพาะ ไม่ใส่หมวกคาวบอยปีกกว้าง อย่างที่คนทั่วๆไปนิยมใส่ แต่หันไปใส่หมวกปีกเล็กทรงแข็ง ที่เรียกกันว่าหมวกโบว์เล่อร์ (Bowler Hat) แทน 

แบ๊ทเข้าร้านตัดผมเป็นประจำ เพื่อตัดแต่งทรงผมและหนวดให้ดูเรียบร้อยอยู่เสมอ และที่ขาดไปไม่ได้ ก็คือไม้เท้าประจำตัว แบ๊ทจึงดูเป็นหนุ่มสำอางค์รูปหล่อ มาดลูกกรุงมากกว่าลูกทุ่งในสายตาของคนทั่วไป 

สไตล์การแต่งตัวอย่างมีระดับ
ของ แบ๊ท ม้าสเตอร์สัน

ทั้งหมดนี้ น่าจะถือเป็นความฉลาดอย่างหนึ่งของแบ๊ทนะครับ ที่ผันจุดด้อยของตัวเอง ที่ต้องใช้ไม้เท้าช่วยเดิน มาเป็นจุดเด่น โดยการแต่งตัวเป็นสุภาพบุรุษอังกฤษให้โก้ไปเสียเลย

คล้ายๆกับการผันวิกฤตให้เป็นโอกาส หรืออะไรประเภทนั้น 

ปี ค.ศ.1878 เป็นปีที่เข้าสู่ช่วงเวลาตกต่ำสำหรับแบ๊ทและพี่ๆน้องๆ

เริ่มด้วยเอ๊ดพี่ชายของแบ๊ท ซึ่งเป็นมาร์แชลของเมืองด๊อดจ์ฯ ถูกพวกโคบาลต้อนวัวจากเท็กซัส 2 คนยิงตาย หลังจากที่เอ๊ดพยายามเจรจาปลดอาวุธแต่โดยดี แต่ไม่สำเร็จ โดน 2 วายร้ายยิงใส่เสียก่อนในระยะประชิด 

แต่เอ๊ดก็ไว้ลายไม่ยอมตายเปล่า ยิงสวนกลับไป ถูกวายร้ายทั้งสองหงายท้องตายไปเหมือนกัน 

หลังจากนั้นในปี ค.ศ.1879 มีการเลือกตั้งเชอร์ริฟแห่งมณฑลฟอร์ดรอบใหม่ 

หนนี้ แบ๊ทแพ้เลือกตั้ง ไม่สามารถรักษาตำแหน่งไว้ได้

ว่ากันว่า ความนิยมของประชาชนลดลง เพราะเห็นแบ๊ทใช้จ่ายเงินสิ้นเปลืองงบประมาณมากเกินไป กับเริ่มมีกระแสคนรุ่นใหม่ ที่อยากจะปฏิรูปเมืองด๊อดจ์ฯ ให้เป็นเมืองที่ศิวิไลซ์ ปราศจากการพนันและอบายมุข


เมือง ด๊อดจ์ ซิตี้ เมื่อปี ค.ศ. 1879

ชาวบ้านจึงหันไปสนับสนุนกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับแบ๊ท ซึ่งทุ่มหาเสียงว่า จะยกเลิกการพนันและอบายมุขต่างๆให้หมด ถ้าได้รับเลือกตั้ง 

แถมยังโจมตีแบ๊ทว่า เป็นผู้ปล่อยให้บ้านเมืองต้องเสียชื่อเสียง เพราะสิ่งเหล่านี้ด้วย 

ดังนั้น ถึงแบ๊ทจะมีผลงานปราบปรามโจรผู้ร้ายราบคาบ สร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยได้ดีสักแค่ไหน ก็สู้กระแสขาลงไม่ไหว ต้องแพ้เลือกตั้งไปอย่างช่วยไม่ได้ 

