ONCE UPON A TIME IN THE WEST (ค.ศ. 1968)

บทสรุปอันยิ่งใหญ่แห่งตำนานหนังคาวบอยสปาเก๊ตตี้

นำแสดงโดย                  เฮนรี่ ฟอนด้า, ชาร์ลส บรอนสัน
กำกับการแสดงโดย        เซอร์จิโอ ลีโอเน่

มหากาพย์หนังคาวบอยสปาเก๊ตตี้ ผลงานเรื่องที่สี่ของผู้กำกับชาวอิตาเลี่ยน หลังจากประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามมาแล้ว กับหนังชุดมือปืนนิรนามผู้ไม่มีใครรู้จักหัวนอนปลายเท้า 3 เรื่องติดต่อกัน ได้แก่ A FISTFUL OF DOLLARS, FOR A FEW DOLLARS MORE และ THE GOOD, THE BAD AND THE UGLY

ส่งผลให้ดาราหน้าใหม่ไม่ค่อยมีใครจำได้อย่าง คลิ้นท์ อีสท์วู้ด แจ้งเกิดกลายเป็นดาราดังขึ้นมาทันที

เซอร์จิโอ ลีโอเน่ ถือเป็นนักปฏิวัติในวงการหนังคาวบอยครับ หนังของเซอร์จิโอทุกเรื่องเป็นความพยายามล้มล้างความคิดดั้งเดิมของผู้ชม ที่อิทธิพลของฮอลลีวู้ดทำให้เชื่อฝังใจมาตลอดว่า ดินแดนตะวันตกในยุคบุกเบิกนั้นแสนจะสวยงามและโรแมนติค เต็มไปด้วยโอกาสสำหรับทุกคนที่ขยันขันแข็ง มีกฎแห่งคุณธรรมคุ้มครองอยู่ทั่วไป ผู้ที่อ่อนแอกว่าจะได้รับการช่วยเหลือ

กลับกลายมาเป็นแดนเถื่อนสกปรก ที่เต็มไปด้วยความโลภ และการเบียดเบียนกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ยึดถือกติกาใดๆทั้งสิ้น ผู้ประสบความสำเร็จคือผู้ที่แข็งแรงและฉลาดแกมโกงที่สุดเท่านั้น

นอกจากเนื้อหาสาระแล้ว เซอร์จิโอยังใช้ศิลปะการถ่ายทำ และลีลาในการดำเนินเรื่องแบบที่ไม่เคยมีผู้กำกับฮอลลีวู้ดคนไหนทำมาก่อนด้วยครับ

เช่น การใช้ภาพโคล้สอัปอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ใบหน้า จนเห็นรายละเอียดของทั้งสีหน้าและแววตา บอกให้ผู้ชมทราบถึงอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครได้เอง โดยไม่ต้องใช้บทพูด
 

สลับกับภาพมุมกว้าง ที่จงใจให้เห็นตัวละครเป็นจุดเล็กๆนิดเดียว บนฉากหลังที่เป็นพื้นที่แห้งแล้งอันกว้างใหญ่ ตอกย้ำให้ผู้ชมรู้สึกถึงความอ้างว้างโดดเดี่ยว และแล้งน้ำใจในดินแดนตะวันตก

การเดินเรื่องก็จะเป็นไปอย่างเชื่องช้า ค่อยๆสะสมอารมณ์และความสงสัยไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่คนดูเริ่มเบื่อหน่ายว่ามันอะไรกันนักหนา(วะ) ทำไมไปไม่ถึงไหนเสียที จึงค่อยเข้าสู่ฉากตื่นเต้น (ที่ไม่เร่งรีบอีกเหมือนกัน)

เพลงประกอบก็เช่นกันครับ ไม่มีการใช้ดุริยางค์วงใหญ่เล่นเพลงกระหึ่มเร้าใจแสดงความยิ่งใหญ่ของดินแดนตะวันตก