แบ๊ทจึงตัดสินใจออกจากเมืองด๊อดจ์ฯ ย้ายไปทำมาหากินใหม่ที่อื่น โดยจิมน้องชายไม่ได้ตามไปด้วย

แบ๊ทหันมายึดอาชีพการพนันเพียงอย่างเดียวเป็นหลัก และหลังจากใช้ชีวิตอยู่ในโคโลราโดพักหนึ่ง ก็ตอบรับคำชวนของวายแอ็ท เอิ๊ร์ป เพื่อนเก่าอีกครั้ง มาร่วมเป็นหุ้นส่วนทำซาลูนด้วยกันที่เมืองทูมบ์สโตน (Tombstone) ในอริโซน่า 

แต่มาอยู่ทูมบ์สโตนได้ไม่นานนัก แบ๊ทก็ได้รับโทรเลขด่วนจากเมืองด๊อดจ์ฯ เมื่อต้นปี ค.ศ.1881 แจ้งข่าวว่า จิมผู้เป็นน้องชายกำลังเดือดร้อน 

เรื่องมีอยู่ว่า หลังจากที่แบ๊ทออกจากด๊อดจ์ฯไปแล้ว ฝ่ายตรงข้ามที่เอาชนะแบ๊ทได้ในการเลือกตั้ง ก็ปลดจิมออกจากตำแหน่งผู้ช่วยมาร์แชล

จิมหันไปเข้าหุ้นลงทุนเปิดซาลูนร่วมกับ เอ. เจ. พีค็อค (A. J. Peacock)

วันหนึ่งพีค็อครับน้องเขยชื่อ อัล อั๊ปเดอกร๊าฟ (Al Updegraff) เข้ามาทำงาน แต่เกิดมีปัญหาเข้ากันกับจิมไม่ได้

จิมต้องการไล่อั๊ปเดอกร๊าฟออก แต่พีค็อคเข้าข้างน้องเขยไม่ยอมให้ออก เกิดมีเรื่องมีราวกันขึ้น ถึงขั้นมีการแจ้งความให้ดำเนินคดีกับจิม 

แบ๊ทเดินทางมาถึงด๊อดจ์ฯ เมื่อเดือนเมษายนของปีนั้น พอลงจากรถไฟก็พบว่า ทั้งพีค็อคและอั๊ปเดอกร๊าฟ พกปืนมารอต้อนรับอยู่ ก็เลยยิงกัน

พอหยุดยิงปรากฏว่า อั๊ปเดอกร๊าฟถูกลูกกระสุนของแบ๊ททะลุเข้าที่ปอด บาดเจ็บสาหัส 

แบ๊ทถูกจับโดยนายกเทศมนตรี และมาร์แชลของเมืองด๊อดจ์ ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับตน เมื่อครั้งเลือกตั้งที่ผ่านมา ในข้อหาก่อความไม่สงบ ต้องเสียค่าปรับเป็นเงิน 8 เหรียญ บวกกับอีก 2 เหรียญเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับศาล

เสร็จแล้วถูกบังคับให้ออกจากเมืองด๊อดจ์ฯ ไปพร้อมกับจิม 

แน่นอนครับว่าเรื่องยังไม่จบลงแค่นี้ แต่ก่อนจะบรรยายต่อไป ต้องขออนุญาตปูพื้น ไว้เป็นแบ๊คกราวนด์เพิ่มเติมเสียก่อนว่า กลุ่มการเมืองใหม่ ที่เอาชนะแบ๊ทในการเลือกตั้งนั้น ในที่สุดก็ไม่ได้ทำตามที่หาเสียงเอาไว้ว่าจะกำจัดการพนันและอบายมุขให้หมดไป 

เชอร์ริฟแห่งมณฑลฟอร์ดคนใหม่ ที่ได้รับเลือกตั้งแทนแบ๊ทนั้นชื่อ จ๊อร์จ ที. ฮิงเกิ้ล (George T. Hinkle) มีอาชีพเดิมเป็นบาร์เทนเดอร์และผู้จัดการซาลูน 

ส่วนนายกเทศมนตรีคนใหม่ของเมืองด๊อดจ์ฯที่มีชื่อว่า อลองโซ่ เว้บสเต้อร์ (Alonzo Webster) ก็ไม่ใช่ย่อย เป็นเจ้าของซาลูนใหญ่ถึง 2 แห่งในใจกลางเมือง 

ข้างมาร์แชลคนใหม่ของเมืองด๊อดจ์ฯที่ชื่อ เฟร้ด ซิงเกอร์ (Fred Singer) นั้นเล่า ก็เป็นลูกจ้าง อยู่ในซาลูนของเว้บสเต้อร์ ทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์ 

พอกลุ่มการเมืองชุดใหม่เข้ายึดอำนาจการบริหารเบ็ดเสร็จแล้ว ก็ปล่อยให้เมืองด๊อดจ์ฯ ต้องพึ่งพารายได้จากการพนันและอบายมุขต่อไปเหมือนเดิม 

ไม่ได้แตกต่างไปจากคณะบริหารชุดก่อน แต่อย่างใด 

คงต้องถือเป็นบทเรียนอมตะนิรันดร์กาล สำหรับบรรดาราษฎรประเภทกบเลือกนายทั้งหลาย ไม่ว่าในประเทศใดนะครับ 

หลังจากถูกเนรเทศออกจากเมืองด๊อดจ์ฯ แบ๊ทก็กลับไปใช้ชีวิตอยู่ในโคโลราโด และรับงานเป็นมือปราบอีกครั้งเมื่อปี ค.ศ.1882 ในตำแหน่งมาร์แชลของเมืองทรินิแดด (Trinidad) 

ขณะอยู่ในตำแหน่ง แบ๊ทได้ช่วยเหลือปกป้อง วายแอ็ท เอิ๊ร์ป และ ด๊อค ฮอลลิเดย์ ที่มีอันต้องหลบออกจากอริโซน่า ไม่ให้ถูกส่งตัวกลับในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน ตามหมายจับของเชอร์ริฟบีแฮนผู้เป็นฝ่ายตรงข้าม 

ตามที่เกริ่นไว้แล้วนะครับว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและอิทธิพลที่เมืองด๊อดจ์ฯยังไม่จบ

ในปี ค.ศ.1883 แบ๊ทได้รับโทรเลขจาก ลุค ช้อร์ท (Luke Short) ผู้เป็นเพื่อน และอดีตหุ้นส่วนของทั้งแบ๊ทและวายแอ็ทที่เมืองทูมบ์สโตน และย้ายจากทูมบ์สโตนมาทำมาหากินที่เมืองด๊อดจ์ฯ ตั้งแต่ปีก่อน ว่าเจอเรื่องเดือดร้อนเข้าแล้ว ขอให้มาช่วยกันหน่อย 

ลุค ช้อร์ทเข้าไปทำมาหากินที่เมืองด๊อดจ์ฯ โดยลงทุนซื้อกิจการของลองแบร๊นช์ซาลูน (Long Branch Saloon) ร่วมกับหุ้นส่วนชื่อ วิลเลียม เอ๊ช. แฮริส (William H. Harris) ซึ่งเคยอยู่ในกลุ่มการเมืองฝ่ายเดียวกับแบ๊ท 

แฮริสลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีคนใหม่ของเมืองด๊อดจ์ฯ แทนนายกฯคนเก่า คือเว้บสเตอร์ ที่กำลังจะหมดวาระลง 