แต่จะใช้เครื่องดนตรีน้อยชิ้น เล่นทำนองหลักด้วยเครื่องดนตรีชิ้นเดียว ออกสำเนียงไปทางเปล่าเปลี่ยว แต่มุ่งมั่นและติดโกงๆหน่อย

บางทีก็ใช้เสียงธรรมชาติ อย่างเสียงเอียดอาดของบานพับประตู กังหันลม น้ำหยด แมลงบิน ฯลฯ มาใช้แทนเครื่องดนตรีจริง

ในหนังสามเรื่องแรกนั้น เซอร์จิโอยังไม่กล้าแสดงมุมมองของตนที่มีต่ออเมริกาและการพิชิตตะวันตกอย่างสุดขั้วนัก ประกอบกับทุนยังน้อย จึงมีเพียงการนำเสนอสไตล์การถ่ายทำแบบใหม่ และนำเสนอพระเอกกับผู้ร้ายที่มีรูปแบบ หน้าตา และพฤติกรรมแตกต่างไปจากค่านิยมเดิม

แล้วใช้การล่าเงินรางวัล หรือไม่ก็ล่าสมบัติ เป็นแกนหลักของเนื้อหา พาไปยังข้อสรุปว่า ในที่สุดแล้วทุกคนยอมทำทุกอย่างเพื่อเงินทั้งนั้น

มีการแทรกมุขตลกและฉากบู๊ที่มักเป็นแบบเหนือจริง เพื่อลดความซีเรียส

พอหนังทั้งสามเรื่องประสบความสำเร็จ ก็ถึงเวลาที่เซอร์จิโอจะทุ่มทุนสร้างเรื่องใหม่ ในแบบฉบับของตนเองอย่างครบถ้วนเสียที

หนนี้ ด้วยการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากฮอลลีวู้ด ทำให้สามารถจ้างดาราชั้นนำค่าตัวแพงอย่าง เฮนรี่ ฟอนด้า มาเล่นเป็นผู้ร้ายใจเหี้ยม  และให้ ชาร์ลส บรอนสัน รับบทพระเอกนิรนาม ผู้มาพร้อมกับหีบเพลงปาก

เมื่อใดได้ยินเสียงเป่าหีบเพลง จะต้องมีการยิงกันอย่างวินาศสันตะโรตามมาทุกครั้ง

เนื้อเรื่องแสดงให้เห็นถึงการเอารัดเอาเปรียบ การใช้ทั้งเล่ห์กลและกำลังอย่างไร้ความปราณีโดยผู้มีอิทธิพล ที่ต้องการเข้ายึดครองที่ดินสองข้างเส้นทางรถไฟสายใหม่ จากหม้ายสาวตัวคนเดียว ที่สามีและลูกๆเพิ่งจะถูกสังหารหมู่ไปเพราะไม่ยอม

แต่แล้วอยู่ดีๆ พระเอกก็เข้ามาขัดขวาง ด้วยแรงจูงใจหรือเหตุผลที่ไม่มีใครทราบแน่ชัด ต้องรอตอนจบจึงจะเฉลย
 

ผมเชื่อว่าแฟนของหนังทั้งสามเรื่องแรกคงไม่ยอมพลาด ONCE UPON A TIME IN THE WEST นะครับ

ส่วนท่านที่อาจลังเลใจว่าจะชอบหนังสไตล์นี้หรือไม่ ผมขอแนะนำให้ดูเพียงฉากเปิด ที่มีผู้ร้าย 3 คนมารอดวลปืนกับพระเอกที่สถานีรถไฟก่อน

หากท่านผ่าน 15 นาทีแรก อันน่าเบื่อหน่ายและอึดอัดนี้ไปได้ละก็...

อีกเกือบ 3 ชั่วโมงที่เหลือ ไม่น่ามีปัญหาครับ

มาร์แชลต่อศักดิ์

กันยายน 2549