เว้บสเตอร์ไม่ลงเลือกตั้งเองในรอบใหม่ แต่ส่ง แลรี่ ดีเก้อร์ ลงแทน (คงจำได้นะครับ คือคนที่เคยมีเรื่องไม่กินเส้นกับแบ๊ท ตอนที่แบ๊ทย้ายมาอยู่เมืองด๊อดจ์ใหม่ๆ หลังจากนั้นก็แพ้เลือกตั้งให้แบ๊ท ในสนามเชอร์ริฟแห่งมณฑลฟอร์ด แค่นั้นยังไม่พอ ถูกปลดออกจากตำแหน่งมาร์แชลของเมืองด๊อดจ์ ให้เอ๊ดพี่ชายของแบ๊ทมาเป็นแทนอีก)

ทั้งคู่จึงมีเหตุผลมากมายที่จะไม่ชอบหน้าแบ๊ท และญาติสนิทมิตรสหาย หรือสมัครพรรคพวกของแบ๊ททุกคน รวมไปถึง ลุค ช้อร์ท ด้วย 

ดีเกอร์เอาชนะแฮริสในการเลือกตั้งได้อย่างง่ายดาย แต่ไม่ขาวสะอาดนัก และแล้วกระบวนการกำจัดช้อร์ท ก็เริ่มขึ้นอย่างเป็นระบบ 

คืนวันที่ 28 เมษายน ค.ศ.1883 ตำรวจบุกเข้าจับนักร้อง 3 คน ที่กำลังร้องเพลงอยู่ในลองแบร๊นช์ซาลูน อ้างว่าเทศบัญญัติใหม่ไม่อนุญาตให้มีการร้องรำทำเพลง 

แต่พอแฮริสและช้อร์ทเช็คข่าวดู ก็ทราบว่า ไม่มีนักร้องในบาร์หรือซาลูนอื่นๆ ถูกจับเลยสักที่เดียว 

ช้อร์ทคว้าพกปืน 2 กระบอก รี่ไปยังห้องขังที่นักร้องของตนถูกควบคุมตัวไว้ ฝ่ายพรรคพวกของดีเก้อร์ เตรียมตำรวจชั้นเลว ไว้ต้อนรับพร้อมอาวุธอยู่ 2 คน เกิดการยิงกันขึ้น

ฝ่ายตำรวจสู้ไม่ได้ก็ล่าถอย คนหนึ่งดันสะดุดขาตัวเอง ล้มลงไปในความมืดขณะวิ่งหนี 

ช้อร์ทนึกว่าตัวเองยิงตำรวจตาย เลยล่าถอยบ้าง กลับมาตั้งหลักที่ลองแบร๊นช์ซาลูน ปิดประตูตั้งสิ่งกีดขวาง เตรียมรับการบุกจากฝ่ายตำรวจเต็มที่ 

เช้าวันรุ่งขึ้น ตำรวจของดีเก้อร์มาตะโกนบอกช้อร์ทว่า เมื่อคืนไม่มีใครตาย หากช้อร์ทยอมมอบตัว ก็จะถูกปรับจากข้อหารบกวนความสงบแค่เพียงเล็กน้อย

แต่พอช้อร์ทยอมมอบตัว กลับถูกแจ้งข้อหาทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่แทน 

หลังจากมีคนช่วยประกันตัวออกมาด้วยหลักทรัพย์ 2000 เหรียญ ช้อร์ทกับพรรคพวกทั้งหมดก็โดนจับอีกรอบ 

คราวนี้ด้วยข้อหาเป็นบุคคลไม่พึงประสงค์ ถูกคุมตัวส่งขึ้นรถไฟออกจากเมืองไป 

โดยให้เลือกว่า จะไปทิศตะวันตก หรือตะวันออก ก็ได้ 

ช้อร์ทเลือกขึ้นรถสายตะวันออก ไปตั้งหลักอยู่ทีเมืองแคนซัสซิตี้ ซึ่งห่างออกไปประมาณ 300 ไมล์ แล้วก็โทรเลขถึงแบ๊ท 

แบ๊ทรับทราบข้อความแล้ว ก็ชวนวายแอ็ท และพรรคพวกอีกหลายคน ที่เคยทำหน้าที่มือปราบด้วยกัน มาชุมนุมกันที่แคนซัสซิตี้ ปรึกษาหารือหาทางช่วยช้อร์ท 

ไม่นานนัก ฝ่ายตรงข้ามทางฝั่งเมืองด๊อดจ์ฯ ก็ทราบข่าวว่า ช้อร์ทเริ่มส้องสุมผู้คน ได้มือปืนสนับสนุนจำนวนมากและทำท่าว่าจะกลับมา 

จึงเตรียมความพร้อม วางกำลังเอาไว้ที่สถานีรถไฟ กะต้อนรับอย่างเต็มที่ 

แบ๊ทกับวายแอ็ทจึงย้อนกลับไปโคโลราโดอีกครั้ง รวบรวมสมัครพรรคพวกเพิ่มเติมได้อีกสี่ห้าสิบคน วางแผนจะยึดเมืองด๊อดจ์ฯแบบสายฟ้าแลบ ไม่ให้ฝั่งตรงข้ามรู้ตัว 

ตามแผน จะส่งวายแอ็ท อดีตมือปราบคนสำคัญของเมืองด๊อดจ์ฯ ที่ได้รับการยอมรับนับถืออย่างกว้างขวางของชาวเมือง แอบเข้าไปในเมืองก่อน พร้อมกับผู้ช่วยอีกสี่คน เพื่อประเมินสถานการณ์ และหาจังหวะเหมาะ 

ส่วนแบ๊ท จะนำกำลังที่เหลือทั้งหมดไปสมทบกับช้อร์ท พร้อมกับรวบรวมม้าและอาวุธกระสุนให้ครบมือ ณ เซฟเฮ้าส์แห่งหนึ่ง ห่างจากเมืองด๊อดจ์ฯไปทางตะวันตก 2 ไมล์ 

ได้เวลาบุกเมื่อไร จะได้รับโทรเลขจากวายแอ็ท ใช้รหัสข้อความสั้นๆว่า เครื่องมือของท่านจะไปถึงเมื่อวันที่ เวลา --- ” (บอกเวลานัด) 

ฝ่ายเชอร์ริฟฮิงเกิ้ล พอทราบว่า วายแอ็ทกลับมาป้วนเปี้ยนอยู่ในเมืองด๊อดจ์ฯ ก็ไม่ค่อยไว้ใจนัก คิดว่าคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และเดี๋ยวจะต้องเกิดเรื่องใหญ่แน่

เลยส่งโทรเลขหาผู้ว่าการรัฐแคนซัส ขอให้ส่งกำลังทหารมาช่วยรักษาความสงบหน่อย อ้างว่า มีมือปืนมาเพ่นพ่านอยู่ในเมืองเต็มไปหมดแล้ว เกรงว่าจะควบคุมไม่ไหว 

แต่แทนที่ผู้ว่าการรัฐจะส่งกองกำลังมาตามที่ขอ กลับตอบว่า จะส่งเพียงนายทหารชั้นนายพล ชื่อ โทมัส มูนไล้ท์ ซึ่งเป็นผู้ตรวจการทหาร มาตรวจสอบสถานการณ์เพียงคนเดียวดูก่อน 

ได้รับคำตอบกลับมาแบบนี้ ทั้งฮิงเกิ้ล เว้บสเต้อร์และดีเก้อร์ก็รู้ตัวว่า ตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำเสียแล้ว

จึงตัดสินใจติดต่อกับวายแอ็ท ขอเจรจาสงบศึก ยอมให้ช้อร์ทกลับเข้ามาทำมาหากินในเมืองด๊อดจ์ฯได้ และสัญญาว่าจะไม่มีการกลั่นแกล้งอีก 

ฝ่ายวายแอ็ทก็ตอบรับ และให้คำยืนยันว่า จะไม่มีความขัดแย้งกันอีกต่อไป 

ตกลงกันได้เรียบร้อย วายแอ็ทก็โทรเลขบอกช้อร์ทและแบ๊ทว่า ฝ่ายตรงข้ามยอมสงบศึกอย่างราบคาบแล้ว 

จากนั้น ช้อร์ทกับแบ๊ทและกองกำลัง ก็ทยอยเข้าเมืองมาทีละชุด โดยไม่ได้รับการต่อต้านหรือขัดขวาง ทั้งหมดเข้าประจำพื้นที่ที่ลองแบร๊นช์ซาลูน เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้เป็นไปตามข้อตกลง 

เมื่อนายพลมูนไล้ท์เดินทางมาถึง ก็พบว่า เหตุการณ์สงบเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหาอะไร 

หลังจากรับฟังเรื่องราวที่ผ่านมาทั้งหมดครบทุกฝ่ายแล้ว ก็จัดให้มีการตั้ง "คณะกรรมการรักษาความสงบแห่งเมืองด๊อดจ์ซิตี้" (Dodge City Peace Commission) ประกอบขึ้นด้วยคนของทั้งฝ่ายช้อร์ทและเว้บสเต้อร์ มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขัดแย้งอย่างที่ผ่านมาอีก 

เมื่อทุกอย่างจบลงด้วยดีแล้ว แบ๊ทและวายแอ็ท ก็บอกอำลาเมืองด๊อดจ์ฯเป็นครั้งสุดท้าย 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เมืองด๊อดจ์ฯ ในช่วงของความขัดแย้ง จนเกือบจะมีการใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกันนี้ ได้รับการกล่าวขานกันว่าเป็น สงครามเมืองด๊อดจ์ซิตี้” (Dodge City War) ฉ,ธเป็นข่าวใหญ่พาดหัวในหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่องหลายฉบับ 

และทำให้สังเกตเห็นคุณลักษณะอีกอย่างหนึ่งของแบ๊ทนะครับ ว่าไม่ได้เป็นเพียงแค่มือปืน มือปราบ นักพนัน ฯลฯ ตามคำจำกัดความเท่าที่คนในยุคนั้นมอบให้ 

ถ้าดูจากความสามารถ ในการวางแผนเตรียมการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีการใช้ข้อมูลข่าวสารเพื่อประเมินสภาพแวดล้อม รู้จุดอ่อนจุดแข็งและจังหวะรุกจังหวะถอยแล้ว 

น่าจะถือได้ว่าแบ๊ทก็เป็น นักวางแผนกลยุทธ์ระดับเสนาธิการคนหนึ่งเหมือนกัน 

แบ๊ทกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในโคโลราโดอีกครั้ง โดยยึดอาชีพการพนัน สลับกับการเป็นมือปราบ ครั้งนี้ชื่อเสียงของแบ๊ทโด่งดังเป็นที่เกรงขามของผู้คนในแถบนั้นมาก

ขนาดว่า ในซาลูนไหนมีเหตุพิพาทหรือชุลมุนวุ่นวายขึ้นละก็ แค่ตะโกนว่า ม้าสเตอร์สันมาแล้ว!” เท่านั้น เหตุการณ์ก็จะสงบลงเองโดยอัตโนมัติ 

ที่เมืองเดนเว่อร์ (Denver) อันเป็นเมืองเอกของรัฐโคโลราโด แบ๊ทหันเหเข้าสู่วงการมวยอาชีพ เป็นโปรโมเตอร์จัดการแข่งขันชกมวยชิงรางวัลรายการใหญ่ๆหลายครั้ง

จนเมื่อปี ค.ศ. 1899 แบ๊ทได้ร่วมก่อตั้งสมาคมมวยแห่งโคโลราโดขึ้นด้วย 

นอกจากวงการมวยแล้ว แบ๊ทยังได้เข้าสู่วงการนักเขียน เริ่มด้วยการเขียนข่าวกีฬาชกมวย ที่ตนเองเป็นผู้จัด

หลายคนบอกว่า แบ๊ทเขียนหนังสือดี มีผู้อ่านติดมาก ผมเองเคยได้มีโอกาสลองอ่านภาษาเขียนของแบ๊ทดูบ้างนิดหน่อย พอจะสังเกตได้ว่า มีสำนวนการเขียนที่น่าสนใจเหมือนกัน

แต่ความที่ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ ก็เลยไม่สามารถจะวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่าอยู่ในระดับไหน (แค่ภาษาไทยนี่ก็ถือว่ายากมากพอแล้วนะครับ

ผลงานเขียนของแบ๊ทนี้ หากมีท่านใดสนใจจริงจังละก็ สามารถหาอ่านได้ จากศูนย์ประวัติศาสตร์ตะวันตก ในหอสมุดกลางของเมืองเดนเว่อร์ (Western History Center, Denver Main Library) ครับ 

ย่างขึ้นศตวรรษใหม่ปี ค.ศ.1900 มีผู้มาติดต่อเสนองานใหม่ให้แบ๊ท ถึงสามคน

คนแรกคือ วายแอ็ท เอิ๊ร์ป สหายเก่า ชวนให้ไปลงทุนเปิดซาลูนด้วยกันที่อล้าสก้า ซึ่งขณะนั้นกำลังเป็นยุคตื่นทอง 

คนที่สองคือ ธีโอดอร์ รู้สเวลท์ (Theodore Roosevelt) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เสนอให้ไปรับตำแหน่ง ยู.เอส.มาร์แชล (U.S. Marshal) ที่โอคลาโฮมา 

คนที่สามคือ อัลเฟรด เฮนรี่ ลิวอิ๊ส (Alfred Henry Lewis) นักหนังสือพิมพ์และนักเขียนนวนิยายชื่อดัง ชวนให้ไปทำงานเป็นนักเขียนคอลัมน์กีฬา ให้กับหนังสือพิมพ์ เดอะ มอร์นิ่ง เทเลกร๊าฟ (The Morning Telegraph) ที่เมืองนิวยอร์ค 

แบ๊ทซึ่งเวลานี้อยู่ในวัยย่างเข้า 50 ตัดสินใจรับข้อเสนอที่สาม เพราะไม่อยากจะกลับไปใช้ชีวิตผจญภัย หรือเสี่ยงตายเหมือนที่ผ่านมาแล้วอีก

แถมนิวยอร์คยังเป็นเมืองศิวิไลซ์ เต็มไปด้วยแสงสีและความสนุกสนานน่าสนใจ เหมาะกับไล้ฟ์สไตล์ของตัวมากกว่า 

หลังจากทราบว่า แบ๊ทตัดสินใจย้ายมาอยู่นิวยอร์คแล้ว ประธานาธิบดีรู้สเวลท์ยังได้ตามออกคำสั่ง แต่งตั้งแบ๊ทเป็นผู้ช่วยยู.เอส.มาร์แชลประจำเขตนิวยอร์คตอนใต้ ให้เป็นเกียรติด้วย 

แบ๊ทเอาจริงเอาจังกับอาชีพนักเขียน และสนุกกับชีวิตใหม่ในสังคมเมืองนิวยอร์คมาก ส่วนลิวอิ๊ส ซึ่งเป็นผู้ชวนแบ๊ทมาอยู่นิวยอร์คนั้น เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มีประสบการณ์ เคยทำข่าวเกี่ยวกับแดนตะวันตกมามาก ก็ให้การสนับสนุนแบ๊ทอย่างเต็มที่

เริ่มจากการเขียนถึง มร.ม้าสเตอร์สันในนวนิยายของตนที่ชื่อ เดอะ ซันเซ็ท เทรล” (The Sunset Trail – ในภาษาคาวบอยถือว่าเป็นชื่อที่โรแมนติคมาก แปลเป็นสำนวนบ้านเราก็ต้อง เส้นทางสู่อาทิตย์อัสดงกระมังครับ) ออกวางตลาดเมื่อปี ค.ศ. 1905 ปรากฏว่าขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า 

อีกสองปีให้หลัง ลิวอิ๊สเริ่มเขียนเรื่องราวประวัติชีวิตของแบ๊ท ภายใต้ชื่อว่า เดอะ คิง อ๊อฟ กันเพลเย่อรส์” (The King of Gunplayers – ผมขอแปลว่า เจ้าแห่งมือปืนนะครับ ไม่อยากแปลว่าราชามือปืน จะฟังดูเป็นญาติกับราชาบะหมี่ไป) ลงในหนังสือ ฮิวแมน ไล้ฟ์ (Human Life) ซึ่งเป็นแม็กกาซีนยอดนิยมของชาวนิวยอร์ค 

แบ๊ท ม้าสเตอร์สัน ที่นิวยอร์ค
เมื่อปี ค.ศ. 1911

หลังจากนั้นก็ชวนแบ๊ทเขียนชุดบทความเรื่องมือปืนดังๆทั้งหลายที่แบ๊ทรู้จักตั้งแต่สมัยที่ยังผจญภัยอยู่ในดินแดนตะวันตก ลงในแม็กกาซีนเดียวกันเสียเลย 

วาระสุดท้ายของแบ๊ทมาถึงในวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ.1921 ด้วยโรคหัวใจวายกระทันหัน ขณะที่กำลังนั่งเขียนบทความกีฬาให้กับหนังสือพิมพ์ เดอะ มอร์นิ่ง เทเลกร๊าฟ เมื่ออายุได้ 66 ปี (หรือ 68 ปีแล้วแต่จะนับว่าเกิดปีไหน

ถือได้ว่า แบ๊ทเป็นอดีตมือปืนผู้มีอายุยืนยาวคนหนึ่ง หากมองว่าทั้งชีวิตได้ผ่านอะไรมาบ้าง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงหลายปีที่ต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดด้วยการใช้ปืน เกือบจะต้องตายเปล่าโดยไม่มีสาเหตุอันควรไปตั้งแต่ยังหนุ่มเสียด้วยซ้ำ 

ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลยนะครับ สำหรับผู้ที่เกิดมาเป็นลูกทุ่งชาวไร่ แล้วผันตัวเองไปเป็นคนงานรถไฟ พรานล่าควาย เสือพราน นักพนัน มือปืน มือปราบ โปรโมเตอร์มวย แล้วจบท้ายด้วยการเป็นนักเขียนอยู่ในเมืองกรุง แถมมีตำแหน่งราชการระดับผู้ช่วย ยู.เอส.มาร์แชล แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีให้เป็นเกียรติอีก 

กรมไปรษณีย์ของสหรัฐฯ
ออกดวงตราไปรษณียากร
เพื่อเป็นเกียรติแก่ แบ๊ท ม้าสเตอร์สัน
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ.1994

เรื่องชื่อเสียงนั้นไม่ต้องพูดถึง นอกจากสติปัญญาและฝีมือแล้ว ผมเชื่อว่าโชคชะตาก็คงมีส่วนสนับสนุนด้วยเหมือนกันที่ทำให้หนุ่มน้อยลูกทุ่งคนนี้ กลายเป็นคาวบอยลูกกรุงผู้โด่งดังไปในที่สุด 

ในคาวบอยกับปืนคู่ใจตอนต่อไป จะเป็นคราวของ ด๊อค ฮอลลิเดย์ มือปืนคนดังแห่งยุคนั้นอีกคนหนึ่ง ผู้มีโชคชะตาฟ้าลิขิตมาแบบไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน 

ส่วนจะพิสดารอย่างไรแค่ไหน โปรดอย่าลืมติดตามกันนะครับ 

มาร์แชลต่อศักดิ์
มิถุนายน 2544